นายกฯ นัดประชุม ก.ตร.-ก.ต.ช. กำหนดตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. รองรับโอนย้าย "ปรีชา เจริญสหายานนท์" กลับ ตร. และ "วิระชัย" ร้องทุกข์ ด้าน "สป.ยธ." ยื่นหนังสือต่อ "วิชา" ให้เสนอนายกฯ เร่งนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับ "มีชัย" และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิอาญาเข้าสภาฯ เพื่อปฏิรูปตำรวจและงานสอบสวนแทนของ ตร.
เมื่อวันที่ 24 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ เวลา 14.00 น. ที่ห้องศรียานนท์ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเดินทางมาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ครั้งที่ 9/2563 โดยมีวาระที่น่าสนใจ คือ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ร้องทุกข์กรณี ตร. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และกรณี ตร.มีคำสั่งสำรองราชการ, การกำหนดตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. (ด้านบริหารงานสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี)
จากนั้นเวลา 14.30 น. นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. ครั้งที่ 4/2563 โดยมีวาระกำหนดตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. (ด้านบริหารงานสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) เพื่อรองรับการโอนย้าย พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ปปง. กลับมารับราชการตำรวจ
สำหรับ พล.ต.ต.ปรีชา เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2561 ครม.มีมติโอนย้ายไปเป็นรองเลขาธิการ ปปง. โดยขณะนั้น พล.ต.ต.ปรีชาดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ปปง. เสนอชื่อ พล.ต.ต.ปรีชา รองเลขาธิการ ปปง. ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. แทนตำแหน่งที่ว่างลง และส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ก.พ.2563 วุฒิสภาได้ลงมติ 185 ต่อ 11 เสียง ไม่เห็นชอบให้ พล.ต.ต.ปรีชาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. ทำให้ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2563 ครม.มีมติโอนย้าย พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล (รอง ผบช.ส.) เป็นรองเลขาธิการ ปปง. และคาดว่าจะมีการโอนย้าย พล.ต.ต.ปรีชากลับมารับราชการตำรวจอีกครั้ง
สำหรับ พล.ต.ต.ปรีชาเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 38 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์, พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผช.ผบ.ตร. โดยเกษียณอายุราชการในปี 2565
ขณะที่สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) นำโดย พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการ สป.ยธ. เข้ายื่นหนังสือต่อนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน มีใจความว่า ปัญหาสำคัญที่สุดเกิดจากงานสอบสวนความผิดอาญาแทบทั้งหมด ได้ถูกผูกขาดโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่เพียงองค์กรเดียว ซ้ำยังขาดการตรวจสอบจากภายนอก จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน ดังนี้
1.แยกงานสอบสวนให้เป็นสายงานเฉพาะจากตำรวจฝ่ายป้องกันอาชญากรรมในลักษณะเดียวกับงานนิติวิทยาศาสตร์ 2.การสั่งงานสอบสวนในส่วนที่เกี่ยวกับคดี ต้องกำหนดให้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้ง 3.การสอบปากคำบุคคล ไม่ว่าจะในฐานะผู้กล่าวหา ผู้ต้องหาหรือพยาน ต้องกำหนดให้บันทึกภาพและเสียงเป็นหลักฐานให้พนักงานอัยการและศาลเรียกตรวจสอบได้ทุกคดี 4.คดีฆาตกรรมหรือสงสัยว่าน่าจะเกิดจากการฆาตกรรม พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้นายอำเภอ พนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน และแพทย์ ร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุและรวบรวมพยานหลักฐาน ลงลายมือชื่อรับรองไว้พร้อมกัน
5.คดีที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไป หรือคดีที่มีผู้ร้องเรียนต่อพนักงานอัยการว่าการสอบสวนมิได้เป็นไปตามกฎหมาย หรือพนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์ ให้อัยการมีอำนาจเข้าตรวจสอบและสั่งการสอบสวนคดีนั้นได้ 6.การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการในการตรวจสอบพยานหลักฐาน 7.กระจายอำนาจสอบสวนโดยกำหนดว่า “กระทรวง กรมที่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายใด ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นด้วย โดยไม่ตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนที่ดำเนินการสอบสวนไปตามอำนาจหน้าที่ของตน”
ประเด็นตามข้อ 1 สามารถกระทำได้โดยเสนอให้นายกฯ นำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานและได้เสนอต่อนายกฯ ไว้ นำเข้าสู่สภาเพื่อตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ ประเด็นตามข้อ 2-7 สามารถกระทำได้ด้วยการเสนอให้นายกฯ นำร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิอาญา ของคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 และประธานรัฐสภาได้เสนอไว้นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาเพื่อแปรญัตติเพิ่มเติมในข้อ 2, 3, 4, 6 และ 7 เพื่อตราเป็นกฎหมายต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |