นับตั้งแต่มีการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือได้ว่าปีนี้เป็นปีที่มีการชุมนุมประท้วง ลงถนนมากครั้งที่สุด โดยการชุนนุมครั้งนี้ตัวจุดประกายคือกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่เปลี่ยนเป็นประชาชนปลดแอก หลังจากที่คนวัยกลางคน รวมถึงกลุ่มสูงวัยเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้น โดยเป้าหมายคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุติการสืบทอดอำนาจเผด็จการ แต่ยิ่งนานเข้าอุดมการณ์ก็เริ่มเปลี่ยน มุ่งหวังประเด็นสถาบันมากขึ้นจนกลายเป็นประเด็นหลัก
จนนับวันจะเห็นได้ว่าการชุมนุมในช่วงหลังๆ กลายเป็นงานปาร์ตี้คืนสู่เหย้าของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นส่วนใหญ่ จะพูดกันแบบตรงๆ คือ ตั้งแต่การชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่เจ้าภาพหลักเป็นกลุ่มธรรมศาสตร์ และการชุมนุม ส่วนการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 24 ก.ย. เจ้าภาพคือกลุ่มประชาชนปลดแอก มีกลุ่มเยาวชนหรือกลุ่มวัยทำงานน้อยกว่ากลุ่มคนเสื้อแดงด้วยซ้ำ
ด้วยการต่อสู้ไม่ได้เน้นเรื่องการโค่นล้ม บิ๊กตู่ อีกต่อไป จึงทำให้กลุ่มคนที่รักสถาบันบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์กลางคันแบบนี้ ได้ถอนตัวออกจากม็อบ บวกกับคติของม็อบกลุ่มนี้ที่มองว่าใครไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของตนจะต้องเป็นคนนอกรีต ถูกล่าแม่มด ไล่ให้บางคนไปเป็นสลิ่มบ้าง ไล่ถล่มต่อ หรือแม้ว่าจะเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงก็ไม่แคล้วที่จะถูกต่อว่าในสังคมออนไลน์ ตัวอย่างชัดคือ “ลิซ่า แบล็คพิงก์” ซึ่งเป็นคนไทยที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงเกาหลีใต้และวงการบันเทิงโลก ที่ถูกต่อว่าในเรื่องไม่ให้ความคิดเห็น หรือสนับสนุนกลุ่มผู้รักประชาธิปไตย จึงทำให้บางคนมองว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นการละเมิดสิทธิคนอื่นด้วยเช่นกัน
ดังนั้น สุดท้ายแล้วม็อบนี้จะจบลงอย่างไรมองได้หลายทาง แต่มุมมองที่เป็นไปได้คือ การสะสมแต้ม แกนนำแต่ละคนที่ขึ้นบนเวทีการชุมนุมส่วนใหญ่มีคดีติดตัวทุกคน โดยเฉพาะ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ณ วันที่ 6 ส.ค. โดนไป 8 ข้อหาที่ปรากฏในหมายจับ ไม่ว่าจะเป็น 1.ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
2.ร่วมกันชุมนุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด 3.ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีสถานที่แออัด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
4.ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวาจาหรือทอดทิ้งสิ่งของหรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด 5.ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร 6.ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน 7.ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และ 8.ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อกายหรือจิตใจ โดยทั้งหมดนี้ไม่รวมข้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน
ซึ่งเรื่องนี้แกนนำอีกคนหนึ่งคือ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก็ยังข้องใจหมายจับก็มีทำไมไม่จับทีเดียว อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่อาจรอเวลาที่เหมาะสม ถ้าจับตอนนี้ก็เข้าทางให้กลุ่มม็อบสามารถเรียกแขกได้ว่ารัฐคุกคามประชาชน จะเห็นได้ว่าช่วงนี้คนตีตัวออกห่างจากม็อบมากขึ้น เพื่อหวังให้รัฐเล่นแรง แต่รัฐไม่เล่นด้วย ซึ่งต้องรอให้กระแสตกปั่นไม่ขึ้น แล้วค่อยเผด็จศึกรวดเดียว หลังจากนั้นชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้จะวิ่งขึ้นลงศาลไม่เว้นวัน หรือรวบยอดโทษจำคุกทุกข้อหาก็คงอยู่ในตะรางกันยาวๆ
ส่วนถ้ารัฐบาลรอไปเรื่อยๆ เกรงว่าจะเกิดความรุนแรงเหมือนในยุคของพันธมิตร นปช. หรือ กปปส.หรือไม่ จากการวิเคราะห์คาดว่าไม่เกิด เนื่องจากมวลชนแม้อุดมการณ์ทางความคิดจะหนักแน่น แต่จากการชุมนุมที่สนามหลวงจะเห็นได้ว่าน้อยคนที่จะปักหลักค้างคืนถึงวันรุ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าในช่วงตอนกลางคืนของการชุมนุมมีคนจำนวนมากเข้ามาร่วมชุมนุม แต่ด้วยความที่การชุมนุมไม่ได้สบายอย่างที่คิด จะให้นอนกลางดิน ตากฝนนั้นเป็นไปได้ยาก ไม่เหมือนกับกลุ่มสีเสื้อที่กล่าวมาข้างต้นที่นอกจากอุดมการณ์จะแรงแล้ว ยังยอมเอาตัวเข้าแลก พร้อมสู้ พร้อมปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จึงเป็นเรื่องง่ายที่รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรในช่วงนี้นอกจากรอเวลาไปเรื่อยๆ จนสถานการณ์สุกงอม ฝ่ายม็อบเสียเปรียบ คดีเริ่มตามมาเรื่อยๆ พอถึงช่วงเวลานั้นเมื่อแกนนำม็อบโดนจับกุมอยู่ในตะรางยาวๆ การที่จะพากลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวต่อจึงเป็นเรื่องยาก และจะสลายไปตามธรรมชาติ เว้นแต่จะมีเจเนอเรชั่นใหม่ๆ ขึ้นมา
หากเป็นไปตามที่คาดการณ์นี้ เรียกได้ว่างานนี้ “บิ๊กตู่” อาจจะไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องสลายม็อบ ไม่ต้องยิงแก๊สน้ำตา หรือกระสุนยาง ให้แกนนำทำตัวเอง แค่ใช้กฎหมายของบ้านเมืองเท่านั้น เรียกว่าเชือดนิ่มๆ แบบไร้ความรุนแรง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |