ยื้อเวลาแก้ รธน.ป้อนเงื่อนไขม็อบ จับตา ต.ค.สถานการณ์แหลมคม


เพิ่มเพื่อน    

      เหนือความคาดหมายพอสมควร หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 ฉบับ เป็นเวลา 30 วัน แล้วค่อยนำมาพิจารณากันอีกครั้งในสมัยประชุมหน้า หรือวันที่ 1 พฤศจิกายน

                ฝ่ายคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล อ้างว่า การตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้ไม่ได้เป็นการซื้อเวลา แต่เป็นการหาจุดร่วมกัน

                ขณะที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล ชี้แจงถึงเหตุผลที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาตัดสินใจฝ่ากระแสม็อบว่า เป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ เพราะจากการประเมินสถานการณ์การอภิปรายของ ส.ว.เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ไม่มี ส.ว.คนใดเห็นด้วยกับญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย หากมีการลงมติเลยน่าจะได้เสียงจาก ส.ว.ไม่ถึง 84 เสียง และไม่น่าจะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ทำให้ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปทั้งหมด

            “พวกเราไม่อยากให้ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป จึงได้ข้อสรุปว่าอยากให้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อน และดูว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นอะไร จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไรบ้าง”

                ส่วนในช่วงเย็นวันที่ 24 ก.ย. มีรายงานว่า ปฏิกิริยาของ ส.ว.ค่อนข้างแข็งกร้าว และส่งสัญญาณมายังวิปรัฐบาลว่า จะไม่ยกมือให้ความเห็นชอบ 

                แกนนำ ส.ว.บางคนอ้างว่า การให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยที่ไม่ได้ตีกรอบไปให้ว่า จะแก้ประเด็นใด ไม่ต่างอะไรกับการตีเช็กเปล่า ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จึงไม่สามารถไว้วางใจที่จะยกมือให้ได้ ขณะเดียวกัน หลายคนยังรู้สึกว่า ตลอดระยะเวลา 2 วันที่มีการอภิปรายญัตติดังกล่าว บรรดา ส.ส. โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน ได้อาศัยเวทีนี้เป็นเวทีซักฟอก ส.ว.ทางอ้อม 

                “แต่เดิมมี ส.ว.หลายคนที่เอนเอียงไปทางจะยกมือให้ความเห็นชอบ แต่ตลอด 2 วัน เขาใช้เวทีนี้เพื่อด่า ส.ว.โดยเฉพาะ กลายเป็นว่า ส.ว.แทบทุกคนเห็นพ้องกันที่จะไม่ให้ความเห็นชอบ เขาจะให้เราเห็นด้วย แต่ด่าเรา 2 วันเต็มๆ ด่าเสร็จแล้วจะให้เรามายกมือให้ อย่างนี้เหรอ มันไม่ใช่” แหล่งข่าวระบุ

                ซึ่งรายงานข่าวดังกล่าวคล้ายคลึงและสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้หลังวันที่ 24 ก.ย.เพียง 1 วัน ที่ระบุว่า หากเป็น ส.ว.ก็คงรับไม่ได้ 

            “บรรยากาศในวันแรกก็เป็นไปด้วยดี แต่วันที่ 2 ก็เริ่มมีความขัดแย้งมากขึ้น การจะไปก้าวล่วงอะไรต่างๆ หลายคนก็รับไม่ได้ ส่วนการลงมติและเปลี่ยนแปลงมตินายกรัฐมนตรีไม่เคยต้องสั่งการอะไร ไม่ใช่ว่าทั้งหมดต้องเห็นชอบด้วยกันทั้งหมด และมีบางส่วนที่เห็นต่าง นี่ต้องเคารพความเห็นความแตกต่างกันไม่ใช่หรือ นั่นคือผู้ทรงเกียรติใช่หรือไม่ ทั้งนี้ หากมีการใส่ร้ายว่ากล่าวกันในทางที่ไม่สุภาพ เป็นผม ผมก็รับไม่ได้”

                อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่า การที่รัฐบาลและ ส.ว.ตัดสินใจเดินแนวทางนี้ เป็นเพียงการ “ซื้อ” และ “ยื้อ” เวลาออกไปเท่านั้น ไม่ได้มีจุดหมายจะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

                โดยนายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า เป็นการซื้อเวลาให้กับรัฐในการจัดการการต่อต้านของภาคประชาชน เล่นงานแกนนำ และทำให้มวลชนอ่อนแรงสลายตัว ในช่วงระยะเวลา 30 วันที่เหลือ 

                แต่นั่นอาจเป็นการประเมินที่ต่ำไป นายพิชิตให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ยิ่งทำให้สถานการณ์การเมืองยิ่งร้อนแรงตลอดเดือน ต.ค.

                “พวกเขาประเมินความโกรธของประชาชนต่ำเกินไป กระแสต่อต้านจะยิ่งไหลมาเทมากลางเดือน ต.ค. และต้น พ.ย. และถ้าเกิดความรุนแรง ฝ่ายรัฐ ส.ว. และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลคือผู้รับผิดชอบมือเปื้อนเลือด”

                ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ระยะเวลา 30 วัน ที่วิปรัฐบาลหมายมุ่งจะให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นทางออกให้ทุกฝ่าย ดูจะไม่ราบรื่นอย่างที่คิดไว้

                แม้จะอ้างว่า เป็นการรักษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับเอาไว้ รวมถึงเปิดโอกาสให้นำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์เข้ามาพิจารณาด้วย แต่ 30 วันตลอดนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่แหลมคมที่สุด

                 เพราะในมุมมองของกลุ่มผู้เคลื่อนไหวนอกสภาฯ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ต่างมองว่า นี่คือการต้มตุ๋นและหลอกลวงประชาชน

                ขณะที่กระแสสังคมต่อการตัดสินใจของที่ประชุมร่วมรัฐสภาครั้งนี้ ค่อนข้างออกไปในทิศทางลบ สร้างความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง จนทำให้สถานการณ์เหมือนจะร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง

                 โดยเฉพาะกำหนดการชุมนุมในเดือนตุลาคม ที่มีวันสัญลักษณ์ทางการเมืองเยอะ ไม่ว่าจะเป็นวันครบรอบเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการประกาศเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

                 มันไม่ต่างอะไรกับการหยิบยื่น “เงื่อนไข” ให้ม็อบมีความชอบธรรมมากขึ้นในการเคลื่อนไหว เพราะถือเป็น 1 ใน 3 ข้อที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกเรียกร้องเอาไว้    

               ที่ผ่านมามีการประเมินกันว่า หากรัฐบาลเห็นชอบญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้ม็อบหมดเงื่อนไขในการชุมนุม ประกอบกับกระแสตีกลับเรื่องการจาบจ้วงสถาบัน ที่ทำให้ม็อบไม่มีแนวร่วมเท่าที่ควร แต่เมื่อมีประเด็นยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างอะไรกับการเรียกคนให้ออกมาชุมนุม

                น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ 1 ใน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเองก็เห็นว่า การกระทำแบบนี้จะยิ่งเป็นการสุมฟืนมากกว่าแก้ปัญหา

                “โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ที่ประชาชนเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ การกระทำในวันนี้ถือเป็นการสุมฟืนลงไปในกองไฟ อาจทำให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง นอกสภาที่รุนแรงมากขึ้น เป็นการแปลกแยกสังคม แปลกแยกประชาชน ทวีความขัดแย้ง ส.ว. และรัฐบาล ต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับการตัดสินใจครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” 

                อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ปัจจุบันฝ่ายความมั่นคงไม่ค่อยกังวลกับม็อบเท่าไหร่ หลังจากดูภาพรวมจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน ที่ส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง ประกอบกับม็อบไร้คนบริหารจัดการและวางยุทธศาสตร์ที่ดี จึงเลือกที่จะไม่ลงมติทันที 

                แต่ตรงนี้อาจกลายเป็นความประมาท เพราะแม้จะสามารถจัดการกับแกนนำได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้นั่นคือ กระแสความไม่พอใจของคนส่วนใหญ่ในประเทศ

                ขณะที่ความไม่พอใจจะพุ่งตรงไปยังรัฐบาล แม้ “บิ๊กตู่” จะออกมาปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นผู้สั่งการ แต่ในทางการเมืองย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นผู้นำรัฐบาล ย่อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้แต่ ส.ว.ที่ถูกมองว่าสั่งการได้ เพราะเป็นผู้แต่งตั้งมาสมัยเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  

                ขณะเดียวกันเริ่มมีการหยิบยกไปถึงความชะล่าใจในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแล้ว หลังฝ่ากระแสผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน จนออกมาขับไล่เต็มท้องถนน โดยครั้งนั้นหากไม่มีเรื่องนิรโทษกรรม และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม็อบ กปปส.อาจไม่เติบโตเร็วขนาดนั้น และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ คงไม่ถึงจุดจบเร็วอย่างนี้

                ดังนั้นตลอดเดือน ต.ค.จึงเป็นช่วงที่กระแสกดดันรัฐบาลน่าจะรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะมีเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีความรู้สึกประชาชนเป็นจุดร่วม

                รัฐบาลจะยื้อสถานการณ์ภายในประเทศให้ผ่านพ้นช่วงเวลา 30 วัน ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญนำไปศึกษาได้หรือไม่ 

                และเมื่อถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน ผลการศึกษามันจะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ หรือมันจะยากกว่าเดิม หรือว่าข้อเรียกร้องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีเรื่องอื่นกว่านั้น หากสถานการณ์ของรัฐบาลไม่อยู่ในวิสัยที่ถือไพ่เหนือกว่า  

                เป็นเดือนแห่งความแหลมคมอย่างแท้จริง!!!!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"