จบข่าวรัฐบาลแห่งชาติ หึ่งเขยแม้วลงการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

 “ชวน” ชี้รัฐบาลแห่งชาติไม่มีในรัฐธรรมนูญ “หญิงหน่อย” เปิดปากครั้งแรก เผยเหตุลาออกเพื่อให้พรรคปรับโครงสร้าง ยันไม่กลับมารับเก้าอี้บริหารอีก พร้อมตอกฝาโลงเลิกฝันสังฆกรรมตั้ง รบ.แห่งชาติ หึ่ง! ดึง “ชัชชาติ” กลับ พท.หวังปั้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ พ่วงดัน “ลูกเขยแม้ว” ลงสนามการเมือง “ประยุทธ์” ส่งสัญญาณแก้รัฐธรรมนูญ ไฟเขียวให้โหวตรับญัตติแก้ของพรรคร่วมและฝ่ายค้านฉบับไม่แตะหมวด 1 และ 2

เมื่อวันอังคารที่ 29 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกระแสข่าวว่านักการเมือง 2 ป. สั่งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยตั้งพรรคการเมืองสำรองไว้ โดยเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้ยินถึงกับขมวดคิ้วแสดงสีหน้า ก่อนย้อนถามกลับว่า “ป.ไหน” เมื่อผู้สื่อข่าวระบุว่าเป็น ป.ประยุทธ์กับ ป.ป๊อก พล.อ.ประยุทธ์ตัดบทตอบเสียงเข้มว่า “สวัสดี” พร้อมเดินออกจากโพเดียมการให้สัมภาษณ์ทันที
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์บ่นว่า “แค่พรรคเดียวก็ปวดหัวแย่อยู่แล้ว”
    ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลแห่งชาติที่ยังคงมีต่อเนื่อง ว่าที่ไหน คุณต้องไปถามกับคนที่ให้ข่าว มาถามตนเองไม่ได้ให้ข่าว จะไปรู้ได้อย่างไร
เมื่อถามย้ำว่า อนาคตข้างหน้ามีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรเมินหน้าหนี และไม่ตอบคำถามดังกล่าว พร้อมเดินออกจากวงผู้สื่อข่าวทันที
    ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวในประเด็นนี้ว่า ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็ไม่รู้นะ ต้องฟังจาก พล.อ.ประยุทธ์
    เมื่อถามว่าสถานการณ์ขณะนี้ควรมีรัฐบาลแห่งชาติเข้ามาช่วยกู้วิกฤติเศรษฐกิจและบ้านเมืองหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ต้องคุยกันหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ต้องพูดคุยกัน แต่มองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะยังไม่เห็นมีการคุยอะไรกัน ตอนนี้ต่างคนต่างทำงาน ซึ่งความจริงบ้านเมืองเราควรหันหน้าพูดคุยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเดิน ต้องคุยกัน
    ถามอีกว่า ในฐานะที่เคยเป็นอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) ยังสามารถพูดคุยกับคนในพรรค พท.ได้อยู่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสตอบว่า ส่วนใหญ่ก็เป็นพรรค พท.ทั้งนั้นที่เคยอยู่ด้วยกันมา ส่วนกรณีพรรค พท.ปรับโครงสร้างใหม่แล้วจะทำให้การทำงานในสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการทำงานกับรัฐบาลราบรื่นหรือไม่นั้น ยังไม่เห็นเลยว่าใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค แต่ปกติตนเองกับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตหัวหน้าพรรค พท. ก็พูดคุยกันอยู่แล้ว ถ้าทุกฝ่ายเห็นแก่ประเทศชาติก็ต้องพูดคุยกัน ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี
    เมื่อถามถึงกรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก พูดคุยกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ซึ่งเคยออกมาพูดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ถือเป็นสัญญาณอะไรหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ไม่ทราบในเรื่องนี้เลย เพราะ 4-5 วันที่ผ่านมาไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ เลย
    ส่วนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปฏิเสธแสดงความเห็นถึงเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ โดยระบุว่า ไม่ขอวิจารณ์ เพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะแสดงความคิดเห็น ไม่เกี่ยวกับสภา เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร แต่ในรัฐธรรมนูญไม่มีเรื่องของรัฐบาลแห่งชาติ ดังนั้นหากจะตั้งก็ถือเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร
เลิกฝันรัฐบาลแห่งชาติ
ด้านความความเคลื่อนไหวในการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค พท.นั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการลาออกจากตำแหน่งเป็นครั้งแรกว่า เพราะจะมีการปรับโครงสร้าง จึงลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้ปรับโครงสร้าง ไม่ได้ลาออกจากสมาชิกพรรค โดยพร้อมยืนหยัดทำงานเพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ยังจะร่วมต่อสู้กับประชาชนเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนจะกลับมารับตำแหน่งอีกครั้งหรือไม่ เมื่อปรับโครงสร้างจะมีคนเข้ามาช่วยทำงานอีก การเป็นสมาชิกพรรคยังเป็นอยู่ แต่ตำแหน่งบริหารคงไม่ได้รับตำแหน่งแล้ว
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวเรื่องการลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า เรื่องของทีม กทม. เป็นสิ่งที่ตนเองรับผิดชอบ จะช่วยในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำ ขณะนี้กำลังแสวงหาทีมคนอยากเปลี่ยน กทม. ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ ทีมงาน ส.ก. ทั้งนี้คงไม่ลงสมัครเอง แต่จะทำหน้าที่ในการสรรหา
ถามถึงกระแสข่าวเรื่องจะไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ คุณหญิงสุดารัตน์ตอบทันทีว่า “โอ๊ย ว่าไปเรื่อย”
ถามถึงกระแสคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเข้ามาคุมพรรค จึงตัดสินใจลดบทบาทหรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ไม่เกี่ยว ยังไม่ทราบว่าเป็นข้อเท็จจริงอย่างไร เป็นเพียงกระแสข่าว แต่ถ้าคุณหญิงพจมานมาไม่ใช่เป็นประเด็นปัญหา เพราะหากมาก็น่าจะดีด้วยซ้ำไป ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งนี้ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร
เมื่อถามว่าการลาออกเพื่อเข้าร่วมรัฐบาลแห่งชาติ คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ตั้งแต่ตอนที่เป็นประธานยุทธศาสตร์เราพูดหลายครั้งว่าเรื่องรัฐบาลแห่งชาติไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เราไม่ไปร่วมสังฆกรรมแน่นอน ที่ลาออกก็ไปร่วมรัฐบาลไม่ได้ และพาคนไปร่วมไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็น ส.ส.หรือเป็นอะไร สมัยที่เป็นประธานยุทธศาสตร์ก็เกิดข่าวลือ ซึ่งการมีรัฐบาลแห่งชาติก็เป็นเพียงการซื้อเวลาต่อเวลาให้ผู้มีอำนาจ แต่ไม่ได้ต่ออายุของประชาชน เราจึงเห็นว่าไม่มีประโยชน์ ให้ลืมไปเลยในเรื่องนี้
รายงานข่าวจากพรรค พท.แจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. แกนนำคนสำคัญของพรรค อาทิ นายสมพงษ์, พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ อดีตหัวหน้าพรรค, นายชูศักดิ์ ศิรินิล รักษาการหัวหน้าพรรค, นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรค และแกนนำพรรคอีกจำนวนหนึ่งได้ร่วมหารือที่ห้องประชุมชั้น 4 ที่ทำการพรรคเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเสนอแนะรูปแบบคณะ กก.บห.พรรค และคณะทำงานด้านอื่นๆ ก่อนประชุมใหญ่เพื่อเลือก กก.บห.ชุดใหม่ วันที่ 1 ต.ค. โดยรูปแบบโครงสร้าง กก.บห.พรรคจะมีเพียง 20-24 คน ในรูปแบบตัดไขมันส่วนเกิน รวมถึงลดโควตาสัดส่วนตำแหน่งที่ไม่จำเป็นลง เช่น ตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเดิมที่มีมากถึง 15 คน แต่ในรูปแบบใหม่จะคงเหลือตามโควตาภาคเหนือ กลาง อีสาน กทม. และตัวแทนมุ้งเป็นหลัก ตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคจะลดจำนวนไม่มีถึง 7 คนเหมือนอดีต
ดึง “ชัชชาติ” กลับเพื่อไทย
มีรายงานว่า หลังจากได้ กก.บห.ชุดใหม่แล้วจะตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนพรรคแยกย่อยออกอีก 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านงานสภาผู้แทนราษฎร ด้านข่าวกรอง และด้านการบริหารพื้นที่ ซึ่งมีการติดต่อทาบทามหัวหน้าคณะบางคนที่เป็นสมาชิกพรรคไว้บ้างแล้ว นอกจากนี้หลังปรับปรุงโครงสร้างใหม่คณะทำงานที่เคยมีความคิดเห็นระหองระแหง เช่น กลุ่มแคร์, กลุ่มไทยรักษาชาติ, กลุ่มสายตรงจันทร์ส่องหล้า จะกลับมาช่วยงานที่พรรคทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนายภูมิธรรม, นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นต้น ขณะที่กลุ่มที่มีความใกล้ชิดขั้วอำนาจเก่า เหลืออัตราส่วนในกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น
รายงานว่าในแผนการดำเนินงานยังมีความพยายามจากแกนนำพรรคบางคนจะดึงตัวนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวนายทักษิณ เพื่อนำมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า และอาจเป็นหัวหน้าพรรคในอนาคตได้ แม้ก่อนหน้านี้นายชัชชาติประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ แต่ล่าสุดชัดเจนแล้วว่าจะถอนตัว เพื่อเปิดทางสะดวกให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ที่จะมาลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เช่นกัน ด้วยสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นมาตั้งแต่รุ่นพ่อ คือ พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีต ผบช.น. โดยมีการดีลประสานงานจาก พล.อ.ประวิตร ซึ่งเข้าทางพรรคพอดีที่จะดึงตัวกลับไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ นอกจากนี้ยังมีสัญญาณจากนายทักษิณ จะให้ลูกเขยนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ สามี น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาวนายทักษิณ เปิดหน้าลงเล่นการเมือง เป็นแคนดิเดตนายกฯ ขายภาพคนรุ่นใหม่อีกคนหนึ่งด้วย
สำหรับความเคลื่อนไหวของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายชวนกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ จำนวน 6 ฉบับ ในวันที่ 30 ก.ย. เป็นนัดแรก ซึ่งอาจทำงานไม่ทันตามกรอบที่กำหนดไว้ 30 วัน ว่า สามารถขอขยายเวลาได้ และการที่ไม่มี ส.ส.ฝ่ายค้านร่วมเป็น กมธ.ก็ไม่ถือเป็นการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม เพราะในอดีตเคยมีกรณีที่ฝ่ายค้านไม่ขอร่วมพิจารณาแล้ว
นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับใดตกแม้แต่ฉบับเดียว โดยเฉพาะญัตติร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์อยู่ระหว่างตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ ที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน ขณะนี้รัฐสภาเร่งรัดการทำงานให้เสร็จโดยเร็วที่สุด ยังบอกไม่ได้ว่าร่างฉบับไอลอว์จะนำกลับเข้าสู่สภาได้เมื่อไหร่
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเรื่องนี้ว่า ต้องรอคณะ กมธ. ศึกษา 30 วันตามที่การประชุมวาระแรกมีมติ ซึ่งเมื่อมีความเห็นอย่างไรก็สรุปออกมา อันนี้จะเป็นการทำให้ทุกอย่างเกิดการพิจารณาร่วมกันของสองสภา ซึ่งไปกำกับดูแลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สั่งไม่ได้ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาทุกคนได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างอิสระ เราก็ยึดมั่นในผลประโยชน์ชาติ ประชาชน มันก็มีหลายร่างด้วยกัน ซึ่งก็แล้วแต่ กมธ. ก็ขอให้ทุกคนมองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักก็แล้วกันว่าอะไรมันได้หรือไม่ได้ สิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของคณะ กมธ.ที่ตั้งขึ้นมา
ไฟเขียวโหวตแก้ รธน.
    มีรายงานว่า ก่อนการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ได้เชิญแกนนำรัฐบาล หัวหน้าพรรค และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปนั่งดื่มกาแฟและหารือ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ทำให้การประชุม ครม.ต้องเริ่มขึ้นล่าช้าไปเล็กน้อย โดยมีการหารือหลายเรื่อง รวมถึงสอบถามความคืบหน้างานในความรับผิดชอบแต่ละพรรค อาทิ เรื่องงบประมาณ, ความคืบหน้าการผลิตวัคซีนโควิด-19 และเรื่องไทยแลนด์ลองสเตย์, การแก้ปัญหาไฟป่า รวมถึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้กำชับพรรคร่วมรัฐบาลให้รับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ญัตติที่มีหลักการเดียวกัน คือ ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลกับญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ให้แก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2
    ขณะที่ในช่วงท้ายการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ยังได้กล่าวขอบคุณพรรคร่วมรัฐบาลที่ทำงานในสภาโดยที่ไม่มีความขัดแย้ง ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐสภาไป
    นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงความคืบหน้าการยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า กฤษฎีกากำลังเร่งดำเนินการ ซึ่งคืบหน้าไปมาก เชื่อว่าจะสามารถเสนอ ครม.และนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ในวันที่ 1 พ.ย. เมื่อเปิดสมัยประชุมสภา
    นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ว่าญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้านคงถูกตีตก หรือคว่ำญัตตินี้ในที่ประชุมรัฐสภาในสมัยประชุมหน้า ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไม่ได้เลย แม้ ส.ว.บางส่วนอภิปรายว่าเห็นด้วยที่จะแก้ แต่พอลงมติเสียง ส.ว.ไม่แตกแถว อาจมีผู้มีอำนาจสั่งการให้ ส.ว.ลงมติไปในทิศทางเดียวกัน สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการผู้แทนที่มาจากประชาชน ต้องการได้ผู้แทนที่มาจากการแต่งตั้ง ดังนั้นผลที่ตามมาคือประเทศก็จะวุ่นวายต่อไปไม่รู้จบ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"