ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งออกมาในยุค คสช. ที่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ นั่นก็คือ "พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.๒๕๖๒" ซึ่งกฎหมายดังกล่าวที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยสาระสำคัญที่คนพูดถึงกันมากในแวดวงนิติศาสตร์-นักกฎหมายจะอยู่ในสองมาตราหลัก คือ มาตรา 5 และมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว
โดยมาตรา 5 ได้บัญญัติไว้ว่า "หน่วยงานของรัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน"
ส่วนมาตรา 6 บัญญัติว่า "ในการที่ศาลยุติธรรมจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีโทษอาญา โทษทางปกครองหรือสภาพบังคับที่เป็นผลร้ายอื่นแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลและศาลเห็นว่าเป็นเหตุผลอันสมควรว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ไม่สอดคล้องกับมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมิใช่กรณีที่บทบัญญัตินั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อประธานศาลฎีกาเพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย"
อำนาจดังกล่าว กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเฉพาะแค่ศาลฎีกาเท่านั้น แต่ยังให้อำนาจลักษณะเดียวกันกับที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด พิจารณาในคดีที่มีโทษปรับทางปกครอง และคดีที่เกี่ยวกับการพิจารณาของศาลทหาร ก็ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ตุลาการพระธรรมนูญในศาลทหารสูงสุด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายใหม่ที่ไม่เคยมีการใช้กันมาก่อนในประเทศไทย ในส่วนของ ศาลฎีกา นั้น พบว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา คือ 15 กันยายน 2563 ได้เผยแพร่ "ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินการกรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีหมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ พ.ศ.๒๕๖๓" เพื่อรองรับการใช้อำนาจดังกล่าวของศาลยุติธรรม
เพื่อให้เข้าใจเรื่องดังกล่าวแบบง่ายๆ ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ไทยโพสต์" เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงเรื่อง "อำนาจพิเศษ" ดังกล่าว ว่า ที่ผ่านมาศาลเราพยายามกำหนดบทบาทของเราในการลดการบังคับใช้กฎหมายที่ไปสร้างภาระให้กับประชาชน หรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกินความจำเป็น ซึ่งหลายคนคงทราบแล้วว่าเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายนิติบัญญัติได้ผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ที่เป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดทำกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือสร้างภาระความเดือดร้อนให้กับประชาชน
ประธานศาลฎีกา ย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้แปลกมาก เพราะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่รัฐสภา (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) มอบอำนาจให้ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง สามารถที่จะวินิจฉัยได้ว่ากฎหมายใดหมดความจำเป็นหรือยัง โดยหากศาลเห็นว่าหมดความจำเป็น ศาลสามารถเลือกใช้วิธีการอื่นๆ นอกเหนือจากที่เขียนไว้ในกฎหมายได้ ยกตัวอย่างเช่น หากสมมุติมีคนบุกป่า แล้วกฎหมายนั้นอาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ได้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ศาลเลือกที่จะไม่ลงโทษก็ได้ และให้ศาลกำหนดมาตรการอื่นๆ ในการแทนโทษที่ใช้อยู่เดิม
"อันนี้อาจจะเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทย ขณะนี้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ผ่านระเบียบที่จะต้องออกมารองรับกฎหมายฉบับนี้แล้ว เพื่อที่ว่าเมื่อใดที่ประชาชนยื่นคำร้องมาที่เราว่ากฎหมายหมดความจำเป็นหรือไม่ ซึ่งต่อไปพอลงในภาคปฏิบัติ หากมีใครยื่นคำร้องมาที่ศาล ศาลก็จะพิจารณา มันเป็นอำนาจ จะบอกว่าพิเศษก็ว่าได้ ที่ให้อำนาจศาล ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน แต่เป็นเรื่องของฉันทานุมัติจากรัฐสภาที่มอบอำนาจนี้ให้กับศาล เหมือนกับเราทำหน้าที่เป็นศาลกึ่งๆ นิติบัญญัติด้วย เพราะว่าเราสามารถยกเลิก เพิกถอนการบังคับใช้กฎหมายได้บางส่วน" ประธานศาลฎีการะบุ
ที่ผ่านมา เราจะพบว่ามักจะมีเสียงสะท้อนจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ว่า กฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะบทลงโทษทางอาญา หรือโทษทางปกครอง เป็นกฎหมายที่ออกมานานมากแล้วในอดีต โดยไม่มีการปรับปรุงแก้ไข จึงอาจไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน
มาวันนี้ ที่มีกฎหมายและระเบียบดังกล่าวออกมาบังคับใช้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะมีประชาชน-บุคคลใดใช้สิทธิ์ในฐานะผู้ร้อง ยื่นคำร้องต่อศาลที่กำลังพิจารณาตัดสินคดีของตัวเอง เพื่อทำความเห็นและเสนอเรื่องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งจะต้องร้องโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี เช่น โทษทางอาญา เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ
คำร้องเรื่องใดจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ใช้ช่องทางตามกฎหมายและระเบียบฯ ดังกล่าว และหากทุกอย่างเดินมาถูกต้องครบทุกขั้นตอน สุดท้ายแล้วที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร ที่ย่อมเป็นเคสทางคดีและข้อกฎหมายที่น่าติดตามอย่างยิ่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |