เยียวยาในยามวิกฤติ : อะไรก่อนอะไรหลัง?


เพิ่มเพื่อน    


    คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีพลังงาน ในฐานะที่กำกับกระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ และเป็นกรรมการของ ศบศ.ด้วย จึงต้องเห็นภาพรวมของการแก้วิกฤติเศรษฐกิจที่มีผลจากโควิด-19 โดยตรง
    เมื่อผมมีโอกาสได้สนทนากับท่านเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คำถามแรกๆ ก็ต้องให้ประเมินว่าไทยเราผ่านจุดต่ำสุดทางเศรษฐกิจแล้วหรือยัง
    คำตอบคือ “ผมคิดว่าอย่างนั้น เพราะว่าตัวเลขชี้ไปอย่างนั้น ช่วงที่แย่ที่สุดคือช่วงล็อกดาวน์ ช่วงเดือนเมษาฯ, พฤษภาฯ, มิถุนาฯ...ไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทย -12.2% หลังจากนั้นเราก็เกาะติดดัชนีต่างๆ เพื่อประเมินว่าดีขึ้นไหม...ตัวดัชนีต่างๆ ชี้ว่าเราดีขึ้นตลอด เช่น ตัวเลขการผลิต, การบริโภค, ดัชนีความมั่นใจต่างๆ ก็เติบโต...” แต่ก็ยังไม่ดีเท่าปี 2562 
    ตัวเลขชุดหนึ่งคือ Google Mobility ก็พบว่าผู้คนสัญจร, การเดินทาง, ทั้งเดินเท้าและเดินทางด้วยรถยนต์ก็พบว่าดีขึ้น
    แต่ความห่วงกังวลก็ยังมีอยู่ เพราะเป็นการคลายตัวภายในประเทศเท่านั้น เรื่องท่องเที่ยวและส่งออกและบริการที่เกี่ยวข้องยังไม่กระเตื้อง
    ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ก็ยังไม่ดีขึ้น จึงเป็นประเด็นที่ยังเป็นปัญหาอยู่
    ตัวเลขคนตกงานทางการ 700,000 กว่าคน และจำนวนนักศึกษาที่จบใหม่และตกงานอีกหลายแสนคน
    ผมแย้งว่าตัวเลขคนตกงานของเอกชนมีสูงกว่านี้มาก...บางสำนักประเมินว่าอาจจะสูงถึง 7-8 ล้านคน
    สำหรับเด็กจบใหม่ที่คาดว่าจะตกงาน 400,000-500,000 คนนั้น แผนงานที่กำลังทำอยู่ก็คือ หางานให้ทำสักครึ่งหนึ่ง โดยรัฐบาลจะช่วยออกเงินให้ครึ่งหนึ่ง แบ่งกับเอกชนในลักษณะ co-payment
    ถือโอกาสนี้สร้างทักษะด้านดิจิทัลให้กับเด็กจบใหม่เพื่อให้มีงานทำอย่างถาวรหลังโควิดผ่านไปแล้ว
    “ผมตกลงกับท่านรัฐมนตรีแรงงานว่าจะหาตำแหน่งงานสัก 1 ล้านตำแหน่ง เพื่อแก้ปัญหาคนว่างงานในช่วงนี้ก่อน..โดยเน้นการสร้างงานที่ต่างจังหวัด”
    คุณสุพัฒนพงษ์บอกว่า จะต้องไปตรวจสอบตัวเลขนี้ให้แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง ยอมรับว่าตัวเลขทางการกับของเอกชนยังไม่ห่างกันพอสมควร
    มาตรการเร่งด่วนสำหรับรองนายกฯ คนนี้ก็คือ การจ้างงานและการกระตุ้นการบริโภค
    การปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก็ต้องเร่งรัด
    อีกทั้งยังต้องพยายามทยอยค่อยๆ เปิดประเทศ เพื่อเปิดทางให้นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาได้ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
    “ส่วนตัวผมเชื่อว่าโควิดต้องมีวันสิ้นสุด การแสวงหาวัคซีนเป็นเรื่องเร่งด่วนของทั้งโลก เราไปร่วมทุนกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดด้วย แต่เราก็ไม่ประมาท...” 
    เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศทางการมีโครงการ “เที่ยวด้วยกัน”...รัฐบาลจ่าย 40 ประชาชนจ่าย 60 และให้ไปใช้โรงแรมราคาพิเศษได้ถึง 5 ล้านคืน
    “ผมมารับตำแหน่งได้สัปดาห์ที่สองก็เปิดตัวโครงการนี้เลย เพราะภาคท่องเที่ยวของเราเดือดร้อนจริง...”
    ช่วงล็อกดาวน์เพราะโควิด ตัวเลขการจองห้องพักโรงแรมเฉลี่ยทั่วประเทศมีเพียง 3% วันนี้คุณสุพัฒนพงษ์บอกว่าตัวเลขนั้นได้กระโดดขึ้นไป 29% 
    มีคนวิพากษ์ว่าโครงการ “เที่ยวด้วยกัน” ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ทางการคาดหวัง มีการไปใช้ห้องพักตามโครงการนี้เพียง 1 ล้านคืนเท่านั้นเอง
    รองนายกฯ บอกว่า “ใช่ครับ เหลืออีก 4 ล้านคืน ก็ไม่เป็นไรครับ เราก็ยังรักษาเอาไว้เรื่อยๆ ยังเหลือก็ใช้ต่อ”
    แต่เขาก็ชมคนไทยที่พยายามจะท่องเที่ยวในประเทศเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเทศ
    “ที่น่ายินดีคือ คนไทยเราไม่ต้องรอให้คนมาเชิญชวนไปเที่ยว เราออกไปเที่ยวกันเองเพื่อไปช่วยคนไทยด้วยกันเอง ช่วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เคยแข็งแรง แต่วันนี้อ่อนแอ....”
    คุณสุพัฒนพงษ์ยอมรับว่า ยังมีข้อด้อยอยู่ตรงที่ว่าเปอร์เซ็นต์การจองห้องพักที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในจังหวัดที่เดินทางโดยรถยนต์ คือประมาณ 300 กิโลเมตร ยังกลัวการนั่งเครื่องบิน...สัปดาห์ที่หยุดยาวในช่วงที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มดีขึ้น
    แปลว่ายังต้องมีอะไรทำอีกเยอะ
    พรุ่งนี้ : จุดโหว่ยังมีอะไรบ้าง?.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"