แนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในพักหลังมานี้มีหลายหน่วยงานเข้ามาให้ความร่วมมือ ด้วยต้องการให้เกิดการเดินต่อไปได้ แม้ในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ หรืออย่างในปัจจุบันที่โดนผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่หากภาคอุตสาหกรรมมีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดไหนก็แล้วแต่ ก็จะทำให้เกิดการพึ่งพาตัวเองได้แม้ในช่วงสภาวะย่ำแย่
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักที่เป็นผู้กำหนดแผน และทิศทางการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นหลักของประเทศ ในช่วงนี้จะเห็นข่าวออกมาว่ามีการเตรียมแผนผลักดันอุตสาหกรรมต่างๆ ออกมาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งล่าสุดได้เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ หลังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2562) โดยมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.09% จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปีหน้า อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้สินค้าและเครื่องมือทางการแพทย์บางประเภทขาดแคลน จึงเป็นโอกาสที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต
ซึ่ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดแผนว่าการพัฒนาดังกล่าวจะต้องทำให้ทันภายในปี 2564 โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564-2570) พร้อมตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียนภายในปี 2570
โดยด้าน นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สศอ. ได้ออกมากล่าวถึงร่างแผนปฏิบัติการจะมุ่งแก้ปัญหาอุปสรรคและยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยตลอดห่วงโซ่มูลค่าให้มีการพัฒนาขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.การส่งเสริมการผลิตและการลงทุนในเครื่องมือแพทย์ ให้สิทธิประโยชน์กระตุ้นให้มีการผลิตและการลงทุนเครื่องมือแพทย์ ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ไทยให้มีการผลิตเครื่องมือแพทย์ในระดับที่สูงขึ้น กำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ให้มีความเชื่อมั่นในสินค้าเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการสร้างตราสินค้าเครื่องมือแพทย์ของไทย
2.การส่งเสริมช่องทางการเข้าสู่ตลาด ให้มีการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น โดยกำหนดสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจเพิ่มเติมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับโรงพยาบาลของรัฐ ส่งเสริมให้โรงเรียนแพทย์มีการใช้เครื่องมือแพทย์ของไทยเพื่อให้แพทย์มีความเชื่อมั่นในการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทย การส่งเสริมตลาดต่างประเทศโดยการจัดงานหรือการเข้าร่วมการประชุมวิชาการทางการแพทย์นานาชาติและงานแสดงสินค้าเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะเพิ่มประโยชน์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ในระดับสากล และส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ของไทยกับนานาชาติ
และ 3.การส่งเสริม/เตรียมความพร้อมด้านปัจจัยสนับสนุน มีการสร้างปัจจัยสนับสนุนในการยกระดับการผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ สร้างผู้เชี่ยวชาญด้านกลไกควบคุมกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเชิงเทคนิค เพื่อให้คำปรึกษานักวิจัยและผู้ประกอบการในการประเมินเอกสารการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์
การสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศ ระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อาทิ ข้อมูลบัญชีผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลห้องปฏิบัติการทดสอบ ข้อมูลหน่วยงานทดสอบหรือวิจัยทางคลินิก ข้อมูลเอกสารและผลการทดสอบประกอบการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ งานวิจัย และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
เชื่อว่าความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ที่เพิ่มขึ้น เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง ยังมีแนวโน้มความต้องการไปอีกนาน เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดยังคงเพิ่ม และด้วยปัจจัยดังกล่าว จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย ที่จะเดินหน้าไปถึงเป้าหมายเป็นฮับทางสุขภาพได้อย่างแน่นอน เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำได้หากตั้งใจจริง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |