ก้าวหน้าไม่พอใจ Shopee แบนสินค้า เหตุเกี่ยวข้องกับการเมืองใช้ "ช่อ" เป็นพรีเซนเตอร์ จับแพะชนแกะหน่วยงานด้านความมั่นคงอยู่เบื้องหลัง ใช้อำนาจที่มีเหนือตลาดรังแกผู้ค้ารายย่อย ในทางสากลถือว่าใหญ่มาก ขณะที่ม็อบ 6 ตุลาใน มธ.ไร้เงาสามสัส "กวิ้น-รุ้ง-อานนท์" ด่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยขี้ขลาด
คณะก้าวหน้าแสดงความไม่พอใจหลังแอปพลิเคชัน Shopee ปฏิเสธให้สินค้าของคณะก้าวหน้าขายในแอปพลิเคชัน โดยเหตุผลว่าเนื่องจากมีลักษณะทางการเมือง ขัดกับนโยบายของบริษัท ทำให้เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ได้แก่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช และนายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ ถึงกับจัดรายการ “ก้าวหน้า Talk” เพื่อพูดเรื่้องนี้เป็นการเฉพาะ
โดยนายนิติพัฒน์ ในฐานะผู้บริหารกลุ่ม “ส้มจี๊ด” ซึ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมในส่วนหนึ่งของคณะก้าวหน้า ได้เล่าถึงความเป็นมาโดยระบุว่า ส้มจี๊ด ในฐานะที่เป็นตัวแทนของ Democstore อย่างเป็นทางการ จัดตั้งขึ้นมาหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ในช่วงแรกที่เริ่มขายกับ Shopee ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ขายไปได้สักพักเริ่มใช้พรีเซนเตอร์โปรโมตสินค้า ก็คือตัว น.ส.พรรณิการ์เอง Shopee ก็ตัดสินใจแบนขึ้นมา ด้วยเหตุผลว่ามีหน้าของ น.ส.พรรณิการ์ และมีวาระทางการเมือง
"ทำให้เราแปลกใจมาก เราไม่ได้เป็นพรรคการเมือง และแค่พยายามจะขายของ ในที่สุดก็ตกลงกันกับ Shopee ว่าจะยอมเอาหน้าคุณช่อออก หลังๆ ก็ถูกแบนอีก ด้วยเหตุผลว่ามีเสื้อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง เราไม่มีทางเลือกจริงๆ ไม่รู้จะไปขายช่องทางไหน"
เขากล่าวว่า ตัวเลือกผู้ประกอบการในประเทศมีไม่เยอะ สุดท้ายหลังจากยอมเอาเนื้อหาตรงนั้นออกก็ได้กลับมาขายต่อประมาณ 1-2 เดือน ต่อมาช่วงมีการชุมนุมที่สนามหลวง เราเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะขายสินค้าเป็นเซต เรียกว่าเป็น Urban Camping Set แต่พอขายไปสักพักก็โดนแบนอีก ด้วยเหตุผลว่าเป็นการไปสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง เลยเป็นที่มาของการถูกแบน
“ในฐานะผู้ประกอบการคนหนึ่ง เราคิดว่ามันมีความผิดปกติ เพราะการขายของแบบนี้เราไม่ได้ขายของผิดกฎหมาย เราไม่ได้เอาเปรียบใคร เราไม่ได้โกงลูกค้า แล้วลูกค้าหรือผู้บริโภคก็ยินดีและอยากจะซื้อสินค้าเรา เราก็เลยไม่เข้าใจว่ามีเหตุผลอะไรเพียงพอที่จะต้องทำแบบนี้”
นายนิติพัฒน์กล่าวว่า ในต่างประเทศกว่าที่จะหยุดการค้าของผู้ค้ารายย่อยรายหนึ่งได้ต้องมีการแจ้งเตือนก่อน ดังนั้น การที่ Shopee ไม่ได้เคยแจ้งเราเลยไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ต่างประเทศให้ความสำคัญกับความยุติธรรมและความป็นธรรมกับผู้ค้า โดยเฉพาะรายย่อยและรายเล็ก เราอาจจะคุ้นชินกับทุนผูกขาด ทำให้ความสำคัญของผู้ค้ารายย่อยถูกมองข้ามไป
ด้าน น.ส.พรรณิการ์เผยว่า ทราบมาจากผู้สนับสนุนคณะก้าวหน้ารายคนซึ่งส่งข้อความมาให้ตนหลังจากได้ซักถามไปทาง Shopee โดยตรง ได้รับข้อความตอบกลับซึ่งระบุว่าเป็นนโยบายของ Shopee ที่จะไม่ให้มีการขายสินค้าที่มีลักษณะเกี่ยวข้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือล้อเลียนทางการเมือง เป็นนโยบายที่ใช้กับทุกร้านค้า อย่างไรก็ตาม ตอนที่คณะก้าวหน้าทำสัญญากับ Shopee ไม่มีเงื่อนไขเรื่องนี้อยู่เลย เงื่อนไขทั้ง 12 ข้อในวันที่ทำสัญญาไม่มีระบุเรื่องนี้มาก่อน แต่เป็นเงื่อนไขที่มาพูดทีหลัง
ในทางสากลถือว่าใหญ่มาก
"จากที่ไปขุดมา ดิฉันยังได้เจอธงนาซีขายบน Shopee ได้ เสื้อ long live the king ก็ขายได้ และที่สำคัญ เสื้อของกลุ่มไทยภักดีก็ยังวางขายอยู่จนถึงตอนนี้ จึงทำให้ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่"
น.ส.พรรณิการ์ยังระบุด้วยว่า จากสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าหน่วยงานความมั่นคงเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากเพียงไหน ที่ผ่านมามีผู้สนับสนุนคณะก้าวหน้าในหน่วยงานความมั่นคง เคยแจ้งให้ทราบว่าฝ่ายความมั่นคงหลายหน่วยงานเคยมีการขอข้อมูลผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าจาก Shopee โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับการไปชุมนุม ซึ่งไม่รู้ว่า Shopee เคยให้ข้อมูลลูกค้ากับหน่วยงานความมั่นคงเหล่านี้ไปบ้างหรือไม่ หวังว่า Shopee จะให้ความสำคัญกับความไว้วางใจที่ลูกค้าและผู้ค้ามีต่อคุณ
"นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการแบนร้านคณะก้าวหน้า ในภาพใหญ่ตามกฎเกณฑ์แข่งขันทางการค้า Shopee อาจจะไม่ใช่ผู้ผูกขาดรายเดียวในประเทศไทย แต่ก็ยังพูดได้ว่าเป็นตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยรายมาก และสิ่งที่ Shopee ทำคือการใช้อำนาจที่มีเหนือตลาดรังแกผู้ค้ารายย่อยอย่างพวกเราเรื่องนี้ในทางสากลถือว่าใหญ่มาก" น.ส.พรรณิการ์กล่าว
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนและศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะผู้จัดงานรำลึก 44 ปี 6 ตุลา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า "ผมมีเรื่องน่าเสียใจเกี่ยวกับงานครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 19 ซึ่งจัดขึ้นที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในช่วงนี้แจ้งให้ทราบ
เมื่อวานนี้ผมได้รับแจ้งว่า ผู้บริหารธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้น้องเพนกวินและน้องรุ้ง ซึ่งเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์และทนายอานนท์ ซึ่งเป็นทนายสิทธิมนุษยชน มาร่วมเสวนาในงานนี้บนเวทีหอประชุมศรีบูรพาตามกำหนดที่คณะกรรมการได้เตรียมไว้
ผู้บริหารธรรมศาสตร์ให้เหตุผลสั้นๆ ว่า ไม่สบายใจโดยไม่อธิบายอะไร แถมยังสั่งว่าหากไม่ตัดทั้งสามคนนี้ออกจะไม่ยอมให้มีการแสดงบนเวทีทั้งหมดในงานนี้ ผมต้องขอโทษต่อประชาชนและสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศทุกสาขาที่เคยแจ้งว่า เพนกวิน รุ้ง และทนายอานนท์ จะมาแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ 6 ตุลา ในทัศนะของคนรุ่นใหม่และการเมืองไทยในมุมมองของเยาวชน
ผมขอเสียใจที่จะแจ้งให้ทราบว่า เราจะไม่ได้ฟังคนทั้งสามพูดอีกแล้วในธรรมศาสตร์ ข้อความต่อไปนี้ ผมนายกฤษฎางค์ นุตจรัส กรรมการจัดงานปีนี้ที่ธรรมศาสตร์แต่งตั้ง ขอรับผิดชอบในความเห็นที่จะแสดงต่อไป เป็นอีกครั้งที่ทำให้เราเข้าใจทัศนะ มุมมอง ความขี้ขลาดหรือความกล้าหาญของผู้บริหาร
"ท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เมื่อคราวก่อการปฏิวิติ 2475 ก็มีความเห็นพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินใช่ไหม ในเวลานั้นท่านก็มีอายุเพียงสามสิบปีเศษ การตั้งธรรมศาสตร์ก็เพื่อเป็นหลักคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของราษฎรทั่วไปใช่หรือไม่ ผมนึกไม่ถึงว่าในวันที่เราจัดครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 19 ผู้บริหารธรรมศาสตร์ยังวิ่งไล่เอาถุงขยะดำครอบหัวนักศึกษาอยู่" นายกฤษฎางค์ระบุ
เชื่อม็อบรุมกินโต๊ะ"บิ๊กตู่"
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การชุมนุมขนาดใหญ่และต่อเนื่อง เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ของภาคประชาชนหลากหลายกลุ่มในวันที่ 14 ต.ค. จะเกิดขึ้นแน่ ถือเป็นสัญญาณความผันผวนใหญ่ของสถานการณ์การเมืองไทย การเตรียมรับมืออุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นมาก่อนหน้าแล้วในหลายรูปแบบ อาทิ การเกิดกลุ่มแคร์ กลุ่มไทยภักดี และกลุ่มก้าวหน้าของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นำเสนอแนวคิดการแก้ไขวิกฤติบ้านเมืองนอกสภา
ในซีกฝ่ายค้าน พรรคการเมืองใหญ่มีการปรับคณะกรรมการบริหารใหม่ พรรคขนาดกลางมีสมาชิกแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่ ด้านซีกฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลเดินกลยุทธ์คู่ขนานกับกลุ่มก้าวหน้า พรรคประชาชาติ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ลาออกจาก ส.ส. ลุยเดินสายหาเสียง ให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคเข้าสภาแทน พรรคเพื่อไทยก็ปรับคณะกรรมการบริหารใหม่ ผสานคนรุ่นใหม่ เป็นโอกาสของพรรคการเมืองที่จะได้เสนอตัวเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ได้ แต่ผลโพลยังคงชี้ว่าพรรคเพื่อไทยยังเป็นพรรคที่ประชาชนนิยมชมชอบสูงสุด ปรากฏการณ์ที่กล่าวมานั้น ได้บ่งชี้ชัดว่าเรายังมีพรรคการเมืองและบุคลากรทางการเมืองเป็นตัวเลือกใหม่ได้อยู่เสมอ ฉะนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจถูกไล่จนตกเก้าอี้แล้ว ชาวประชาย่อมมีตัวเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ทันที
ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ระบุว่า อย่าทำให้เจตนารมณ์ 14 ตุลาเสียหาย น้องๆ ม็อบปลดแอกคงเกิดไม่ทัน 14 ตุลาคม 2516 จึงคิดจัดชุมนุม 14 ตุลาคมนี้ แต่สิ่งที่น้องๆ จัดชุมนุม เทียบกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มันคนละเรื่องเพราะ
1.เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์ที่นิสิต นักศึกษาและประชาชน ออกมาต่อสู้กับเผด็จการทหาร ภายใต้การนำของจอมพลถนอม-ประภาส และเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่การชุมนุมครั้งนี้จงใจต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์แบบเบิ้มๆ
2.เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นิสิต นักศึกษา และประชาชน มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งประเทศ แต่การชุมนุมที่จะเกิด ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่
3.ในเหตุการณ์จริงของ 14 ตุลาคมนั้น มีนักศึกษาที่บริสุทธิ์เป็นแกนนำจริงๆ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่ครั้งนี้ แกนนำเป็นคนใกล้ชิดพรรคการเมือง
4.การชุมนุม 14 ตุลาคมในอดีต เป็นบรรยากาศที่เผด็จการจริง แต่ตอนนี้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เพียงแต่ฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังนักศึกษา แพ้แล้วไม่รู้จักคำว่าแพ้
5.ผู้ชุมนุม 14 ตุลาในยุคก่อน ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่การชุมนุม 14 ตุลาครั้งนี้ ต้องการล้มล้างการปกครองเพื่อเป็นระบอบสาธารณรัฐ
นี่คือความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงของการชุมนุม จึงอยากเรียกร้อง #อย่าทำให้เจตนารมณ์ 14 ตุลาเสียหาย ที่สำคัญน้องๆ จะทำให้ความรู้สึกดีๆ ของประชาชนต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เสื่อมลง ทางที่ดีควรเปลี่ยนวันนัดชุมนุม
ผู้ปกครองโดนด้วย
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มนักเรียนเลวได้นัดรวมตัวกันประมาณกว่า 30 คน จัดกิจกรรมขึ้นรถแห่ไปยัง 5 โรงเรียน และ 1 กระทรวง เพื่อมีเป้าหมายไล่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ การจัดกิจกรรมดังกล่าวแม้เป็นการอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.34 แต่ทว่ากลับเป็นการฝ่าฝืนข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน ดังนั้น การจัดกิจกรรมดังกล่าวจึงเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายหลายข้อหา อาทิ 1) ข้อหากีดขวางทางจราจร และหยุดหรือจอดรถเป็นการกีดขวางการจราจร ตาม ม.43 พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 2) ข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ม.4 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง 2493 3) ข้อหาใดส่งเสียงทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงทำให้ประชาชนเดือดร้อน ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.370 ซึ่งทั้ง 3 ข้อหาข้างต้นมีอัตราโทษปรับเล็กน้อยไม่เกิน 1,000 บาทเท่านั้น
แต่ทว่าในข้อหาที่ 4) ข้อหายุยง ส่งเสริมให้มีการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี 5) ข้อหาจัดชุมนุมสาธารณะในลักษณะกีดขวางทางเข้า-ออกของสถานที่ราชการ และหรือไม่ขออนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืน ม.8 ม.10 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 6) การฝ่าฝืนระเบียบของโรงเรียนตาม ม.64 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ซึ่งผู้ที่ยุยง ส่งเสริม ช่วยเหลือ หรือสนับสนุนให้เด็กนักเรียนดังกล่าวทำผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่สำคัญการที่ผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้ปล่อยปละละเลยให้เด็กออกมากระทำผิดกฎหมายเยี่ยงนี้ ผู้ปกครองย่อมมีโทษตามที่กฎหมายบัญญัติอีกด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |