การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา อาจทำให้ "ขาเชียร์" ทั้งหลาย "อารมณ์ค้าง" ไปกับการนำขบวนปักธงข้อเรียกร้อง ที่ไม่ต่างไปจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ในชื่อ "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่ย้ำจุดยืน "ทะลุเพดาน" ด้วย 10 ข้อเรียกร้องระดับโครงสร้างและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพิ่มเติมสีสันด้วยการนำ "หมุดคณะราษฎร" หมุดที่ 2 ตอกลงบนพื้นสนามหลวง พร้อมยื่นหนังสือถึงองมนตรี แล้วสลายตัวไปแบบงงๆ พร้อมประกาศกลับมาชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 14 ตุลาคมอีกครั้ง
ต้องยอมรับว่ากำลังหลักในเวทีที่ท้องสนาม คือกลุ่มคนเสื้อแดงที่มาร่วมทำกิจกรรมกันเนืองแน่น หลักๆ คือเสื้อแดงปทุมธานี-สมุทรปราการ-นนทบุรี ที่ยังยืนหยัดในแนวทางต่อต้านเผด็จการ และเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับ "พรรคเพื่อไทย" โดยมีจุดเชื่อมเป็นนักการเมืองของพรรค
ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงปล่อยให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้อภิปรายบนเวที และหลีกเลี่ยงการปะทะ พร้อมเน้นหนักเรื่องการเก็บข้อมูล หลักฐาน เพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี พร้อมดำเนินการไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เพื่อเชื่อว่าจะเป็น "จุดสกัด" ให้เกมนอกสภาลดพลังลง
นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ "ณฐพร โตประยูร" อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งให้คณะบุคคลเลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง จากการประกาศ 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ระหว่างการชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยเมื่อ 16 กันยายน พร้อมกำหนดให้ผู้ถูกร้อง 3 คน ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แกนนำกลุ่ม "เยาวชนภาคตะวันออก" และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง และมีคำสั่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) แจ้งผลการดำเนินการและส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเช่นกัน โดยขณะนี้ทนายของ 3 ผู้ถูกร้องขอขยายเวลาส่งเอกสารหลักฐานออกไป
ที่น่าสนใจคือควันหลงหลังการชุมนุม "ทะลุเพดาน" ทั้งสองครั้ง คือความคิดเห็นในฝ่ายประชาธิปไตยที่แบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก คือ เห็นด้วยที่ต้องไปสู่หนึ่งความฝัน โดยใช้เวลาในการฝังรากให้กับสังคมไปเรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมที่มีพรรคการเมืองผนึกรวมอยู่ด้วย คือการล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกดดันให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ฝ่ายค้านตั้งเป้า โดยเฉพาะปัญหาระบบเลือกตั้ง
ในขณะที่การชุมนุมไม่ได้เน้นยุทธศาสตร์กดดัน หรือมุ่งหวังให้สถานการณ์แตกหักเหมือนเช่นที่ "เสื้อแดง" หรือ นปช.เคยใช้มาในอดีตและก็พ่ายแพ้ เจอสภาพการเดินเข้าคุก ขึ้น-ลงศาลเมื่อเวลาล่วงเลยไป
การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม ที่ประกาศว่าเป็น "สนามจริง" ตามที่แกนนำประกาศไว้ จะไปไกลได้ถึง 7 วันหรือไม่เป็นเรื่องน่าคิด เพราะแค่แนวร่วมนักศึกษาที่นิยมการทำกิจกรรมแบบ "แฟลชม็อบ" ไม่อดทนยึดพื้นที่ ใช้ชีวิตกิน-นอนบนถนน เหมือนเช่นมวลชนคนเสื้อแดงผ่านมา ก็ยิ่งยากที่ยืนระยะไปอย่างที่ประกาศไว้
แม้กระทั่ง "อานนท์ นำภา" ยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม ถ้ามีอาจไม่มีศิลปินที่กล้าขึ้นเวทีมากนัก เวทีเราก็อาจจะไม่ใหญ่มากนัก และการจัดการก็อาจทุลักทุเลพอสมควร อาจจะมีแค่คนปราศรัยเป็นหลัก ความบรรเทิงอาจลดลงถึงอาจไม่มีเลย แล้วเรายังจะมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมหรือไม่ หรือเราจะยอมแพ้ แล้วปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามชะตากรรมอย่างที่เขาต้องการ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นปฏิเสธได้ยากว่าเจ้าของพรรคเพื่อไทยยังเป็นเงาของกำลังหลักในเรื่องของมวลชน ผสมผสานกับยุทธศาสตร์การต่อสู้ของพรรคก้าวไกลผ่านคณะก้าวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเกมนอกสภา ให้สอดรับกับงานในสภาในแต่ละช่วง
แต่ทว่าสถานการณ์นอกสภาไม่ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มากนัก ทำให้ช่วงต้นปีงบประมาณ 2564 "บิ๊กตู่" คงหายใจได้ทั่วท้องมากขึ้น พร้อมเดินหน้าในการบริหารงาน แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ปรากฏการณ์ "พจมานเอฟเฟ็กต์" จนนำไปสู่การปรับทัพครั้งใหญ่เพื่อยึดพรรคเพื่อไทยคืน พร้อมปรับทัพครั้งใหม่ให้กลายเป็นของญาติ ลูกหลานของตระกูล
โดยมีการตั้งคณะผู้บริหารพรรคที่จะมากำหนดทิศทางพรรคที่เหนือคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) นั้น จะอยู่ในรูปแบบคณะผู้บริหารพรรค ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับพรรคที่สามารถแต่งตั้งได้ 5-11 คน
โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่คอยกำกับกำหนดทิศทางพรรค แล้วส่งต่อไปให้ กก.บห.พรรคแจกจ่ายงานไปยังส่วนต่างๆ อีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นการทำงานแบบคู่ขนาน ต่างจากการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค คอยกำหนดทิศทางของพรรคเป็นหลัก เพียงคณะกรรมการชุดเดียว และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าโครงสร้างใหม่ของพรรคเพื่อไทยจะไม่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคอีกต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และปรับโครงสร้างใหม่ ซึ่งคณะทำงานส่วนใหญ่ล้วนเป็นสายที่ใกล้ชิดนายทักษิณ คุณหญิงพจมานแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะคุณหญิงพจมาน ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ และจะเข้าร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารอย่างน้อยเดือนละครั้ง นอกจากนี้ยังมอบหมายให้เพื่อนสนิท คุณแจ๋ว (นางจุฑารัตน์ เมนะเศวต) เป็นตัวแทนในการมาดำเนินการเรื่องต่างๆ แทน โดยบุคคลดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันในแวดวงบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย ส.ส.และสมาชิกพรรคว่าเป็นคนที่คุณหญิงส่งมา ต่างให้ความยำเกรงและให้ความเคารพอย่างสูง
การกลับมาคุม "พรรคเพื่อไทย" หมุนเข็มนาฬิกากลับไปเมื่อก่อนเหตุการณ์ 2549 จึงน่าจะมีทิศทางชัดเจนขึ้นต่อทั้งเกมในสภาของพรรคเพื่อไทยในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะไปในทิศทางไหน จะใช้แนวทางเดิมในการ "สู้ไปเจรจาไป"
หรือจะใช้มวลชนต่อสู้แบบแตกหักเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยจับมือกับคนรุ่นใหม่ วางน้ำหนักต่อการเป็นพันธมิตรของพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นอีกตัวเลือกของ "เจ้าของพรรค" ที่ต้องชั่งน้ำหนัก
ทิศทางข้างหน้าของ "พรรคเพื่อไทย" จึงเป็นตัวแปรสำคัญต่อสถานการณ์การเมือง "ใน-นอก" สภาที่จะปูทางไปสู่ "คนรุ่นใหม่" ในตระกูลที่ต้องมารับมรดกนี้ไปบริหารต่อ ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อบริบทการเข้าสู่อำนาจของตนเองเพราะ "เกมโอเวอร์" ไปนับแต่ปี 2549
สถานการณ์ของรัฐบาลในขณะนี้ยังยืนระยะอยู่ได้ เนื่องจากยังมีแต้มต่อในเกมในสภาและนอกสภา แต่สภาพปัญหาโดยภาพรวมจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ในเรื่องเศรษฐกิจ น่าจะส่งผลในอนาคตอันใกล้ และมีผลต่อความไม่พอใจของคนในสังคมมากขึ้นจนกลายเป็นแนวร่วมกับม็อบเพื่อล้มรัฐบาลในที่สุด
เป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องประคับประคองให้ประชาชนระดับรากหญ้าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด พร้อมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนของนักการเมือง ไม่ปล่อยให้คนใกล้ชิดพัวพันเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เหยียบย่ำความรู้สึกของประชาชนที่กำลังเข้าสู่ยุคข้าวยาก-หมากแพง เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้าจนต้องเดินลงถนน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |