ผลักดันโมเดล 'สมุยเกาะแห่งเต่า' สู่นิวนอร์มดูแลสิ่งแวดล้อม


เพิ่มเพื่อน    

นวลพรรณ ล่ำซำ กงสุลฯ ลิทัวเนีย โฆษกสมาคมร่วมปล่อยปูม้าคืนสู่ทะเลไทย

 

 

     เกาะสมุยวันนี้ทะเลสงบ ไร้เรือท่องเที่ยว เรือสำราญพานักท่องเที่ยวขึ้นเกาะ ชายหาดเกือบทุกหาดเงียบ ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน ไม่มีขยะเหมือนที่ผ่านมา ส่วนที่พักโรงแรมกว่าครึ่งยังไม่เปิดให้บริการ ทุกอย่างเปลี่ยนไปหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สิ่งที่ได้รับเป็นการฟื้นตัวของระบบนิเวศ และการกลับมาของแม่เต่าเพื่อวางไข่บนเกาะ นับเป็นเหตุการณ์หายากของเกาะสมุย  และเป็นหลักฐานยืนยันว่า เกาะสวรรค์แห่งนี้เคยเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล สัตว์ทะเลหายาก เสี่ยงสูญพันธุ์ของไทย

      ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปลุกกระแสการท่องเที่ยววิถีใหม่ทะเลไทย ล่าสุด สมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย) เลือกพื้นที่สมุยจัดงานครบรอบ 9 ปี กระชับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของกงสุลกิตติมศักดิ์ในประเทศไทย มีคณะทูตานุทูตจากออสเตรีย อังกฤษ คาซัคสถาน สหรัฐเม็กซิโก นาอูรู นิวซีแลนด์ รัสเซีย สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ติมอร์-เลสเต อุซเบกิสถาน มัลดีฟส์ และคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำประเทศต่างๆ ร่วมกิจกรรม ณ โรงแรม W เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นำทัพโดย สนั่น อังอุบลกุล กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์สาธารณรัฐมัลดีฟส์ ในฐานะประธานสมาคมคณะกงสุลฯ เพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการเซตซีโรการท่องเที่ยวบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และสนับสนุนงบประมาณจำนวน 100,000 บาท ในการทำบ่ออนุบาลเต่าทะเลเกาะสมุยบนที่ดินสาธารณะทางใต้ของเกาะ นอกจากนี้มีสมาคมโรงแรม สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย ร่วมช่วยดูแลทะเลอีกแรง 

 

มอบเงินสนับสนุนทำบ่ออนุบาลเต่าทะเลเกาะสมุยและการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งให้กับ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

 

      นวลพรรณ ล่ำซำ กงสุลฯ ลิทัวเนีย และในฐานะโฆษกสมาคม กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบทั่วโลก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย การที่คณะทูตานุทูตและคณะกงสุลกิตติมศักดิ์เดินทางมาเกาะสมุยนั้น เป็นโอกาสที่ดีกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของเกาะสมุย อีกทั้งยังช่วยคืนความเชื่อมั่นให้แก่การท่องเที่ยวในประเทศไทยว่า การท่องเที่ยวสมุยปลอดภัย ชวนกันเที่ยวสมุย และเที่ยวสถานที่อื่นๆ ในประเทศไทย เพื่อเศรษฐกิจกลับมาคึกคักอีกครั้ง

      " คณะกงสุลได้ร่วมกิจกรรมการปล่อยปูม้าคืนสู่ทะเลไทย และมอบเงินสนับสนุนการทำบ่ออนุบาลเต่าทะเลเกาะสมุย รวมถึงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้กับ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายากและกรรมการปฏิรูปประเทศ โอกาสนี้อาจารย์ธรณ์บรรยายเรื่องเที่ยวทะเลไทยแบบนิวนอร์มอล เล่างานอนุรักษ์เต่าให้ทูตและกงสุลด้วย นอกจากนี้ คณะทูตานุทูตไปบ้านมะพร้าว หรือ Coconut Museum เรียนรู้เรื่องราวมะพร้าววิถีของคนสมุยที่พึ่งพิงธรรมชาติ เวิร์กช็อปทำขนมโค ขนมพื้นบ้าน ใช้วัตถุดิบมาจากท้องถิ่น ต่อด้วยสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวสีเขียวที่ Nature Samui ชุมชนบ้านพระ เปิดประสบการณ์ทานอาหารที่แตกต่าง ใช้บรรจุภัณฑ์ที่รักษ์โลก ลดขยะ จัดหาวัตถุดิบตามฤดูกาล ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ทุกสถานที่น่าประทับใจ เกาะสมุยแห่งนี้สวยงาม" นวลพรรณ กล่าว

 

คณะทูตานุทูตและคณะกงสุลฯ จากทั่วโลกร่วมส่งเสริมท่องเที่ยวนิวนอร์มที่เกาะสมุย       

 

 

      ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายากและกรรมการปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า      ชายหาดสมุยตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. พบแม่เต่าวางไข่รังแรก จนตอนนี้มีลูกเต่าลงสู่ทะเลมากกว่า 1,018 ตัว มาจาก 4 แม่เต่า และยังมีอีก 2 รังที่เกาะแตนที่ยังไม่ฟัก รวม 21 รัง หาดที่วางไข่มีทั้งเฉวงน้อย แหลมสอ แหลมเสด็จ หาดละไม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งนั้น ในช่วงล็อกดาวน์คนสมุย ชุมชน มีบทบาทสำคัญดูแลไข่เต่า นี่คือจุดแข็งมากๆ และอยากผลักดันโมเดล "เกาะสมุยเกาะเต่าทะเล" ให้เกิดขึ้น เราพบว่าแม่เต่าติดดาวเทียมว่ายน้ำมาจากเกาะคราม อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ใช้เวลา 2 สัปดาห์เพื่อวางไข่ในเกาะสมุยเกาะที่เคยเกิด และว่ายกลับอีก 2 สัปดาห์ ถ้าก่อนโควิดคงไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เพราะมีปาร์ตี้บนชายหาด คนยึดหาด เรือลอยแล่นเต็มไปหมด นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญ

      " การท่องเที่ยวแบบนิวนอร์มอลคนพูดกันมาก แต่ชัดเจนที่เกาะสมุย แม่เต่ากลับมาวางไข่จากที่หายไป 20 ปี นานจนจำไม่ได้ ข่าวนี้โด่งดังไปทั่วโลก หากเราอยากให้เกาะแห่งนี้เดินบนแนวทางแห่งความยั่งยืน ช่วงฤดูกาลเต่าวางไข่ โรงแรมที่พักบนชายหาดต้องหรี่ไฟ เบาเสียงจากกิจกรรมต่างๆ ลดการรบกวนการขึ้นวางไข่ รวมถึงตั้งศูนย์อนุบาลเต่าทะเลเกาะสมุย ช่วยเหลือเต่าบาดเจ็บ ก่อนส่งต่อหรือปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ บนเกาะแห่งนี้ยังไม่มีศูนย์อนุบาลฯ ซึ่งพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเต่าได้ด้วย เต่าเป็นสัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่    ดึงผู้ประกอบการโรงแรมร่วมสนับสนุนและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ถ้าเฉวงทำได้ ทำไมหาดอื่นๆ จะทำไม่ได้ อีกทั้งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ของสมุยเป็นชาวยุโรป ซึ่งรักสิ่งแวดล้อมมาก จะร่วมมือแน่นอน" ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

 

ปรากฏการณ์แม่เต่าวางไข่บนเกาะสมุย มีลูกเต่านับพันตัวกลับลงสู่ทะเล

 

      จากปรากฏการณ์เต่าวางไข่บนเกาะสมุย นักวิชาการทางทะเลย้ำว่า ต้องไม่ให้สูญเปล่า กลับไปเป็นเหมือนเดิมจำนวนนักท่องเที่ยวเกินศักยภาพของเกาะ นำไปสู่การจัดการน้ำเสีย ขยะทะเล นิวนอร์มอลเป็นการถอยมาก้าวหนึ่ง ไม่ทำร้ายและเคารพธรรมชาติ สมดุลที่เสียไปจะกลับมาทำให้สมุยสวยงามเหมือน 40 ปีก่อน มั่นใจว่าสมุยมาถูกทางแล้ว

      นอกจากคณะทูตานุทูตและคณะกงสุลฯ มาส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีใหม่แล้ว ได้ร่วมกิจกรรมอนุรักษ์สำคัญบนเกาะสมุย คือ ธนาคารปูม้า คืนปูม้าสู่ทะเลไทย โดยมี ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บรรยายสถานการณ์ปูม้าอย่างน่าสนใจ 

      ผศ.ดร.อมรศักดิ์กล่าวว่า ปี 2562 ประชากรปูม้าที่ จ.สุราษฎร์ธานี ลดลง ชาวประมงพื้นบ้านออกทะเลวางอวน 2-3 วัน จับได้เพียง 8 กิโลกรัม แต่ละปีชาวบ้านได้ปูม้ามาขายเป็นมูลค่า 160,000 บาท ต่อลำ นำมาสู่การทำธนาคารปูม้า เพิ่มจำนวนปูม้า ในพื้นที่เกาะสมุยมีธนาคารปูม้า 5 แห่ง ที่หัวถนน, ละไม, ชุมชนบ้านใต้ ,บ้านหาดสมบูรณ์ เป็นต้น ผลจากทำธนาคารปูม้า จากการสำรวจปีนี้ชาวประมงวางอวน 1-2 วัน ก็กู้อวนได้ จับปูได้มากขึ้น เฉลี่ย 15 กิโลกรัม มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว อีกตัวอย่างหลังตั้งธนาคารปูม้าหาดสมบูรณ์ 1 ปี หลังปล่อยลูกปูกลับทะเลยอดจับได้เพิ่มขึ้น 13 ล้านบาทต่อแหล่งการประมงหน้าบ้าน ชุมชนมีเรือ 73 ลำ 

 

ธนาคารปูม้าบ้านใต้ เกาะสมุย 1 ใน 5 แห่ง ที่นำลูกปูมาร่วมกิจกรรม CSR ครบ 9 ปี สมาคมกงสุลฯ 

 

       มองภาพรวม ผศ.ดร.อมรศักดิ์บอกว่าปูม้าที่มากขึ้น ประมงท้องถิ่นได้โดยตรง จากนั้นไปสู่เมนูอร่อยตามร้านอาหาร เพิ่มมูลค่า ถ้าปริมาณมากกว่านั้นสามารถแปรรูปเพื่อส่งออกด้วย นอกจากนี้ มีรณรงค์ไม่กินปูไข่นอกกระดอง ไม่จับปูม้าขนาดต่ำกว่า 10 เซนติเมตร เพราะยังไม่ใช่วัยสืบพันธุ์ ผลิตลูกหลาน อีกทั้งใช้กลไกธนาคารปูม้ากระตุ้นท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์แก่ชาวไทยและต่างชาติ แวะมาเที่ยวชุมชน มีกิจกรรม CSR ชวนบริจาคปล่อยปูม้า ซึ่งปูม้า 1 ตัว มีไข่ 1 ล้านฟอง ได้คืนสิ่งมีชีวิตสู่ทะเล ต่อไปจะขยายผลให้แต่ละชุมชนมีเมนูปูม้าที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น มีสตอรี่ชุมชน กระตุ้นรายได้

      " สมุยหลังโควิด มหัศจรรย์มาก เกิดการรวมตัวชุมชนและภาคีท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น หากทุกฝ่ายใช้โอกาสนี้ในการเซตซีโร เริ่มกระบวนการท่องเที่ยวใหม่ ดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลเต่า ทำธนาคารปูม้ากระจายให้ทั่ว ตอนนี้มีหลายชุมชนสนใจ จะเกิดความยั่งยืนในภาพรวมบนเกาะสมุย"    ผศ.ดร.อมรศักดิ์ย้ำจะใช้ปูม้าเป็นจุดเปลี่ยนการท่องเที่ยวนิวนอร์มอลสมุยให้สำเร็จ ซึ่งในกิจกรรมครั้งเหล่าทูตจากทั่วโลกและกงสุลฯ ก็ได้ร่วมปล่อยลูกปูนับสิบล้านตัวจากธนาคารปูม้าสมุยลงสู่ท้องทะเล เติมเต็มความสมบูรณ์ทะเลประเทศไทย.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"