"คลัง" ลุ้นไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น หลังรัฐบาลคลายล็อกหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้า แจง ต.ค.นี้ลุยปรับประมาณการจีดีพี 2563 ใหม่อีกครั้ง ผู้ว่าฯ ธปท.จี้เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจังก่อนเผชิญภาวะถดถอย
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า คลังจะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2563 ใหม่อีกครั้งในเดือน ต.ค.63 โดยคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2563 ว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าในช่วงไตรมาส 2/2563 ที่ตัวเลขจีดีพีขยายตัวติดลบสูงถึง 12.2% เนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมามีการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"ไตรมาสที่ 3/2563 น่าจะฟื้นตัวได้ดีกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ส่วนจะเป็นที่เท่าไหร่ยังต้องรอดูตัวเลขในเดือน ต.ค.นี้อีกครั้ง แต่ภาพรวมในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.63 ถือว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้นตามลำดับ" นายวุฒิพงศ์กล่าว
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค.63 ยังคงชะลอตัว แต่มีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ซึ่งปรับตัวดีขึ้นที่ระดับ 4.3% ส่วนรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ 9.2% ต่อปี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 51 หลังจากรัฐบาลดำเนินมาตรการผ่อนคลายการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น รวมถึงผลจากมาตรการเยียวยาในช่วงก่อนหน้าก็ช่วยให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนการส่งออกสินค้าติดลบ 7.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน 9 ประเทศ สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากประเทศคู่ค้ามีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาคการท่องเที่ยวขณะนี้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตั้งแต่ เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากจำนวนผู้ไปเยี่ยมเยือนชาวไทยที่หดตัวในอัตราชะลอลงที่ติดลบ 32.4% ต่อปี
อย่างไรก็ดี ในส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ 0.5% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.3% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 47% ต่อจีดีพี ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน สิงหาคม 2563 ที่ระดับ 254.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติด้านสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบมาถึงการถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งประเทศไทยถือว่าได้รับผลกระทบจากการถดถอยของเศรษฐกิจค่อนข้างมาก
ปัจจัยสำคัญที่ยังคงเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย ในการเผชิญกับความท้าทายของวิกฤติในครั้งนี้คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ ที่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนให้เห็นผลจริงอย่างเป็นรูปธรรมออกมาชัดเจน แม้ว่าจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ออกมาจนตกผลึกแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดผลจริงขึ้นมา และหากปัญหาที่มาจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคงไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนใหม่นั้น จะส่งผลกระทบต่อความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้
"เราไม่มีทางเลือก นอกจากเราต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เห็นผลออกมาชัดเจน ในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลง และซัพพลายส่วนเกินที่สูงขึ้น เราจะทำอย่างไรในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของเรา นำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์และเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้ได้มากที่สุด นำพาเศรษฐกิจไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง เกิดการโยกย้ายแรงงานผลิตภาพต่ำไปสู่ผลิตภาพสูง ลดการพึ่งพิงเศรษฐกิจประเทศใดประเทศหนึ่ง"
นายวิรไทกล่าวว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องลงมือทำ ไม่ใช่เวลาหาแนวคิดออกมาเพิ่มเติมแล้ว เพราะถ้าไม่เริ่มทำให้เห็นผลจริงเศรษฐกิจไทยก็จะถดถอยไปเรื่อยๆ และกระทบความเป็นอยู่ของคนไทยในประเทศในระยะยาว ตอนนี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันกำหนดทิศทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยออกมาอย่างชัดเจน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีความยั่งยืนในระยะยาวนั้น จะต้องมองถึงการสร้างรากฐานในระยะยาวที่ยั่งยืน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การเพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 2.การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้เศรษฐกิจไทยและประชาชน ทำให้สามารถรองรับกับความไม่แน่นอน ความผันผวนของเศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพิงเศรษฐกิจประเทศใดประเทศหนึ่ง 3.การกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในสังคมไทย
โดยปัญหาที่อยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่อยู่มาหลายทศวรรษ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีข้อจำกัดในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นออกมาทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค โดยด้านความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระดับจุลภาค จะเห็นได้จากความสามารถของแรงงานทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่ยังมีผลิตภาพต่ำ ขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้และการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการทำงาน ทำให้ไม่เกิดการโยกย้ายแรงงานจากผลิตภาพต่ำไปสู่แรงงานที่มีผลิตภาพสูงมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้แรงงานไทยขาดทักษะ ความรู้ความสามารถที่ถูกยกระดับขึ้น ส่งผลให้เสียโอกาสในด้านการทำงานไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |