MOU 4 หน่วยงาน สนอ. สพร. สวน. สสส. บริการข้อมูลดิจิทัลพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กทุกคน พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมบริการข้อมูลดิจิทัลไร้ตะเข็บ ยกระดับคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และครอบครัวเปราะบาง กทม.เขตปกครองพิเศษมีครบทั้งศูนย์เด็กเล็ก รร.ในสังกัด กทม. รพ.ของ กทม.พร้อมปักหมุดนำร่อง “ลาดกระบัง” อ่านข้อมูลได้ปลายเดือน ต.ค.ก่อนขยายผลครอบคลุมทุกเขตใน กทม. พบปัญหาเด็ก กทม. 1 ใน 6 ตั้งแต่วัยแรกเกิด-17 ปี ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กในชุมชนร้อยละ 73.1 ถูกอบรมด้วยการทำร้ายจิตใจหรือร่างกาย
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาต้นแบบบริการร่วมระหว่างหน่วยบริการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชน และครอบครัวด้วยดิจิทัล (Seamless Transaction Services)” เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2563 เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนพัฒนาประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการร่วม โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นต้นแบบบริการทางสังคมด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชนและครอบครัวต่อเนื่องตลอดช่วงวัย และการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ในปีแรกจะมีชานชาลาหรือการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ร่วมและส่งต่อบริการร่วมกันของ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่ม ผู้ให้บริการจากศูนย์บริการสาธารณสุข 45 ชุมชนร่มเกล้า คุณครูจากศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน 2.กลุ่มผู้รับบริการที่เป็นเด็กเยาวชน และครอบครัว และ 3.คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก ที่เป็นกลไกร่วมจัดบริการ ซึ่งจะพัฒนาเป็นต้นแบบนวัตกรรมระบบดิจิทัลของเขตลาดกระบัง กทม. และทดสอบการขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ครอบคลุมทุกเขตต่อไป
คนส่วนใหญ่มองว่า เด็กเมืองกรุงได้รับสิทธิ์และโอกาสมากกว่า หรืออยู่ในระดับดี เพราะเป็นเด็กในเมือง แท้จริงแล้ว...กรุงเทพมหานครรับภาระกับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวที่เปราะบางยิ่งกว่าเด็กและเยาวชนในพื้นที่อื่นๆ จากการสำรวจพบเกือบ 1 ใน 6 (ร้อยละ 15.8) ของเด็กอายุ 0-17 ปี ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ เด็กอายุ 1-14 ปี ในชุมชนของกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 73.1 ถูกอบรมด้วยการทำร้ายจิตใจหรือร่างกาย นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการจัดการร่วม จะสามารถเป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งในงานพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างเป็นองค์รวมในพื้นที่ กทม.ได้ โครงการนำร่องที่เขตลาดกระบัง (ธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผอ.เขตลาดกระบัง) เพ็ญศรี สงวนสิงห์ ผู้จัดการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) ในฐานะผู้จัดการโครงการเปิดประเด็น
โครงการนำร่องศูนย์เด็กเล็ก รร.ในสังกัด กทม. (สอนระดับอนุบาล-ประถมปีที่ 6) เขตลาดกระบังอยู่ในความดูแลของ ผอ.เขตลาดกระบัง เด็กส่วนใหญ่เรียนต่อที่ รร.สมิทธิ์รัตนโกสินทร์ สังกัด รร.สพฐ. เนื่องจากเขตลาดกระบังมีพื้นที่ชุมชนร่มเกล้า ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรม ครอบครัวอยู่ในละแวกนี้ พ่อแม่ส่งเด็กเรียนหนังสืออยู่ในละแวกเดียวกัน แต่เดิมจะมีโครงการนำร่องอีกแห่งหนึ่งที่เขตทวีวัฒนา แต่เมื่อสำรวจแล้วพื้นที่ทวีวัฒนาเป็นช่วงรอยต่อ จ.นครปฐม เด็กจากนครปฐมและนนทบุรีจะเข้ามาเรียนใน รร.เขตทวีวัฒนา ส่วนเด็กในเขตทวีวัฒนาอยู่ในชุมชนครอบครัวชนชั้นกลาง เช้าออกจากบ้านไปกับพ่อแม่เพื่อเข้าไปเรียนในเมือง ประชากรในเขตทวีวัฒนาจึงมีความซับซ้อนในการทำข้อมูลประชากรกลุ่มเป้าหมาย
นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.มีโรงเรียนในสังกัด 300 แห่ง มีนักเรียนกว่า 2 แสนคน มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนสังกัด กทม.ใน 50 เขต 298 ศูนย์ มีเด็ก 25,975 คน มีเด็กและเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวที่เปราะบางในพื้นที่จำนวนมาก
รายงานผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในเขตกรุงเทพมหานคร จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การยูนิเซฟ พบว่า เกือบ 1 ใน 6 (ร้อยละ 15.8) ของเด็กอายุ 0-17 ปี ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ ในชุมชนของกรุงเทพมหานครมีเด็กที่กำพร้าพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่ ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 0.4 ที่พ่อหรือแม่อย่างน้อย 1 คน อาศัยอยู่ต่างประเทศ และเด็กอายุ 1-14 ปี ในชุมชนของกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 73.1 ถูกอบรมด้วยการทำร้ายจิตใจหรือร่างกายในช่วง 1 เดือนก่อนการสำรวจ
ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับทีมผู้ให้บริการในพื้นที่เขตลาดกระบังพบว่า เด็กและเยาวชนเกือบร้อยละ 50 ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งครอบครัวเป็นเหตุปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรม และทำให้เด็กและเยาวชนเผชิญกับภาวะวิกฤติ ซึ่งส่งผลเป็นวงจรต่อเนื่องกัน วงจรเด็กและเยาวชนในครอบครัวเปราะบางกับดักสู่ความยากจน การทบทวนสถานการณ์ที่บ่งชี้ของครอบครัวเปราะบางพบว่า คือ 1.ด้านเศรษฐกิจครัวเรือน 2.ด้านโครงสร้าง/สัมพันธภาพและการเลี้ยงดูในครอบครัว 3.ด้านการเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย 4.ด้านสถานะสุขภาพและสังคมของสมาชิกในครอบครัว
ตัวบ่งชี้ของครอบครัวเปราะบาง 1.) เศรษฐกิจครัวเรือน รายได้ครัวเรือนน้อยกว่า 1 แสนบาท/ปี ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง มั่นคง ต้องย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยบ่อยๆ ที่อยู่อาศัยชั่วคราว ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย 2.) โครงสร้างและสัมพันธภาพการเลี้ยงดูในครอบครัว อยู่กับพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว อยู่กับปู่ย่าตายาย 2.ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง คนในครอบครัว 3.การเลี้ยงดูอย่างไม่ถูกวิธี มีการทอดทิ้งเด็ก 4.มีการทะเลาะวิวาทและใช้ความรุนแรงในครอบครัว 3.) การเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิ์อะไรบ้าง ในแต่ละสถานการณ์ของชีวิต เข้าไม่ถึงบริการ-สวัสดิการที่จำเป็นกับภาวะความเปราะบาง/ความเจ็บป่วย ไม่ได้รับบริการและสวัสดิการ 4.) สถานะสุขภาพและสังคมของสมาชิกในครอบครัว เป็นบุคคลทุพพลภาพ (พิการ) เจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษา มีประวัติอาชญากรรม ติดสารเสพติด (ยาเสพติด ติดเหล้า)
ตัวบ่งชี้ลักษณะครอบครัวเปราะบาง จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งของภาคส่วนต่างๆ ที่มีพันธกิจในการจัดบริการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ซึ่งมีหลากหลายมิติและแยกส่วนกันจนไม่อาจบูรณาการการจัดบริการที่ครอบคลุมต่อเนื่องตลอดช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การพลิกผันทางเศรษฐกิจและสังคมที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย การเกิดของเด็กน้อยลงและถ้าขาดคุณภาพก็จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งในสากลหรือนานาประเทศให้การยอมรับแล้วว่า การลงทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นหนทางรอดที่คุ้มค่าและมีประสิทธิผล ดังนั้นโครงการพัฒนาด้านการบริหารงานแบบใช้ร่วมกันขององค์กร (Shared Services) ให้เป็นต้นแบบบริการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และครอบครัว จึงมีเป้าหมายในระยะ 3 ปี คือ การพัฒนารูปแบบการจัดบริการร่วมข้ามภาพส่วน (Trans-disciplinary Social Service) ให้จัดวางเป็นชานชาลา/แพลตฟอร์ม (platform) ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนที่เข้าถึงเด็กและครอบครัวเปราะบาง พร้อมไปกับการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิผล ด้วยการปรับใช้วิทยาการข้อมูลข่าวสารดิจิทัล จนสามารถนำรูปแบบไปทดสอบขยายผลให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ กทม. ในระยะแรกเริ่ม 1 ปี ที่เริ่มในเดือน พ.ค.2563
ทั้งนี้ กรอบการพัฒนารูปแบบ Prototype การจัดบริการร่วมเชิงรุกเพื่อเข้าถึงเด็กและเยาวชนในครอบครัวเปราะบางแบบไร้ตะเข็บ (Seamless Shared Services) ดังนั้นต้นแบบบริการไร้ตะเข็บด้วยนวัตกรรมดิจิทัลด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (ไทย-เยอรมัน) จึงเป็นการพลิกโฉมบริการที่เคยแยกส่วนกันให้เกิดเป็นองค์รวม สามารถดูแลต่อเนื่องตลอดช่วงวัย ตั้งแต่ฝากครรภ์ เด็กแรกเกิด เข้าสู่ศูนย์เด็กเล็ก เด็กอนุบาล เด็กและเยาวชนในวัยเรียน จนถึงวัยรุ่นอันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพตามวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 20 ปี และตามวิสัยทัศน์ “มหานครสุขภาพดี ทุกชีวีแข็งแรง”
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า การออกแบบในการจัดวางบริการแบบใช้ร่วมกัน “Shared-Service” ก็คือการทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัลของหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และต่อยอดขยายเป็น Open Data กับทาง กทม.และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิ์ของเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาครัฐ (GovTech) ไปสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัลต่อไป”
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งพัฒนาต้นแบบระบบการบริหารงานแบบใช้ร่วมกันของหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดบริการ (Shared Service) ทางสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ และการคุ้มครองสิทธิ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวเปราะบาง นับเป็นการทำงานเชิงรุกกับเหตุปัจจัยต้นน้ำก่อนที่เด็กและเยาวชนจะเกิดปัญหาหรือวิกฤติในชีวิต ในขณะเดียวกันก็มีระบบดูแลช่วยเหลือส่งต่อเด็กและเยาวชนที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติด้วย
ที่ผ่านมา สสส.ได้ดำเนินโครงการพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของ กทม. 3 แห่ง คือ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนแป้นรักษา และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพิทักษา โดยสนับสนุนการพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กปฐมวัยของศูนย์ เครื่องมือสำหรับพัฒนาคุณภาพศูนย์ และพัฒนาสมรรถนะอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก ดังนั้นคาดหวังว่าผลงานนี้จะช่วยอุดช่องว่างการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพราะมุ่งให้ทุกฝ่ายทำงานบนข้อมูลชุดเดียวกันของผู้ใช้บริการแบบไร้รอยต่อ
การเก็บข้อมูลเริ่มตั้งแต่มารดามีครรภ์เข้าไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล มีการบันทึกข้อมูลทั้งหมด การคลอดที่ผิดปกติ พัฒนาการของเด็ก การฉีดวัคซีนครบหรือไม่ ข้อมูลเด็กในมิติสุขภาพ การศึกษา พัฒนาการ สวัสดิการ ถูกบันทึกอยู่ใน platform เมื่อเข้าไปเรียนในศูนย์เด็กเล็ก เข้า รร.อนุบาล ครูสามารถเข้ามาอ่านข้อมูลได้โดยไม่ต้องให้เด็กเข้ามากรอกข้อมูล เรียกได้ว่าเป็นสมุดประจำตัวเด็ก เป็น Data ต้นแบบ จึงเป็นเรื่องท้าทายของหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็ก มาคุยและสร้างข้อตกลงร่วมกันในการจัดทำข้อมูล ใครจะเป็นผู้เก็บข้อมูลกลางเหล่านี้ ในเบื้องต้นพ่อแม่เด็กควรจะเป็นผู้เก็บข้อมูลในช่วงที่เด็กยังเล็กอยู่ ต่อไปมีการกำหนดสิทธิ์มอบให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดูแล ขณะเดียวกันเรายังมี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูล เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์ที่จะไม่อนุญาตให้เปิดเผยในบางกรณี อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลตอบโจทย์ในเรื่องฐานข้อมูลได้เป็นอย่างดี
โครงการนี้นำร่องในพื้นที่ กทม. สำนักงานเขตลาดกระบัง และจังหวัดที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกับ กทม.เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลจะได้ไม่เป็นปัญหา กรณีที่เด็กเกิดในกรุงเทพฯ แต่ถูกส่งไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงในต่างจังหวัด เมื่อโตขึ้นกลับมาเรียนหนังสือที่ กทม. ขณะนี้เริ่มมีการพูดคุยกับกรมกิจการเด็กและสตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นการทดสอบระบบ ที่ผ่านมานั้นมีปัญหาช่องว่างในการพัฒนาเด็ก หน่วยงานต่างคนต่างทำ ต่างฝ่ายต่างก็ถือข้อมูลของตัวเอง ยังไม่มีเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อข้อมูลเข้าด้วยกันเพื่อจะศึกษาร่วมกัน จะเห็นได้ว่าถ้าใช้ EXCEL แต่เป็นคนละรุ่นก็ยังมีปัญหาในการเชื่อมต่อข้อมูล
ในเมื่อเราอยากเห็นการพัฒนาเด็กให้ดี แต่เทคโนโลยียังไม่ตอบโจทย์ ก็ต้องใช้ฐานข้อมูลของกระทรวงต่างๆ มาเชื่อมโยงกันให้ได้ โดยมีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักเป็นตัวเชื่อม แม้จะใช้กันคนละโปรแกรม แต่เรามีดิจิทัลเทคโนโลยีที่จะแก้โจทย์เหล่านี้ได้ ก็ต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจาก กทม.เป็นหน่วยงานปกครองพิเศษที่มีครบวงจรทุกเรื่อง พร้อมที่จะปักหมุดนำร่องที่ กทม. เนื่องจากมีทั้งศูนย์เด็กเล็ก กทม. โรงเรียนในสังกัดหน่วยงาน กทม. โรงพยาบาลของ กทม.
แนวคิดเรื่องสุขภาวะของ สสส.และ กทม.ไปในทิศทางเดียวกัน อยู่ดีมีสุข ไม่ใช่แต่การไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่มีคุณภาพชีวิตที่ดี กทม.มองถึงระบบการศึกษา ชุมชน การดูแลสุขภาพแบบไหนเพื่อเด็กจะได้เติบโตอยู่ดีมีสุข ไม่ถูกละเมิดสิทธิ์ ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเมื่อประสบปัญหา
ธรรมรักษ์ การพิศิษฏ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) กล่าวว่า ต้นแบบนี้ใช้เป็นพื้นที่เสริมศักยภาพการเรียนรู้ (Empower) ผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และกลไกคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) และคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก ให้มีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านระบบงานแบบดั้งเดิมไปสู่ระบบงานแบบดิจิทัล
“เราต้องการพัฒนาตัวเด็กให้อยู่ดีมีสุข สุขภาวะขึ้นอยู่กับมิติเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นเยาวชนที่มีสุขภาวะที่ดี ไม่เพียงดูเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยเพียงอย่างเดียว เจาะลึกไปถึงพ่อแม่มีอาชีพอะไร ระบบการศึกษา สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กเป็นอย่างไร โจทย์สำคัญก็คือเราอยากเห็นเด็กมีสุขภาวะที่ดีอย่างไร อยากเห็นหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กมองเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นข้อมูลนี้จึงเป็น Big Data รู้ทุกมิติที่หน่วยงานทุกฝ่ายจะนำไปใช้ในการวางแผนงานได้เป็นอย่างดี”.
การพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพเยาวชนไทย
ปี 2562 ภาพรวมดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกของไทยอยู่อันดับที่ 40 ใน 141 ประเทศ แต่การพัฒนาทุนมนุษย์ด้านทักษะยังอยู่ต่ำกว่า โดยอยู่ที่อันดับ 73 ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพของวัยรุ่นและเยาวชนไทยให้มีความรู้และทักษะเท่าทันในศตวรรษที่ 21 มีสุขภาพที่ดี มีคุณธรรมและจิตสำนึก มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทักษะทางสังคมและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเป็นเงื่อนไขและปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2564) มียุทธศาสตร์ 5 ด้านเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้คือ เด็กและเยาวชนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีพัฒนาการเหมาะสมตามช่วงวัย เป็นพลเมืองสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมในฐานะภาคีที่มีพลังในกระบวนการพัฒนาภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การพัฒนาวัยรุ่นและเยาวชนไทยมีประเด็นความท้าทายที่ต้องพิจารณาหลายเรื่อง จากการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาเยาวชนของกลุ่มประเทศอาเซียน ปี 2560 ค่าดัชนีของไทยถูกจัดอันดับที่ 8 จาก 10 ประเทศ โดยเฉพาะด้านที่ยังต้องปรับปรุงคือเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และการมีส่วนรวมทางสังคมของเยาวชนในประเทศ
อันดับ 1 คือประเทศสิงคโปร์ อันดับ 2 ประเทศบรูไน อันดับ 3 ประเทศมาเลเซีย อันดับ 4 ประเทศเวียดนาม อันดับ 5 ประเทศเมียนมา อันดับ 6 ประเทศฟิลิปปินส์ อันดับ 7 ประเทศอินโดนีเซีย อันดับ 8 ประเทศไทย อันดับ 9 ประเทศกัมพูชา อันดับ 10 ประเทศลาว
ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) แผนแม่บทในการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต กำหนดแผนย่อยในการพัฒนาคนในช่วงวัยเรียนและวัยรุ่น มีตัวชี้วัดคะแนนความสามารถในการแข่งขันการพัฒนาทักษะ (skills) ของทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index GCI) ของ World Economic Forum (WEF) ประเทศไทยจากอันดับที่ 66 ในปี 2561 ขยับลงไปเป็นอันดับที่ 73 จาก 141 ประเทศ ชี้ให้เห็นว่าศักยภาพของวัยรุ่นและเยาวชนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรในวัยเรียนมีปัญหา และเรื่องที่ประเทศต้องให้ความสำคัญคือ การสร้างโอกาสและพัฒนาความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่ประชากรวัยเรียนทุกกลุ่มในประเทศ
ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อแก้ไขปัญหาให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีโอกาสได้รับและเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน เป็นเงื่อนไขสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์และคุณภาพประชากรของประเทศได้ในระยะยาว
ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือสุขภาพคนไทย 2563.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |