ถกแก้ไข รธน. 6 ฉบับวันแรก ชงตั้ง ส.ส.ร. ฝ่ายค้านย้ำล้างมรดก คสช. รัฐบาลห้ามแตะหมวด 1-2 "ก้าวไกล" ดันยกเลิก 250 ส.ว. หยุดระบอบประยุทธ์ ส.ว.สวนกลับลั่นมาตาม รธน.แต่นักการเมืองบางคนแอบไปอยู่ใต้กระโปรงเด็ก วันๆ คิดแต่จะล้มเจ้า ประสานเสียงยกคำวินิจฉัยศาล รธน. ยันยกร่างใหม่ทั้งฉบับขัด รธน. เหมือนลูกฆ่าแม่ ทรยศ 16.8 ล้านเสียง เปลืองงบฯ เตือนอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ยุนายกฯ ปิดสวิตช์ ส.ส. ยุบสภา "บัญญัติ" ย้อนปี 39 แก้ รธน.เพิ่มหมวดใหม่ได้ "ไทยภักดี" ยื่น 1.3แสนรายชื่อค้านแก้ รธน. ขู่ส่งศาล รธน.ตีความแน่
ที่รัฐสภา เกียกกาย วันที่ 23 กันยายน มีการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 6 ฉบับ ในวันแรก
ก่อนการประชุม นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ตกลงกรอบเวลาทั้ง 3 ฝ่ายเท่าๆ กัน ส่วนการลงมติจะลงทีละญัตติคราวเดียวกันทั้ง 6 ญัตติ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร ส่วนตัวจะขอให้สมาชิกกระชับในการลงมติ ส่วนการรับมือการชุมนุมที่จะมาบริเวณรัฐสภาในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ไม่เป็นไรส่วนใหญ่เข้าใจในระบอบประชาธิปไตย คาดว่าคงไม่มีการก่อเหตุรุนแรง แต่ต้องเฝ้าระวัง
นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ในฐานะโฆษกพรรค ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เกี่ยวกับจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า วันนี้ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของฝ่ายเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้ถึงแม้ว่าพรรครปช.จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่วันนี้ไม่ใช่การพิจารณางบประมาณแผ่นดินที่จำเป็นต้องเคารพมติวิปรัฐบาล
ที่บริเวณหน้ารัฐสภา กลุ่มไทยภักดี นำโดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทยภักดี นำมวลชนประมาณ 100 คน เข้ายื่นรายชื่อจำนวน 130,000 รายชื่อ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา เพื่อคัดค้านการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 โดย นพ.วรงค์ปราศรัยถึงคำแถลงของกลุ่มไทยภักดี 4 ข้อว่า 1.รัฐธรรมนูญปี 60 มาจากประชามติของประชาชน 16.8 ล้านเสียง ถือว่าประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีประโยชน์ใดๆของประชาชน มีแต่ประโยชน์นักการเมืองที่ต้องการแก้ไข เช่น การปราบโกง 3.ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเสียเงินอีก 15,000 ล้านบาท และ 4.ปัญหา ส.ว.ที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงบทเฉพาะกาล เหลือเวลาอีก 3 ปีก็จะหมดวาระ
“ในการพิจารณาวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญจนถึงวันที่ 24 ก.ย.นี้ หากรัฐสภาลงมติผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ จะต้องถึงศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน ถ้าดื้อดึงเราจะไปดำเนินการยื่นศาล เชื่อว่าศาลมีบรรทัดฐานอยู่แล้ว ไม่มีอะไรต้องกลัว ชนะอย่างเดียว” นพ.วรงค์กล่าว
จากนั้น นพ.วรงค์นำกลุ่มไทยภักดียื่น 130,000 รายชื่อ ผ่านนายศุภชัย สมเจริญ รองประธาน ส.ว. ในฐานะตัวแทนประธานส.ว. และนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ในฐานะตัวแทนประธานสภาฯ
ต่อมาเมื่อเวลา 09.30 น. ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 6 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอ 2.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เป็นผู้เสนอ
3.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271 ที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นผู้เสนอ 4.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ที่นายสมพงษ์ อมรวิฒน์ เป็นผู้เสนอ 5.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกมาตรา 279 ที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นผู้เสนอ และ 6.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม ที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นผู้เสนอ
แก้ ม.256 ตั้ง สสร.
โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นทักท้วงว่า ญัตติที่ตนเสนอนั้นไม่ได้รับการบรรจุในระเบียบวาระการประชุม ซึ่งญัตติของตนเป็นเรื่องขอให้ประธานรัฐสภาส่ง 4 ญัตติของฝ่ายค้านไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากพบปัญหาการลงลายมือชื่อซ้ำกัน
นายชวนชี้แจงว่า ญัตติดังกล่าวได้ตกไป เพราะฝ่ายเลขาธิการสภาฯ ได้พิจารณากรณีนี้เป็นพิเศษ โดยเรียกประชุมฝ่ายกฎหมายทั้งหมดของสภา และทำความเห็นเสนอคือ กฎหมายเสนอ 4 ฉบับ เป็นคนละเรื่องและคนละหลักการ ดังนั้นการลงชื่อซ้ำจึงไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้
จากนั้น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน และผู้เสนอญัตติ ชี้แจงหลักการและเหตุผลญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 จะเดินได้ต้องมีมติจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และมีเสียงจากพรรคการเมืองที่ไม่มีประธานหรือรองประธานสภาฯ หรือไม่มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพรรคการเมืองดังกล่าว และยังต้องทำประชามติ จึงเห็นควรให้กลับไปใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา รวมถึงเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่ชี้ว่ารัฐธรรมนูญควรแก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย จึงควรจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ
นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า ส่วนหลักการร่างแก้ไขยกเลิกมาตรา 270 ถึง 272 เป็นหลักการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และขัดกับหลักการถ่วงดุลอำนาจ โดยเฉพาะมาตรา 272 เกี่ยวกับการให้ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีสิทธิร่วมลงมติเลือกนายกฯ ด้วย ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการและประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เห็นควรยกเลิกมาตรา 272 และแก้ไขมาตรา 159 ให้การเสนอชื่อนายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. รวมทั้งให้ยกเลิกมาตรา 279 เกี่ยวกับการประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำของ คสช.และหัวหน้าคสช. ส่วนการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีปัญหาหลายด้านยุ่งยากในทางปฏิบัติ การคิดคำนวณไม่แน่นอนชัดเจน สมควรนำวิธีการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบกลับมาใช้
หลังจากนั้น นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา เสนอร่างแก้ไขรัฐบาลฉบับพรรคร่วมรัฐบาลว่า เนื่องจากเมื่อบังคับใช้รัฐธรรมนูญระยะหนึ่ง แต่มีปัญหาไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย จึงควรแก้ไขมาตรา 256 ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมาะสม ไม่ยุ่งยากเหมือนปัจจุบัน และควรมีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมี ส.ส.ร. เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทำรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม สอดคล้องเจตนารมณ์ประชาธิปไตย รวมถึงมีการรับฟังความเห็นและออกเสียงประชามติ
"ผมอยากเห็นบ้านเมืองสงบ ไม่แบ่งแยก ในญัตติพรรคร่วมรัฐบาลมีเจตนารมณ์แก้ในมาตราที่เป็นปัญหา แต่ยืนยันไม่แก้หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งทุกคนมีความเห็นตรงกัน รวมถึงญัตติของผู้นำฝ่ายค้าน และเห็นร่วมกันว่าควรแก้ไขมาตรา 256 แต่ถ้าจะแก้ไขได้ จะต้องอาศัยเสียงวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ร่วมลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย" นายวิรัชกล่าว
ต่อมาเวลา 11.00 น. นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เสนอให้รัฐสภายกเว้นข้อบังคับ เพื่อบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของกลุ่มไอลอว์ ที่เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ บรรจุเป็นญัตติเพื่อพิจารณาพร้อมกัน และขอให้แจกจ่ายเอกสารร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้สมาชิกรัฐสภาศึกษา
หยุดระบอบประยุทธ์
ขณะที่นายชวน หลีกภัย ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้นชี้แจงว่า ฝ่ายรัฐสภาต้องมีการตรวจสอบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบังคับไว้ว่าต้องมีรายชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ ดังนั้นจึงยกเว้นข้อบังคับที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ก็อยากให้เสนอพร้อมกัน จึงกำชับเจ้าหน้าที่ให้เร่งตรวจสอบให้ทันภายในสมัยประชุมต่อไป
จากนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามเงื่อนไขใน ม.256 คือต้องใช้เสียงของรัฐสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง จะต้องมีเสียงของ ส.ว. ประมาณ 84 เสียง ดังนั้นความร่วมมือจากรัฐสภาจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ตนสนับสนุนให้มีวุฒิสภา เพราะจากประสบการณ์รัฐสภา มีความจำเป็นต้องมีวุฒิสภาประกอบ แต่ถ้าวุฒิสมาชิกไม่ได้มาจากเลือกตั้งก็ต้องมีอำนาจโดยจำกัด คือกลั่นกรองกฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่ให้อำนาจ ส.ว.จากการแต่งตั้งคือรัฐธรรมนูญปี 2521 40 ปีผ่านมา จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ประเทศไทยยังไม่ไปไหน วนเวียนเหมือนม้าหมุน แค่เปลี่ยนจากประชาธิปไตยครึ่งเดียวในรุ่นพ่อ กลายเป็นประชาธิปไตยสลึงเดียวในรุ่นลูก ขอวิงวอนสมาชิกทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ช่วยกันถอนฟื้นออกจากกองไฟ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากตัวแทนที่หลากหลายมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ ส.ส.ร. เป็นกลไกการสืบทอดอำนาจอีกทีเช่น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลที่ ส.ส.ร.มาจากการแต่งตั้ง จะทำให้ ส.ส.ร.ที่ออกมาจะอยู่ภายใต้ระบอบประยุทธ์ ต้องไม่ยื้อหรือประวิงเวลาให้ระบอบประยุทธ์ ดังนั้นต้องยกเลิกการที่ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนที่มีอำนาจเลือกนายกฯ ขอให้ทุกคนอยู่ฝั่งเดียวกับประชาชน หยุดฟังคำสั่งของระบอบประยุทธ์ หยุดกอดอำนาจไว้แล้วปล่อยประเทศไปสู่อนาคต
ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ คัดค้านว่า การอภิปรายของนายพิธา ใช้คำว่าระบอบประยุทธ์หลายรอบ ก็อยากจะบอกว่าการปกครองของประเทศไทยมีเพียงระบอบเดียวคือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากฝ่ายของตนพูดว่าระบอบธนาธรบวกกับปิยบุตรบ้างก็คงไม่ดี
จากนั้นนายชวนได้ขานชื่อให้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. อภิปราย โดย นพ.เจตน์อภปิรายว่า ยืนยัน ส.ว.มีอิสระทางความคิด ไม่มีการหารือหรือขอร้องให้ลงมติในทิศทางเดียวกัน ญัตติทั้ง 6 ญัตติไม่เหมาะกับสถานการณ์ของประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไข ม.256 เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร.ทั้งของพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาล ครั้งหนึ่งเคยมีการตั้ง ส.ส.ร.มาแล้วมีการอภิปรายว่าเปรียบเหมือนลูกฆ่าแม่ และเป็นการตีเช็คเปล่า ต่อมาปี 55 มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาโดยการลงมติของประชาชน ก็ควรให้ประชาชนได้ประชามติเสียก่อนว่าควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
บรรยากาศการประชุมตั้งแต่ช่วงต้นเป็นไปด้วยดี กระทั่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยอภิปราย ทั้ง ส.ว.และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลลุกขึ้นประท้วงอย่างต่อเนื่อง เพราะเนื้อหาการอภิปรายพาดพิงถึงบุคคลภายนอก อาทิหลานชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นต้น
ทำให้ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว. ลุกขึ้นประท้วง พร้อมชี้แจงว่าหลานชายของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ท่านพูดถึง หมายถึงลูกชายของตน คนเรามีสิทธิ์ประกอบอาชีพของตนเอง และอาชีพที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ใส่ร้ายป้ายสี นำเรื่องไม่จริงกล่าวกับที่ประชุมแห่งนี้ และขอให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ถอนคำพูด
หลังจากนั้น นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าพรรคภูมิใจไทยได้แถลงจุดยืนออกมาตลอดเพื่อดึงฟืนออกจากกองไฟ ฉะนั้นการที่ร่วมกันดึงฟืนออกจากไฟเพื่อลดความขัดแย้ง ดังนั้นหนทางหนึ่งคือการทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน โดยแก้ไขกติกาที่ไม่สอดรับกับระบอบประชาธิปไตย พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งสภาร่างรัฐ ธรรมนูญ ที่มีสัดส่วนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา จะต้องไม่มีการแตะต้องหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์
ยกร่างทั้งฉบับขัด รธน.
ในการอภิปรายในช่วงบ่าย ส.ว.หลายคนอภิปรายอย่างน่าสนใจ อาทิ พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ ส.ว. อภิปรายว่า ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ การให้มี ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการทรยศต่อ 16.8 ล้านเสียงที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และยังสิ้นเปลืองงบประมาณ 20,000 ล้านบาทในการทำประชามติ แทนที่จะเอาเงินไปซื้อวัคซีนโควิด-19 ไม่รู้คิดถึงคนไทยหรือคิดถึงวาระซ่อนเร้นของตัวเอง
นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. อภิปรายว่า การขอแก้ไขมาตรา 256 ให้ตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ คือการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เกรงว่าอาจมีการไปยื่นให้อัยการสูงสุดหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับทำได้หรือไม่ เพราะอาจถูกกล่าวหากระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 รวมถึงอาจถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาเรื่องจงใจปฏิบัติหน้าที่ใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มีความผิดถึงขั้นยุบพรรค ตัดสิทธิ์การเมือง 10 ปี และถูกฟ้องคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
"ส่วนการปิดสวิตช์ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 นั้น ถามว่า ส.ว. 250 คนทำผิดอะไร ถึงขั้นจะปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่ให้ทำตามหน้าที่ในรัฐธรรมนูญ ส.ว.อยู่มาไม่ถึง 2 ปีจะปิดสวิตช์แล้ว ขณะนี้ประเทศมีปัญหามากมาย นายกฯ ควรปิดสวิตช์ ส.ส.ด้วยการยุบสภาเลือกตั้งใหม่จะเป็นทางออกที่ดีกว่า" นายเฉลิมชัยกล่าว
ต่อมา พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรก ทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนที่จะมีการลงมติรับหลักการในวาระแรกว่า อยากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ครั้งที่สอง ทำหลังจาก ส.ส.ร.ยกร่างเสร็จ แล้วทำประชามติสอบถามประชาชนว่าพอใจกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เชื่อว่าการแก้ไข รธน.ครั้งนี้มีคนยื่นให้ศาลตีความเหมือนกับปี 2555 แน่นอน
จากนั้นเวลา 16.25 น. นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า โพลส่วนใหญ่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน รายงานของอนุกรรมาธิการฯ ที่เดินทางไปรับฟังความเห็นจากคนหลายกลุ่มนั้น ทุกกลุ่มต่างเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น เกือบจะทุกหมวดด้วยซ้ำไป จึงอาจเป็นที่มาเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร. เพราะถ้าจะแก้ไขเป็นรายมาตราจะแก้กันไม่ไหว ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ขัดรัฐธรรมนูญหรือ และเราจำเป็นต้องทำประชามติหรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อปี 2539 ที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มหมวดใหม่ขึ้นมาหมวดหนึ่งก็ยังทำกันได้ ไม่เห็นมีการเรียกร้องว่าทำได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถ้าประเทศจะต้องใช้จ่ายงบประมาณบางส่วนจำนวนพอสมควรกับเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่สมควรแก่การกระทำเป็นอย่างยิ่ง
จากนั้นเวลา 17.00 น. นายชาญวิทย์ ผลชีวิน ส.ว. อภิปรายว่า ตนรับไม่ได้ ส.ส.อย่ามาดูถูกว่ามาจากเผด็จการ เพราะ ส.ว.ก็มาจากรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ตนยอมรับประชาธิปไตยที่อยู่บนพื้นฐานความเห็นต่าง แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ก.ข.ต. (เกลียดชัง ขัดแย้ง แตกแยก) ประชาธิปไตยที่เห็นต่างต้องสง่างาม เพราะฉะนั้นจะร่างรัฐธรรมนูญอีกกี่ฉบับ ถ้าแก้ทุกอย่างแต่ไม่แก้ตัวเอง ไม่เคยแพ้เลย จะชนะอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปราย ว่า ถ้าให้อำนาจ ส.ว. มาโหวต ส.ว. 250 คนสามารถยับยั้งการแก้กฎหมายของประชาชน 50,000 คนได้ แต่ร่างนี้ก็ยังยืนยันอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ต่างอะไรจากเอาคนพิการมือด้วนมากดโหวต เพราะคนที่โหวตจริงๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์
จากนั้น นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ประท้วงผู้อภิปรายว่า ส.ว.มาตามรัฐธรรมนูญ แต่นักการเมืองบางพรรค บางคน แอบไปอยู่ใต้กระโปรงเด็ก วันๆ คิดแต่จะล้มเจ้า ทำให้นายชวนซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมปิดไมค์ และเตือนไม่ให้พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.พรรคก้าวไกล ติงนายกิตติศักดิ์ว่าปัญญาชนไม่ควรพูดคำเช่นนี้ ภายหลังนายกิตติศักดิ์จึงยอมถอนคำพูดว่าใต้กระโปรงเด็กและล้มเจ้าล้มสถาบัน
ต่อมาเวลา 18.15 น. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายตอนหนึ่งว่า ไม่อยากให้พูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น เพราะเป็นการเมืองแบบเก่า ไม่ได้ทำให้ประเทศเจริญ สังคมก้าวหน้า รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติให้ ส.ว.มาจาก คสช. เพราะเป็นความเห็นพ้องต้องกัน การทำงานของ ส.ว.มาจากความเหมาะสมของสถานการณ์บ้านเมือง ไม่มีสิ่งไหนดีที่สุด แย่ที่สุด ในข้อเสนอที่ให้มีส.ส.ร. แต่บรรยากาศช่วงนี้มีการเรียกร้องทางการเมืองสูง ก็นึกภาพหาก ส.ส.ร.มาจากประชาชน ก็ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ เป็นเรื่องที่ดี แต่แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นคือ ส.ส.ร.มาจากพรรคการเมือง เขามีฐานเสียง หัวคะแนน มีวิธีการที่จะทำให้ชนะ ในที่สุดแล้วอาจเห็นส.ส.ร.ซื้อเสียงมากที่สุด ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ที่กังวลในขณะเกิดความเห็นแตกแยกทางการเมือง ดูหมิ่นสถาบัน มีข้อเสนอคิดไปไกล ก้าวไกลจริงๆ
เมื่อถึงช่วงนี้ ส.ส.พรรคก้าวไกลใช้สิทธิ์ถูกพาดพิง ลุกขึ้นประท้วง แต่นายเสรีแย้งว่า ขอให้ประธานย้อนเปิดเทปดูได้ว่า ไม่ได้มีคำไหนไปเอ่ยถึงพรรคก้าวไกล แต่นายชวนยังยืนกรานขอให้ถอนคำพูด เพราะคำพูดลักษณะนี้ทำให้คิดถึงพรรคก้าวไกลได้ สุดท้ายมีการโต้แย้งระหว่างนายเสรีกับ ส.ส.ก้าวไกลอีกระยะ ในที่สุด นายเสรียอมถอนคำพูดและอภิปรายต่อ
มีรายงานข่าวว่า มีการประชุมวิปรัฐบาลเพื่อกำหนดทิศทางการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 ร่าง ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ยกเว้นพรรครวมพลังประชาชาติไทย จะเห็นชอบตามร่างแก้ไขฉบับที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐและคณะ เป็นผู้เสนอ เพียงฉบับเดียวเท่านั้น สำหรับ ส.ว. ขณะนี้ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจน เนื่องจากยังไม่ได้รับการส่งสัญญาณจากผู้มีอำนาจในรัฐบาล ซึ่งจะชัดเจนในช่วงเย็นของวันที่ 24 ก.ย.นี้ โดยคาดว่าจะปิดการอภิปรายประมาณ 18.00 น. หลังจากนั้นจะเป็นการลงมติทั้ง 6 ญัตติ โดยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาทีละคน ซึ่งจะให้ลงมติด้วยวาจาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตติใดบ้าง
"วันที่ 24 ก.ย. จะมีการนัดคุยระหว่างวิปรัฐบาลและวิปวุฒิสภาอีกครั้งว่าจะลงมติอย่างไร เพราะทราบว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน. ซึ่งจะต้องมีการทำความเข้าใจ เพื่อให้โหวตเห็นชอบร่างของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล คือแก้มาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร. เพราะสุดท้ายหากทุกร่างถูกคว่ำหมด จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ โดยเฉพาะการสร้างความไม่พอใจแก่ผู้ชุมนุม จึงเชื่อว่าการลงมติในช่วงค่ำวันที่ 24 ก.ย. ส.ส.ฝั่งรัฐบาลและ ส.ว.เกิน 84 เสียง จะเห็นชอบร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเพียง 1 ร่าง และคว่ำ 5 ร่างของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน" แกนนำวิปรัฐบาลระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |