ส่วนหนึ่งของทีมช่างชุมชนจิตอาสาจะช่วยกันซ่อมแพ
จ.อุทัยธานี/ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ระดมช่างชุมชนและจิตอาสาทั่วประเทศร่วมซ่อม-สร้างที่พักอาศัยของชาวเรือนแพริมน้ำสะแกแกรัง จ.อุทัยธานี 122 หลัง ขณะที่ 16 หน่วยงานภาคีและจังหวัดอุทัยธานีพร้อมสนับสนุนการพัฒนาชุมชนเรือนแพรอบด้าน รวมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดูแลแม่น้ำ ฟื้นฟูวิถีชีวิต และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี ถือเป็นชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทย เพราะชุมชนชาวแพแห่งอื่นๆ เช่น ชาวแพริมแม่น้ำน่าน อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งเดิมมีอยู่กว่า 100 หลัง ถูกทางราชการโยกย้ายออกจากริมน้ำน่านไปตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ขณะที่ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกแกรังจำนวน 127 หลัง ซึ่งอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมานานนับร้อยปีกำลังได้รับการฟื้นฟู ซ่อมแซมเรือนแพ และพัฒนาด้านต่างๆ โดยหน่วยงาน 16 หน่วยงาน
ล่าสุดระหว่างวันที่ 20-21 กันยายนนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี (พมจ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และจังหวัดอุทัยธานี ระดมช่างชุมชนและช่างจิตอาสาจากภูมิภาคต่างๆ เช่น ภาคเหนือ กลาง ตะวันตก ภาคใต้ ประมาณ 80 คน เพื่อร่วมกันซ่อมสร้างที่พักอาศัยของชาวเรือนแพริมแม่น้ำสะแกกรังจำนวน 122 หลังคาเรือน (อีก 5 หลังซ่อมแซมเองแล้ว) เช่น เปลี่ยนหลังคา ฝาบ้าน เปลี่ยนลูกบวบพยุงแพที่ทำจากไม้ไผ่ที่แตกหักหรือชำรุด
เรือนแพริมแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี
ซ่อม-สร้างเรือนแพระยะแรก 43 หลัง
นายวิชัย นะสุวรรณโน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักภาคเหนือ กล่าวว่า จากปัญหาความเดือดร้อนของชาวชุมชนเรือนแพริมแม่น้ำสะแกกรังในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ต่างประสบปัญหาน้ำในแม่น้ำสะแกกรังมีปริมาณน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากความแห้งแล้ง ทำให้แพเกยตื้น ลูกบวบที่ใช้พยุงแพที่ทำจากไม้ไผ่ได้รับความเสียหาย ประกอบกับเรือนแพส่วนใหญ่ปลูกสร้างมานาน มีสภาพทรุดโทรมผุพัง ชาวแพส่วนใหญ่มีรายได้น้อย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดอุทัยธานี จึงสนับสนุนการซ่อมแซมเรือนแพให้มีสภาพดีขึ้น
“ระยะแรกเราจะสนับสนุนการซ่อมแพจำนวน 43 หลังให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ ส่วนที่เหลือจะซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายในช่วงต้นปี 2564 รวมทั้งหมด 122 หลัง โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมเรือนแพเฉลี่ยครัวเรือนละ 40,000 บาท ส่วนบางหลังที่ทรุดโทรมมากต้องรื้อเพื่อสร้างใหม่ งบประมาณที่ได้รับอาจไม่เพียงพอ เจ้าของแพและชาวชุมชนจะช่วยกันหางบประมาณมาสมทบ และใช้ช่างชุมชนช่วยกันซ่อม-สร้าง ทำให้ประหยัดค่าแรงงาน และซ่อมสร้างได้รวดเร็ว” นายวิชัยกล่าว
สภาพเรือนแพที่ทรุดโทรม
นายบุญโรจน์ จันทร์วัด อายุ 63 ปี ช่างสร้างและซ่อมแพฝีมือดีแห่งแม่น้ำสะแกกรัง บอกว่า เมื่อก่หลายสิบปีก่อนเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังมีมากกว่านี้ ประมาณ 700 หลัง แต่ตอนนี้เหลือไม่ถึง 200 หลัง เพราะคนรุ่นใหม่ไม่อยากจะอยู่แพ ลูกหลานปล่อยให้ผุพังหรือทิ้งร้าง บางรายก็ขายเปลี่ยนมือ เมื่อก่อนจะใช้ไม้เต็งเป็นไม้เนื้อแข็งสร้างเป็นเรือนแพ เพราะมีความทนทาน อยู่ได้นานเป็นร้อยปี ส่วนลูกบวบพยุงแพจะใช้ไม้ไผ่สีสุก เพราะเนื้อละเอียด ปล้องไผ่ข้อใหญ่ น้ำทะลุข้อไม่ได้ ใช้งานได้นานไม่ต่ำกว่า 5 ปีจึงเปลี่ยนลำที่ชำรุดออก
“ตอนนี้ค่าแรงซ่อมลูกบวบช่องละ 3,500- 4,500 บาท เพราะงานมันลำบาก ต้องดำน้ำลงไปเปลี่ยนลูกบวบใต้น้ำ ใช้ช่างช่วยกัน 3-4 คน แพหลังหนึ่งจะมีลูกบวบประมาณ 3-4 ช่อง ใช้เวลาเปลี่ยนช่องละ 1 วัน ถ้าเปลี่ยนทั้งหมดจะต้องใช้เวลาประมาณ 4 วัน เฉพาะค่าแรงตอนนี้ราคา 20,000 บาทต่อเรือนแพ 1 หลัง” นายบุญโรจน์บอก
16 หน่วยงานหนุนชาวแพแก้ปัญหา 8 ด้าน
จากปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนชาวแพ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ร่วมกับจังหวัดอุทัยธานี สำรวจข้อมูลปัญหาของชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังตั้งแต่ต้นปี 2563 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่เทศบาลเมืองอุทัยธานี มีพิธี ‘ลงนามความร่วมมือการพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวแพสะแกกรังและโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทจังหวัดอุทัยธานี’ โดยมีนายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีเป็นประธาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ รวม 16 หน่วยงานร่วมลงนาม
ทั้งนี้ตามแผนงานจะมีการแก่ไขปัญหาทั้งระบบ เช่น 1.การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ จะมีการสร้างสถานีสูบน้ำ ทำเส้นทางบายพาสน้ำ ขุดลอกคลอง การบำบัดน้ำเสียในครัวเรือน การจัดการผักตบชวาและวัชพืช ฯลฯ โดยมีหน่วยงานต่างๆ รับผิดชอบร่วมกับชาวชุมชน เช่น กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อบจ. ฯลฯ
2.การจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการน้ำเสียจากในเมืองก่อนลงสู่แม่น้ำ การจัดการขยะในครัวเรือน ปลูกไผ่ ไม้ประดับ ผักสวนครัวริมตลิ่ง แพสีเขียว ปลูกไม้ดอก ผักสวนครัว เตย (รากช่วยกรองน้ำเสีย) บริเวณแพที่พัก เพื่อให้มีทัศนียภาพสวยงามทั้งลำน้ำ สนับสนุนโดย อบจ. สาธารณสุข เกษตรจังหวัด พัฒนาชุมชน ฯลฯ
3.อาชีพ ส่งเสริมการเลี้ยงปลาในกระชัง แปรรูปปลา ร้านค้าชุมชนชาวแพ นำผักตบชวามาผลิตเป็นเครื่องใช้ต่างๆ สนับสนุนโดยประมงจังหวัด เกษตรจังหวัด พานิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัด
4.การท่องเที่ยว ส่งเสริมวิถีชีวิตชาวแพ โฮมสเตย์ชาวแพ ศูนย์การท่องเที่ยวชาวแพ สนับสนุนโดยกรมเจ้าท่า ททท. เทศบาล วัฒนธรรมจังหวัด การท่องเที่ยวและกีฬา ฯลฯ
5.วัฒนธรรม ส่งเสริมการตักบาตรทางน้ำ ประเพณี วัฒนธรรม เช่น งานสงกรานต์ แห่เทียนเข้าพรรษา ลอยกระทง ฟื้นฟูเพลงพื้นบ้าน เกิดศูนย์แสดงวัฒนธรรมชาวแพ สนับสนุนโดยวัฒนธรรมจังหวัด การท่องเที่ยวและกีฬา เทศบาล มหาวิทยาลัย
6.พัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชน คนด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ คนพิการ ส่งเสริมการประกอบอาชีพเพื่อพึ่งพาตนเอง และได้รับการดูแลเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สนับสนุนโดย พมจ. รพ.สต. แรงงานจังหวัด ฯลฯ
7.ความเข้มแข็งของชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมการรวมกลุ่มของชุมชน จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ สร้างคนรุ่นใหม่เพื่อสืบทอดการพัฒนาชุมชน สนับสนุนโดย พมจ. พอช. กศน. อบจ.
8.การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนชาวแพ ซ่อมแพและลูกบวบ ส่งเสริมการซ่อมแซมและอนุรักษ์เรือนแพที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น โดยใช้วัสดุที่กลมกลืนกับสภาพแวดลอม ฯลฯ สนับสนุนโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ช่างชุมชน เทศบาลเมืองอุทัยธานี ฯลฯ
ทีมช่างจิตอาสาจากภาคเหนือช่วยกันสร้างแพใหม่ทั้งหลัง
อนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทย
ณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า การร่วมกันพัฒนาชีวิตชาวแพสะแกกรังไม่ใช่จะทำแล้วเสร็จสิ้น แต่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดไป เช่น การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย กรมชลประทานพยายามดึงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาไล่น้ำเสียในแม่น้ำสะแกกรัง และต่อไปจะมีเครื่องสูบน้ำเข้ามาช่วยเพื่อดันน้ำเสียออกไป ทำให้แม่น้ำสะแกกรังมีคุณภาพดีขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องผักตบชวา ขณะนี้กำลังจัดเก็บ แต่ชาวชุมชนเรือนแพตั้งแต่ต้นน้ำลงมาจะต้องช่วยกันดูแลเรื่องผักตบชวาและสิ่งแวดล้อมทั้งสองฝั่งแม่น้ำด้วย
ถนนเลียบแม่น้ำสะแกกรังที่กำลังสร้าง
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า ชุมชนชาวแพแม่น้ำสะแกกรังถือเป็นชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทยที่เหลืออยู่ เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุทัยธานี มีประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันรักษาเอาไว้ และการแก้ไขปัญหาชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังจะเป็นตัวอย่างในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างรอบด้าน ครบทุกมิติ ทั้งด้านที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ อาชีพ รายได้ คุณภาพชีวิต ตั้งแต่เด็ก ผู้สูงวัย คนพิการ ด้อยโอกาส
ศรีวภา วิบูลย์รัตน์ อายุ 67 ปี เจ้าของแพ ‘ปลาย่าง ป้าแต๋ว อุทัยธานี’ บอกว่า อุทัยธานีมีทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาและสะแกกรังจึงมีปลานานาชนิด ที่รู้จักกันดีก็คือ ‘ปลาแรด’ แต่ก่อนนั้นปลายังชุกชุม มีปลาต่างๆ เช่น ปลาเทโพ ปลากด สวาย ช่อน ชะโด กราย ปลาเนื้ออ่อน ฯลฯ เมื่อจับได้มากชาวแพก็จะนำมาแปรรูปเพื่อเก็บเอาไว้ได้กินนานๆ เช่น ทำปลาร้า ปลาส้ม ปลาแห้ง ปลาย่าง ปลารมควัน นำมาทำปลาป่น น้ำพริกปลาย่าง และนำไปขายที่ตลาดเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวมานานหลายสิบปี
“ช่วงน้ำแล้งและโควิดเกือบ 7 เดือน ป้าขายปลาไม่ได้เลย เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวมา ถ้าจะช่วยกันขุดลอกแม่น้ำ และเก็บผักตบชวาได้ก็จะดี เพราะน้ำในคลองจะไหลได้สะดวก ถ้าแม่น้ำสะอาด เรือนแพสวยงาม นักท่องเที่ยวก็อยากจะมา จึงอยากให้ช่วยกันดูแลไม่ให้น้ำเน่าเสีย ช่วยกันปรับปรุงเรือนแพที่ทรุดโทรม ชาวบ้านจะได้มีอาชีพ มีรายได้” ป้าแต๋วบอก
ทีมช่างชุมชนเตรียมเปลี่ยนแพลูกบวบ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |