วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคมนี้ คือวันที่ถูกเคาะออกมาจากที่ประชุมรักษาการกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้วันที่ 1 ต.ค. คือวันประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคเพื่อไทย เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่ ที่ถูกมองว่าเป็นการรีเซตโครงสร้างอำนาจของพรรคเพื่อไทยใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน
แนววิเคราะห์การเมืองกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในพรรคเพื่อไทย ทั้งการลาออกจากประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จนนำมาสู่การจัดทัพใหม่ของเพื่อไทย ที่กำลังเกิดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม พบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในพรรคเพื่อไทย แวดวงการเมืองต่างให้ความสนใจและวิเคราะห์มูลเหตุ-มองสิ่งที่เกิดขึ้น โดยตั้งข้อสันนิษฐานทางการเมือง เชื่อมโยงไปกับการเมืองหลายบริบท เช่น การเชื่อมโยงไปถึง ภาพที่สื่อ สัญญะทางการเมือง ของ "ครอบครัวชินวัตร" ในวันที่มี หญิงอ้อ-คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เป็นผู้นำ ใส่เสื้อเหลืองทั้งครอบครัว จนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วภายในพรรคเพื่อไทย
ทั้งที่เดิมมีข่าวว่า ทักษิณ ชินวัตร และแกนนำพรรคเพื่อไทย คุยกันไว้ว่า จะมีการปรับโครงสร้างใหม่ของเพื่อไทยเพื่อกระชับอำนาจภายในพรรคเพื่อไทย ตลอดจนเพื่อแก้ปัญหาความไม่ฟังก์ชั่นทางการเมือง ที่เกิดขึ้นมาตลอดของกรรมการบริหารพรรคชุดที่แล้วกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่แย่งซีนการทำงานกันตลอดร่วม 1 ปีเต็ม จนทำให้การเดินทางทางการเมืองของเพื่อไทยระยะหลังเกิดปัญหาหลายต่อหลายครั้ง โดยมีข่าวว่าเดิม ทักษิณ มองไว้ว่าน่าจะปรับทัพใหม่ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ก่อนเปิดสภาฯ ต้นเดือน พ.ย. แต่แล้วก็ต้องมาทำให้เร็วขึ้น หลังความไม่ลงตัวหลายอย่างในเพื่อไทย สถานการณ์ไม่ดีขึ้น เลยชิงปรับเร็ว โดยที่ก็ไม่ได้มีหลักประกันว่า การปรับทัพรีเซตแผงอำนาจใหม่ในพรรคเพื่อไทยรอบนี้ทุกอย่างจะดีขึ้น
กระนั้นคนในพรรคเพื่อไทยจำนวนมากก็มองว่าการปรับทัพอำนาจภายในพรรครอบนี้ ยังไงก็ยังดีกว่าที่เพื่อไทยจะไม่ปรับ-ขยับอะไรแล้ว ปล่อยให้ปัญหาเดิมๆ ภายในพรรคเพื่อไทยไม่ถูกแก้ไข คนในพรรคเพื่อไทยจึงมั่นใจว่า ปรับรอบนี้อย่างน้อยหลายอย่างน่าจะดีขึ้น โดยเฉพาะหลังเห็นสัญญาณการเมืองบางอย่างว่ารอบนี้ "ทักษิณ-ครอบครัวชินวัตร" น่าจะกลับเข้ามามีบทบาทในพรรคเพื่อไทยมากขึ้นกว่าช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อันเป็น 1 ปีที่เพื่อไทยถูกมองว่ามีบทบาทน้อยในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้าน หลายจังหวะกลายเป็นตัวรองของพรรคก้าวไกล ที่มี ส.ส.น้อยกว่าเสียอีก ซึ่งแม้หากคนตระกูลชินวัตรจะไม่ได้เข้ามามีตำแหน่งในพรรค แต่หากมีแอ็กชั่นบางอย่างในทางที่ทำให้คนในพรรคเพื่อไทยเห็นว่า กลับเข้ามาสนใจความเป็นไปของพรรค-และของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยมากขึ้นแล้ว ตลอดจน อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยรุ่นบุกเบิกตั้งพรรคไทยรักไทยมากับทักษิณ ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองสูงกลับเข้ามามีบทบาทในพรรคเพื่อไทยมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ในทางการเมือง ถ้าคนเพื่อไทยเห็นสัญญาณแบบนี้ มันก็สร้างความฮึกเหิมให้กับ ส.ส.เพื่อไทยและคนในพรรคเพื่อไทยได้แน่
กระแสข่าวการจัดทัพใหม่ของเพื่อไทยออกมาหลายระลอก บ้างก็ว่าปรับทัพรอบนี้ อาจไม่มี คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่เป็นกรรมการชุดเดิมที่สุดารัตน์เคยเป็นประธานและมีบทบาททางการเมืองในพรรคค่อนข้างสูง อีกทั้งอดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยที่รู้กันดีว่า ไม่กินเส้นกับ เจ๊หน่อย จนหลายคนเฟดตัวเองออกไป แล้วมาวันนี้ หลายคนกำลังกลับเข้ามามีบทบาทในพรรคเพื่อไทยอีกรอบ ที่หากเป็นแนวนี้ มันก็คือการที่ สุดารัตน์ โดนลดบทบาท หลายคนจึงเฝ้าติดตามกันว่า เมื่อพื้นที่ยืนในพรรคเพื่อไทยของ สุดารัตน์กับลูกทีม เหลือน้อยลง แล้ว สุดารัตน์ จะเอาอย่างไร จะอยู่เพื่อไทยต่อไป หรือจำต้องไปสร้างบ้านหลังใหม่ของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันหลังจากนี้ ยามเมื่อ การจัดทัพรอบนี้ของเพื่อไทยเสร็จสิ้นลงแล้ว
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จะถูกผลักดันให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยสมัยที่ 2 ส่วนเลขาธิการพรรครอบนี้อาจถึงคิวต้องเป็น โควตาของภาคอีสาน ที่ถึงตอนนี้มีตัวเต็งหลายชื่อ แต่ระยะหลัง ข่าวบางกระแสประเมินว่า "ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา-อดีต รมช.คมนาคม" ได้ลุ้นพอสมควร ขณะที่กรรมการบริหารพรรคตำแหน่งอื่นๆ เช่น รองหัวหน้าพรรค-รองเลขาธิการพรรค ก็จะใช้สูตรกระจายไปตามสัดส่วนตัวแทนของแต่ละภาค เพื่อแชร์อำนาจกันไป
ที่น่าสนใจก็คือ ปรับทัพเพื่อไทยรอบนี้ ข่าวบางกระแสบอกว่า ให้จับตา อาจจะมีคณะกรรมการบริหารที่มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจทางการเมืองของพรรคอย่างไม่เป็นทางการ แต่คนในพรรครับรู้ว่ามีคณะกรรมการดังกล่าวอยู่ในพรรค ซึ่งที่ผ่านมาคนในพรรคเพื่อไทยรับรู้กันดีว่า เวลามีการตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญๆ แกนนำพรรคตัวจริงจะมีการไปประชุมกันที่ตึกชินวัตร 3 ริมถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นที่ทำการเดิมของพรรคไทยรักไทย คนที่จะไปร่วมประชุมที่นี่ได้ ต้องระดับ "บิ๊กๆ" ในพรรคเท่านั้น รวมถึงคนในตระกูลชินวัตร บางนัดที่สำคัญก็จะมาร่วมประชุมด้วย
ก็มีข่าวว่า ปรับทัพรอบนี้ก็จะมีการฟอร์มทีม “คณะกรรมการตัดสินใจทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย” ที่คล้ายๆ ซูเปอร์บอร์ด ขึ้นมาแบบไม่เป็นทางการ แต่คนในพรรครับรู้ว่ามีอยู่จริง โดยอาจให้ประชุมกันเดือนละ 1-2 ครั้ง และอาจได้เห็น คุณหญิงพจมาน มาร่วมวงหารือนั่งหัวโต๊ะให้ฮือฮากันเล่น โดยอาจมีอดีตขุนพลการเมืองคู่ใจทักษิณ ที่ไปตั้งกลุ่ม CARE แต่ล้มเหลว ไม่ได้รับการขานรับ ทั้ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, ภูมิธรรม เวชยชัย รวมถึงบางคนที่เคยไปร่วมตั้งพรรคไทยรักษาชาติ อย่าง พิชัย นริพทะพันธุ์ ทั้งหมดก็มีข่าวว่ากำลังถูกดึงให้กลับมาช่วยงานเพื่อไทยมากขึ้น หลังที่ผ่านมาเฟดตัวเองออกไป ท่ามกลางข่าวว่าเพราะบางคนทำงานกับ สุดารัตน์ ไม่ได้
แต่จังหวะแรก รอผลการประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย 1 ต.ค.นี้ก่อนว่า จะมีอะไรน่าตื่นเต้นหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |