เหล้าเก่าในขวดใหม่ ‘เฮียพงษ์’โวนำพท.กลับมายิ่งใหญอี่กครั้ง


เพิ่มเพื่อน    

  เรียบร้อยโรงเรียนหญิงอ้อ “เพื่อไทย” ยุคเหล้าเก่าในขวดใหม่ “สมพงษ์” นั่งหัวหน้าพรรคอีกรอบ เขี่ยขุมอำนาจหญิงหน่อยพ้นกรรมการบริหารเหลือแค่ “อนุดิษฐ์” คนเดียว หัวหน้าพรรคโว 4 ภารกิจยุคนิวนอร์มอล หวังสร้าง พท.กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง “ประเสริฐ” ลั่นจะทำพรรคให้เข้มแข็งด้วยการกระจายอำนาจ พ่วงปัด “พจมาน” คุมแค่ข่าวลือ “วิษณุ” เชื่อเกมแก้รัฐธรรมนูญจบที่ชั้น กมธ.ว่าไปทางไหน ชี้ “บิ๊กตู่” ไม่เคยส่งซิกแค่พูดตามหลักการ

    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหาร (กก.บห.) ชุดใหม่ หลังนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค ทั้งนี้ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก แกนนำพรรคต่างทยอยเข้าร่วมห้องประชุมชั้น 7  โดยเมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเดินทางมาถึง ได้มี ส.ส.บางส่วนปรบมือต้อนรับให้กำลังใจ ซึ่งคุณหญิงสุดารัตน์มีสีหน้ายิ้มแย้มเดินทักทาย ส.ส.ในห้องประชุม
    ทั้งนี้ หลังการลงคะแนนเลือก กก.บห.ชุดใหม่เรียบร้อย นายชูศักดิ์ ศิรินิล ว่าที่รองหัวหน้าพรรค ได้แจ้งรายชื่อ กก.บห.ชุดใหม่ มีทั้งสิ้น 24 คน ประกอบด้วย นายสมพงษ์ เป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย  รองหัวหน้าพรรคมี 10 คน คือ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นายเกรียง กัลป์ตินันท์, นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร, นายพิชัย นริพทะพันธุ์, นายสุทิน คลังแสง, นายไชยา พรหมา, พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด
    ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นเลขาธิการพรรค มีรองเลขาธิการพรรค 5 คน ประกอบด้วย นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม, นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล, นายคุณากร ปรีชาชนะชัย และนายนพ ชีวานันท์ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เป็นเหรัญญิกพรรค, นายจักรพงษ์ แสงมณี เป็นนายทะเบียนสมาชิกพรรค, น.ส.อรุณี กาสยานนท์ เป็นโฆษกพรรค และมีกรรมการบริหารพรรค 4 คน ประกอบด้วย นายชวลิต วิชยสุทธิ์, นายสรวงศ์ เทียนทอง, นายองอาจ วงษ์ประยูร และนายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์
    มีรายงานว่า รายชื่อ กก.บห.ชุดใหม่นี้ เห็นได้ชัดเจนว่ามีการกันคนสายคุณหญิงสุดารัตน์ออกจาก กก.บห.พรรคที่เดิมมีหลายตำแหน่ง ล่าสุดเหลือเพียง น.อ.อนุดิษฐ์คนเดียว ซึ่ง กก.บห.ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิดคนตระกูลชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คือ นายสมพงษ์, พล.ต.อ.สมศักดิ์ และนายจักรพล ส่วนที่ใกล้ชิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็มีนายกิตติรัตน์, น.ส.ธีรรัตน์ และนายคุณากร ที่ใกล้ชิดนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวนายทักษิณ คือนายเกรียง และมีส่วนหนึ่งมาจากอดีตพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เก่า 2 คน ประกอบด้วย นายพิชัย และ น.ส.อรุณี
ขณะเดียวกันยังมีนักการเมืองรุ่นใหม่และเป็นทายาทนักการเมืองมาเป็น กก.บห. อาทิ นายนพและนายจิรวัฒน์ ส่วนนายเผ่าภูมิ ถือเป็นคนใกล้ชิดนายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรค ส่วนกรณีนายประเสริฐได้เป็นเลขาธิการพรรคนั้น เนื่องจากมองว่า ส.ส.อีสานมีอยู่หลายกลุ่ม ถ้าเอาคนของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค จะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้ แต่นายประเสริฐไม่ถือว่าเป็นคนของกลุ่มไหนชัดเจน และประนีประนอมจึงทำให้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย
    ต่อมานายสมพงษ์กล่าวขอบคุณสมาชิกพรรค พท.ตอนหนึ่งว่า สถานการณ์บ้านเมืองวันนี้อยู่ภายใต้ภาวะวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ พรรคจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการบริหารพรรคให้แบกรับภารกิจเป็นที่หวังพึ่งได้ของประชาชน ซึ่งภารกิจสำคัญแรกคือ ความมุ่งมั่นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยพรรคจะจับมือกับทุกเครือข่ายเร่งรัดแก้รัฐธรรมนูญให้เกิดกติกายุติธรรมเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ภารกิจที่สองคือมุ่งมั่นแบ่งเบาความเดือดร้อนประชาชน โดยเฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจ โดยสิ่งที่จะทำต่อจากนี้คือการระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกพรรค  เพื่อผลักดันนโยบาย หาทางแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม ดังเช่นที่พรรค พท.ได้เคยทำสำเร็จมาแล้ว ส่วนภารกิจที่สามคือกระชับความสัมพันธ์ในหมู่สมาชิกและประชาชน กลุ่มประชาสังคมทุกเครือข่ายให้เกิดการร่วมมือให้แน่นแฟ้น สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของพรรค และภารกิจท้ายสุดคือ รวบรวมและนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญสื่อสารไปยังประชาชนและ ส.ส. เพื่อรับรู้ปัญหาและสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนในการแก้ไขปัญหาให้ดียิ่งขึ้น
“การเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังจากรุ่นสู่รุ่น ระหว่างความรู้ ประสบการณ์ของรุ่นพี่ กับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ และความมุ่งมั่นที่เปี่ยมด้วยพลังของรุ่นน้องๆ ให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เราสองรุ่นจะจับมือกันให้แน่น ร่วมถักทอความหวัง ความฝันที่จะเห็นประชาชนกินอิ่ม นอนหลับ ยิ้มได้อย่างมีความสุขกับชีวิตที่ดีขึ้น คืออุดมการณ์สูงสุดของพรรคเพื่อไทย” นายสมพงษ์กล่าว
สร้างเพื่อไทยกลับมาใหญ่
    นายสมพงษ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า กก.บห.ชุดนี้มีทั้งคนหน้าเก่าหน้าใหม่ผสมผสานกันเพื่อนำพรรคให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนเก่า จากนี้ขอเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อปรับสิ่งต่างๆ จากนั้นจะมีนโยบายออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม
เมื่อถามว่า คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยานายทักษิณได้ให้คำแนะนำอะไรบ้างหรือไม่ นายสมพงษ์กล่าวว่า คุณหญิงพจมานไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับพรรค แต่อาจมีสมาชิกไปหารือกับท่านตรงนี้เป็นเรื่องส่วนตัว คงไม่ไปก้าวล่วง ส่วนกระแสข่าวคุณหญิงพจมานจะเข้ามาคุมพรรคนั้นเป็นเพียงการลือกันไปต่างๆ นานา เพราะงานท่านก็มีอยู่เยอะ พรรคเรางานก็ยุ่ง ส่วนกระแสข่าวนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ สามี น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาวนายทักษิณ จะมาร่วมงานการเมืองกับพรรคนั้น ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ  
     นายประเสริฐกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนแปลง กก.บห.พรรค เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในยุคปัจจุบันที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับสภาพของเศรษฐกิจและการเมืองที่เปลี่ยนไป เพราะวันนี้ประชาชนขาดศรัทธา พรรคเพื่อไทยจึงจะขับเคลื่อนทุกองคาพยพ โดยหลังจากนี้ภารกิจเริ่มแรกที่สำคัญคือ ต้องเร่งระดมความคิดเห็น เร่งประชุม กก.บห.พรรคโดยด่วนภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อวางกรอบนโยบายในด้านต่างๆ ต่อมาคือเร่งสร้างนโยบายของพรรคให้ตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชน
“ในฐานะเป็นเลขาธิการพรรค จะสร้างพรรคให้มีความเข้มแข็งด้วยการกระจายอำนาจ แบ่งส่วนงาน กระจายความรับผิดชอบ และให้ความสำคัญกับ ส.ส.ทุกคน เพราะถือเป็นผู้ที่สัมผัสกับพี่น้องประชาชนโดยตรง จะรับรู้รับทราบปัญหาของพี่น้อง” นายประเสริฐกล่าว
    เมื่อถามถึงข่าวที่จะมีการดึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กลับมา  นายประเสริฐกล่าวว่า นายชัชชาติได้ปฏิเสธในเบื้องต้น คงเป็นเรื่องในอนาคต ส่วนการดึงกลุ่มบุคคลต่างๆ กลับมาร่วมงาน อาทิ กลุ่มแคร์นั้น เป็นกลุ่มนักวิชาการ มีแนวความคิดและข้อคิดเห็นหลายอย่าง อะไรที่เป็นประโยชน์พรรคก็พร้อมรับฟัง โดยอาจร่วมสนทนา สัมมนากันเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศชาติในอนาคตก็เป็นไปได้
    กรณีกระแสข่าวคุณหญิงพจมานจะกลับมาบริหารพรรค นายประเสริฐกล่าวว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ของพรรคที่เราให้ความเคารพนับถือ ที่ผ่านมาท่านไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารกิจการของพรรคแต่อย่างใด ส่วนการดึงคุณหญิงสุดารัตน์เข้ามาร่วมงานนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ยังเป็นสมาชิกและบุคลากรคนสำคัญของพรรคอยู่ หลังจากที่คณะกรรมการบริหารพรรคได้ประชุมกันแล้วก็คงจะพูดคุยกันว่าจะขอให้ท่านกลับมาทำงานร่วมกันอย่างไร
    ด้านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับนายสมพงษ์ที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค พท.อีกครั้ง และขอแสดงความยินดีกับคนบ้านเดียวกัน นายประเสริฐ ที่ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งเท่าที่ดูรายชื่อ กก.บห.ชุดใหม่แล้ว เป็นการผสมผสานกันของกลุ่มการเมืองมุ้งต่างๆ ในพรรค ก็หวังว่าการเมืองจะเดินแบบสายกลางไม่สุดโต่ง เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้
    “ผมได้ยินข่าวว่าคุณหญิงพจมานจะมาคุมพรรคเอง แต่ในรายชื่อไม่เห็น แต่อาจมาในนามประธานกรรมการบริหารพรรคอีกชั้นหนึ่ง จึงอยากจะฝากว่าบ้านเมืองบอบช้ำมานาน พรรคเพื่อไทยก็ทราบดีว่ามีส่วนทำให้บ้านเมืองเดินสู่วิกฤติหลายต่อหลายครั้ง เมื่อมีการถ่ายเลือดเปลี่ยนคนใหม่ ก็ขอให้คำนึงถึงกติกาประชาธิปไตย ที่ ส.ส.และพรรคการเมืองต้องเล่นกันในสภา จบที่สภา จะนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับบ้านเมือง” นายสุภรณ์กล่าว
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า 2 ป. เตรียมตั้งพรรคสำรอง ว่าก็ไปถาม 2 ป.เอาเองว่า 2 ป.คือใคร และเขาก็ชี้แจงไปหมดแล้ว มันจะมีอะไร เมื่อซักอีกว่า แต่มีชื่อ พล.อ.ประวิตรอยู่ด้วย รองนายกฯ ตอบว่า เรามีพรรคอยู่แล้วจะไปตั้งพรรคใหม่ทำไม คุณคิดไปเอง ไม่มีอะไร
ปัดข่าวบิ๊กตู่ส่งสัญญาณ
พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะท่าที ส.ว.หลังได้ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 6 ฉบับ ก่อนรับหลักการจะมีท่าทีที่ดีขึ้นหรือไม่ว่า ดีขึ้น เดี๋ยวก็ร่วมกันเหมือนเดิม ดูแลให้เรียบร้อย ส่วนที่คิดว่าจะได้รับการสนับสนุนและเห็นชอบจาก ส.ว.เพิ่มมากขึ้นหรือไม่นั้น ส.ว.เขาก็มีความคิดของเขาเอง
เมื่อถามว่า มีบางส่วนบอกว่าเมื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อยากให้ไปทำประชามติก่อน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ต้องแล้วแต่รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น ถามอีกว่าต้องพูดคุยกับ ส.ว.ก่อนหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า เขาอยู่ในคณะ กมธ.ที่ตั้งร่วมมาด้วยกันอยู่แล้ว ถามย้ำว่าการตั้ง กมธ.ขึ้นมาจะทำให้บรรยากาศของ 3 ฝ่ายดีขึ้นหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ก็เดี๋ยวต้องเชิญฝ่ายค้านมาร่วมด้วย
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงท่าทีของ ส.ว.ที่ไม่ตอบรับการส่งสัญญาณจากนายกฯ และยังยืนว่าการตั้ง ส.ส.ร.ต้องทำประชามติว่าเป็นความเห็นของ ส.ว. แต่ทุกอย่างต้องไปพูดคุยกันใน กมธ. รัฐบาลหรือตนคงออกความเห็นอะไรไม่ได้ โดยร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล 1 ร่าง และร่างพรรคฝ่ายค้าน 1 ร่าง ซึ่งหลักคล้ายคลึงกัน เป็นการแก้ไขรายมาตราอีก 4 ร่าง ร่างของไอลอว์อีก 1 ร่าง ซึ่งของไอลอว์นั้นประธานรัฐสภากำลังตรวจสอบ ทั้งหมดจะเข้าไปสู่การพิจารณาของ กมธ. และได้ยินว่าเขาจะนำบทสรุปหรือข้อสังเกตของ กมธ.ชุดของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นการดี เพราะตอนที่ชุดของนายพีระพันธุ์เสนอนั้น ยังไม่มีร่างใดเลยแม้แต่ร่างเดียว ดังนั้นจึงต้องนำมาเทียบกันทั้งหมด จะต้องใช้เวลาไม่เกิน 30 วันนี้ให้เป็นประโยชน์  
    “ที่เป็นข่าวและวิจารณ์กันว่ารัฐบาลส่งสัญญาณอะไรนั้น เมื่อวันอังคารที่ 28 ก.ย. ผมก็นั่งอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย ไม่เห็นว่าเป็นการส่งซิกใดๆ ทั้งนั้น เป็นเพียงมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นธรรมดาของทุกวันอังคารก่อนการประชุม ครม. ที่รัฐมนตรีคนไหน หรือหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคนไหนมีข้อหารือหรือเล่าให้นายกฯ ก็พูดคุยเป็นธรรมดา ไม่ใช่ประชุมอะไรด้วยซ้ำไป และพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ นายกฯ ปรารภขึ้นมาว่าร่างของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลได้ลงชื่อกันไปมากกว่า 200 คน เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดาที่พรรคร่วมรัฐบาลเมื่อเสนอแล้ว ก็ต้องเข็นต่อไป จะไปกลับลำได้อย่างไร ซึ่งนี่คือสิ่งที่นายกฯ พูด ซึ่งทุกพรรคก็เห็นด้วย” นายวิษณุระบุ
นายวิษณุยังกล่าวว่า นายกฯ บอกว่าอันนี้คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ส่วนการที่ทำความเข้าใจอย่างไรต่อไปกับคนอื่น ซึ่งในที่นี้หมายถึงสมาชิกรัฐสภา ทั้งผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และประชาชน ก็รอฟัง กมธ.ว่าเขาว่ากันอย่างไร เพราะถ้าออกมาตรงกันก็จะได้ไม่ต้องเหนื่อยอธิบาย แต่ถ้าไม่ตรงกันก็ต้องช่วยกันอธิบาย พูดกันแค่นี้ ไม่ได้ส่งซิกส่งอะไร ส่วน ส.ว.ท่านจะพูดกันอย่างไรก็ถูก เพราะถือเป็นผู้มีสิทธิเสียบบัตร หรือผู้มีสิทธิออกเสียงหรือขานชื่อ ท่านจะเอาอย่างไรก็ต้องแล้วแต่ท่าน แต่ทั้งหมดนี้คงต้องคุยกันใน กมธ.ก่อน ไม่อย่างนั้นจะตั้งขึ้นมาหาอะไร และตอนที่นายกฯ พูดคือวันอังคาร กมธ.ยังไม่ได้ประชุมกัน ซึ่งเขาเพิ่งประชุมกันนัดแรกในวันพุธ
เชื่อร่าง รธน.จบที่ กมธ.
    “ผมได้พูดประโยคสำคัญ พวกคุณสังเกตหรือไม่ เพราะถ้าสังเกตให้ดีจะมีอะไรซ่อนอยู่ ผมบอกว่าทั้งหมดอยู่ที่คณะ กมธ.  ถ้า กมธ.ออกมาตรงกับแนวของเรา มันก็ได้ แต่ถ้าไม่ตรงกัน ก็ต้องไปช่วยกันทำความเข้าใจกับ ส.ส., ส.ว. และประชาชน” นายวิษณุตอบกรณีเสียง 250 ส.ว.มีความสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  
    เมื่อถามย้ำว่ามี ส.ว.บางคนเรียกร้องให้ทำประชามติก่อนตั้งส.ส.ร. นายวิษณุกล่าวว่า มีบางคนพูดเท่านั้น ซึ่งได้ยินมานานแล้ว ก็ไม่เป็นไร ถือเป็นข้อเสนอและเป็นข้อสังเกตที่ดี แต่นั่นคือสิ่งที่พูดกันมาก่อนตั้ง กมธ.
    นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อศึกษาหาข้อยุติในประเด็นปัญหาทางข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อร่วมกันพิจารณาและวางกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญต้องดำเนินการอะไรบ้าง ถ้าต้องทำประชามติ ต้องทำกี่ครั้ง ใช้งบประมาณเท่าใด ต้องเตรียมข้อมูลให้รอบด้านเพื่อให้ กมธ.ประกอบการตัดสินใจ โดยคณะอนุกรรมการต้องทำเสร็จโดยเร็วที่สุด เพราะ กมธ.ชุดใหญ่มีกรอบทำงานถึงวันที่ 22 ต.ค. จะต้องได้ข้อยุติว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร โดย กมธ.เสนอทิศทางต่อรัฐสภาด้วยว่า ควรจะรับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใด ซึ่งเชื่อว่าความเห็นของ กมธ.จะช่วยให้ ส.ว.ลงมติไปในทางเดียวกันได้
    มีรายงานว่า รายชื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายได้ทบทามพรรคฝ่ายค้านด้วย แต่ก็ได้ปฏิเสธเข้าเป็นอนุกรรมการชุดดังกล่าว ทั้งนี้ ยังมีรายงาน กมธ.ได้นัดประชุม กมธ.ในสัปดาห์หน้า เป็นเวลา 3 วัน โดยวันที่ 6 ต.ค.จะเชิญนายพีระพันธุ์เข้าร่วมประชุม, วันที่ 7 ต.ค. จะเชิญเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้แทน ส.ส.ผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าร่วมประชุม และวันที่ 8 ต.ค. จะเชิญเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และผู้แทน ส.ส.ผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าร่วมประชุม
    นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า สภาได้ตรวจสอบรายชื่อผู้ที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชน หรือไอลอว์ 101,827 คนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ส่งข้อมูลเลขบัตรประชาชนของผู้มีรายชื่อดังกล่าวไปยังกรมการปกครอง เพื่อตรวจสอบว่ามีสิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และหลังจากกรมการปกครองตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งกลับมายังสภาเพื่อประกาศรายชื่อทางเว็บไซต์ให้ตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ และการคัดค้านชื่อ ซึ่งขั้นตอนตรงนี้ใช้เวลา 30 วัน หากตรวจสอบเรียบร้อย ประธานรัฐสภาก็บรรจุเข้าไปในระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาภายใน 15 วัน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"