มีคำเตือนจากนักวิเคราะห์บางสำนักว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะติดลบตั้งแต่ 6-10% และยังไม่มีใครรู้ว่าเราได้ผ่าน “จุดที่เลวร้ายที่สุด” แล้วหรือยัง
ที่น่ากลัวก็คือ หากไม่มีการใช้มาตรการที่ได้ผลจากนี้ไป รัฐบาลไทยอาจจะตกอยู่ในภาวะ “ตกหน้าผากลางคลัง”
คำนี้มาจากภาษาฝรั่ง Fiscal Cliff
คุณบรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดของ Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์บอกเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง
อีไอซีปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ทั้งปี จากเดิม -7.3% เป็น -7.8%
เหตุผลคือยังมีอุปสรรคต่อการฟื้นตัวหลายอย่าง
นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยมีปีละ 40 ล้านคน ปีนี้อาจจะเหลือ 6.7 ล้านคน ตามนโยบายการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังไม่มีแนวโน้มผ่อนคลาย
ผมไม่แน่ใจว่ามาตรการใหม่ที่กำลังพูดถึงกันอยู่วันนี้คือ Special Tourist Visa สำหรับให้คนมีสตางค์จากต่างประเทศมาพักยาว ตั้งแต่ 90 ถึง 270 วัน โดยต้องมากักตัวอยู่ 14 วันนั้น จะดึงคนเข้ามาได้มากน้อยเพียงใด
แต่แม้จะประสบความสำเร็จตามแผนนี้ก็คงจะเป็นจำนวนที่จำกัด เพราะทางการบอกว่าจะตั้งเพดานไว้ที่เดือนละ 1,200 คนโดยประมาณ
ถือว่าแค่ “แง้มประตู” เล็กๆ เป็นการหยั่งเชิงดูเท่านั้น ไม่ได้มีผลถึงขั้นจะทำให้มีผู้คนจากต่างประเทศมาเที่ยวกันอย่างเป็นกอบเป็นกำแต่อย่างไร
คุณบรรยงบอกว่าเม็ดเงินเงินช่วยเหลือจากภาครัฐภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ที่มีแนวโน้มเข้าสู่เศรษฐกิจปีนี้น้อยกว่าที่คาด
อยู่ที่ 4.75 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าน่าจะเป็น 6 แสนล้านบาท
อีกทั้งเม็ดเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลที่จะน้อยลงมากในช่วงหลังของปี
ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “หน้าผาทางการคลัง” ส่งผลกระทบต่อประชาชนบางกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง
ตัวเลขคนว่างงานไตรมาส 2 เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.95% หรือสูงที่สุดในรอบ 11 ปี
รายได้ของแรงงานมีแนวโน้มหดตัวลงมาก จากชั่วโมงการทำงานลดลง งานล่วงเวลา (โอที) หายไป
จำนวนแรงงานต้องหยุดงานชั่วคราวสูงถึง 2.5 ล้านคน
สะท้อนถึงความอ่อนแอของตลาดแรงงาน
หากระดับการปิดกิจการและการว่างงานเพิ่มขึ้นและยืดเยื้อ ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้, การบริโภคและการลงทุน
อะไรคือ “หน้าผาการคลัง”?
หน้าผาทางการคลัง คือ การที่เศรษฐกิจของประเทศสูญเสียแรงขับเคลื่อนทางการคลังอย่างฉับพลันและรุนแรง ทำให้ผู้คนไม่สามารถปีนป่ายกลับออกจากหุบเหวแห่งปัญหาเศรษฐกิจได้
อาการ “หมดเรี่ยวแรง” ที่ว่านี้สาเหตุสำคัญอาจมาจากมาตรการด้านการคลังชั่วคราวที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่เกิดวิกฤตินั้นสิ้นสุดลง
ยิ่งมาตรการนั้นๆ มีขนาดใหญ่เท่าไร เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของมาตรการก็จะยิ่งจะทำให้เศรษฐกิจสูญเสียแรงส่งมากขึ้นเท่านั้น
สิ่งที่จะตามมาก็คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจถูกฉุดให้ลดต่ำลง
และหากหนักหน่วงเข้าก็อาจรุนแรงถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอย
จึงเปรียบเปรยเหมือน "ตกหน้าผา" แล้วหาทางปีนกลับขึ้นมาไม่ได้ เพราะหมดเรี่ยวหมดแรง
แม้จะมีคนมาช่วย แต่คนช่วยก็หมดสภาพไปเช่นกัน
เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน กำลังจะหมด และเงินก้อนใหม่ก็มีจำกัดทั้งจำนวนและช่วงเวลาที่ช่วยเหลือ
อีกทั้งเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้นก็ยังไม่สามารถเบิกออกมาใช้ได้เต็มตามจำนวน เพราะปัญหาระบบระเบียบที่สลับซับซ้อน และขาดการวิเคราะห์ช่องโหว่ก่อนจะออกกฎเกณฑ์
ทั้งหมดนี้ทำให้คนไทยจำนวนมากตกอยู่ในสภาพ “ขาดออกซิเจน” เหมือนโดนโยนลงไปที่หน้าผา ไม่มีอะไรมาช่วยให้ปีนกลับขึ้นมาได้
เพราะในภาวะวิกฤติเช่นนี้ เจตนาดีของรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียวไม่อาจจะช่วยได้ หากในทางปฏิบัติไม่สามารถจะให้เงินไปถึงจุดที่มีความต้องการใช้มากที่สุด, ให้ทันกับสถานการณ์ที่สุด
“หน้าผาการคลัง” ที่เห็นอยู่ข้างหน้าเรานั้นสูงและชันมากเสียด้วย!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |