แม่น้ำเบรก (Breg) ไหลจากต้นน้ำในป่าดำ (Black Forest) ระยะทาง 46 กิโลเมตร แม่น้ำบริกาค (Brigach) ก็ไหลมาจากเขตป่าดำเป็นระยะทาง 40 กิโลเมตร แม่น้ำ 2 สายนี้บรรจบกันที่เมืองโดเนาเอชิงเกน รัฐบาเดิน-เวอร์ตเทิมแบร์ก ของประเทศเยอรมนี กลายเป็นแม่น้ำดานูบ (Danube) ก่อนจะไหลต่อไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้อีก 2,850 กิโลเมตรลงสู่ทะเลดำในโรมาเนียและยูเครน เป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับ 2 ในดินแดนทวีปยุโรป เป็นรองเพียงแม่น้ำวอลกาของรัสเซียที่ยาว 3,531 กิโลเมตร (ไหลลงทะเลแคสเปียน)
เมื่อนับจำนวน 10 ประเทศที่แม่น้ำดานูบไหลผ่านนั้นก็เป็นรองเพียงแม่น้ำไนล์ในแอฟริกาตะวันออกซึ่งไหลผ่าน 11 ประเทศ โดยประเทศที่แม่น้ำดานูบไหลผ่านประกอบไปด้วย เยอรมนี ออสเตรีย สโลวาเกีย ฮังการี โครเอเชีย เซอร์เบีย โรมาเนีย บัลแกเรีย มอลโดวา และยูเครน นอกจากนี้แล้วลุ่มน้ำดานูบยังเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากอีก 9 ประเทศใกล้เคียง ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี เช็ก สโลวีเนีย โปแลนด์ มอนเตเนโกร บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มาซิโดเนีย และแอลแบเนีย
แม่น้ำดานูบไหลผ่าน 19 เมืองใน 2 รัฐของเยอรมนี โดยภูมิประเทศส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นภูเขาจนกระทั่งถึงเมืองปัสเซา ในรัฐบาวาเรีย จุดซึ่งมีแม่น้ำอีก 2 สายคือแม่น้ำอินน์และแม่น้ำอิลซ์ไหลมารวมกัน เห็นเป็น 3 แยกทางน้ำสวยงามมาก จากนั้นไหลเข้าสู่ออสเตรียที่เมืองลินซ์ ต่อไปยังเครมส์, ทูลน์ และกรุงเวียนนา
แม่น้ำดานูบช่วงที่ไหลผ่านสะพานไรช์บรูกเคอ กรุงเวียนนา เมืองหลวงออสเตรีย
ผมเคยไปเยือนกรุงเวียนนาครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 3 ปีก่อน และเคยนำบันทึกมาถ่ายทอดลงในคอลัมน์หน้า 8 แห่งนี้ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำดานูบได้เขียนไว้ว่า
“...หลังจากกินยาแล้วงีบไปได้สักพัก ตื่นขึ้นมารู้สึกว่าอาการดีขึ้นหน่อยก็ออกไปนั่งรถไฟใต้ดินไปยังสถานี Praterstern ในเขต Leopoldstadt โผล่ขึ้นมาก็พบกับสวนสนุกขนาดใหญ่ชื่อปราเตอร์ (Prater) อันโด่งดัง เดินเข้าไปบริเวณด้านหน้าแล้วเดินออกมา ก่อนมุ่งหน้าแม่น้ำดานูบซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร
“แม่น้ำดานูบส่วนนี้บรรยากาศดูเงียบเหงา ร้านรวงไม่ค่อยมี เรือวิ่งอยู่ไม่กี่ลำ กิจกรรมริมน้ำก็น้อย แม่น้ำดานูบช่วงที่ไหลผ่านกรุงเวียนนาได้แยกออกเป็น 4 สาย เกิดเป็นเกาะดานูบ (เรียวและยาวมาก) และมีสายหนึ่งที่เรียกว่าคลองดานูบซึ่งไหลผ่านเขตเมืองเก่า และแม่น้ำวีน (Wien) ก็ไหลมาสมทบกับคลองดานูบนี้ก่อนจะไหลออกไปรวมกับดานูบสายหลักอีกที
“ผมเดินเลียบแม่น้ำไปทางซ้ายจนถึงสะพานไรช์บรูกเคอ เดินขึ้นสะพานแต่ไม่ได้ข้ามฝั่งแม่น้ำ มีเลนสำหรับรถยนต์ เลนจักรยาน และเลนคนเดิน โบสถ์คาทอลิก St. Francis of Assisi Church ตั้งงามเด่นอยู่ริมถนน Handelskai ด้านล่าง...”
จากเวียนนา แม่น้ำดานูบไหลต่อไปยังกรุงบราติสลาวา เมืองหลวงของสโลวาเกีย ผมเคยได้แต่ผ่านกรุงบราติสลาวาไป-มาราว 3 ครั้งทั้งโดยรถยนต์ รถไฟ และรถบัส ทว่าไม่มีวาสนาได้แวะเลยสักครั้ง
ออกจากสโลวาเกีย ดานูบเคลื่อนเข้าสู่ฮังการีตอนเหนือที่เมืองโมซอนแม็กยาโรวาร์ เกิดช่วงโค้งน้ำเป็นตัวอักษร S ที่เรียกว่า Danube Bend ที่เมืองวิเซกราด จากนั้นแม่น้ำไหลดิ่งลงใต้ตัดผ่ากลางประเทศ ผ่านเมืองต่างๆ ถึง 20 เมืองในฮังการี ทำให้เมื่อพูดถึงแม่น้ำดานูบ ใครหลายคนต้องนึกถึงฮังการีเป็นชาติแรก และแม่น้ำดานูบช่วงที่ไหลผ่านกรุงบูดาเปสต์นั้นให้ทัศนียภาพงดงามกว่าที่ใดๆ
อาคารรัฐสภาฮังการีในกรุงบูดาเปสต์ หนึ่งในอาคารรัฐสภาที่สวยงามที่สุดในโลก
“... ผมยืนและเดินเพื่อความผ่อนคลายตรงบริเวณลานกว้างด้านหน้าโบสถ์ (St. Stephen Basilica) อยู่ได้สักพักก็เดินกลับไปยังถนน Jozsef Attila แล้วเดินมุ่งหน้าสู่สะพานซีเชนยี (Szechenyi) ซึ่งเป็นสะพานแขวนความยาวรวม 375 เมตร สร้างจากหินและเหล็กบริสุทธิ์ แล้วเสร็จในปี ค.ศ.1849 นอกจากสำหรับคนเดินและรถรางแล้ว ก็มีช่องจราจรสำหรับรถวิ่งฝั่งละ 2 เลน บริเวณหัวสะพานทั้ง 2 ฝั่ง มีรูปปั้นราชสีห์ขนาดใหญ่หมอบอยู่ฝั่งละ 2 ตัว ดูแล้วน่าเกรงขามราวกับมีชีวิต
“สะพานนี้ถูกเรียกว่า Chain Bridge หรือ “สะพานโซ่” มากกว่าชื่อรัฐบุรุษ “อิสต์วาน ซีเชนยี” ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักในการก่อสร้าง เชื่อมฝั่งเปสต์ที่มีจัตุรัสซีเชนยี, วังเกรแชม (ปัจจุบันคือโรงแรม Four Seasons) และสถาบันวิชาการทางวิทยาศาสตร์แห่งฮังการี กับฝั่งบูดาที่มีจัตุรัสอดัมคลาร์ก, หลักกิโลเมตรที่ศูนย์ และเชิงเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทบูดา...”
“อาการปวดเท้าหายไปพอสมควรจึงออกเดินไปหาป้ายรถรางริมแม่น้ำ ยิ่งเดินไปทางซ้ายมือไกลออกไปก็จะเห็นอาคารรัฐสภาอันสวยสง่าที่ตั้งอยู่ฝั่งเปสต์ชัดขึ้นเรื่อยๆ ผมเดินผ่านป้ายรถรางไปไป 2 ป้าย เพื่อถ่ายรูปอาคารรัฐสภา สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดในฮังการี แล้วขึ้นรถรางสาย 41 …”
“รถรางวิ่งผ่านปราสาทบูดาและอนุสาวรีย์เสรีภาพบนเนินเขาเกลเลิร์ต (Gellert Hill) ด้านขวามือ ผ่านสะพานเอลิซาเบธด้านซ้ายมือ ผมลงที่ป้ายหน้าโรงแรมเกลเลิร์ต เดินข้ามสะพานเหล็กเสรีภาพ (Liberty Bridge) กลับไปยังฝั่งเปสต์ บนสะพานนี้การจราจรไม่คับคั่งนัก มีทางสำหรับรถราง และส่วนขอบราวสะพานสำหรับคนเดินและจักรยาน
ทัศนียภาพเมื่อมองลงไปจากปราสาทบูดา เห็นแม่น้ำดานูบ สะพานโซ่ซีเชนยี และฝั่งเมืองเปสต์
“คนหนุ่มสาวปีนขึ้นไปนั่งบนขอบสะพาน บ้างมีเครื่องดื่มจำพวกเบียร์และไวน์ในมือ คู่รักมานั่งคลอเคลียเคล้าแสงแดดอุ่นยามเย็นก็มีไม่น้อย…”
ส่วนบันทึกอีกวันเขียนเกี่ยวกับเกาะมาร์กาเร็ต เกาะกลางแม่น้ำดานูบ
“...เดินมั่วๆ อยู่ไม่นานก็ไปออกแม่น้ำดานูบ เดินบน “สะพานมาร์กาเร็ต” (Margaret Bridge) จนถึงกลางสะพานแล้วเลี้ยวขวาตามทางเชื่อมเข้า “เกาะมาร์กาเร็ต” การมายังเกาะนี้นอกจากเดินเท้าแล้วก็ทำได้เพียงโดยสารรถเมล์ที่มีอยู่สายเดียวและแท็กซี่เท่านั้น
“เกาะกลางแม่น้ำดานูบแห่งนี้ถือเป็นปอดของชาวบูดาเปสต์ มีความยาว 2.5 กิโลเมตร ไปจนติดกับอีกสะพานชื่อ “สะพานอาร์ปาด” ทางด้านทิศเหนือ เกาะกว้างประมาณ 500 เมตร เคยเป็นที่พำนักของขุนนางระดับสูงในคริสต์ศตวรรษที่ 12 รวมถึงเป็นที่ตั้งของโบสถ์คริสต์ 3 แห่ง ซึ่งมีอารามให้กับบาทหลวงและแม่ชีอยู่อาศัย แต่ถูกกองทัพออตโตมันบุกทำลายลงในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ปัจจุบันจึงเหลือแต่เศษซากให้รำลึกถึง”
ชาวยิวในฮังการีกับโศกนาฏกรรมระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไม่มีวันลืมเลือน
“...นอกจากนี้ยังมีเส้นทางปั่นจักรยาน ร้านอาหาร บาร์ ม้านั่งสำหรับนัดสนทนา ลานหญ้าสำหรับปิกนิกสังสรรค์หรือหย่อนใจ บางคู่รักก็พะเน้าพะนอกันอยู่ในอ้อมกอด เด็กๆ ปีนต้นไม้เล่น ที่เตะฟุตบอลและโยนจานร่อนก็มี บางคนนำสัตว์เลี้ยงมาวิ่งเล่นสนุกสนานกันทั้งสัตว์และคน เป็นภาพที่มีชีวิตชีวาที่สุดเท่าที่ผมพบเจอในบูดาเปสต์”
พ้นจากฮังการีแล้วแม่น้ำดานูบไหลผ่านโครเอเชียในระยะทางไม่ยาวนัก ส่วนใหญ่แล้วเป็นพื้นที่พรมแดนด้านทิศตะวันออกที่ติดกับเซอร์เบีย โดยจุดที่แม่น้ำดราวา (Drava) ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำดานูบที่เมืองโอซีเยกนั้นเกิดเป็นแม่น้ำ 2 สีที่น่าชื่นชมมาก
ช่วงที่ผ่านกรุงเบลเกรด เมืองหลวงของเซอร์เบีย ผมได้บันทึกไว้ว่า
“...โกรันเดินนำไปยังป้อมปราการแห่งเบลเกรด ซึ่งเป็นป้อมที่สร้างขึ้นบนเนินเขาทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำซาวา (Sava) ซึ่งไหลไปรวมกับแม่น้ำดานูบที่ไหลผ่านทางด้านทิศเหนือ ส่วนที่สูงสุดของป้อมตั้งอยู่บนเนินที่มีลักษณะคล้ายหน้าผาสูง 125.5 เมตร ป้อมนี้เป็นที่ตั้งค่ายของชาวเคลติก เผ่าสกอร์ดิสซี มาตั้งแต่เมื่อ 3 ศตวรรษก่อนคริสตกาล หลังจากเข้ามาขับไล่ชาวทราเชียนและดาเชียนที่อาศัยอยู่ก่อนออกไปได้ ก่อนจะพ่ายให้แก่กองทัพโรมันในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามค่ายนี้ถูกทำลายโดยผู้บุกรุกอยู่บ่อยครั้ง จนมีการสร้างป้อมปราการขึ้นอย่างจริงจังในสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 แห่งอาณาจักรไบแซนไทน์ หรืออาณาจักรโรมันตะวันออก ราวๆ ปี ค.ศ.535 สำหรับชาวเซิร์บและสลาฟเผ่าอื่นๆ ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในคริสต์ศตวรรษที่ 7
“ป้อมปราการมีสีขาวจึงได้ชื่อว่า “ป้อมขาว” หรือ “เมืองขาว” ซึ่งก็คือ Beograd ในภาษาเซอร์เบียน หรือ Belgrade ในภาษาอังกฤษนั่นเอง หลายชนชาติสลับสับเปลี่ยนกันมาเป็นเจ้าของป้อมปราการแห่งนี้ เนื่องจากการศึกสงครามที่ผลัดแพ้ชนะกันในอดีต ทั้งชาวบัลแกเรียน ชาวโรมัน ชาวเติร์กแห่งจักรวรรดิออตโตมันที่อยู่ปกครองอย่างยาวนานรวมเกือบ 500 ปี หรือแม้แต่ชาวออสเตรียนและฮังกาเรียนที่เข้ามาขับไล่กองทัพเติร์กออกไปได้ในบางช่วง ในปัจจุบันนอกจากป้อมปราการแล้วก็ยังมีส่วนที่เป็นสวนสาธารณะ เรียกว่า Kalemegdan Park ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์กองทัพ พิพิธภัณฑ์การทรมาน สวนสัตว์ สนามเด็กเล่น โบสถ์ออร์โธดอกซ์ หรือแม้แต่ร้านอาหาร
แม่น้ำดานูบไหลผ่านป้อมปราการกรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย
“เราได้ที่นั่งมุมดีเยี่ยมสำหรับการดูพระอาทิตย์ตกของร้านอาหารชื่อ Kalemegdanska Terasa ในส่วนที่เป็นระเบียงนอกร้าน ผมยินดีนั่งหันหลังให้ดวงอาทิตย์ ส่วนโกรันใส่แว่นดำประจันแสงที่ยังส่องจ้าแม้เวลาจะปาเข้าไปทุ่มครึ่ง เบื้องหน้าของเขานอกจากแม่น้ำซาวาที่ไหลบรรจบกับแม่น้ำดานูบแล้ว ก็ยังมี Great War Island ซึ่งเป็นเกาะที่เพิ่งเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 15 จากการที่แม่น้ำดานูบไหลแยกออกมาจากเส้นหลักเพื่อร่วมสายกับแม่น้ำซาวา ก่อนที่แม่น้ำซาวาจะไหลไปถึงดานูบเส้นใหญ่ หากมองดูจากมุมสูงก็จะเหมือนวงเวียนที่มีถนนน้ำ 3 สายโดยมีเกาะอยู่ตรงกลาง เกาะแห่งนี้ในอดีตคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ใช้เป็นที่มั่นสำหรับการโจมตีป้อมปราการแห่งเบลเกรด ปัจจุบันไม่มีผู้คนอาศัยอยู่...”
และอีกบันทึกหลังจากวันนั้น
“...บนฝั่งป้อมปราการที่มีลักษณะเหมือนผาริมน้ำคือที่ตั้งของอนุสาวรีย์ผู้พิชิต เป็นรูปปั้นเงินบุรุษเปลือยกาย รูปร่างกำยำอยู่บนฐานเสาคอนกรีตและหิน ในมือซ้ายมีนกเหยี่ยว มือขวาถือดาบ รวมความสูง 14 เมตร สร้างขึ้นเพื่อรำลึกการขับไล่ออตโตมันเติร์กออกไปได้อย่างเด็ดขาดในสงครามบอลข่าน และชัยชนะเหนือจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในสงครามโลกครั้งที่ 1
“ไม่ไกลจากลานที่ตั้งของอนุสาวรีย์ผู้พิชิตมีคาเฟ่ร้านหนึ่ง วางโต๊ะเก้าอี้ชิดกับกำแพง ซึ่งแน่นอนว่าป้อมปราการเบลเกรดนี้ยากที่จะเข้าเงื่อนไขให้องค์การยูเนสโกพิจารณาเป็นมรดกโลก แต่ดูแล้วชาวเซิร์บไม่แยแสมากนัก โกรันนั่งลงที่โต๊ะตัวหนึ่งข้างๆ ลำโพงที่เปิดเพลงร็อกแอนด์โรลจากอเมริกา ผมเดินไปสั่งเครื่องดื่มแก้กระหายที่เคาน์เตอร์ สาวสวย 2 อนงค์กำลังให้บริการ คนหนึ่งรูปร่างดีและสูงยาวเป็นคนเดินโต๊ะอย่างคล่องแคล่วว่องไว อีกคนทำหน้าที่แคชเชียร์ ผมขอโทนิกบิตเทอร์เลมอนให้โกรัน และโคลาให้ตัวเอง ขอใช้ห้องน้ำแล้วกลับออกมาจ่ายเงินค่าเครื่องดื่มพร้อมทิปเล็กน้อย โต๊ะข้างๆ เรามีวัยรุ่นกลุ่มใหญ่ดื่มเบียร์แก๊สเยอะยี่ห้อ Jelen กันตั้งแต่หัววัน โกรันบอกว่าพวกเขามาจากสโลวีเนีย ชาวสโลวีนเป็นคนสนุกสนาน ชอบดื่ม และออกจะพูดคุยเสียงดัง...”
แม่น้ำดานูบไหลผ่าน 16 เมืองในเซอร์เบีย ตัดกลางประเทศจากชายแดนทิศตะวันตกไปยังชายแดนทิศตะวันออก เมื่อสุดเขตแดนก็ไหลลงทิศใต้กลายเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นเซอร์เบียกับโรมาเนีย จากนั้นมุ่งไปทางทิศตะวันออก ฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำคือโรมาเนีย ฝั่งตรงข้ามทางทิศใต้คือบัลแกเรีย
มองแม่น้ำซาวาจากป้อมปราการกรุงเบลเกรด แม่น้ำสายนี้กำลังไหลไปสมทบกับแม่น้ำดานูบ
เมื่อไหลใกล้จะถึงทะเลดำ แม่น้ำดานูบเลี้ยวซ้ายขึ้นเหนือเข้าไปในพื้นที่ประเทศโรมาเนีย เลี้ยวขวาเพื่อทำหน้าที่พรมแดนธรรมชาติกับมอลโดวาและยูเครน ก่อนแยกออกไป 3 สาย ไหลผ่านดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Danube Delta) ลงสู่ทะเลดำ สองสายล่างคือสายสฟานตู จอร์เก (Sfantu Gheorghe หรือเซนต์จอร์จ) และสายซูลีนา (Sulina) อยู่ในเขตโรมาเนีย ส่วนอีกสายไหลลงทะเลดำจากดินแดนยูเครน มีชื่อว่าสายคิเลีย (Chilia) อันมีที่มาจากชื่อของวีรบุรุษ Achilles (อคิลิส) ในเทพปกรณัมกรีก ตามตำนานหนึ่งเชื่อว่าร่างของอคิลิสถูกฝังบนเกาะใกล้ปากแม่น้ำสายนี้
การขุดคลองไรน์-ไมน์-ดานูบ ระยะทาง 171 กิโลเมตรที่ใช้ระยะเวลายาวนานหลายทศวรรษเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1992 เชื่อมแม่น้ำไมน์ที่เมืองบัมแบร์กกับแม่น้ำดานูบที่เมืองเคล์ไฮม์ โดยมีเมืองเนิร์นแบร์กอยู่ระหว่างทาง แม่น้ำไมน์ไหลไปเชื่อมกับแม่น้ำไรน์ ที่ท้ายสุดไหลไปออกทะเลเหนือที่เมืองร็อตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
การเดินเรือระหว่างทะเลเหนือทะลุสู่ทะเลดำเป็นจริงขึ้นมาได้หลังจากมีความพยายามสร้างคลองลุดวิกตั้งแต่สมัยพระเจ้าลุดวิกที่ 1 แห่งบาวาเรียเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |