หนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส (COVID-19) ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คือ บทบาทของภาคประชาชน (non-state actors) ตั้งแต่การให้ความร่วมมือ (cooperation) อย่างดีกับมาตรการภาครัฐในการควบคุมโรค และการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ร่วมใส่หน้ากาก ปิดออฟฟิศ กินร้อน ช้อนเรา อยู่บ้าน ล้างมือ ถือเจลแอลกฮอลล์ ไปจนถึงการเข้ามามีส่วนร่วม (participation) ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงเวลาสำคัญต่างๆ เช่น ร่วมจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่ขาดแคลนให้กับโรงพยาบาล ระดมอาหาร อุปกรณ์ป้องกันโรค และยาสามัญประจำบ้านเพื่อช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางรักษาระยะห่าง (social distancing) ในช่วงปิดเมือง เป็นต้น ตอนนี้ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วจึงเป็นจังหวะดีที่จะถอดบทเรียนความสำเร็จจากพลังพลเมืองเหล่านี้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการกลับมาของโควิด-19 ระลอกสอง รวมถึงภัยธรรมชาติอื่นๆ หรือแม้กระทั่งการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่สามารถเกิดขึ้นได้อีกทุกเมื่อ
ช่องว่างที่(รอ)พลเมืองร่วมเติม
ในอดีต เรามักจะได้เห็นพลังพลเมือง (active citizenship) ในสังคมไทยช่วงที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นครั้งแรกที่เกิดวิกฤตพร้อมกันทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ และสร้างผลกระทบต่อประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ เราเลยได้เห็นการขับเคลื่อนพลังมวลชนในหลายระดับ หลากประเภท และกระจายพื้นที่ ซึ่งทำให้เห็นช่องว่างของงานที่ต้องการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเข้มแข็ง 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การแก้ปัญหาในพื้นที่ การแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน และการเก็บตกกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งจากระบบและกลไกภาครัฐ
การรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติทุกครั้งเป็นงานที่ต้องอาศัยการเข้าถึงและความเข้าใจบริบทของพื้นที่ (local outreach and context-specific support) คนที่สามารถจัดการกับหน้างานได้ดีที่สุดจึงเป็นคนที่อยู่ในท้องถิ่นเสมอ การระดมทรัพยากรของคนในพื้นที่ ทั้งกำลังแรงที่ร่วมด้วยช่วยกันในชุมชน ไปจนถึงกำลังทรัพย์เพื่อจัดซื้อจัดหาของที่จำเป็นสำหรับคนในพื้นที่จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลสูงสุด เราเห็นตัวอย่างได้ชัดมากจากโควิด-19 ชุมชนที่รวมตัวกันได้เร็วและระดมทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือกัน สามารถควบคุมการระบาดและเอาตัวรอดร่วมกันทั้งชุมชนได้ดีกว่าชุมชนที่ต้องรอพึ่งพาการช่วยเหลือจากภาครัฐ อีกตัวอย่างที่เห็นชัดคือถุงยังชีพที่มีการแจกจ่ายให้ครอบครัวเดือดร้อน ถ้าเป็นถุงยังชีพที่คนในท้องถิ่นได้รับการจัดสรรเงินเพื่อทำและกระจายเอง จะมีของใช้และอาหารจำเป็นตามวัฒนธรรมท้องที่และไปถึงเร็วกว่าถุงยังชีพครอบจักรวาลจากส่วนกลางที่ตามมาตอนหลัง
ภาครัฐต่อให้มีความตั้งใจดีและความจริงจังในการแก้ปัญหา ก็จะติดข้อจำกัดในการจัดการกับสถานการณ์เร่งด่วนเสมอ ตั้งแต่การจัดสรรงบประมาณใหม่ การเบิกจ่ายงบฉุกเฉิน การคัดเลือกกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือและจัดลำดับก่อนหลัง ฯลฯ ซึ่งระเบียบ กระบวนการ และขั้นตอนเหล่านี้ทำให้ความช่วยเหลือจริงลงไปถึงประชาชนช้ากว่าความจำเป็นเร่งด่วนของสถานการณ์ 1 อาทิตย์ถึง 3 เดือนเป็นอย่างต่ำ การระดมทรัพยากรจากภาคประชาชนจึงตอบโจทย์ความต้องการในช่วงวิกฤตที่สุดได้ (timely response) งานที่ต้องอาศัยความเร็วในการแก้ปัญหา และความยืดหยุ่นในการทำงานจึงจำเป็นต้องมีความช่วยเหลือจากภาคประชาชน ซึ่งเห็นได้จากการระดมของและเงินเพื่อจัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนให้กับโรงพยาบาลในช่วงอาทิตย์ที่วิกฤตเร่งด่วนที่สุดของการระบาดระลอกหนึ่งก็เกิดจากการสนับสนุนและมีส่วนร่วมภาคประชาชน นอกจากนี้แล้ว ภาคประชาชนยังเป็นกำลังสำคัญในโควิด-19 รอบนี้ที่ช่วยช้อนผู้ตกหล่นในสังคมให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ซึ่งเห็นตัวอย่างได้ชัดมากกรณีชุมชนแออัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ผู้อยู่อาศัยส่วนหนึ่งเป็นประชากรพลัดถิ่นและแรงงานต่างชาติ ซึ่งจะไม่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์เลยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกลไกภาครัฐ
ธรรมาภิบาลความดี นำไปสู่การทำบุญที่ได้ “ผล”
การระดมความช่วยเหลือกันเองจากภาคประชาชนไม่ได้มีแต่ด้านบวกเสมอไป มีหลากหลายกรณีที่การขอรับบริจาคในช่วงวิกฤตโควิด-19 เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมไทย ทั้งเรื่องการระดมเงินบริจาคที่มากเกินความจำเป็นเพื่อช่วยคนหนึ่งคน ไปจนถึงการนำเงินบริจาคไปใช้ผิดประเภท ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ ทำให้การบริจาคเพื่อการกุศลที่มักจะถูกยกเว้นจากการตั้งคำถามเรื่องธรรมาภิบาลจากสังคมเพราะวัฒนธรรมไทยไม่คุ้นเคยกับการตั้งข้อสงสัยในความดี นำมาซึ่งข้อเรียกร้องจากประชาชน ที่ต้องการความโปร่งใส ความชัดเจน และความรับผิดชอบของเงินบริจาค เพื่อทำให้การทำดีในช่วงวิกฤตหวัง “ผล” ควบคุมสถานการณ์การระบาด และช่วยให้สังคมไทยเอาตัวรอดได้
3 คำถามสำคัญใน 3 ลำดับขั้นตอนการทำงานที่ถูกตั้งคำถามจากคนใจดีที่หวัง “ผล” และน่าจะกลายเป็นบรรทัดฐานกำหนดกรอบธรรมาภิบาลของการบริจาคและการทำโครงการเพื่อสังคมต่อไป ประกอบด้วย หนึ่ง ความโปร่งใสในการให้ข้อมูลเพื่อขอระดมทุน คือมีการแจ้งวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของการระดมทุน ในกรณีที่ดีที่สุดที่เห็นช่วงโควิด-19 คือมีการระบุรายละเอียดว่าต้องการจะทำอะไร (what) เพื่อช่วยใคร (who) ในพื้นที่ไหน (where) เมื่อไหร่ (when) และอย่างไร (how) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในโครงการที่จะจัดซื้ออุปกรณ์ และเครื่องมือจำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
สอง ความโปร่งใสในการแสดงตัวเลขยอดรวมเงินบริจาคซึ่งเป็นตัวยืนยันความบริสุทธิ์ใจของผู้รับบริจาค และเป็นข้อมูลให้ผู้บริจาคได้ทราบว่าโครงการนั้นๆได้เงินเท่าไหร่แล้วจากเป้าหมายเงินที่ต้องการนำไปใช้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ และสาม ความโปร่งใสในการชี้แจงรายละเอียดการใช้เงินบริจาค ซึ่งกลุ่มพลเมืองที่ระดมทุนช่วงโควิด-19 มักจะใช้การแจ้งยอดเงินบริจาคอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการอัพเดทความก้าวหน้าของการทำงานผ่านช่องทางการสื่อสาร social media ของกลุ่ม ตั้งแต่การอัพเดทตัวเลข และ/หรือแสดงภาพสมุดบัญชีที่รับบริจาค ไปจนถึงแสดงหลักฐานการโอนเงินเพื่อทำโครงการ และอีกหลายๆกลุ่มเลือกการระดมทุนผ่าน fundraising platform เช่น เทใจดอทคอม เพื่อให้มีบุคคลที่สาม (third party) ช่วยบริหารจัดการการรับบริจาค และร่วมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หลายโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและประชาชนที่เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจหลังการปิดเมือง มักจะเป็นการระบุเป้าหมายแบบกว้างในตอนต้น แล้วให้ข้อมูลรายละเอียดการนำเงินไปใช้กับผู้บริจาคตอนดำเนินโครงการแทน
แก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน
ถึงพลังพลเมืองจะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเอาตัวรอดจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงช่วยบรรเทาหลายปัญหาในอดีต อีกช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะทำให้มีการแก้ปัญหาเหล่านี้ในเชิงระบบได้อย่างยั่งยืน คือการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกลไกการทำงานของภาครัฐที่เป็นข้อจำกัดในการรับมือกับปัญหาเร่งด่วนแบบนี้ เช่น การกระจายอำนาจและงบประมาณไปยังท้องถิ่นแบบมีกรอบธรรมาภิบาล เป็นต้น รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบ การใช้จ่ายงบประมาณและการทำงานของภาครัฐเช่นเดียวกัน
คอลัมน์“เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ”
เอด้า จิรไพศาลกุล
มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |