22 ก.ย. - ที่โรงแรมรามาดา บาย วินด์แดมแบงคอก เจ้าพระยาปาร์ค นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ร่วมเป็นวิทยากรในวงสนทนา “สานเสวนาปฏิรูปการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงถาม-ตอบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้มีคำถามขึ้นมาจากผู้เข้าร่วมสนทนา ว่าเราจะทำอย่างไรให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงความศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ และให้ไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการลงนามรับรองหรือไม่รับรองอะไร
นายปิยบุตร ตอบคำถามระบุว่า การที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนไว้ว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดล่วงละเมิดมิได้ ฟ้องร้องไม่ได้ จริงๆ แล้วเป็นผลมาจากว่าไม่ผิดเพราะไม่ทำอะไร ในทางหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระมหากษัตริย์จะไม่ใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินโดยตนเอง แต่ให้คณะรัฐมนตรีเป็นคนทำและรับผิดชอบ พระมหากษัตริย์เพียงลงพระปรมาภิไธยเท่านั้น แต่สุดท้ายแล้ววิธีการอธิบายเช่นนี้ก็ยังมีปัญหาในหลายๆ ประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ คือไปไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง มีคำถามเกิดขึ้นมาว่าถ้าพระมหากษัตริย์ไปทำความผิดทางอาญาในเรื่องส่วนตัวขึ้นจะเอาผิดดำเนินคดีได้หรือไม่ นั่นคือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์มีความเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโลกสมัยใหม่
มีเพียงการปรับตัวเท่านั้น เช่นการทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นของสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษ หรือการปฏิเสธของกษัตริย์สเปนที่จะไม่รับมรดกจาก ฆวน การ์โลส พระราชบิดา เนื่องจากพระราชบิดาเมื่อครั้งเป็นกษัตริย์ ถูกกล่าวหาว่าทุจริตรับสินบน พร้อมกับสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ได้มากขึ้น เป็นต้น
การปรับตัวไปตามยุคสมัยเช่นนี้เท่านั้น จึงจะสามารถปกปักรักษาไม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกคนมองว่าไม่เป็นกลาง นั่นคือการกันให้ออกจากปริมณฑลการใช้อำนาจในทางสาธารณะไปเสีย ในโลกสมัยใหม่ เราต้องยอมรับว่าธรรมชาติของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สอดคล้องกับกาลเวลา หลายประเทศรักษาไว้ด้วยเหตุผลทางประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ การหาคำอธิบายให้ความชอบธรรมกับการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นเรื่องยากมากขึ้น
“เมื่อใดก็ตามที่สิ่งนั้นล้าสมัยแล้วแต่คุณยังบอกว่าศักดิ์สิทธิ์อยู่ในยุคสมัยปัจจุบัน คุณจะทำอย่างไรได้ หากทำให้เอื้อมไม่ถึง แตะไม่ถึง เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นไปอีก อันนี้ยิ่งทำให้ล้าสมัยเข้าไปอีก และสังคมก็จะตรวจสอบท้าทายหรือไม่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐ์ขึ้น ยิ่งคุณทำให้ศักดิ์สิทธิ์เท่าไหร่ ความล้าสมัยยิ่งมากขึ้น แต่ถ้าเราต้องการให้สถาบันที่ล้าสมัยไปแล้วอยู่กับยุคสมัยต้องปรับให้เป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น ต้องปรับให้คนทุกคนเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น ต้องปรับให้อำนาจน้อยลง นี่คือวิธีการรักษาในศตวรรษที่ 21” นายปิยบุตรกล่าว
จากนั้น ได้มีคำถามจากผู้เข้าร่วมสนทนาขึ้นมาอีก ว่าในกรณีที่มีการให้ร้ายด้วยข่าวปลอม จะมีอะไรที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้บ้างหรือไม่ และเหตุใดเราถึงต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันพระมหากษัตริย์มีความล้ามัยอย่างไร
นายปิยบุตร ตอบคำถามว่า เราต้องยอมรับความเป็นจริงก่อนว่าการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เกิดมากขึ้นหลังรัฐประหารปี 2549 และหลังการชุมนุมทางการเมืองที่มีการอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ ผลมุมกลับที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาอยู่ในปริมณฑลทางการเมือง ก็คือทำให้มีคนทั้งชอบและไม่ชอบ วิธีการต่อต้านข่าวลวงที่ดีที่สุดไม่ใช่การห้ามพูด แต่ควรให้มีเสรีภาพในการแสดงออกมากที่สุด การเปิดให้เสรีภาพในการแสดงออกจะนำไปสู่การตรวจสอบกันเอง ผิดกับการห้ามไม่มีการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริง ที่จะกลายเป็นการสร้างความจริงข้างเดียวไปอีก ในทางกลับกันการปล่อยให้พูดให้เต็มที่จะนำไปสู่การถกเถียงกัน จะทำให้มีการเปิดให้ตรวจสอบว่าข้อมูลของใครจริงหรือของใครไม่จริงในที่สุด
ทั้งนี้ ตนยังเห็นด้วยว่ากฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบ ไม่ว่าจะกฎหมายหมิ่นประมาทประมุขของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ศาล ทูต บุคคลธรรมดา หรือรวมไปถึงการลบหลู่วัตถุสิ่งของที่เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ ควรเอาออกจากเรื่องอาญาไปเป็นเรื่องทางแพ่งแทน ตามหลักความได้สัดส่วนของการกระทำผิด
การทำให้การพูด เขียน พิมพ์ เป็นโทษอาญาที่ต้องเอาเข้าคุกนั้นตนเห็นว่าเป็นการลงโทษที่เกินกว่าเหตุ ซึ่งบทลงโทษที่ได้สัดส่วนกับเรื่องนี้ควรจะเป็นการเรียกค่าเสียหายแทน ตนเชื่อว่าบางทีผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อาจจะไม่รู้สึกอะไรมากเท่ากับคนที่เคารพศรัทธา คนศรัทธารู้สึกว่ามีคนมาหมิ่นประมาทคนหรือสิ่งของที่เขาศรัทธา เขาจึงยอมไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ความคิดเรื่องหมิ่นประมาทบุคคล แต่มันเป็นเรื่องลบหลู่จาบจ้วงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นความผิดในสมัยโบราณ ในโลกตะวันตก ยุคกลางเคยมีข้อหาหนึ่งที่มาจากการจาบจ้วงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (blasphemy) ซึ่งกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ใช้ในทางปฏิบัติในประเทศไทยอยู่ขณะนี้ ได้กลายเป็นลักษณะคล้ายคลึงกับ blasphemy ไปแล้ว
“เราอยู่ในยุคสมัยศตวรรษที่ 21 เราต้องการให้สถานะตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ทันสมัยหรือไม่ ปรับให้เข้ากับยุคสมัยหรือไม่ ยิ่งปรับได้เท่าไหร่ยิ่งยั่งยืนเท่านั้น ผมเห็นว่ากฎหมายอาญาอย่างมาตรา 112 นั้นล้าสมัย คือต้องเปิดให้วิจารณ์ แล้วถ้าวิจารณ์ไม่จริงก็คือไม่จริง ที่ประเทศอังกฤษ มีกลุ่มคนและนักการเมืองรณรงค์ให้ล้มเลิกสถาบันกษัตริย์ไปเลยนะครับ ก็ไม่เห็นสำเร็จ ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ได้” นายปิยบุตรกล่าว
นายปิยบุตร ยังกล่าวต่อไป ว่าคำถามคือเราต้องการให้ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์มีความทันสมัยหรือไม่ คำตอบไม่ได้อยู่ที่ว่าประเทศอื่นไม่มีแล้วเราควรจะไม่มีตาม แต่เราต้องคิดจากสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้น ว่าเราจะปกครองในระบอบใด ถ้าเราจะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในเมื่อเราจะเป็นประชาธิปไตยก็จำเป็นต้องอธิบายให้สถาบันพระมหากษัตริย์สอดคล้องต้องกัน
เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าพระมหากษัตริย์มีหลายเรื่องที่ถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ พระราชอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นจนเป็นสถานะเช่นในปัจจุบันก็ไม่ได้มีมาแต่โบราณกาล แต่เพิ่งมาเริ่มตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้นพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์มีน้อยมาก ในช่วงเวลานี้เริ่มมีคนเรียกร้องแล้วว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องปรับ และถ้าไม่ปรับก็จะเกิดการปะทะขัดแย้งกันตลอดไป ดังนั้นการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ให้สถาพรตลอดไปเหลือวิธีทางเดียวคือการปรับให้เข้ากับประชาธิปไตยเท่านั้น
“ณ เวลานี้มันถึงจุดที่จำเป็นจะต้องพูดคุยแล้ว เพราะนักเรียน นักศึกษา ประชาชนเขาเรียกร้องมาแล้ว แต่ถ้าเราไม่พูดเลย ปิดไปหมดเลย ทำเป็นมองไ่ม่เห็นเลยนะว่ามีนักศึกษาประชาชนเขามาพูดเรื่องนี้ ผมถามว่าเขาจะหยุดพูดไหม เขาก็จะพูดต่อแล้วจะพูดแรงขึ้นด้วย เพราะว่าสถาบันทางการเมืองในระบบมันไม่มีใครตอบรับเขาเลย เขาจะยิ่งประท้วงหนักขึ้น หนักขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างเวที คือยอมรับก่อนว่ามันมีการเรียกร้องแบบนี้จริงๆ ถ้าไม่เห็นด้วยก็มาคุยกับเขา” นายปิยบุตรกล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |