ระหว่าง “การเมือง” กับ “ชีวิต”


เพิ่มเพื่อน    

 

                                                (1)

                เรื่อง การเมือง กับเรื่อง ชีวิต...มันอาจเป็นคล้ายๆ คนละเรื่องเดียวกัน จนอาจส่งผลให้ใครต่อใคร แยกไม่ออก-บอกไม่ถูก เอาง่ายๆ หรือทำให้เกิดการนำเอาเรื่องแต่ละเรื่องมาปนกันไป-ปนกันมา เอา ทฤษฎีทางการเมือง มากำหนดเป็นเป้าหมาย จุดมุ่งหมายของชีวิต หรือนำเอาความกระหาย ใคร่อยาก ความปรารถนาในทางส่วนตัว ความเป็น ตัวกู-ของกู มาแอพพลายให้กลายเป็นแบบฉบับทางการเมือง ชนิดใครต่อใครนำไปยึดมั่น ศรัทธา เป็นทฤษฎีโน้น ทฤษฎีนี้ ไปเลยก็มี...

                                                     (2)

                ด้วยเหตุนี้...มันก็เลยไม่ถึงกับเป็นเรื่องแปลก!!! ที่ต้องเกิดการเถียงกันไป-เถียงกันมา ชนิดหน้าดำ-หน้าแดง ตั้งแต่สมัยนับเป็นพันๆ ปีที่แล้ว ตั้งแต่ยุคโสคราต๊ง โสคราติส เพลต้ง เพลโต้ ฯลฯ โน่นเลย หรือตั้งแต่ความเป็น นครรัฐ ได้กลายเป็นตัวก่อให้เกิด ความแปลกแยก ระหว่าง ส่วนรวม กับ ส่วนตัว ระหว่าง บุคคล กับ รัฐ เกิดการตั้งคำถาม และความพยายามหาคำตอบว่าอะไรคือ ความถูกต้อง-ชอบธรรม คือ ความยุติธรรม คือ ความลงตัว ที่จะทำให้ความเป็นไปทางสังคม กับความเป็นไปของปัจเจกบุคคล มันพอสามารถไปด้วยกันได้มั่ง หรือได้อย่างสอดคล้อง กลมกลืน อย่างถึงที่สุด...

                                                        (3)

                แต่สุดท้ายแล้ว...การเถียงกันไป-เถียงกันมาในลักษณะทำนองนี้ ได้ถูกนักคิด-นักปราชญ์รายใดก็จำไม่ได้ซะแล้ว สรุปเอาไว้ประมาณว่า คงแทบไม่ต่างไปจาก คนตาบอด ที่พยายามฉุดกระชากลากถู คนตาดี ทั้งหลาย ให้ไปปล้ำไป-ปล้ำมา อยู่ภายในถ้ำอันสุดแสนจะมืดมิด อะไรประมาณนั้น คือสุดท้าย...มันหาอะไรที่ถูกต้อง เพอร์เฟ็กต์ ที่สมบูรณ์แบบไปตลอดชั่วนิรันดรกาล แทบเป็นไปไม่ได้เอาเลย มีแต่ต้องเปลี่ยนไป-เปลี่ยนมา ยืดๆ หดๆ ขึ้นๆ-ลงๆ ไปตาม เงื่อนไข และ เหตุปัจจัย ตาม กฎเหล็กแห่งธรรมชาติ ที่พวกนักการศาสนาชาวพุทธ เขาได้นิยามเอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 2,000 กว่าปีที่แล้วนั่นแหละว่า ด้วยเหตุเพราะสิ่งนี้-สิ่งนี้...สิ่งนี้จึงเป็นไป จนกลายเป็นกฎที่เรียกขานกันในนาม อิทัปปัจจยตา-ปฏิจจสมุปบาท นั่นแล...

                                                      (4)

                คือต่อให้ทฤษฎีแต่ละทฤษฎีมันจะน่าเชื่อ น่ายึดมั่น น่าหลงใหล เพียงใดก็ตามที...แต่สุดท้ายแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง พัวพันกับ ตัวกู-ของกู ของบรรดาผู้ซึ่งเชื่อถือ ศรัทธา ผู้ที่ยึดมั่น หลงใหล ในทฤษฎีนั้นๆ กันจนได้ มันเลยส่งผลให้ไม่ว่าคำพูด คำจา แนวคิด-แนวทาง ของ มาร์กซ์, เลนิน, สตาลิน ฯลฯ ไปจนถึงท่านประธาน เหมา, หลินเปียว, เติ้ง เสี่ยวผิง และแม้กระทั่ง สี จิ้นผิง ฯลฯ เลยต้องถูกนำเอามาแปลความ ตีความ กันไปตามอารมณ์-ความรู้สึกของใครก็ของมัน จนส่งผลให้เกิดการหันมาไล่ถีบ ไล่กระทืบ ไล่ฆ่า ไล่สังหาร พร่าผลาญกันและกัน ชนิดแทบไม่รู้อะไรคือของแท้ อะไรของคือปลอมกันแน่...

                                                       (5)

                ดังนั้น...ไม่ว่าทฤษฎีการเมืองที่อุบัติขึ้นมาในแต่ละยุค แต่ละสมัย จะเป็นไปในรูปไหน แบบใดก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญที่สุด...ที่จะเป็นตัววัด ตัดสิน ว่าอะไรเหมาะ-ไม่เหมาะ ควร-ไม่ควร หรือกระทั่งเป็นไปได้-เป็นไปไม่ได้ สำหรับสภาพนั้นๆ ฉากสถานการณ์นั้นๆ ย่อมหนีไม่พ้นไปจากการหันไปใคร่ครวญ พิจารณา ต่อความเป็น ตัวกู-ของกู ของบรรดาผู้ที่ผลุบๆ โผล่ๆ ขึ้นมาในแต่ละห้วง แต่ละฉากสถานการณ์นั่นเอง ว่าเป็นอะไรที่น่าเชื่อ น่ายึดมั่น ศรัทธา มากหรือน้อยขนาดไหน หรือสุดท้าย...คงต้องหันมาวัดกันที่ ความดี และ ความไม่ดี ของแต่ละคน แต่ละราย หรือแม้แต่แต่ละฝ่าย กันไปตามสภาพ...

                                                      (6)

                โดยการที่ต้องหันมาวัดกันในเรื่อง ความดี และ ความไม่ดี นั่นเอง...ที่ทำให้ไปๆ-มาๆ เรื่องของ ชีวิต มันอาจกลายเป็นเรื่องที่สำคัญซะยิ่งกว่าเรื่อง การเมือง ไม่รู้กี่สิบ กี่ร้อยเท่า พูดง่ายๆ ว่า...ไม่ว่าใครก็ตามจะถูกจัดให้อยู่ในประเภทก้าวหน้า-ล้าหลัง อนุรักษ์-ไม่อนุรักษ์ เสรี-ไม่เสรี ฯลฯ ตามความหมาย คำนิยาม ทางการเมืองก็แล้วแต่ แต่ถ้าดัน ไม่ดี ซะอย่างแล้ว ก็น่าจะเป็นอะไรที่ ลำบาก ไปด้วยกันทั้งสิ้น และความลำบากทางส่วนตัวที่สามารถลุกลาม บานปลาย ไปสู่ความลำบากในทางการเมือง ย่อมนำมาซึ่งความลำบากให้แก่บ้าน แก่เมือง แก่สังคม-ประเทศชาติ อย่างมิอาจปฏิเสธและหลีกเลี่ยงได้...

                                                       (7)

                และนั่นเอง...ที่ไม่เพียงอาจส่งผลให้เกิดความไม่สงบ-ไม่เรียบร้อย ความสับสน อลหม่าน ขึ้นมาในบ้าน ในเมือง แต่ยังอาจส่งผลให้ลำบากไปถึงชีวิต จิตวิญญาณ ชนิดไม่อาจแสวงหาความสงบ ความสว่าง ความเย็น ได้ตลอดทั่วทั้งชีวิต เอาเลยก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้...ก่อนจะลงทุน ลงแรง เสียเรี่ยว เสียแรง ให้กับแนวทางหรือทฤษฎีทางการเมืองใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นหนูเล็กๆ และเด็กๆ ทั้งหลาย ไปจนถึงคนแก่ คนชรา จะประเภทแก่แล้ว-แก่เลย หรือแก่เพราะกินข้าว-เฒ่าเพราะอยู่นานก็ตามที คงหนีไม่พ้นต้องเริ่มตั้ง คำถาม คำแรก ด้วยการหันไปมองผู้คนรอบข้างตัวเอง ให้ชัดๆ จะจะว่าประกอบไปด้วย คนดี และ คนไม่ดี มาก-น้อยขนาดไหน เหมือนอย่างที่ท่านวุฒิสมาชิก คุณ ถวิล เปลี่ยนศรี ท่านพูดๆ เอาไว้ในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันวานนั่นแหละว่า ระหว่าง รัฐธรรมนูญไม่ดี กับ คนที่ใช้รัฐธรรมนูญไม่ดี อะไรมันจะมีน้ำหนักมากหรือน้อยไปกว่ากัน???

                               ---------------------------------------------------------


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"