แก้รธน.ไอลอว์บรรจุไม่ทัน ฝ่ายค้านดันเข้าร่วมกมธ.


เพิ่มเพื่อน    


    ช้าไปต๋อย! "ชวน" บ่นเสียดายญัตติแก้ รธน.ฉบับไอลอว์ไม่ทัน 23-24 ก.ย.นี้ เหตุต้องตรวจสอบรายละเอียดมาก ยันม็อบบุกสภาเป็นเรื่องปกติเหมือนกลุ่มอื่น ประธานวิปฝ่ายค้านยืนยันอีกเสียงไม่ทันแน่ แต่โปรยยาหอมจะให้ภาคประชาชนเข้าร่วมเป็น กมธ.วิสามัญ "ครูหยุย" ยืนยันนายกฯ สั่ง ส.ว.ไม่ได้ 
    เมื่อวันที่ 21 กันยายน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มไอลอว์จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2564 ฉบับประชาชนในวันที่ 24 ก.ย.จะสามารถนำมาบรรจุวาระเพื่อพิจารณาร่วมกับอีก 6 ญัตติทันหรือไม่ว่า หากทันก็ดีเพราะอยากให้พิจารณาไปพร้อมกัน แต่ญัตติที่ยื่นจะต้องมีการตรวจสอบรายละเอียด เพราะหากเกิดความผิดพลาดสภาต้องรับผิดชอบ ทั้งนี้ตนได้นั่งดูรายละเอียดฉบับที่นายจอน อึ๊งภากรณ์ยื่นมาก่อนหน้านี้ อ่านแล้วก็อยากให้นำเข้าพิจารณาได้ทัน แต่เจ้าหน้าที่รายงานมาว่าไม่สามารถทำได้ทันตามกำหนดเวลาได้ เนื่องจากนายจอนเพิ่งเสนอเข้ามาจึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ
    เมื่อถามว่า หากนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาไม่ทัน จะสามารถนำเข้าพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการได้หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำตามกฎหมาย เพียงแต่ประชาชน 5 หมื่นรายชื่อมีสิทธิ์เสนอได้ แต่เมื่อเข้าสมัยประชุมนี้ไม่ทัน และเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วก็สามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระต่อไป
    "เสียดายที่ส่งมาช้าไปหน่อย เพราะอยากให้พิจารณาไปพร้อมๆ กันเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสอภิปรายร่วมกัน ซึ่งผมก็พยายามที่จะช่วยเต็มที่เพื่อให้ญัตติของนายจอนได้บรรจุ แต่เจ้าหน้าที่เขาแจ้งมาแล้วว่าทำไม่ทัน"
    กรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขอให้ประธานสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า 4 ญัตติของฝ่ายค้านไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะมีปัญหากับการอภิปรายในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้หรือไม่นั้น นายชวนตอบว่าไม่มีญัตติไหนมีปัญหา
    ถามถึงกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะมาปักหลักหน้ารัฐสภาในวันที่ 24 ก.ย. ประธานสภาตอบว่า เขาก็มาปกติไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะสภามีคนมาอยู่ทุกวัน ยิ่งในวันประชุมก็มีมาหลายกลุ่ม สภาก็ต้องดูแลอำนวยความสะดวกอย่าให้มีปัญหา ทั้งการรักษาความปลอดภัยและการระมัดระวังไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
    เมื่อถามว่าจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการลงมติรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 24 ก.ย.นี้หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ตนไม่คิดว่าเขามาคุกคามอะไร ตนว่าเขามาตามปกติ มาแสดงความเห็น และความประสงค์ เป็นเรื่องปกติเหมือนแต่ละกลุ่มที่มาแต่ละครั้ง คงไม่มีผลอะไร ส่วนในเรื่องแนวทางการลงมติในญัตติทั้ง 6 ฉบับก็ต้องมีการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่ายในวันที่ 22 ก.ย.นี้
เตรียมรับมือม็อบ
    ด้านนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่าญัตติของนายไพบูลย์ได้ถูกตีตกแล้ว ไม่สามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาได้ เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 156  ของรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้เป็นเรื่องที่จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้ ตามที่ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาได้มีความเห็นเสนอไปยังประธานรัฐสภา
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตามมาตรา 156 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดเงื่อนไขการประชุมรัฐสภามีทั้งหมด  16 วงเล็บ พบว่าไม่มีข้อใดที่ระบุให้รัฐสภาพิจารณาญัตติ เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องใดที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ
    ส่วนการเตรียมความพร้อมกรณีจะมีกลุ่มภาคประชาชนมาชุมนุมบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาในวันที่ 24 ก.ย. นายสรศักดิ์กล่าวว่า สภาไม่ได้กีดกันการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยจะมีการจัดสถานที่ให้เหมือนกับเป็นลานประชาชนที่สามารถรองรับได้มากกว่าหมื่นคน แต่ขณะนี้ลานดังกล่าวยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ขณะนี้จะพูดว่ายินดีต้อนรับก็ยังไม่ค่อยสะดวก เนื่องจากถนนสามเสนคับแคบเป็นเพียงถนนสี่ช่องทางการจราจรเท่านั้น ทั้งนี้หากมี 300-400 คนก็สามารถรองรับได้ แต่ถ้ามากันเป็นหมื่นก็รองรับไม่ไหว ทั้งหมดนี้ได้เรียนให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภารับทราบแล้ว
    "ถ้าม็อบรออีกสักปีนึงทุกอย่างก็จะดีขึ้น แต่เมื่อมีข่าวว่าม็อบจะมาในวันที่ 24 ก.ย. จึงได้มีการหารือกับรองเลขาธิการสภาและฝ่ายรักษาความปลอดภัย รวมทั้งมีการประสานงานไปยังหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีตำรวจนครบาลบางโพและหน่วยทหารที่ดูแลเรื่องความมั่นคง โดยจะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันนี้ซึ่งเป็นศูนย์อำนวยการร่วม โดยจะประเมินสถานการณ์ว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมเท่าไหร่  และสภาจะทำอย่างไร ผมจะสั่งยกระดับการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด และจะเริ่มแผนนี้ในวันที่ 23  ก.ย.ซึ่งเป็นวันประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยจะให้มีเวรยามมากขึ้นและดูแลบริเวณโดยรอบรัฐสภาตลอด 24 ชั่วโมง หากมีอะไรเกิดขึ้นจะสามารถประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันที" นายสรศักดิ์กล่าว
    ขณะที่นายไพบูลย์กล่าวว่า เท่าที่ทราบเหตุผลที่ยังไม่บรรจุญัตติในวาระ เป็นเพราะทีมงานหน้าห้องประธานรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองดึงเรื่องเอาไว้ ทั้งที่ญัตติของฝ่ายค้านยื่นในวันเดียวกับที่ตนเสนอคือวันที่ 16 ก.ย. แต่ของฝ่ายค้านกลับได้รับการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา 
    "ผมรู้สึกติดใจ และไม่สามารถอ้างได้ว่าเหตุผลที่บรรจุล่าช้าเป็นเพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เพราะกรณีของพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติในวันเดียวกับผม มีผู้เข้าชื่อมากกว่า 100 คน แต่กลับได้รับการบรรจุ แต่ของผมมีผู้เข้าชื่อเพียง 45 คนเท่านั้น และเรื่องนี้ผมดำเนินการตามข้อบังคับตามกฎหมาย จะมาหยุดญัตติของผมได้ก็ต้องด้วยกฎหมายเท่านั้น ถ้ามาหยุดโดยวิธีอื่นก็จะมีปัญหา ดังนั้นในวันที่ 23  ก.ย.ผมจะขอถามเหตุผลการไม่บรรจุญัตติดังกล่าวจากประธานรัฐสภา โดยจะใช้ข้อบังคับการประชุม ข้อ  32 (1) และ (2) คือเรื่องที่ต้องปรึกษาหารือ และต้องเปลี่ยนวาระด้วย เพราะเห็นว่าวาระ 4 ญัตติของฝ่ายค้านมีปัญหาที่ต้องตรวจสอบว่าต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่" นายไพบูลย์กล่าว
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเร่งดำเนินการเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประชามติอยู่ เพื่อให้ทันเปิดสมัยประชุมสภาวันที่ 1 พฤศจิกายน ต่อให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.ผ่านสภาแล้วก็ต้องรอกฎหมายประชามติ เมื่อสองส่วนเสร็จสิ้นก็จะไปออกเสียงประชามติ ซึ่งตอนนี้พอคำนวณวันได้แต่ตนไม่ขอพูด เป็นปฏิทินที่รัฐบาลคิดไว้ก็จะเดินไปเช่นนั้น
นำร่าง ปชช.รวมกับ กมธ.
    เมื่อถามว่า การพิจารณาจะนำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีหลายร่างมารวมกันหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าไม่จำเป็น ขอให้เป็นเรื่องของสภาเพราะขณะนี้มีอยู่ 6 ร่าง และยังมีอีกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเตรียมยื่น ซึ่งตรงนั้นต้องไปตรวจสอบความถูกต้อง อย่างไรก็ตามแม้การพิจารณาทั้ง 6 ร่างจะพิจารณารวมกันได้ แต่การลงมติต้องแบบเปิดเผย เรียกชื่อทีละคนจำนวน 750 คน ซึ่งต้องใช้เวลาร่างละ 2 ชั่วโมง 6 ร่างก็ 12 ชั่วโมง ถือว่ายาวนานมาก ดังนั้นเมื่อมีเวลาพิจารณาเพียง 2 วันก่อนปิดสมัยประชุมก็จะเบียดบังเวลาอภิปราย จึงต้องควบคุมเวลาให้ดีและจะไม่สามารถเลยเวลา 24.00 น.ของวันที่ 24 กันยายนไปได้ 
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงแนวทางการหารือในที่ประชุม 3 ฝ่ายระหว่าง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล, ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ว่าเชื่อว่าทุกคนที่คิดได้เป็นผู้ใหญ่กันแล้วว่า ถึงเวลาหรือไม่ที่จะต้องเอาประเทศออกจากความขัดแย้ง เดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย หรือจะจมอยู่อย่างนี้ และถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องเสียสละแล้วหรือไม่ ก็ต้องร่วมกันคิดว่าหากเสียสละแล้ว แต่อาจจะไม่ถึงกับต้องเสียเกียรติ หากมีความพร้อม มีเป้าหมายคิดที่จะทำให้ทุกคนไปกันได้ ก็น่าจะมีการพูดคุยกัน
    ส่วนการชุมนุมวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา จะมีผลต่อการตัดสินใจของวุฒิสภาในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายสุทินกล่าวว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้น แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะดูไม่ได้เป็นประเด็นหลักที่มีการปราศรัย แต่หากแยกแยะออกก็คงเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องหลัก และอยากให้ตระหนักว่า หากไม่รับข้อเสนอหรือไม่ทำอะไรเลย อาจจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นบ้าง และการชุมนุมหน้ารัฐสภาวันที่ 24 กันยายนนี้ ยิ่งเป็นโอกาสดีของสมาชิกรัฐสภาที่ประชาชนมาแสดงความต้องการแบบทางตรงให้เห็น
    ถามต่อถึงร่างฉบับประชาชนที่กลุ่มไอลอว์จะมายื่น นายสุทินกล่าวว่าคงไม่สามารถเข้าสู่ระเบียบวาระได้ทันวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ แต่เบื้องต้นก็มีความคิดกันว่าจะเอาภาคประชาชนมาร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ และยังมีโอกาสอีกครั้งในกระบวนการสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างอยู่แล้ว หรือหากมีเหตุพลาดพลั้งก็ยังมีโอกาสยื่นญัตติซ้ำได้ หรืออาจนำเอาประเด็นความคิดต่างๆ ที่อยู่ในร่างของภาคประชาชนกลุ่มไอลอว์ เข้าไปเติมในชั้นคณะกรรมาธิการได้หากสอดคล้องในหลักการ
    นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 เพื่อลดอำนาจของ ส.ว.ว่า คิดว่า ส.ว.ทั้ง 250 คนมีความหลากหลายทางความคิด แต่ถ้าความเห็นส่วนตัว คิดว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญทุกข้อ แก้รายมาตรา ตนไม่ติดใจอะไรทั้งสิ้น แต่ห้ามยุ่งกับหมวด 1 และ 2  คือเรื่องแบ่งแยกดินแดงและละเมิดสถาบัน ซึ่งเชื่อว่าทั้ง ส.ว., ส.ส.และประชาชนคงรับเรื่องนี้ไม่ได้
    เมื่อถามว่า การปราศรัยของแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมเชื่อมั่นว่านายกฯ สามารถสั่ง ส.ว.ทั้ง 250 คนได้  นายวัลลภยืนยันว่าสั่งไม่ได้ ส.ว.ทุกคนมีเอกเทศ เชื่อว่าทุกคนมีจุดยืนของตัวเอง ขณะนี้ที่ยังสับสนเพราะมี 6 ร่าง จะโหวตกันอย่างไร ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ต้องไปดูรายละเอียด ถ้ามีแค่ 2 ร่างแรกอาจจะโหวตง่ายหน่อย
    "ยืนยันสั่งไม่ได้หรอกครับ และท่านก็ไม่เคยสั่งเลยที่ผ่านมา แม้ตอนโหวตเลือกนายกฯ ก็ไม่มีใครสั่งให้โหวตใครเป็นนายกฯ" นายวัลลภกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"