วันที่ 30 ก.ย.- นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร (Food Delivery) ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกลุ่มธุรกิจบริการส่งอาหาร (Platform) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
นายวราวุธ กล่าวว่า รัฐบาลได้มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดย ทส. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด รัฐบาลได้มีมาตรการล็อคดาวน์ ให้ประชาชนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ รวมทั้ง การห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ส่งผลให้มีการใช้บริการส่งอาหาร (Food Delivery) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาหารเหล่านี้ มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics) ที่กลายเป็นขยะพลาสติกหลังการบริโภค และไม่ได้รับการคัดแยกเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์เนื่องจากมีความกังวลต่อการเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรค ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว โดยพบว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขยะพลาสติกทั่วประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จาก 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน
“ ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากบริการส่งอาหาร หรือ Food Delivery เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกให้เกิดความต่อเนื่องและเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมี 13 หน่วยงาน ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมประชาสัมพันธ์ กรมอนามัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และกลุ่มผู้ประกอบการบริการส่งอาหาร (Platform) ประกอบด้วย บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “Food Panda” บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “Grab Food” บริษัท เวล็อคซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “Gojek” และ LalaMove แสดงเจตนารมณ์ที่เห็นพ้องต้องกันในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ภายใต้แนวคิด “Food Delivery วิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ โดยภาคีเครือข่าย 13 หน่วยงาน จะร่วมกันดำเนินการเพื่อผลักดันให้มีการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร และใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทดแทน “ นายวราวุธ กล่าว
รมว.ทส. กล่าวต่อว่า กลุ่มแพลตฟอร์มที่ร่วมลงนาม MOU มีความยินดีที่จะร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ผู้ให้บริการส่งอาหารจะมีการปรับแพลตฟอร์มการสั่งอาหารให้มีตัวเลือก opt-in ในการรับหรือไม่รับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวของลูกค้า เพื่อลดภาระของร้านและลดการให้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ไม่จำเป็น รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนร้านอาหารที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่ร่วมโครงการ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค และร้านอาหารที่สนใจอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการไม่รับ ไม่ให้ ไม่ใช้ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการส่งอาหาร โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางของแพลตฟอร์ม ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับร้านอาหาร ร้านค้า ผู้จัดส่งอาหาร สมาชิก หรือเครือข่ายได้รับทราบนโยบายและมาตรการการขับเคลื่อนการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในการบริการส่งอาหาร และที่สำคัญกลุ่มแพลตฟอร์มจะสร้างแรงจูงใจให้ร้านอาหาร ร้านค้า และผู้บริโภคงดใช้กล่องโฟม ถุงพลาสติกหูหิ้ว ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco packaging) ตามความเหมาะสม
“ กลุ่มแพลตฟอร์มผู้ให้บริการส่งอาหารนับได้ว่าเป็นกำลังสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในการรับหรือไม่รับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนร้านอาหารที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค การจะลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนและประชาชน ในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยการใช้ซ้ำ เลือกบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" นายวราวุธ กล่าว
ด้านนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะ Solution Providers for Everyone และองค์กรต้นแบบด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต ประกอบกับวิสัยทัศน์และความตั้งใจจริงในการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ลงทุนในธุรกิจไบโอพลาสติกตั้งแต่ปี 2554 เพื่อพัฒนาเม็ดพลาสติกชีวภาพที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ ใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันได้เป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มผู้ประกอบการบริการส่งอาหาร และยังเป็นอีกทางเลือกให้กับประชาชนที่ต้องการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง นอกจากนี้ GC ยังได้คิดค้น GC Compostable Label หรือ ฉลากยืนยันวัตถุดิบที่บ่งบอกว่าสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของผู้ประกอบการผลิตจากเม็ดพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพที่ GC Group ผลิตหรือรับรอง โดยสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ต้องผลิตภายใต้กระบวนการที่ GC Group รับรองเท่านั้น
“ ความร่วมมือนี้จะสร้างประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม การผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพซึ่งผลิตจากพืชเศรษฐกิจ ยังช่วยยกระดับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย เกิดการขับเคลื่อนนำพาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวอย่างสมบูรณ์ “ นายคงกระพัน กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |