แผนฟื้นฟูการบินไทยจะทำได้ก็ต่อเมื่อต้อง "ตัดอวัยวะบางส่วนเพื่อรักษาชีวิต"
หากเป็นเช่นนี้ คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร ในฐานะเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หรือ DD การบินไทย จะทำอย่างไรกับ Thai Smile ที่เป็นบริษัทลูกในเครือ
ทีม Survival Team ของคุณชาญศิลป์มีภารกิจหลักอะไร
"มีภารกิจหลัก 3 เรื่องครับ...หาทางลดค่าใช้จ่าย คือทำให้ต้นทุนเราต่ำลงได้อย่างไร สองคือจะทำรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างไร...เรื่องที่สามคือจะสร้างระบบงานที่คล่องตัวขึ้น ลดระบบราชการลงได้อย่างไร..."
คนที่จะขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ต้องมาจากเนื้อใน เหล็กจะแข็งก็ต้องแข็งจากเนื้อใน และเหล็กจะหักก็หักจากสนิมข้างในเหมือนกัน
ส่วน Thai Smile นั้นคุณชาญศิลป์บอกว่า
"จริงๆ แล้ว Thai Smile กับการบินไทยเป็นอันเดียวกัน เพราะการบินไทยถือ 100% แต่ตั้งแต่ตั้งมาเกือบสิบปีก็เพื่อจะให้ Thai Smile บินด้วยต้นทุนที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับการบินไทย เป็น Fighting Brand ในตลาดในประเทศ..."
หากไม่เอาขาดทุนเก่ามารวม Thai Smile ก็มี contribution margin ที่ดี เป็นสายการบินที่ระดับกลางและบนยอมรับในเรื่องการบิน การบริการ การทำ full service
"เราก็พยายามจะเติมบริการที่น่ารักมากขึ้นอีกต่อไป ส่วนใหญ่ก็บินในประเทศและในอินโดจีน โดยสามารถรักษามาตรฐานที่สูงของการบินไทยเอาไว้..."
แปลว่าคุณชาญศิลป์จะยังคง Thai Smile ไว้ในแผนฟื้นฟูใช่หรือไม่
"ครับ Thai Smile เป็นบริษัทต่างหาก ได้รับการจดทะเบียนและได้สิทธิ์การบินของตน นักบินก็ยังต้องมีการบินเหมือนเดิม Thai Smile จึงยังต้องบินต่อ แต่เราก็มีความสัมพันธ์กันอย่างดี ก่อนโควิดก็วางแผนร่วมมือกันในเรื่องเที่ยวบินเชื่อมต่อกัน การบินไทยบินด้วยเครื่องบินตัวกว้าง ผู้โดยสาร 300-500 คน มาลงสุวรรณภูมิแล้ว Thai Smile ก็มารับต่อไปต่างจังหวัด..."
จะใช้จุดแข็งของการบินไทยอะไรมาแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศ
"สมมติว่าผมเปรียบเทียบกับ Japan Airline ซึ่งก็เจอปัญหาเมื่อปี 2010 มีหนี้สินประมาณ 700,000 ล้าน ของการบินไทยมีหนี้ 350,000 ล้าน
JAL มีคนประมาณ 50,000 คน ของเรามี 20,000 ของเขาลดจาก 50,000 เหลือ 30,000 คน ของเขารัฐบาลช่วยอัดฉีดไปแล้ว 350,000 ล้าน เขากลับมากำไรปี 2017 ประมาณ 39,000 ล้าน
JAL มีปัญหาเกี่ยวกับระบบราชการ ลงทุนผิดพลาด จำนวนเครื่องบินและอะไรต่างๆ ลงทุนในจุดที่ไม่มีกำไร มีบริษัทในเครือมากมาย ไม่มี focus
เขาจ้างผู้เชี่ยวชาญมาปฏิรูป เขาเรียกว่าอะมีบา คือไปดูแต่ละจุดๆ ให้มี profit center ของตัวเอง ทุกอย่างที่ทำจะต้องรู้ว่ามีกำไรหรือเปล่า..."
ถามว่าการบินไทยย่ำแย่กว่าไหม คุณชาญศิลป์ตอบว่า
"การบินไทยไม่ย่ำแย่กว่า มันขึ้นอยู่กับว่าเราต้องมองจุดแข็งของเราให้ออก ผมมองเองว่าทุกคนเริ่มยอมรับแล้วว่าเราต้อง diversify เราไม่ใช่สายการบินใหญ่อีกแล้ว เราเป็นระดับกลางเล็กด้วยซ้ำไป ดูจากจำนวนเครื่องบินที่มี คนอื่นมีเครื่องบินมากกว่าเราหลายเท่า วันนี้สายการบินต่างๆ ที่ใหญ่ แล้วบินไม่ได้ มันหนักเลย จุกหนักเลย รัฐบาลต้องลงมาช่วยเหลือมาก..."
ขณะเดียวกันสายการบินกลางๆ กระจายธุรกิจออกไป เช่นไปทำคาร์โก ทำ ground-handling ทำการซ่อมเครื่องบิน
"ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ การบินไทยก็สามารถบริการสายการบินอื่นๆ ได้ด้วย ใครบินมาลงสุวรรณภูมิ เราซ่อมเครื่องบินเขา บริการอาหารให้ได้..."
คุณชาญศิลป์พูดถึงการกระจายธุรกิจการบินไทยไปสู่ logistics ที่เชื่อมสนามบินกับการขนส่งทางบกและทางทะเลได้ด้วย
"แบรนด์การบินไทยยังแข็งแกร่ง...มีทั้งรักทั้งชัง ผมว่าคนรักมากกว่าเยอะ"
นี่คือข้อสรุปของคนที่อาสามาฟื้นฟูการบินไทย...ในทางปฏิบัติจะทำได้ตามแผนหรือไม่ยังมีอีกหลายขั้นตอน
แต่ "แบรนด์" เก่าแก่จะเอาตัวรอดฟันฝ่าวิกฤติโควิดครั้งนี้ไปได้หรือไม่ ยังรอการพิสูจน์จากของจริงอยู่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |