รธน.แก้ไขได้ ประตูยังไม่ปิด สภาสูง พร้อมเสนอร่างฯ ประกบ
ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ทางการเมือง หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่ได้ลงมติว่าจะเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ กับร่างแก้ไข รธน. 6 ฉบับ แต่ได้ลงมติตั้ง คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ก่อนรับหลักการ ซึ่งไม่ได้มีตัวแทนจากพรรคร่วมฝ่ายค้านมาเป็น กมธ.ด้วย โดย กมธ.ได้เริ่มประชุมไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันกลุ่มม็อบเคลื่อนไหวทางการเมืองได้นัดชุมนุมใหญ่ 14 ตุลาคมนี้ ที่ถนนราชดำเนิน โดยนำเรื่องการแก้ รธน.มาเป็นหนึ่งในประเด็นการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น
สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา-วิปวุฒิสภา หนึ่งในคีย์แมนสภาสูงที่มีบทบาทอย่างมากในวุฒิสภาชุดปัจจุบัน และปัจจุบันก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไข รธน. ก่อนรับหลักการในสัดส่วนของวุฒิสภา ย้ำถึงแนวทางการแก้ไข รธน.ว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.มาตรา 256 เพื่อให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยเฉพาะหากไม่มีการทำประชามติก่อนที่รัฐสภาจะโหวต เพราะอาจเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาล รธน.ก่อนหน้านี้ได้ พร้อมกันนี้ได้เสนอแนวทางการแก้ไข รธน.รายมาตราหลายประเด็น รวมถึงมาตรา 256 โดยไม่ต้องตั้ง ส.ส.ร. โดยเปิดเผยว่า มีแนวคิดจะรวบรวมรายชื่อ ส.ว. และ ส.ส.จำนวนหนึ่งเพื่อเสนอญัตติขอแก้ไข รธน.เข้าสู่การพิจารณา ประกบไปกับร่างแก้ไข รธน.ที่ค้างการพิจารณาอยู่ 6 ร่างฯ
สมชาย-สมาชิกวุฒิสภา ที่อยู่ในแวดวงการเมืองรัฐสภา ทั้งการเป็น ส.ว.และ สนช.มาหลายสมัยตั้งแต่เริ่มเป็น สนช.เมื่อปี 2549 ย้ำว่า แม้ รธน.จะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแต่สามารถแก้ไขได้ เช่น เดียวกับกฎหมายทุกฉบับ โดยหลักสำคัญของกฎหมายสำคัญของประเทศ อาจารย์นักกฎหมาย-ผู้ใช้กฎหมายทุกคนทราบดีว่า หากกฎหมายแก้ได้ง่าย แล้วแก้กันไปแก้กันมา วันหนึ่งฝ่ายไหนมีอำนาจ อยากแก้ก็แก้กฎหมาย อีกฝ่ายกลับมามีอำนาจบ้างก็กลับมาแก้ หรือแม้กระทั่งใช้มวลชนกดดันเข้ามาแก้กฎหมาย ทำให้กฎหมายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่สามารถเป็นหลักยึดได้ ซึ่ง รธน.ใช้กับคนไทยทุกคน 69 ล้านคน เป็นหลักยึดที่ต้องรู้เลยว่า เราต้องเดินแนวนี้เพราะอะไร เช่น ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวแบ่งแยกมิได้ หรือการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 อำนาจ (บริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ) ซึ่งหากทำให้แก้ง่าย แล้วฝ่ายที่อยากแก้ไขใช้วิธีนำมวลชนออกมากดดันจนมีการยอมแก้ แล้วต่อมาพอแก้เสร็จ อีกฝ่ายหนึ่งก็นำมวลชนของตัวเองออกมากดดันให้แก้กลับไปแบบเดิม หรือมีฝ่ายที่สามอยากแก้เป็นอย่างอื่นอีก ก็จะทำให้รัฐธรรมนูญไม่เป็นหลักของประเทศ ไม่เป็นหลักของบ้านเมือง
...นอกจากนี้ การพิจารณาเรื่อง รธน.ต้องรอบคอบรัดกุม ไม่ให้เกิดช่องว่าง ว่าการพิจารณานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเสียเอง ซึ่งเคยมีคำวินิจฉัยของศาล รธน. ที่ 18-22/2555 ที่มีผู้ร้อง เช่น พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม -ผมและภาคประชาชน รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายวิรัช กัลยาศิริ เข้าชื่อร่วมกันยื่นต่อศาล รธน.เมื่อปี 2555 ว่าการแก้ไข รธน.มาตรา 291 ที่เป็นมาตราเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไข รธน.ใน รธน.ปี 2550 เหมือนเช่น มาตรา 256 ใน รธน.ฉบับปี 2560 ที่ตอนนั้นมีการยื่นในประเด็นว่า การแก้ไข รธน.เพื่อให้มีการตั้งสภาร่าง รธน.เพื่อไปร่าง รธน.ฉบับใหม่ ทำได้หรือไม่ เพราะเราร้องคัดค้านว่าทำไม่ได้
ต่อมาศาล รธน.มีคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า อำนาจสถาปนาให้เกิด รธน.มาจากประชาชนที่ลงประชามติให้ความเห็นชอบ รธน.ปี 2550 องค์กรการเมืองการปกครองหรือกฎหมายใดที่อยู่ภายใต้องค์สถาปนานั้น เมื่อจะรื้อหรือร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ จำเป็นต้องกลับไปถามประชาชนที่ให้ความเห็นชอบตอนประชามติมาเสียก่อน ว่าจะเห็นชอบหรือไม่ จุดนี้เป็นข้อกฎหมายที่สำคัญมากเพราะหากเราไม่ทำตามคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ผูกพันทุกองค์กร รัฐสภาก็จะทำผิดกฎหมายเสียเอง ที่อาจทำให้รัฐสภาขาดความน่าเชื่อถือ
ส.ว.สมชาย กล่าวต่อไปว่า หลังมีคำวินิจฉัยดังกล่าวออกมาทำให้ร่างแก้ไข รธน.เวลานั้นที่กำลังจะเข้าสู่การลงมติของรัฐสภาในวาระสาม พรรคร่วมรัฐบาลเวลานั้นจึงตัดสินใจยกเลิกการลงมติ เพราะหากบอกว่าคำวินิจฉัยนั้นไม่สำคัญแล้วเหตุใดเวลานั้นถึงไม่ยอมเรียกประชุมลงมติ เพราะหากลงมติไป ก็เท่ากับกระทำขัดขืนต่อคำวินิจฉัยของศาล รธน. ก็จะนำไปสู่การยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง ต่อมาในปี 2556 ก็เกิดเรื่องแบบเดียวกันแต่ตอนนั้นเป็นการยื่นแก้ไข รธน.รายมาตรา ที่เสนอแก้ไขเรื่องคุณสมบัติของ ส.ว.ให้กลับมาลงสมัครได้อีก โดยตอนนั้นที่ยื่นประเด็นดังกล่าว ก็มีอดีต ส.ว.และพรรคประชาธิปัตย์ไปยื่นคำร้องต่อศาล รธน. ที่เวลานั้นก็เกิดกรณี "คลิปเสียบบัตรแทนกัน" ตอนลงมติร่างแก้ไข รธน.รายมาตราดังกล่าว และศาล รธน.ได้วินิจฉัยประเด็นเอกสารร่างแก้ไข รธน.ไม่ถูกต้องที่คนเรียกกันว่า รธน.ปลอม ที่มีการเปลี่ยนหลักการ-เปลี่ยนลายชื่อโดยไม่ได้ไปเซ็นใหม่
..การแก้ไข รธน.รอบล่าสุดครั้งนี้ ก็ปรากฏเอกสารบางอย่าง ว่าร่างแก้ไข รธน.ที่ทำอย่างรีบร้อน ที่เป็นร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา 4 ร่างฯ ที่เสนอโดย ส.ส.ฝ่ายค้านนำโดยเพื่อไทย-ก้าวไกล เราก็พบความน่าสงสัยของรายชื่อ คนเดียวกัน แต่เซ็นชื่อไม่ตรงกัน ไม่เหมือนกัน เราก็เห็นว่าหากเกิดปัญหาแบบนี้แล้วมีการถอนร่างฯ ที่เสนอร่างแรก 10 ก.ย. แล้วเปลี่ยนใหม่มายื่นอีกที 16 ก.ย. เราก็เกรงว่ามันจะกลับไปสู่ปัญหาเดิมหรือไม่ ที่ศาล รธน.เคยวินิจฉัยว่า เอกสารการยื่นแก้ไข รธน. ทำโดยมิชอบ เราเห็นว่าต้องซักถามเลขาธิการสภาฯ ให้ครบถ้วนว่าทุกอย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะหากว่า ส.ส.-ส.ว.เกิดไปลงมติเห็นชอบแล้วมีคนไปยื่นศาล รธน.ว่าเป็นการกระทำมิชอบ-ยื่น ป.ป.ช.จนหาก ป.ป.ช.เกิดชี้มูลความผิดขึ้นมา จะเป็นปัญหา
..ยืนยันว่าไม่ได้ค้านการแก้มาตรา 256 เพราะใน รธน.บัญญัติไว้ให้ รธน.แก้ไขได้ แต่ต้องไปทำประชามติ เพราะคำวินิจฉัยศาล รธน.ที่ยกมาข้างต้น บอกว่าหากจะรื้อทิ้ง รธน.ทั้งหมดหรือร่าง รธน.ใหม่ ต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าจะให้รื้อทิ้ง ร่างกันใหม่หรือไม่ เพื่อเป็นการเคารพ 16 ล้านเสียงที่เห็นชอบตอนทำประชามติ รธน.ฉบับปัจจุบัน และก็เคารพ 10 ล้านเสียงที่ลงมติไม่เห็นชอบด้วย ก็ถามทั้งหมด โดยหากผลประชามติออกมา ประชาชนเปลี่ยนใจ บอกว่า รธน.ใช้ไม่ได้ แล้วเกิดผลออกมาเช่น 20 ล้านเสียง เห็นควรให้ร่าง รธน.ฉบับใหม่ โดยให้ตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งที่ผ่านมา ส.ส.จะพูดแค่เพียงว่า แก้ไข รธน.แล้วก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องไปทำประชามติ ซึ่งเป็นการพูดไม่หมด
สมชาย-วิปวุฒิสภา เห็นว่ายังมีทางเลือกอื่นๆ ที่แก้ 256 ได้โดยไม่ต้องตั้งสภาร่าง รธน. เช่น หากไม่ต้องการให้ ส.ว.มีอำนาจในการเสนอญัตติขอแก้ไข รธน. จากปัจจุบันที่มาตรา 256 บัญญัติว่าให้ ส.ว.ร่วมลงชื่อเสนอญัตติขอแก้ไข รธน.ได้ ก็เสนอแก้ไขให้ตัดออกไปเลยก็ได้ หรือตัดที่มาตรา 256 ที่บัญญัติว่า การแก้ไข รธน.วาระแรก และวาระสาม ต้องได้เสียงเห็นชอบ จาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ รวมถึงตัดเรื่องตอนโหวตวาระสาม ต้องได้เสียงเห็นชอบด้วยจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน 20 เปอร์เซ็นต์ ที่คนมักพูดกันว่าขั้นตอนดังกล่าวที่เขียนล็อกไว้แบบนี้ทำให้การแก้ไข รธน.ทำได้ยาก
"ก็เสนอให้ตัดตรงนี้ออกไปก็ได้ในมาตรา 256 โดยไม่ต้องมาเสนอตั้งสภาร่าง รธน. ก็ทำได้เลยในรัฐสภา โดยให้เปลี่ยนเป็นว่า การเห็นชอบการแก้ไข รธน.ให้ใช้เสียงที่ประชุมรัฐสภาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา คือ ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน ที่ก็คือ 500 คน ซึ่งถ้า ส.ว.ไปร่วมกับฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล รวมกันแล้วต้องได้ 500 เสียง โดยหากเป็น 500 เสียงที่ทำดีเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ คนก็ยกย่อง แต่หากทำไม่ดี คนก็จะเรียกโจรห้าร้อย หากไปร่วมมือกันแก้ไข รธน.แล้วทำให้มันอุบาทว์ 500 คนที่จะร่วมกันดังกล่าวก็ต้องคิดให้ออกว่าจะกลายเป็นคนเลวของสังคมหรือไม่ หากไปแก้ไข รธน.แล้วเกิดเละเทะ หรือแม้แต่หากสภาเห็นชอบด้วยกันหมด 500 เสียง โดยไม่มีเสียง ส.ว.เลย ส.ว.ก็ไปค้านการแก้ไข รธน.นั้นไม่ได้ หลักนี้ก็เป็นหลักประกันได้ว่าการแก้ไข รธน.จะไม่ใช่แค่เผด็จการเสียงข้างมาก เพราะใช้เสียง 2 ใน 3 ไม่ใช่แค่เกินกึ่งหนึ่ง"
ร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา ส.ว.ไม่ขัดข้อง ซึ่งหลักของร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา สามารถทำได้โดยสองแบบ แบบแรก เป็นเรื่องที่แก้ไขได้โดยง่าย ไม่ต้องทำประชามติ รธน.บัญญัติใน 256(8) คือ กรณีหากแก้ไข รธน. เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็น เช่น เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ ก่อนดําเนินการต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ แต่หากประเด็นที่แก้ ไปกระทบกระเทือนโครงสร้าง ต้องไปทำประชามติ
...กับส่วนที่สอง คือ รธน.ไม่ได้เขียนบังคับไว้ในหมวดอื่น เช่น หากสมมุติอยากมีการแก้ไขเรื่องที่อยู่ในหมวดว่าด้วย "สภาผู้แทนราษฎร" เกี่ยวกับเรื่องบัตรเลือกตั้ง ส.ส. ควรใช้แบบในอดีต คือ สองใบหรือแบบบัตรใบเดียวดี ซึ่งปัญหาเรื่องบัตรเลือกตั้ง เป็นปัญหาของ ส.ส. ที่บางพรรคก็อยากให้แก้ไข แต่บางพรรคก็ไม่ต้องแก้ ส.ว.ก็บอกว่า ก็ให้ไปตกลงกันเสียก่อนให้เรียบร้อย แล้วเอาไปทำประชาพิจารณ์ ถามความเห็นเชิงวิชาการ หากคนเห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.เรื่องบัตรเลือกตั้ง ก็เสนอร่างแก้ไข รธน.มา ส.ว.ก็อาจลงให้ผ่านในวาระแรก แต่ทว่าในร่างแก้ไข รธน.เรื่องระบบเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล เสนอมาที่อยู่ในญัตติที่ 6 มันยังไม่ชัดเจนว่า แก้ไขแล้วเป็นอย่างไร เช่น หากแก้ไขแล้วจะใช้เขตเลือกตั้งแบบไหน จะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือสองใบ เมื่อตกลงกันได้แล้วก็ค่อยนำเสนอมาโดยใช้ความเห็นเชิงวิชาการของใครก็ได้ เช่น จากสถาบันพระปกเกล้า เพื่อให้การแก้ไข รธน. ถกแถลงกันที่เนื้อหาสาระ
...หรือกรณีพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล เสนอร่างแก้ไข รธน.ตัดอำนาจ ส.ว.ในมาตรา 270-271 เพื่อไม่ให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในการติดตามการปฏิรูปประเทศ ซึ่งขอถามว่าหากตัดตรงนี้ออกไป แล้วฝ่ายใดจะเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะหากตัดไป ไม่มีส่วนนี้ แต่ทว่าหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศยังคงอยู่ มันก็จะไม่เกิดการทำงาน ทั้งที่เราก็เห็นอยู่ว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ยังมีปัญหาต้องมีการปฏิรูป เช่น การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปสื่อ ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครทำ แล้ว ส.ว.มีหน้าที่แค่ติดตามเท่านั้น หากตัดเรื่องนี้ออกไปก็จะยิ่งทำให้ไม่มีใครทำ ก็จะยิ่งเป็นปัญหาต่อไป
ส.ว.พร้อมเสนอร่างแก้ไข รธน.ประกบ
สมชาย-ส.ว. เปิดเผยความเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไข รธน.ของ ส.ว.ว่า ผมก็เลยมีแนวคิดว่าจะเสนอร่างแก้ไข รธน. อีกหนึ่งญัตติเข้าไป ที่กำลังมีการร่างรายชื่อเพื่อเสนอ ที่มีเนื้อหาคือ จะให้ ส.ส. และ ส.ว.ร่วมกันติดตามการปฏิรูปประเทศ คือ แทนที่จะเอา ส.ว.ออกไป ก็จะเสนอให้เอาเข้า คือให้นำ ส.ส.เข้ามาติดตามการปฏิรูปประเทศด้วย ให้มี ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเข้ามามีส่วนตรงนี้ มาติดตามการทำงานของรัฐมนตรีว่ารัฐมนตรีคนใดไม่สนใจติดตามการปฏิรูปด้านต่างๆ เช่น กระบวนการยุติธรรม การศึกษาหรือไม่ เป็นการแทนที่ว่าจะให้ ส.ว.เป็นฝ่ายเดียวที่ทำหน้าที่นี้ ผมก็จะเสนอญัตติขอแก้ไข รธน.ให้ ส.ส.เข้ามาร่วมด้วยกับ ส.ว. ให้ ส.ส.อภิปรายเรื่องปฏิรูปในสภาได้เลย ก็จะทำให้การปฏิรูปมีการขับเคลื่อน
..ผมก็ร่างกรอบแก้ไข รธน.รายมาตราขึ้นมาแล้ว โดยเบื้องต้นต้องการเสนอแก้ไข รธน.บางประเด็น เช่น เรื่อง จำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เพราะผมเห็นว่า ส.ส.เขตควรมี 400 คนจากปัจจุบันมี 350 คนแล้ว ปาร์ตี้ลิสต์จากปัจจุบัน 150 คนก็ให้เหลือแค่ 100 คน และอยากเสนอแก้ให้พื้นที่เลือกตั้ง เป็นแบบเขตใหญ่ ใช้ระบบรวมเขตเรียงเบอร์หรือจะเลือกก็ได้ให้เป็นรวมเขตเบอร์เดียว รวมถึงอีกบางประเด็นที่กำลังลิสต์ไว้อยู่ เช่น แก้ 256 ให้ใช้เสียงเห็นชอบการแก้ไข รธน. คือ 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่บอกไว้ข้างต้น รวมถึงเสนอแก้ไขมาตรา 65 ที่เป็นเรื่อง แนวนโยบายแห่งรัฐ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ หน้าที่ของรัฐ ที่ปัจจุบันเป็นหมวดว่าด้วยแนวนโยบายที่ก็คือ ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ผมก็จะเสนอแก้ไขโดยย้ายมาตราดังกล่าวไปไว้ให้เป็นเรื่อง หน้าที่ของรัฐ คือ ภาครัฐมีหน้าที่ต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ หากไม่ทำก็จะโดนเอาผิด 157 ของประมวลกฎหมายอาญาได้ ตลอดจนให้แก้เรื่อง คุณสมบัติผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ที่หากบุคคลใดถูกศาลพิพากษาตัดสิทธิ์การเมือง ควรให้เป็น "ตัดสิทธิ์การเมืองตลอดชีวิต" ไม่ใช่แค่ 5 ปี 10 ปี แล้วกลับมาได้อีก ต้องให้เป็นคุณสมบัติต้องห้ามหลักเลย เพราะจะทำให้ทุกคนระมัดระวังตัวเองมาก ไม่อย่างนั้นต้องออกจากการเมืองตลอดชีวิต ไม่ใช่โดนตัดสิทธิ์ 5 ปี 10 ปีแล้วฟื้น ไม่เอา
..รัฐธรรมนูญมองได้ทุกมุม มองแก้ไขเพื่อให้เข้มขึ้นก็ได้ หรือแก้ไขให้อ่อนลงก็ได้ แต่ต้องยึดหลักเรื่องของประโยชน์ส่วนรวม และสำคัญคือแก้เฉพาะในส่วนที่มีปัญหาการบังคับใช้ รัฐธรรมนูญก็เหมือนกฎหมายทั่วไป บางทีใช้ไปแล้วมันก็ไม่ฟังก์ชัน อย่างกฎหมายหมวดกันน็อกของตำรวจ ที่ออกมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว แต่ผลคือประชาชนไม่ปฏิบัติตาม ตำรวจก็ไม่บังคับใช้กฎหมาย ก็มีคนเสียชีวิตจำนวนไม่น้อยแต่ละวัน ซึ่งถามว่าเกี่ยวกับกฎหมายก็ไม่เกี่ยว คือเป็นเรื่องของกฎหมายที่ออกมาแล้วใช้ไม่ได้ สมมุติหาก รธน.มีลักษณะแบบนี้ไปเจอในบางมาตรา ไม่ได้ใช้ก็ต้องยกเลิกไปหรือแก้ไข เพื่อให้มีหลักประกันว่าผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม รธน.มีความผิด
ในโลกนี้การแก้ไข รธน.ทำผ่านสองระบบ 1.ใช้ที่ประชุมใหญ่รัฐสภา โดยใช้เสียงเห็นชอบจากสมาชิก เช่น เกินกึ่งหนึ่ง-2 ใน 3 หรือ 3 ใน 5 กับระบบที่ 2.ทำเหมือนเสนอร่าง พ.ร.บ. หรือแก้ไขกฎหมายทั่วไป คือต้องผ่านความเห็นชอบจาก ส.ส.ด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้วส่งไปให้วุฒิสภาเห็นชอบโดยต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งเท่ากับว่า กึ่งหนึ่งของ ส.ว.ที่มีอยู่ตอนนี้จาก 250 ก็คือ 126 เสียง แต่หากดู รธน.มาตรา 256 บอกว่าต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. 1 ใน 3 คือ 84 เสียงเอง เท่ากับวุฒิสภาถูกทอนอำนาจแล้ว ผมเคยบอกกับ ส.ส.ว่า หากพวกคุณเสนอแก้ไขกฎหมายที่เป็นประโยชน์ เช่น การปฏิรูปประเทศ อย่าว่าแต่ 84 เสียงเลย 250 เสียงก็จะยกมือให้ อันนี้คือวิธีคิดของพวกเรา
สมชาย-วิปวุฒิสภา ย้ำต่อไปว่า อย่าไปกังวลว่า รธน.จะแก้ไม่ได้ ยืนยันว่า รธน.แก้ไขได้ แต่แก้แล้วต้องเกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่แก้แล้ว ชาวบ้านก็มาก่นด่าว่าแก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองเท่านั้น หรือพอแก้แล้ว ม็อบอีกฝ่ายก็ลุกฮือขึ้นมาเป็นแสนเป็นล้าน แล้วก็ต้องมาแก้กลับไปแบบเดิม แล้วพอแก้ได้ อีกฝ่ายก็จะลุกขึ้นมาอีกเป็นล้านอีก ที่ก็คือกลุ่มทั้งคนที่ลงประชามติเห็นชอบ รธน.ฉบับปัจจุบัน กับประชาชนที่ลงมติไม่เห็นชอบ รธน.ที่มีเป็นหลักสิบล้านกว่า ก็คือม็อบจากทั้งสองฝ่ายที่ตกค้างมาต่อเนื่อง
เราจึงยืนหลักว่า การแก้ไข รธน.หากแก้ รธน.รายมาตรา แล้วเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน เราเห็นด้วย แต่หากเสนอแก้มาโดยไม่เป็นประโยชน์แล้วก็ยังไม่ไปทำประชามติก่อน แบบที่เสนอญัตติมาให้รื้อทิ้งทั้งหมด เราไม่เห็นด้วย โดยหากแก้ไขรายมาตราแล้วเรื่องนั้นไปอยู่ในหมวดที่ต้องไปทำประชามติก่อนแก้ไข ก็ต้องทำ แต่หากเสนอแก้ไขมาตราใดแล้วไปอยู่ในหมวดที่ไม่ต้องทำประชามติก่อน สภาเสนอต่อสาธารณะได้เลยวุฒิสภา อาจเสนอแก้ไข รธน.เองด้วย
"ที่ผ่านมา ก็มีการสร้างวาทกรรมว่ามีการกดทับ แต่ไปกดทับคนอื่น เอาม็อบมาปิดสภา มาบังคับให้ ส.ว.ต้องโหวตตาม ถ้าไม่โหวตตาม เรียกผมว่าไอ้.... ให้ออกไป ถามว่าแบบนี้คุณกดทับเราหรือไม่ คุณใช้กำลังข่มเหง บังคับแล้วใช้ ส.ส.อภิปรายคู่ขนาน กับการทำมวลชนข้างหน้ารัฐสภากับข้างในเพื่อบังคับให้เราโหวต ผมยืนยันว่าวันที่ 24 ก.ย. หากเราโหวตก็ไม่มีปัญหา เพราะเราไม่ได้กลัว"
... แต่ผลโหวตวันนั้น จะนำมาซึ่งการเติมฟืนเข้าไปในกองไฟแน่นอน ผลโหวตจะออกมาคล้ายกับการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบของ ส.ว.ตอนตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ พิจารณาญัตติขอแก้ไข รธน. เสียงคัดค้านของ ส.ว.สามคนที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. จะโหวตไม่เห็นชอบกับการแก้ไข รธน. ทั้งหมดทุกญัตติ สามเสียงก็อาจเอนเอียงไปในทางร่างหนึ่งร่างใดที่เป็นร่างย่อย-งดออกเสียงบางส่วน โดยอาจเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง เช่น เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.เรื่องระบบการเลือกตั้ง บางคนอาจเห็นชอบกับการแก้มาตรา 272 เรื่องตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ แต่ทั้งหมด 11 เสียงรวมยังไงก็ไม่ถึง 84 เสียง ทำให้ร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 6 ร่าง จะตกไปทันที
...พอพรรคร่วมรัฐบาลประสานงานมา ผมก็บอกว่ายินดีถ้าเป็นทางออกประเทศร่วมกัน ก็ควรให้เอากลับไปศึกษาเสียก่อน ให้เห็นเลยว่าข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่กังวลกัน เช่น คำวินิจฉัยของศาล รธน.เมื่อปี 2555-ข้อเท็จจริงเรื่องเอกสารการเซ็นชื่อในญัตติแก้ไข รธน. 4 ร่างชัดเจนแล้ว จะได้ไม่โดนถอดถอน และบางร่างที่เสนอมา วุฒิสภาเรารับร่างมา 16 ก.ย.แล้วมาประชุม 23 ก.ย. เท่ากับให้เวลา ส.ว.แค่ 7 วัน แล้ววันที่ 8 จะให้เราลงมติเห็นชอบทั้งที่กฎหมายบางฉบับที่เราพิจารณากันใช้เวลา 1-2 ปี อย่าง รธน.ปี 2540 กว่าจะร่างออกมาได้ก็มีขั้นตอนต่างๆ ผ่านการตั้งกรรมการชุดต่างๆ อาทิ ชุด นพ.ประเวศ วะสี ยุครัฐบาลชวน หลีกภัย 1-ตั้งกรรมการชุดนายชุมพล ศิลปอาชา สมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา แล้วมีการแก้ รธน. 211 จนตั้ง ส.ส.ร.แล้วร่าง รธน.ฉบับปี 2540 ออกมา ก็ใช้เวลาร่วม 2-3 ปี
ถ้า รธน.ฉบับปัจจุบันมีปัญหาก็แก้บางมาตราอย่าง รธน.ปี 2540 และ 2550 เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นของเก่าก่อนหน้านั้นหมด มันไม่ใช่รื้อทิ้งแบบที่บางกลุ่มต้องการจะรื้อทิ้งหมด ความคิดที่ถูกครอบงำและเป็นปัญหาของโลก คือคนรุ่น Gen สุดท้าย เขาใช้คำว่า "หากจะสร้างวัฒนธรรมใหม่ในรุ่นเรา ต้องล้มวัฒนธรรมเก่าทั้งหมดแล้วค่อยๆ สร้างขึ้นใหม่ในยุคเรา" มันถึงมีคำว่า "ให้มันจบที่รุ่นเรา" ความคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่แพร่ขยายไปทั่วโลก ซึ่งอันตรายมันมีบทเรียนของการคิดแบบนี้ในอดีต อย่างถ้าย้อนไปยุคเหมา เจ๋อตง ก็เจอ "ปฏิรูปวัฒนธรรม" ที่มี 4 ผู้มีอิทธิพลแล้วมี ยุวชนเรดการ์ด ฆ่าพ่อแม่ตัวเอง ฆ่าทุกคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลง ที่ไม่ต่างจากยุวชนนาซี แล้วก็ยังมียุวชนเขมรแดง ที่ตอนนั้นไปเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของเขมรแดงว่าต้องล้มทุกสิ่งทั้งหมดแล้วสร้างใหม่ทั้งหมด จนฆ่ากันไปสามล้านกว่าคนแล้ว ประเทศก็ด้อยพัฒนาจนถึงทุกวันนี้ แล้วเราจะถอยหลังกลับไปเป็นแบบเขมรหรือ วันนี้ฮุน เซน มาจากการเลือกตั้ง แล้วถามว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของเขาแข็งแรงไหม ก็ไม่แข็งแรงเลย
จริงๆ ผมอยากให้การเมืองมีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำงานการเมือง แต่พอเขาไปผิดหลักผิดการ ไปยุ่งในเรื่องที่ไม่ควร เพราะสถาบันไม่ได้เป็นปัญหาในการปกครองระบอบประชาธิปไตย คนที่มาขายไอเดียฝรั่งเศสเป็นเพราะกษัตริย์ฝรั่งเศสเวลานั้นมีปัญหาเรื่องฉ้อฉล ทำร้ายประชาชน อันนั้นมันสมควร แต่ประเทศไทยไม่ใช่แบบนั้น อย่าตัดสินใจแก้ รธน. แก้ปัญหาการเมืองตามใจชอบ อันนี้ไม่ใช่เกมคอมพิวเตอร์ที่คุณอยากปิดสวิตช์ อยากรีเซตเริ่มต้นใหม่ เพราะการเมืองมันมีประวัติศาสตร์ ทุกอย่างมีการต่อสู้ตั้งแต่การเป็นชาติ พระมหากษัตริย์ คือนักรบ ผู้นำนักรบในอดีต ตั้งแต่ก่อนมีอาณาจักรสุโขทัย-อยุธยา กู้เอกราชมาจากพม่า สู้กับการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิตะวันตก รอดมาได้ ทำให้เราไม่ต้องไปเป็นทาส เป็นประเทศอาณานิคมเหมือนประเทศรอบข้าง ทั้งหมดก็เพราะผู้นำในสมัยอดีตเก่ง
เมื่อถามถึงว่า การที่ไม่มีฝ่ายค้านร่วมเป็นคณะ กมธ.พิจารณาแก้ไข รธน.ก่อนลงมติ เพราะมีแต่ ส.ส.รัฐบาลกับ ส.ว. จะทำให้การทำงานมีปัญหาหรือไม่ สมชาย-ที่ปรึกษา กมธ.ชุดดังกล่าวของรัฐสภา บอกว่า ก็น่าเสียดายที่ฝ่ายค้านไม่ส่งคนมาเป็นร่วมเป็น กมธ. คือที่ผ่านมาวุฒิสภายังไม่เคยได้ศึกษาเรื่องการแก้ไข รธน.อย่างจริงจัง มาถึงจุดนี้ที่รัฐสภาตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว ก็ควรที่จะต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ควรได้มาถกแถลงกันว่าจะแก้ไข รธน.แบบไหน มาพูดกันด้วยความจริงและข้อกฎหมาย อย่างไรก็ตามเมื่อฝ่ายค้านไม่ส่งคนมาร่วมเป็น กมธ. ทางกรรมาธิการก็จะเดินหน้าด้วยความตรงไปตรงมา ไม่มีที่ว่าจะมาโหวตคว่ำทั้ง 6 ร่างหรือจะรับทั้ง 6 ร่าง ไม่มีการใช้อัตตา อคติ
สว.สมชาย ย้ำว่า ผมกำลังจะพยายามเสนอว่าการแก้ไข รธน.ทำได้จริง พิสูจน์ให้เห็นว่า ส.ว.ก็แก้ไข รธน.ได้ด้วย เพราะ รธน.มาตรา 256 (1) ร่างแก้ไข รธน. ให้อำนาจ ครม.เสนอได้ ซึ่งวันนี้ ครม.ยังไม่ได้เสนอ ก็อาจมี ครม.เสนอก็ได้ นอกจากนี้ มาตราดังกล่าวยังบัญญัติอีกว่า "การเสนอร่างแก้ไข รธน.ให้ทำโดย ส.ส.และ ส.ว.จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา" ก็คือ ส.ส.และ ส.ว.รวมกันไม่น้อยกว่า 150 คน ผมก็อาจไปชวน ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ประกาศไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน. เพื่อดูว่าเขาจะสนใจหรือไม่ หรือ ส.ส.รัฐบาลบางคน เช่น ชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ที่อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน. แล้ว ส.ว.อีก 150 คน เราก็หาเอง หาก ส.ว.เห็นด้วย เราก็เสนอไอเดียอย่างที่บอกเรื่องการแก้ไข รธน.รายมาตรา เช่น การแก้มาตรา 270-271 เพื่อให้ ส.ส.เข้ามาร่วมติดตามการปฏิรูปประเทศร่วมกับ ส.ว. หรือมาตรา 256 หากอยากแก้ก็จะเสนอทางออกว่าไม่ต้องตั้ง ส.ส.ร. แต่แก้จำนวนเสียงเห็นชอบร่าง รธน.ให้เป็น 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดอย่างที่บอกไว้ข้างต้น จากนั้นพอแก้เสร็จก็ส่งไปทำประชามติ ที่ผ่านมาผมก็ขายไอเดียนี้กับ ส.ว. โดยหลายคนก็บอกว่าดี หากทำเสร็จแล้วเราเสนอทัน ก็เอาร่างนี้ส่งไปให้กรรมาธิการร่วมช่วยดูให้ก็ได้ มันก็จะกลายเป็นร่างที่ 7 หรือ 8 ที่เพิ่มเข้ามาตอนโหวต
"หากจะให้ยกร่าง รธน.กันใหม่โดยที่ยังไม่ทำประชามติ ก็ไม่มีทางอื่น ทันทีที่คุณเอาเข้าสภาแล้วผ่านวาระแรก จะมีคนยื่นศาล รธน.ว่า ส.ส.และ ส.ว.ที่ลงมติเห็นชอบไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาล รธน. มีความผิด ต้องส่งไปให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด แล้วหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมันจะเกิดวิกฤติ เพราะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ อาจเกิดเดตแอร์ในรัฐสภาทันที เราดึงฟืนออกมาให้ เพราะมันไปไม่ได้จริงๆ หากไม่ทำประชามติ"
...หรือหากสมมุติว่าส่งไปทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าจะร่าง รธน.ฉบับใหม่ แต่ตอนนี้ พ.ร.บ.ประชามติยังไม่เข้าสภาเลย แล้วต้องใช้เวลาอีกกี่เดือนกว่าจะผ่านสภา หากร่าง พ.ร.บ.ประชามติเข้าสภาเดือน พ.ย. แล้วส่งไปวุฒิสภา กว่าจะออกจากวุฒิสภาก็ธันวาคม แล้วก็ต้องรอการโปรดเกล้าฯ แล้วต้องเผื่อเวลาในการทำประชามติอีก 120 วัน ก็โน่นเมษายน 2564 ที่จะถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการร่าง รธน.ฉบับใหม่หรือไม่ ขั้นตอนจะเห็นได้ว่าช้ากว่าที่เราจะเสนออีกที่ให้แก้รายมาตรา หากจะแก้รายมาตราก็เอาเรื่องที่อยากได้ขึ้นมาพิจารณา เช่น เรื่องปฏิรูปประเทศ ในมาตรา 270-271 หรือเรื่องบัตรเลือกตั้ง เอาเข้าที่ประชุมรัฐสภาเดือน พ.ย. แก้เสร็จเดือนมกราคม 2564 ก็ได้ใช้แล้ว ใช้เวลาน้อยกว่าอีก เพราะมาตราพวกนี้การแก้ไขไม่ต้องทำประชามติ คราวนี้หากจะยุบสภา เลือกตั้ง ก็เชิญตามสบาย เพราะเปลี่ยนวิธีการลงคะแนน ใช้ระบบบัตรเลือกตั้งแบบใหม่แล้ว
แนวคิดการเสนอญัตติแก้ไข รธน.รายมาตราที่บอกไว้ข้างต้น ก็จะไปนำเสนอต่อวิปวุฒิสภาว่าสนใจแก้ รธน.แบบนี้ และตอนนี้ร่างประเด็นที่จะเสนอแก้ไข รธน.มาแล้ว โดยเรื่องนี้ผมจะเคลื่อนไหวเอง เพราะความเชื่อทางกฎหมายกับหลักวิชาการมันยืนยันได้ว่า รธน.แก้ไขได้ แต่แก้แล้วต้องเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ อย่างที่เสนอแก้ไขให้ ส.ส.มาร่วมทำงานกับ ส.ว.ในการติดตามการปฏิรูปประเทศ มันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติแน่นอน ส.ส.อย่างฝ่ายค้านจะได้มาจี้งานกับ รมต. โดยเมื่อดำเนินการเสนอญัตติขอแก้ไข รธน.ดังกล่าวแล้วจะตอบโจทย์ได้ เพราะหากเปิดประชุมรัฐสภาหลัง 3 พ.ย. หากจะประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อจะโหวตร่างแก้ไข รธน.ก็จะทำให้สมาชิกทั้ง ส.ส.และ ส.ว.มี choice มากกว่าเดิม จะมีตั้ง 8-9 choice แล้วจะไม่เลือกอะไรเลยหรือ จากคราวที่แล้วมี 6 choice แล้วก็ยังมาบังคับเรา เอาไปมัดไว้ในซอยแล้วบอกว่าให้เลือก ทั้งที่ทำไม่ถูก มาให้ ส.ว.เห็นเอกสารร่างแก้ไข รธน.ก่อนประชุมแค่ 7 วัน แล้วจะให้ ส.ว.ลงมติเลยหรือ ผมมีทางเลือกเดียวก็ต้องงดออกเสียง
วันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา การโหวตลงมติของ ส.ว. บอกได้เลยว่า ส.ว.ส่วนใหญ่เขาไม่ได้รับสัญญาณอะไร แต่เขาจะไม่ออกเสียง เพราะเขาไม่มั่นใจข้อกฎหมายว่าหากลงมติแล้วจะทำผิด รธน.หรือไม่ จะโดนยื่นถอดถอนหรือไม่ แล้วยังมาบังคับให้รีบลงมติรับในเรื่องที่เขาไม่ได้ศึกษามาก่อน
"วันนั้นถ้า ส.ว.ส่วนใหญ่ตัดสินใจงดออกเสียง แล้วเสียงมันจะถึง 84 เสียงได้อย่างไร พอเสียงไม่ถึงก็จะเกิดเรื่อง จะเข้าทางฝ่ายที่มีวาระซ่อนเร้น ต้องการให้ ส.ว.โหวตคว่ำ เพราะการงดออกเสียงของ ส.ว.คือการคว่ำ ม็อบก็จะปลุกขึ้น บ้านเมืองก็จะวิกฤติ นี่คือเหตุผลที่ ส.ว.ยอมรับเงื่อนไขในการตั้งกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อมาร่วมกันศึกษาเสียก่อน".
...................................................................................................
ม็อบกำลังทำลายตัวเอง ไม่หวั่นหากล้อมรัฐสภาวันโหวต
คาดหมายกันว่าถึงวันประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตร่างแก้ไข รธน.วาระแรกหลังสภาเปิดต้นเดือน พ.ย. จะมีม็อบมาชุมนุมหน้ารัฐสภามากกว่า 24 ก.ย.
ท่าทีจากทาง ส.ว. ทาง สมชาย-วิปวุฒิสภา กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ไม่มีแรงกดดัน เพราะ 14 ปีที่อยู่รัฐสภามาก็เจอทุกม็อบ ทั้งเหลือง ทั้งแดง ผมก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร อย่างวันที่ 24 ก.ย. พอเลิกประชุมรัฐสภา ผมก็ขับรถออกจากรัฐสภาตามเส้นทางปกติก็ไม่มีอะไร แต่เสียดายที่ม็อบเขาทำลายตัวเอง มาตะโกนด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย กักขฬะ ก็เลยทำให้มวลชนเขาลดน้อยลงในความรู้สึก คือม็อบไม่มีทางที่จะมาโดยธรรมชาติ ม็อบมาด้วยการจัดตั้งทั้งนั้น ส่วนประชาชนเข้าร่วมก็เข้าร่วมตามธรรมชาติ แต่ม็อบที่จะมาเป็นการปูพื้นมาจากการจัดตั้ง ดังนั้นถ้าพรรคการเมืองหรือกลุ่มที่มีวาระซ่อนเร้นไม่ไปสนับสนุนการจัดตั้งมวลชนมา ก็จะมีแค่ประชาชนธรรมดามาติดตามการลงมติของ ส.ส.และ ส.ว.ที่ไม่ใช่เรื่องแปลก จึงบอกได้ว่าไม่กังวล เพราะผมยึดการทำงานตามปกติด้วยความสุจริตใจ
-บางฝ่ายอย่างเช่นกลุ่มม็อบที่เคลื่อนไหวแก้ รธน.หรือฝ่ายค้าน บอกว่า ส.ว.กำลังจะทำให้การเมืองเกิดวิกฤติ การเมืองถึงทางตัน จะเกิดการเผชิญหน้า?
ก็เป็นความคิดของเขา ถามว่าประชาชนที่พูดเป็นประชาชนของใคร ประชาชนของพรรคใคร ประชาชนส่วนใหญ่ก็มีความเห็นอีกแบบ ประชาชนที่อยู่ในโซเชียลมีเดียกับผมก็หลายหมื่นคน ก็ยังไม่พบความเห็นต่าง หรืออาจมีแต่น้อยมาก แต่ส่วนใหญ่ก็จะเขียนมาบอกว่าขอบคุณที่ปกป้อง รธน.ของเขา ปกป้องเสียง 16.8 ล้านเสียงของเขา เขาไม่เห็นว่า รธน.เป็นปัญหาแล้วยิ่งยามนี้มีวิกฤติจากเศรษฐกิจและโควิด ทำไมไม่พูดเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนก่อน
-แกนนำม็อบบางคนก็สร้างกระแสว่าอาจจะมีการพาม็อบไปเยี่ยมบ้าน ส.ว.บางคน?
การที่จะยกพลไปบ้าน ส.ว.เป็นการข่มขู่คุกคาม ทั้งที่พวกเขามีข้อเรียกร้องสามข้อ โดยข้อที่หนึ่งบอกว่าให้หยุดการคุกคาม แต่คุณกำลังข่มขู่คุกคามทั้งด้วยคนและทางโซเชียล มันเป็นการย้อนแย้ง สิ่งที่คุณบอกว่าเรียกร้องเสรีภาพ แต่คุณกลับกดทับคนอื่น กระทำในสิ่งที่สวนกับที่เรียกร้อง วันที่มีม็อบมาที่หน้ารัฐสภา ส.ว.ก็เห็นหมด แต่เขาก็ยังเดินหน้าเหมือนเดิม ไม่ได้มีความกังวล ทำหน้าที่เสร็จก็กลับบ้าน
-ที่ผ่านมามีกระแสข่าวทำนองการลงมติของ ส.ว.ในเรื่องแก้ไข รธน.ต้องมีสัญญาณจากฝ่ายแกนนำรัฐบาลส่งผ่านมา?
ไม่มีและไม่มีความจำเป็น รัฐบาลจะมาส่งสัญญาณกับ ส.ว.ไม่ได้ หากรัฐบาลส่ง รัฐบาลก็ตาย อย่าง ส.ว.หลายคนอภิปราย นักกฎหมายผู้ใหญ่อย่าง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. ที่อภิปรายถึงปัญหาต่างๆ แล้วคุณจะลุยฝ่าดงไฟไปได้ยังไง ส.ว.ถึงไม่ฝ่าไปด้วย เชิญ ส.ส.ตามสบาย วันนั้นหากลงมติ ส.ว.ก็จะงดออกเสียง จึงไม่ต้องไปรอสัญญาณใครเลย ส.ว.มีวุฒิภาวะ รู้ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้วว่าเดินฝ่าไป มันไปไม่ได้ ส.ว.เลยเห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. โดย กมธ.จะต้องมารายงานต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา เช่น ดูมารอบคอบแล้ว ไฟไม่ร้อนแล้ว ไม่ใช่มีกระสุนปืนจะมายิง หรือมีน้ำคลำจะมาหลอกให้เดินฝ่าไป แล้วก็มี choice ให้เลือก จะ 6 ร่าง หรือ 8 ร่าง ก็ให้ตัดสินใจเอง
-ที่คนวิจารณ์กันว่าการตั้ง กมธ.เป็นการซื้อเวลายื้อการแก้ไข รธน.?
ไม่ใช่การซื้อเวลา เพราะอย่างแก้ 256 ที่จะให้ตั้งสภาร่าง รธน.รวมแล้วกระบวนการทั้งหมด คนบอกว่าจะใช้เวลาร่วมสองปี ซึ่งหากตั้ง ส.ส.ร.จะเป็นการซื้อเวลาที่ง่ายกว่า เพราะอย่างหากจะให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่าง รธน.ฉบับใหม่เสร็จ ก่อนแก้ไขต้องส่งไปทำประชามติก่อน แล้วตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติยังไม่มี กว่าจะทำประชามติกันเสร็จก็ตั้งเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ช้าสุดก็มีนาคมปีหน้า จากนั้นหากผ่านประชามติแล้วแก้เสร็จ ทำทุกอย่างเรียบร้อย ถึงค่อยไปเลือก ส.ส.ร. กว่าจะได้ ส.ส.ร. แล้ว ส.ส.ร.ไปร่าง รธน.ฉบับใหม่ กว่าทุกอย่างจะเสร็จก็ปี 2565 แล้วถึงค่อยนำร่าง รธน.ฉบับใหม่ส่งกลับมาให้รัฐสภา หากรัฐสภาไม่เห็นชอบก็ส่งไปทำประชามติอีก อันนี้ตามร่างพรรคร่วมรัฐบาลก็ใช้เวลาไปถึงปี 2566 อันนั้นคือการซื้อเวลา แต่ถ้าแก้รายมาตราอย่างที่ผมบอกข้างต้น ไม่ใช่การซื้อเวลาเพราะระยะเวลาแก้ไขสั้นลง แล้วแก้ได้เข้าเป้าเลย ตรงจุดของปัญหา ใช้เวลา 3-6 เดือนก็เสร็จ ก็ไม่รู้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้านที่อยากซื้อเวลา
-รธน.จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่หลังจากนี้ แล้วจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งนี้อย่างไร?
ทุกครั้งวิกฤติการเมืองจะมีสาเหตุมาจาก 2-3 เรื่อง เช่น วิกฤติจากเหตุมีการทุจริตคอร์รัปชัน มีการไล่รัฐบาล กับวิกฤติว่าด้วย รธน.และกฎหมาย อย่างก่อนหน้านี้ก็กรณีการแก้ไข รธน.และการออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (สมัยรัฐบาลเพื่อไทย) ที่นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ เพราะฉะนั้นวิกฤติรัฐธรรมนูญจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งหากมีการมานั่งคุยกัน รัฐสภาคือที่ซึ่งมานั่งคุยกัน
วิธีการที่ดีที่สุดก็คือเอาตัวแทนทั้งหมดของที่มีอยู่ในรัฐสภามาหาทางแก้ปัญหา ไม่ใช่นำมวลชนของแต่ละฝ่ายออกมากดดันแก้ปัญหา ถ้าใช้มวลชนแก้ปัญหาก็จะเจอมวลชนอีกฝั่งลุกขึ้น ฝ่ายหนึ่งเสนอร่าง รธน.มาแสนกว่าชื่อ ฝ่าย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากไทยภักดี ก็เสนอไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.ยื่นมาหนึ่งแสนสามหมื่นชื่อ ทุกวันนี้ไม่ได้พูดด้วยกติกา ด้วยเหตุด้วยผล แต่จะพูดด้วยกำลัง ฝ่ายหนึ่งบอกช่วง 14 ตุลาคมนี้จะนัดชุมนุม 7 วัน 7 คืน แล้วไม่คิดว่าอีกฝ่ายที่เขาก็เคยชุมนุมกันมา เขาทำไม่เป็นหรือ เขาเคยมาชุมนุมกัน 3-4 ล้านคน ซึ่งพวกเราอยู่ในสภาไม่เคยกังวลอะไรเลย
คิดว่าเรื่องทั้งหมดไม่แรง หากฝ่ายการเมืองที่อยู่ในสภาไม่ไปเป็นคนที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ไปเป็นท่อน้ำเลี้ยง ไม่ไปปลุกปั่น ปลุกระดม ทำงานแบบทฤษฎีสมคบคิด พูดจาอภิปรายไปถึงม็อบ พูดจาอภิปรายจาบจ้วงสถาบัน ให้ม็อบไปขยายผล ถ้าทำงานแบบนี้มันไม่เหมาะที่จะมาทำงานในสภา ท่านกรุณาลาออกไปอยู่กับมวลชนของท่านในถนน แล้วจะเห็นว่าคนไม่ได้สนับสนุนหรอก เมื่อมีโอกาสเข้าสภาแล้วต้องทำหน้าที่ในสภาให้สมเกียรติ ปกป้องผลประโยชน์ประชาชนส่วนรวม ไม่ใช่ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เฉพาะพวกของตัวเอง
-ยืนยันได้ว่าโอกาสการแก้ไข รธน. ประตูยังไม่ได้ถูกปิดล็อก?
ไม่ปิด ไม่เคยปิดเลย เพราะ รธน.แก้ไขได้ รธน.มีหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้สมัยนี้ไม่ทัน สมัยหน้าก็ทัน สมัยหน้าไม่ทัน สมัยถัดไปก็ยังทัน รธน.แก้ได้ตลอดเวลา เหมือนกับ รธน.สหรัฐอเมริกา amend มาแล้ว 27-28 ครั้ง มันถึงไม่เกิดวิกฤติการเมือง รธน.ที่ดีต้องแก้ไขได้ แต่ยึดหลัก อันไหนแก้ได้ก็แก้ แต่อันไหนแก้แล้วต้องถามประชามติก็ต้องทำประชามติ หลักเขาวางไว้ดีแล้ว.
โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร
........................................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |