ผมมีโอกาสคุยกับคุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่หรือ DD การบินไทย ที่เป็นแกนสำคัญของการบริหารแผนฟื้นฟูเมื่อเร็วๆ นี้ มีรายละเอียดที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟัง
เมื่อไตรมาสที่ 1 ของปีนี้การบินไทยออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีกองทุนวายุภักษ์เข้ามาลงทุนและรัฐบาลถือหุ้นน้อยกว่า 50% แล้ว
หลังจากนั้นมีการยื่นขอเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการเมื่อ 26 พฤษภาคม และต่อมาก็มี Automatic Stay นั่นก็คือไม่จ่ายเงิน ไม่จ่ายหนี้
หลังจากนั้นการบินไทยก็ได้ทำเอกสารเพื่อยื่นต่อศาล ศาลก็นัดให้มารับฟังจะให้การบินไทยทำแผนฟื้นฟูหรือไม่เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม
มีผู้ได้ยื่นคัดค้านประมาณ 1-2% หรือ 16 คน เมื่อวันที่ 20-25 สิงหาคม
วันที่ 14 กันยายน ศาลอ่านคำพิพากษา
ศาลได้รับฟังผู้คัดค้าน 16 ราย ตอนหลังถอนไป 4 ราย
ประเด็นที่คัดค้านมี 3 เรื่องคือ ความกังวลเรื่องตั๋วเครื่องบิน ซื้อมาแล้วจะใช้ได้หรือไม่ จะขอคืนได้หรือไม่
อีกเรื่องหนึ่งคือ แต้มต่างๆ ของ Royal Orchid Plus จะใช้ได้หรือไม่
"เราก็ตอบได้หมดเพราะเขาคือลูกค้า..."
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ เรื่องผู้ทำแผน โดยเฉพาะบริษัท Ernst & Young (EY) มีความสามารถในการทำแผนฟื้นฟูหรือไม่อย่างไร
"ก็เป็นความเข้าใจผิด เพราะอาจได้ข้อมูลไม่ครบ เพราะ EY มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทที่มีใบอนุญาตให้มาทำการฟื้นฟูได้ตามที่ศาลล้มละลายกลางได้ให้ไว้
อีกประการหนึ่ง ถึงแม้ EY จะไม่มีความสามารถในการฟื้นฟูธุรกิจการบิน แต่ว่าเราไม่ได้จ้างเขามาฟื้นฟูธุรกิจการบิน เราจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการบินมาช่วยด้วยส่วนหนึ่ง...และ EY ก็ดูแลด้านบัญชีการเงิน และเรื่องการเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆ...การวางแผนการบินนั้นเราจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการบินมาทำให้..."
ศาลได้อนุมัติว่าการบินไทยมี "หนี้สินล้นพ้นตัว" จริง
และมีแนวทางที่จะฟื้นฟูได้ถึงแม้จะยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก
และ 6 คนที่เป็นลูกหนี้เสนอชื่อมากับ EY ถือว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มีความรู้ความสามารถที่จะทำแผนฟื้นฟูได้
หลังจากนี้ไปกรมบังคับคดีจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เจ้าหนี้มาลงทะเบียน และสามารถทำได้แล้วในระบบ e-Filing หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 1 เดือน
"สมมติว่าประกาศในราชกิจจานุเบกษา 1 ตุลา เจ้าหนี้ทั้งหลายจะมาแจ้งได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 1 พฤศจิกายน หลังจากนั้นก็จะมีการตรวจสอบว่าเป็นหนี้จริงหรือไม่ต่างๆ ...ทีนี้ก็จะมีการเจรจาทำแผนต่างๆ...."
จากนั้นการบินไทยก็ต้องยื่นแผนฟื้นฟูกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ก้าวต่อไปก็จะมีการโหวตว่าจะรับแผนหรือไม่...คงจะประมาณไตรมาส 4 หรือต้นไตรมาส 1 ของปีหน้า
เมื่อโหวตแผนแล้วก็จะกำหนดว่าใครจะเป็นผู้บริหารแผนต่อไป
ผู้มีสิทธิ์โหวตคือเจ้าหนี้ ซึ่งต้องพิจารณาว่าแผนที่เสนอนั้นน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด จะมีโอกาสรอดหรือไม่อย่างไร โครงสร้างบริษัท, พนักงาน, ทุนและหนี้เป็นอย่างไร
พูดง่ายๆ คือเจ้าหนี้จะดูว่าตามแผนที่เสนอนั้น การบินไทยจะมีโอกาสรอดทางธุรกิจหรือไม่อย่างไร
ตัวเลขหนี้ของการบินไทยวันนี้สามารถตรวจสอบได้ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ตามเอกสารที่ศาลได้อ่านคำพิพากษานั้น การบินไทยมีหนี้สินรวม (ทั้งหนี้สินหมุนเวียนและหนี้สินไม่หมุนเวียน) อยู่ที่ประมาณ 350,000 ล้านบาท
มีทรัพย์สินรวมประมาณ 330,000 ล้านบาท
เพราะฉะนั้นมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินอยู่ประมาณ 17,000-18,000 ล้านบาท
หนี้สินมีอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่เป็นหนี้เช่าเครื่องบิน, หนี้หุ้นกู้, หนี้สถาบันการเงิน
สามรายการนี้เป็นหนี้ประมาณ 70-80% ของหนี้ทั้งหมด
นอกจากนี้เป็นหนี้การค้าและรายย่อยอื่นๆ เช่น ค่าจ้างแรงงานและการซื้อของรายการต่างๆ เช่นน้ำมัน เป็นต้น
คำถามคือ คนที่ถือหุ้นกู้ของการบินไทยวันนี้ยังมีสิทธิ์ได้คืน 100% ไหม
"คำถามนี้จะตอบได้ต้องหลังเขียนแผนเสร็จเรียบร้อย และอยู่ที่ผลการเจรจากับเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ ซึ่งเราก็ต้องยื่นศาล..."
"แต่เราจะเจรจา เราจะทำทุกอย่างเพื่อดูแลทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม แต่ว่าทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นพนักงาน, กรรมการ, ผู้บริหาร หรือเจ้าหนี้ต่างๆ ก็อาจจะต้องเสียสละ...ถ้ายังรักการบินไทย ช่วยกันให้การบินไทยอยู่รอดได้..." คุณชาญศิลป์เล่า
พรุ่งนี้: การบินไทยกับเงินสดที่เหลือ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |