1 ต.ค.63 - นายปองพล อดิเรกสาร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เรื่อง "ความน่ารักของคนไทยกำลังหายไป" โดยมีเนื้อหาดังนี้
“น่ารัก” คือคำที่เรามักใช้แสดงความชื่นชมต่อผู้ที่เราได้พบเห็นและพูดคุยด้วยทุกเพศทุกวัยทั้งที่มีอายุน้อยกว่าและมากกว่าเรา เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นได้แสดงกิริยาวาจานุ่มนวล มีสัมมาคารวะ ไม่ก้าวร้าว ไม่แข็งกระด้าง ใบหน้าแจ่มใสมีรอยยิ้มแสดงความเป็นมิตร ซึ่งผมถือว่าเป็นความน่ารักและเอกลักษณ์ของคนไทยที่ผมได้สัมผัสมาตั้งแต่จำความได้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “ความน่ารัก” คือการมีลักษณะซึ่งชวนให้รักให้เอ็นดู มีมนุษยสัมพันธ์ดี และมีไมตรีจิต บรรพบุรุษของผมได้อบรมสั่งสอนว่าบุคลิกภาพดั้งเดิมของคนไทยนั้นเป็นเด็กต้องอ่อนน้อม ผู้ใหญ่ต้องอ่อนโยน และผู้หญิงต้องอ่อนหวาน
ขอพูดถึงความอ่อนน้อมของเด็กก่อนคือต้องมีสัมมาคารวะและการเคารพต่อผู้ใหญ่ ใช้วาจาสุภาพตามกาลเทศะในการทักทายกราบไหว้ แม้กระทั่งการยืน เดิน นั่ง นอน และกิน เช่นไม่ชี้หรือยกมือข้ามศีรษะใคร ไม่เหยียดเท้าใส่ใคร ให้ก้มหลังเมื่อเดินผ่านผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่ ตลอดจนแต่งกายสุภาพเหมาะสมกับสถานที่ เป็นต้น ซึ่งผมได้ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างและสั่งสอนลูกหลานของผมให้ปฏิบัติเช่นนั้นต่อไป
เมื่อผมเติบโตมีวัยสูงขึ้นก็ได้รับการอบรมสั่งสอนว่าเป็นผู้ใหญ่ต้องอ่อนโยนถ่อมตน มีกิริยาวาจาที่สุภาพนุ่มนวลเป็นตัวอย่างให้กับเด็ก ซึ่งสอดคล้องกับกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ดังนี้ “ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม”
นอกจากมีความอ่อนโยนถ่อมตนแล้ว ผู้สูงวัยต้องปฏิบัติพรหมวิหาร 4 คือการมีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต่อเพื่อนร่วมงานและผู้อ่อนวัยกว่าก็จะได้รับการสรรเสริญว่าปฏิบัติตนเหมาะสมกับความเป็นผู้ใหญ่ที่ควรได้รับความเคารพนับถือจากบุคคลทั่วไป
การมีกิริยาวาจาที่อ่อนหวานของผู้หญิงคือความน่ารักของกุลสตรีไทยเป็นไปตามตำราโบราณของความงามของหญิงไทยซึ่งพูดถึงความงาม 5 ประการได้แก่งามรูป งามทรัพย์ งามจริต งามวาจา และงามความรู้ เป็นเด็กที่อ่อนน้อมและเป็นผู้ใหญ่ที่อ่อนโยนซึ่งได้รับการอบรมสั่งสอนจากปู่ย่าตายายบิดามารดาจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นเสน่ห์ของหญิงไทยที่เลื่องลือไปทั่วโลก
ผมเสียดายที่บรรยากาศของความน่ารักของคนไทยตามที่ได้พูดถึงมานั้นกำลังเริ่มหายไปกับกาลเวลาและการพัฒนาของเทคโนโลยีซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างวัยห่างเหินจืดจางไป การพบปะซึ่งหน้าเพื่อพูดจาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกันอย่างสุภาพถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์มือถือ การส่งไลน์ การโพสต์ในเฟสบุ๊ค และการใช้โซเชียลมีเดียอื่นๆ ทำให้ความเกรงอกเกรงใจลดน้อยลงไปถูกแทนที่ด้วยความก้าวร้าว ความหยาบคาย การใส่ร้ายป้ายสี และการบิดเบือนข้อมูล มีศัพท์อื่นๆอุบัติขึ้นมาเช่น บุลลี่ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษ bully แปลว่าข่มเหงรังแกด้วยกายหรือวาจา และทัวร์ลง เป็นต้น โดยเฉพาะต่อผู้ซึ่งอยู่ในวัยที่ถูกเรียกว่าผู้ใหญ่รวมทั้งตัวผมด้วยกลายเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปีในความรู้สึกของผู้อ่อนวัยกว่าซึ่งยังด้อยประสบการณ์ในการแก้ปัญหาของการดำรงชีวิต
ถึงอย่างไรก็ตามผู้ใหญ่อย่างพวกเราก็โชคดีที่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมแห่งความน่ารักของคนไทยในยุคหนึ่งซึ่งคงไม่หวนกลับมาอีกแล้ว ขอจบด้วยการฝากข้อคิดจากสุภาษิตไทยอมตะข้อหนึ่งคือ “ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |