เอาแล้ว 'ส.ส.โรม' ตื่นตูมรัฐบาลแห่งชาติ ประกาศลั่นพรรคก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้าน


เพิ่มเพื่อน    

29 ก.ย.63 - นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีรายละเอียดดังนี้

ไม่เอานายกพระราชทาน ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เมื่อใดก็ตามที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองดูเหมือนจะเดินมาถึง "ทางตัน" เรามักจะได้ยินข้อเสนอ 2 ประการลอยมาตามสายลม มาจากไหนก็ไม่ทราบ แต่เมื่อมาแล้วก็ดังอื้ออึงไปทั่ว... ไม่ "นายกพระราชทาน" ก็ "รัฐบาลแห่งชาติ"

ทั้งสองสิ่งนี้เป็นเหมือนกับสองหน้าของเหรียญเดียวกัน โดย "นายกพระราชทาน" นั้นมีที่มาในประวัติศาสตร์จากกรณีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีภายหลังวิกฤตการณ์ต่างๆ ในลักษณะที่ไม่สามารถอ้างอิงได้ว่าเป็นมติของผู้แทนราษฎรตามระบบรัฐสภา จึงทำให้เป็นที่เข้าใจในสังคมว่าการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งดังกล่าวเป็นการ "พระราชทาน" มาให้ เช่น การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรือการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

กรณีเช่นนี้ทำให้ต่อมามีผู้ตีความว่านี่คือ "ประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 5 วรรคสอง ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน) ว่าให้นำมาใช้ได้เมื่อไม่สามารถหาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาใช้กับกรณีใดๆ ที่เกิดขึ้นได้แล้ว และเคยถึงกับมีความพยายามถวายฎีกาขอนายกพระราชทานต่อพระมหากษัตริย์โดยอ้างประเพณีดังกล่าวมาแล้ว ได้แก่ความพยายามของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในช่วงปี 2549

ส่วน "รัฐบาลแห่งชาติ" นั้นเป็นโมเดลการจัดตั้งรัฐบาลผสมจากทุกพรรคการเมืองในสภาโดยไม่มีฝ่ายค้าน ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในการนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน ทั้งนี้ในการหาผู้ที่จะมาเป็นผู้นำของรัฐบาลแห่งชาติมักเลือกจาก "คนกลาง" ซึ่งอาจเป็น (หรือนับว่าเป็น) นายกพระราชทานด้วยก็ได้

ทั้งสองข้อเสนอนี้ หลายท่านอาจเห็นแล้วว่าเป็นเสมือนการ "ย้อมแมวขาย" แต่ผมเห็นว่ามันแย่กว่านั้น เพราะนี่คือการ "ย้อมเสือให้เป็นแมว" พยายามเปลี่ยนสิ่งที่เนื้อแท้แล้วอยู่นอกเหนือระบอบประชาธิปไตยให้กลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ โดยอ้างความจำเป็นต่อสถานการณ์

การตั้งนายกพระราชทานนั้นไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะโดยสาระสำคัญแล้วไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน เพราะไม่ได้มีการให้ความเห็นชอบโดยผู้แทนราษฎรเลยแม้แต่คนเดียว อาจเรียกได้ว่าเป็นเผด็จการด้วยซ้ำ เพราะมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยบุคคลเพียงคนเดียว

มากไปกว่านั้น การแปะป้าย "พระราชทาน" ยังเท่ากับเป็นการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมืองโดยตรง เป็นการล่วงละเมิดต่อระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอีกด้วย

ส่วนการตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้นก็เป็นการขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายต่างๆ เนื่องจากในระบอบประชาธิปไตยนั้น สภาไม่ได้มีหน้าที่เพียงออกกฎหมายให้รัฐบาลใช้ตามประสงค์ หากแต่ยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล หากรัฐบาลปฏิบัติงานผิดพลาด ล้มเหลว หรือมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ไม่โปร่งใสแล้ว สภาก็ควรมีการลงโทษต่อรัฐบาลด้วยกระบวนการต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งการที่สภาจะปฏิบัติหน้าที่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องมีฝ่ายค้านในสภาอย่างเป็นทางการ การที่สภาไม่มีฝ่ายค้านจึงเท่ากับเป็นการละทิ้งหน้าที่ที่สำคัญของสภา และลดบทบาทตัวเองให้เหลือเป็นเพียงตรายางเช่นในสมัย สนช. เท่านั้น

นอกจากนี้ยังขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกผู้แทนราษฎรเข้าไปในสภา เพราะสำหรับหลายๆ พรรคการเมืองแล้ว ประชาชนผู้เลือกพรรคนั้นๆ ย่อมไม่ต้องการเห็นพรรคที่พวกเขาเลือกไปร่วมรัฐบาลเดียวกันกับพรรคที่มีอุดมการณ์ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งหากพรรคการเมืองต่างๆ ยอมเลือกคนนอกหรือนายกพระราชทานเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลแล้ว ก็ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีนั้นมาจากบุคคลที่พรรคต่างๆ เสนอชื่อ มิใช่ใครจากไหนไม่รู้ที่ไม่เคยต้องพิสูจน์ตัวเองกับประชาชน การที่พรรคการเมืองยอมไปร่วมรัฐบาลแห่งชาติจึงเท่ากับเป็นการทรยศประชาชนดีๆ นี่เอง

การที่นายกรัฐมนตรีไม่มีความยึดโยงกับประชาชน การที่ไม่มีฝ่ายค้านในสภาอย่างเป็นทางการ ยังเป็นการเปิดทางให้อำนาจนอกระบบแทรกซึมเข้ามาครอบงำหรือบงการการใช้อำนาจของรัฐบาลและสภาได้โดยง่ายอีกด้วย เนื่องจากไม่มีผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการโต้แย้งนายกพระราชทานและรัฐบาลแห่งชาติเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง หรือหากมีใครที่เข้าร่วมแล้วคิดจะโต้แย้งก็จะต้องถูกปิดปากด้วยข้ออ้างเรื่องความจำเป็นต่อสถานการณ์อยู่เสมอ

แน่นอนว่าการตั้งนายกพระราชทานและรัฐบาลแห่งชาตินั้น อาจไม่ได้เกิดขึ้นโดยการออกประกาศหรือคำสั่งมาดื้อๆ ทื่อๆ เสมอไป แต่อาจเกิดโดยการ "ล็อบบี้" ผู้แทนราษฎรแต่ละคนแต่ละพรรคให้ยอมเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลเดียวกัน และยอมโหวตเลือกบุคคลที่ถูกกำหนดไว้แล้วให้เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการรักษาหน้าฉากประชาธิปไตยอันสุกใส ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งที่ข้างในเป็นโพรงพรุนไปแล้ว แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่เน่าจากภายในไม่ว่าเปลือกจะสวยอย่างไรก็ย่อมส่งกลิ่นออกมาสู่ภายนอก และหากผู้แทนราษฎรคนใดรู้ดีอยู่แก่ใจแต่ยังคิดจะไปเข้าร่วมกับแผนการเหล่านี้แล้ว ผมถือว่าคนคนนั้นขาดจากความยึดโยงกับประชาชน ขาดความชอบธรรมที่จะเป็นผู้แทนประชาชนตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป

และถึงที่สุดแล้ว หากเราย้อนกลับไปพิจารณาตั้งแต่ต้นว่าข้อเสนอนายกพระราชทาน - รัฐบาลแห่งชาตินั้นมักจะเกิดขึ้นเมื่อประเทศมาถึง "ทางตัน" เราจะพบว่าทางตันที่ว่านี้มักเป็นทางตันในสายตาของผู้ที่เข้ามายึดกุมอำนาจโดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย คือตันเพราะไม่รู้จะไปต่อยังไงให้ฝ่ายตัวเองยังกุมอำนาจต่อไปได้ ในขณะที่หากเป็นในมุมมองของประชาชนแล้ว พวกเขามีทางออกตามวิถีทางประชาธิปไตยเสมอ หากรัฐบาลไปต่อไม่ได้ ก็ควรลาออก หรือยุบสภา เพื่อคืนการตัดสินใจให้กับประชาชนอีกครั้ง เท่านั้นเอง

ฉะนั้นแล้วผมขอเป็นอีกหนึ่งเสียงที่จะร่วมเรียกร้องว่าประเทศไทยเรานั้นไม่ต้องการนายกพระราชทาน ไม่ต้องการรัฐบาลแห่งชาติ ขอให้ทกฝ่ายในสังคมแก้ปัญหาตามครรลองประชาธิไตย และถ้าสุดท้ายจะยังมีใครดันทุรังให้เกิดนายกพระราชทาน - รัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาให้ได้ ผมและพรรคก้าวไกลขอยืนยันว่าเราจะเป็นฝ่ายค้านให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนเองครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"