แผนฟื้นฟูการบินไทย:ชาญศิลป์: ‘ผมไม่ใช่ Superman’ แต่...


เพิ่มเพื่อน    

 

  

          ผมสนทนากับคุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ DD ที่มาดูแลการฟื้นฟูการบินไทยเพื่อหาคำตอบต่อคำถามที่คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องการรู้คำตอบเกี่ยวกับ “สายการบินแห่งชาติ” แห่งนี้

                คำถามใหญ่ที่สุดเห็นจะเป็นว่า การบินไทยจะกลับขึ้นท้องฟ้าเพื่อสร้างรายได้ได้อีกเมื่อใด

                รูปแบบของธุรกิจการบินพาณิชย์จะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อถูกโควิด-19 กระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลกเช่นนี้

                คุณชาญศิลป์บอกว่า การศึกษาของการบินไทยชี้ว่า

                ตอนเกิด 9/11 ปี 2001 นั้น ธุรกิจการบินถูกกระทบอย่างแรง

                ปีนั้นอุตสาหกรรมการบินทั้งโลกจากข้อมูล IATA ขาดทุน 12,000 ล้านเหรียญฯ

                แต่โควิดทำให้ธุรกิจการบินของโลกขาดทุน 98,000 ล้านเหรียญฯ หรือ 8 เท่า

                และยังไม่หยุด โดยเฉพาะถ้าหากมีการระบาดโควิดรอบ 2

                สายการบินต่างๆ ประกาศลดพนักงานทั้งหมด 190,000 คนแล้ว

                และยังเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์

                เฉลี่ยแล้วลดพนักงานไปแล้วกว่า 30%

                คุณชาญศิลป์บอกว่า ย้อนไปดูประวัติการบินไทย วันนี้ถือว่ายัง “ใหญ่” ไหม

                หากเปรียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การบินไทยวันนี้ถือว่า “เล็ก” แล้ว

                เล็กในแง่ของจำนวนเครื่องบิน สัดส่วนการบินต่างๆ

                นโยบายประเทศไทยพยายามเปิดเสรีการบินตั้งแต่ปี 2540 หลังจากนั้นก็เปิดสายการบินประหยัดขึ้นมา

                อีกไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดดิจิทัลดิสรัปชัน หรือความป่วนอันเกิดจากเทคโนโลยี

                และยังมีปัจจัยการเมืองที่ทำให้กระทบการท่องเที่ยวและการลงทุนต่างๆ

                ไม่ว่าจะเป็นระเบิดราชประสงค์, ความขัดแย้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง, น้ำท่วม, หวัดนก, สงครามการค้าและโควิด

                ทั้งหมดนี้ทำให้การบินไทยมีภาวะขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึง 2563 ปีนี้

                ยอดขาดทุนแต่ละปี

                ปี 54 ขาดทุน 7,000 ล้าน

                ปี 55 กำไร 7,000 ล้าน

                ปี 56 ขาดทุน 12,000 ล้าน

                ปี 57 ขาดทุน 16,000 ล้าน

                ปี 58 ขาดทุน 14,000 ล้าน   

                ปี 59 ขาดทุน 1,000 ล้าน

                ปี 60 ขาดทุน 2,000 ล้าน

                ปี 61 ขาดทุน 11,000 ล้าน

                ปี 62 ขาดทุน 11,000 ล้าน

                “ช่วงเวลาที่ว่านี้ คนเก่งๆ และคนดีๆ ของการบินไทยที่ไม่มีโอกาสได้ขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่เหมาะสมออกไปอยู่สายการบินของคู่แข่งทั้งหมด...”          

                อีกด้านหนึ่งคือ การบินไทยปรับตัวไม่ทันเทคโนโลยี

                เกิดประเด็นส่วนแบ่งตลาดหายไป วันนี้เหลือเพียง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น

                จากเดิมมีถึง 80-90%

                นั่นย่อมมีผลต่อกำลังใจพนักงานและเงินเดือนและโบนัสอย่างยิ่ง คนอายุ 50 กว่าขึ้นไปมีเยอะมาก วัย 30-40 มีน้อย

                “นี่คือสิ่งที่ท้าทาย จาก 7-8 ปีที่ขาดทุนมา รวมทั้งการลงทุนในเครื่องบินที่มีปัญหา อย่างที่ท่านรัฐมนตรีช่วยคมนาคมถาวร (เสนเนียม) สอบสวนและยื่น ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ ซึ่งก็เป็นเรื่องอดีต ไม่ได้ว่าอะไร หรือแม้เรื่องสินบนโรลส์-รอยซ์ ที่อยู่ใน ป.ป.ช. ขณะนี้...ผมมาทีหลัง ผมไม่ทราบเรื่อง”

                แต่นั่นคือบทเรียนที่นำเอามาให้ในการทำแผนฟื้นฟูได้อย่างดี

                หลังจากธันวาคมปีนี้ และหากโควิดยังไม่หายไป การบินไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

                “เราก็ต้องเดินหน้าหารายได้อื่นๆ จากทรัพย์สินของเรา เรามีที่ดินและอาคารทั้งใน กทม.และภูเก็ต, เชียงใหม่และต่างประเทศ กำลังรวบรวมเก็บเงินที่ค้างอยู่ต่างประเทศด้วย...”

                อาจให้คนอื่นมาเช่าอาคารหรือเปิดเป็นร้านอาหาร, ร้านกาแฟบ้าง

                คุณชาญศิลป์บอกว่า ส่วนของพนักงานก็ต้องขอให้ช่วยเหลือบริษัทต่อไป

                “ก็ต้องหารายได้ทุกวิถีทาง และหากจำเป็นต้องตัดอะไรบางอย่างออกไปเพื่อรักษาชีวิต เราก็ต้องทำเพื่อให้อยู่รอด เพื่อให้แผนฟื้นฟูผ่านได้...เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้เห็นว่าเขาพร้อมจะลดหนี้, ยืดหนี้ให้ เราจะมีกระบวนการสำหรับวางแผนเหล่านี้...”

                คุณชาญศิลป์ได้วางแผนปรับปรุงไว้ 5 แนวทางคือ

                ปรับปรุงหนี้, เจรจาเจ้าหนี้

                ปรับปรุงเส้นทางการบิน

                ปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวกับการบิน

                ปรับปรุงกลยุทธ์ด้านพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้

                ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร

                “ผมไม่ใช่ซูเปอร์แมน แต่ว่าผมมีน้องๆ มีทีม ผมตั้งโครงการขึ้นมาเรียก Survival Team ทีมต้องรอด...โครงการนี้เริ่มด้วย 21 คน วันนี้มีคนมาร่วมเป็นพันคน และความริเริ่มต่างๆ ทั้งหาหัวข้อเราจะค่อยๆ ขยับทำไป อะไรที่ทำได้ก็จะทำเลย เช่น การปรับโครงสร้างองค์กร การลดสวัสดิการลง การทำธุรกิจที่หารายได้เพิ่ม ที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก เราก็จะทำเลย แต่ต้องทำโดยคนที่มีจิตใจรักการบินไทยและเป็นพนักงานที่ทุ่มเทจริงๆ ถึงจะรอดได้...”

                พรุ่งนี้ : จะทำอย่างไรกับ Thai Smile?.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"