"หมอตู่" ควง "หมอหนู" ติวเข้ม "อสม." เฝ้าระวังโควิดระลอก 2 ชื่นชมเป็นด่านหน้าสำคัญ ยันรัฐบาลดูแลค่าตอบแทนเต็มที่ ศบค.เผยผู้ป่วยรายใหม่เป็นศูนย์ สธ.เตือนอย่าเพิ่งวางใจยอดติดเชื้อทั่วโลกยังพุ่ง ย้ำคนไทยยังต้องตั้งการ์ดสูง เข้มชมแข่งกีฬา
ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม อาคาร 4 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 21 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดการจัดงานรณรงค์เตรียมความพร้อม อสม.เฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกที่ 2 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ โดย พล.อ.ประยุทธ์สวมเสื้อสีขาวมีโลโก้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเสื้อของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พร้อมเดินทักทายตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
นายอนุทินกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ชื่นชม อสม.ในการเป็นจิตอาสาช่วยระบบการแพทย์และสาธารณสุข เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดโรคโควิด-19 ในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนได้รับการยอมรับ ยกย่อง ชมเชยทั้งในประเทศและต่างประเทศ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติสนับสนุนค่าตอบแทน ชดเชย เยียวยา และเสี่ยงภัยให้ อสม.เป็นระยะเวลา 7 เดือน และจะสนับสนุนอย่างต่อเนื่องหากเกิดการระบาดระลอกที่ 2 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ สำหรับการเตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง ป้องกันการระบาดระลอกที่ 2 อสม.มีบทบาทในการสำรวจสุขภาพจิตของประชาชนในเขตที่รับผิดชอบ เพื่อป้องกันภาวะเครียด ซึมเศร้า หรือการฆ่าตัวตาย
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดงานว่า รู้สึกสบายใจว่าอย่างน้อยว่ามีคนของเรากลุ่มหนึ่งเป็นล้านคนที่ร่วมกันทำประโยชน์ให้สังคม ขอย้อนกลับไปช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด สิ่งที่รัฐบาลเล็งเห็นในศักยภาพ คือด้านสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล แต่ศักยภาพอีกอันหนึ่งที่คำนึงถึงเสมอคือ อสม. หลายประเทศไม่มี แต่ประเทศไทยมี และเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคนที่ได้อาสาสมัครเข้ามาทำงานในเรื่องนี้ ถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่รัฐบาลจะต้องดูแล ทั้งนี้เมื่อเวลา 03.00 น.ได้มีการโอนเงินให้ อสม.แล้ว ขอให้ทุกคนกลับไปดูว่าได้รับเงินครบถ้วนหรือไม่ อย่าถือว่าเงินตรงนี้เป็นค่าจ้าง ขอให้เรียกว่าเป็นเงินตอบแทนน้ำใจเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเดินทางของท่าน อะไรที่สามารถดูแลได้รัฐบาลจะดูแลให้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องของค่าใช้จ่าย เพราะหลายคนเสียสละมามากกว่านี้ รัฐบาลจะทยอยดูแลให้ตามลำดับ
นายกฯ กล่าวว่า เราจำเป็นจะต้องระมัดระวังและเข้มงวดเหมือนเดิม ถึงแม้จะมีการผ่อนคลายไปแล้วก็ตาม แต่กลไกหลักของเราที่สำคัญคือพื้นที่ในท้องถิ่น และขอฝากขอบคุณทุกคนที่ไม่ได้มาในวันนี้ด้วยว่า ทั้งหมดเป็นกำลังใจให้กับนายกฯ เสมอมา ทั้งรองนายกฯ และรัฐมนตรีบอกกับตนว่าพวกเราจะทำให้เต็มที่ทั้งแพทย์ พยาบาล และ อสม.ที่ถือว่าเป็นด่านหน้า นี่คือคำมั่นสัญญาที่ให้กันไว้ ขอให้ อสม.เป็นแกนนำในการรวมไทยสร้างชาติ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยด้านสุขภาพให้มากที่สุดและตลอดไป ไม่ใช่แค่ช่วงสถานการณ์โควิด-19
สิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้างการรับรู้ในการป้องกันตัวเอง ทุกคนถือเป็นบุคคลสำคัญของประเทศไทย เราถูกยกระดับเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ซึ่งเขามองว่าประเทศไทยทำได้อย่างไร ตนบอกว่าเพราะเรามี อสม. ถ้าไม่มีพวกเราคงไม่สามารถทำได้ เพราะเรามีคน 70 กว่าล้านคน สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกันการแพร่ระบาด เราทราบดีอยู่แล้วว่าระยะที่ 1 เป็นอย่างไร และสามารถหยุดได้แค่ไหนอย่างไร เราจะประมาทไม่ได้ว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดในระลอกที่ 2 เราจะอยู่เฉยๆ และหยุดการทำงานไม่ได้ รัฐบาลพร้อมจะดูแลและช่วยเหลือในช่วงที่โควิด-19 ยังแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในโลกใบนี้
"วันนี้มาพูดในฐานะเป็นนายกฯ และได้รับเกียรติจากกระทรวงสาธารณสุขให้ใส่เสื้อตัวนี้ แต่จะเรียกผมว่าเป็นหมอตู่คงไม่ได้ เพราะผมทำหลายอย่างเหลือเกิน หลายกระทรวงจะต้องขับเคลื่อน ผมถือว่าตนเองเป็นช่างแก้ไข ช่างปะผุ ช่างซ่อม ที่จะต้องเดินหน้าประเทศต่อไปในอนาคต ซึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญอันหนึ่งคือการดูแลประชาชนให้มีความสุข มีอาชีพ แน่นอนจะใช้เวลาอันสั้นคงไม่ได้ แต่จะต้องทำทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจและฐานราก หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพลังความร่วมมือร่วมใจในระบบสาธารณสุขของประเทศจะส่งผลให้ประเทศไทยได้ก้าวผ่านภาวะวิกฤติครั้งนี้" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
จากนั้น อสม.ทุกคนได้ลุกขึ้นปรบมือให้กำลังใจนายกฯ ในการบริหารประเทศ และแทนคำขอบคุณที่ได้เล็งเห็นการทำงานอย่างหนักของ อสม. ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์และผู้บริหารระดับสูงร่วมกันทำพิธีเชิงสัญลักษณ์โอนเงินค่าตอบแทนเยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยให้แก่ อสม.เดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 7 เดือน นอกจากนี้ก่อนกลับนายกฯ ยังได้เดินทักทายและเซลฟีกับ อสม.ที่มาร่วมงานอย่างเป็นกันเอง
วันเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ผู้ป่วยรายใหม่เป็นศูนย์ มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,506 ราย ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 2 ราย ยอดสะสมของผู้ที่รักษาหายแล้วรวม 3,342 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตสะสม 59 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 105 ราย
สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 31,231,209 ราย โดยรักษาหายแล้ว 22,822,258 ราย รวมเสียชีวิตแล้ว 965,063 ราย ส่วนที่น่าสนใจคือ กระทรวงสาธารณสุขและกีฬาเมียนมาแถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านจำนวน 393 ราย ส่งผลให้ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 5,263 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 81 ราย ทั้งนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกวัน โดยเฉพาะในเมืองย่างกุ้ง
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงว่า อยากเน้นย้ำว่าในสถานการณ์ตอนนี้ที่ยังไม่มีอะไรเป็นตัวบอกว่าจะวางใจเรื่องโควิด-19 ได้ และเมื่อดูแนวโน้มจากสถานการณ์ทั่วโลกที่มีผู้ป่วยกว่า 30 ล้านคน เป็นตัวบ่งชี้ว่าถ้าสถานการณ์โลกยังดำเนินแบบนี้ต่อไป ไทยจะยังคงรับความเสี่ยงจากสถานการณ์รอบด้าน สำหรับสถานการณ์รูปแบบการติดเชื้อในคนไทย กลุ่มที่ 1 คือ ติดเชื้อแล้วจำนวนน้อย จำนวนมากยังไม่เคยติดเชื้อ ยังไม่มีภูมิต้านทาน กลุ่มที่ 2 ติดเชื้อแล้วจำนวนน้อยมีอาการ อีกจำนวนมากติดเชื้อน้อย อาการน้อย หรือไม่มีอาการ พวกนี้อาจมีภูมิต้านทานระยะสั้น กลุ่มที่ 3 เชื่อว่าวัคซีนยังไม่มีความแน่นอน และเชื้ออาจกลายพันธุ์ และกลุ่มที่ 4 ภาพรวมคนไทยยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าปลอดภัยจากโควิด-19
ส่วน 3 ช่องทางที่อาจทำให้มีการแพร่เชื้อในประเทศไทยได้ คือ 1.ชาวต่างชาติที่เข้ามาแล้วไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 2.แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งไม่ง่ายในการป้องกันทั้งหมด และ 3.คนติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการน้อยที่จะแพร่ไปยังคนใกล้ชิด ขณะสถานที่เสี่ยงสำหรับคนไทย ได้แก่ ที่ดื่มกินร่วมกัน ตะโกนพูดคุยเสียงดัง ที่คนรวมตัวกันมากในระบบปิด และการสัมผัสคลุกคลีคนใกล้ชิด ซึ่งที่เป็นห่วงที่สุดจากข้อมูลทุกสถาบันพบการติดเชื้อในครอบครัวเกิดจากการคลุกคลีใกล้ชิดสูงถึงร้อยละ 58
นพ.บัญชากล่าวว่า การผ่อนปรนระยะ 6 ที่ต้องโฟกัสพิเศษคือกีฬาที่มีคนเชียร์ ยังต้องจำกัดจำนวนคนเข้าชม การเบียดเสียดเข้าออกในการชมต้องเว้นระยะห่าง และการตะโกนเชียร์ต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อลดการแพร่เชื้อ จึงขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับผู้ประกอบการ
"อยากชวนคนไทย 3 คำ คือ พบเร็ว คือช่วยกันค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ให้พบเร็ว ตรวจเร็ว คือขอรับการตรวจยืนยันโดยเร็ว และแยกเร็ว คือแยกกักทันทีตั้งแต่พบอาการจนปลอดเชื้อ ส่วนองค์ประกอบที่จะทำให้ประเทศไทยไม่มีระลอก 2 คือ 1.ด้านโรค เจอผู้ป่วยรายใหม่เร็ว คนป่วยรายใหม่น้อย คนสัมผัสสามารถติดตามตัวได้ 2.ด้านคน สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างเข้มแข็ง และ 3.ด้านสิ่งแวดล้อม สถานประกอบการมีการปฏิบัติตามมาตรการเข้มข้น หากมี 3 ข้อนี้ถึงจะเอาระลอก 2 อยู่" รองอธิบดีกรมอนามัยระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |