แก้ 256 ตั้งสภาร่างรธน. ฉลุยหรือวืด รู้ผลค่ำคืนนี้


เพิ่มเพื่อน    

       หากไม่มีอะไรผิดคิว ช่วงหัวค่ำคืนวันพฤหัสบดีนี้ 24 ก.ย. ก็จะได้รู้ผลการลงมติของสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว.กันแล้วว่า สุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะการแก้มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้ง "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

      หลังผลประชุมวิปสามฝ่ายเคาะออกมาแล้วว่า การอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาต่อญัตติแก้ไข รธน.ทั้งหมดจะต้องสิ้นสุดภายในเวลาไม่เกินช่วง 18.00 น.ของวันที่ 24 ก.ย. จากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดเพื่อลงมติว่าจะ "เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ" ร่างแก้ไข รธน.ฉบับใดบ้างจากทั้งหมด 6 ร่าง ที่สมาชิกได้มีการอภิปรายกันไปแล้วสองวันตั้งแต่ 23-24 ก.ย.

      มีการคาดหมายกันว่า การขานชื่อลงมติที่คาดว่าจะมี ส.ส.-ส.ว.มาร่วมประชุมลงมติกันคับคั่งเพื่อขานชื่อลงมติกันรายบุคคลเรียงตามลำดับตัวอักษรนำหน้าชื่อ แล้วขานชื่อลงมติกันไปทีละร่างให้ครบทั้ง 6 ร่าง ที่มีการคาดหมายกันว่าน่าจะใช้เวลาสัก 3-4 ชั่วโมง หากทุกอย่างเดินไปตามกรอบเวลาที่กำหนด สักประมาณ 21.00 น.ของวันที่ 24 ก.ย. ก็น่าจะพอทราบผลอย่างไม่เป็นทางการแล้ว   

      ในส่วนของเสียงลงมติที่ทุกฝ่ายจับจ้องก็คือ การขานชื่อของสมาชิกวุฒิสภาว่าจะเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไข รธน.ฉบับใดบ้าง โดยเสียงเห็นชอบของ ส.ว.ที่จะทำให้ร่างแก้ไข รธน.ฉบับใดผ่านรัฐสภาวาระแรก การลุ้นผล คนที่ติดตามก็จะใช้วิธีนำชื่อของ ส.ว.ทั้งหมด 250 คนที่เรียงลำดับตัวอักษรมากาง มาติ๊กไปทีละคน แค่เห็นร่างใดมี ส.ว.ออกเสียงเห็นชอบเพียงแค่ 84 คน ไม่ต้องถึงกึ่งหนึ่ง ก็รู้แล้วว่าร่างแก้ไข รธน.ฉบับนั้นได้ไปต่อหรือตกรางไม่ถึงสถานีที่หมาย

        ทั้งนี้ ร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 6 ร่าง ประกอบด้วย

       1.ร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภากับคณะเป็นผู้เสนอ 2.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่พรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้เสนอ

       โดยทั้งสองร่างดังกล่าวคือการเสนอแก้มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่าง รธน.ไปยกร่าง รธน.ฉบับใหม่

        3.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ให้ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271 ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ

        อันเป็นการเสนอให้ยกเลิกอำนาจของ ส.ว.ในการติดตาม เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ

      4.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ที่ก็คือการให้ยกเลิกอำนาจพิเศษของ ส.ว.ชุดปัจจุบันที่มาจาก คสช. ในเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

       5.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิกมาตรา 279 ที่พรรคเพื่อไทยและคณะเป็นผู้เสนอ อันเป็นร่างที่เสนอให้ยกเลิกการรับรองประกาศและคำสั่งของหัวหน้า คสช. หรือที่เรียกกันว่านิรโทษกรรม คสช.

        6.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม ที่พรรคเพื่อไทยและคณะเป็นผู้เสนอ โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการยกเลิกระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา เพื่อให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออย่างที่เคยบัญญัติไว้ใน รธน.ปี 2540

        สำหรับประเด็น-เนื้อหาการอภิปรายของ ส.ส.ทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ตลอดทั้งวันพุธที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา เข้มข้น-ได้เนื้อได้หนัง-ดุดันกันพอประมาณ โดยบางช่วงก็มีการดวลฝีปาก-เกทับกันอย่างร้อนแรง โดยเฉพาะระหว่าง ส.ว.กับ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ถึงขั้นยกเรื่อง "ล้มสถาบัน" ขึ้นมาใส่กันไฟแล่บ

        ทั้งนี้ เนื้อหาการอภิปรายของบางฝ่ายก็คาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าต้องออกมาโทนนี้ อย่างเช่นภาพรวมการอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้านส่วนใหญ่นำเสนอเนื้อหาสนับสนุนการต้องแก้ไข รธน.ผ่านการตั้ง ส.ส.ร. โดยส่วนใหญ่อภิปรายว่า รธน.ปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตย-เปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจ-บทบัญญัติหลายมาตราสร้างปัญหาให้กับการเมืองไทย เช่น การให้ ส.ว.ที่มาจาก คสช.มีอำนาจเลือกนายกฯ และเน้นย้ำว่าหากการแก้ไข รธน.รอบนี้ไม่เกิดขึ้น ความขัดแย้งยังจะคงอยู่ จะส่งผลให้ประเทศถึงทางตัน

        ขณะที่ฝ่าย ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.ก็อภิปรายให้เหตุผลในโทนว่า การตั้ง ส.ส.ร.เป็นเหมือนการตีเช็คเปล่า เพราะไม่รู้ว่าการร่าง รธน.ของ ส.ส.ร.จะออกมาอย่างไร อีกทั้งเกรงว่า ส.ส.ร.อาจถูกครอบงำทางการเมืองได้ จนเข้าไปยกเลิกหรือไม่สานต่อจุดแข็งของ รธน.ปี 2560 เช่น ยาแรงเรื่องการเอาผิดนักการเมืองที่ทุจริต รวมถึงมองว่าการร่าง รธน.ฉบับใหม่ไม่มีหลักประกันว่าจะลดความขัดแย้งได้ แต่สุ่มเสี่ยงจะก่อให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นไปอีกในช่วงการยกร่าง รธน.และตอนทำประชามติ

        และด้วยการออกเสียงในวาระแรกที่ รธน.กำหนดให้เสียง ส.ว.คือตัวแปรสำคัญว่าการแก้ไข รธน.จะสำเร็จได้หรือไม่ ทำให้ทุกฝ่ายจับจ้องไปที่การเคลื่อนไหวของ ส.ว. ว่าสุดท้ายจะเทเสียงหนุนให้การแก้ไข รธน.เกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะการตั้ง ส.ส.ร.ที่เป็นเป้าหมายใหญ่ของหลายฝ่ายในการเรียกร้องเคลื่อนไหวแก้ รธน.

        ท่ามกลางกระแสข่าวว่า จากเดิมที่ ส.ว.จำนวนมากยังมีท่าทีรอการตัดสินใจว่าจะออกเสียงเห็นชอบแบบไหน ซึ่งจะเป็นการเซฟตัวเองได้มากที่สุด และทำให้วุฒิสภากระสุนตกหรือระเบิดลงน้อยที่สุด เพราะเป็นการออกเสียงแบบเปิดเผย เรียกชื่อทีละคน ผ่านหน้าจอโทรทัศน์และเครือข่ายโซเชียลมีเดีย ท่ามกลางการจับจ้องของประชาชนจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มม็อบแนวร่วมประชาชนปลดแอกที่นัดรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภาตั้งแต่ 16.00 น. วันที่ 24 ก.ย.

      ข่าวบางกระแสอ้างว่า หลังฟังการอภิปรายในห้องประชุมจากทั้งฝ่ายสนับสนุนให้แก้ไข รธน.-ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.-ฝ่ายเห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร. แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ รธน.รายมาตรา ในอีก 4 ญัตติของฝ่ายค้าน รวมถึงการพูดคุยในวงกาแฟของ ส.ว.หลายกลุ่มตลอดทั้งวันพุธที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันในกลุ่ม ส.ว.ด้วยกันเอง ตลอดจนการที่ ส.ว.บางส่วนมีการตรวจสอบท่าทีของฝ่ายขั้วอำนาจปัจจุบัน ว่าวางหมากคิดแผนทางการเมืองไว้อย่างไรบ้างหากมีการตั้ง ส.ส.ร.เกิดขึ้น รวมถึงการวิเคราะห์กันเองของกลุ่ม ส.ว. ว่าหากการแก้ไข รธน.ไม่เกิดขึ้นเลย ผลที่จะตามมาเป็นอย่างไร ทั้งกับวุฒิสภาและกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์

      ทำให้จนถึงช่วงเย็นวันที่ 23 ก.ย. คาดได้ว่าหลัง ส.ว.หลายคนได้ฟังการอภิปรายภาพรวมทั้งหมดตลอดสองวันที่ผ่านมา รวมถึงผลจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยกันเองในกลุ่ม ส.ว. ตลอดจนการข่าวการเมืองเชิงอินไซด์ในมุมของฝ่ายขั้วอำนาจปัจจุบันหากมีการแก้ไข รธน. ก็น่าจะทำให้จนถึงช่วงหัวค่ำวันที่ 23 ก.ย. ส.ว.หลายคนที่เคยลังเลใจเริ่มมีคำตอบให้ตัวเองแล้วว่าจะลงมติแบบไหน

      กระนั้นก็คาดว่าจะมี ส.ว.อีกหลายคนเช่นกันที่รอการตัดสินใจจนถึงช่วงบ่ายๆ ของวันที่ 24 ก.ย. เพื่อประมวลข้อมูลทั้งหมด จากนั้นถึงจะตัดสินใจว่าจะขานชื่อลงมติแบบไหน แต่หากดูการอภิปรายของ ส.ว.บางส่วน ตลอดจนรีแอคชันของ ส.ว.ที่ไม่พอใจการอภิปรายของฝ่ายค้าน ที่เสียดสี ส.ว.กลางที่ประชุมหลายครั้ง ก็น่าจะทำให้พอเห็นทิศทางบางอย่างว่า ส.ว.คงมีแรงต้านร่างแก้ไข รธน.ของฝ่ายค้านที่มี 5 ร่างกันพอสมควร

        หัวค่ำวันที่ 24 ก.ย. จะได้รู้กัน สุดท้ายการแก้ไข รธน. โดยเฉพาะการตั้ง ส.ส.ร.จะเกิดขึ้นหรือไม่.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"