ปลดล็อคชุดใหญ่ให้คนไร้สัญชาติ อธิบดีกรมการปกครองส่งหนังสือตอบข้อหารือ-เปิดทางแก้ไขข้อมูลผิด ผู้เฒ่าลีซอเฮได้บัตรประชาชนแล้ว
21 ก.ย.63 - นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) เปิดเผยว่า ได้ทราบข้อมูลว่ากรมการปกครอง เตรียมดำเนินการอนุมัติเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ให้แก่ผู้เฒ่าสามี-ภรรยาไร้สัญชาติคู่หนึ่งคือนายอาเหล งัวยา อายุ 82 ปี และนางอาหวู่มิ งัวยา อายุ 78 ปี และได้มีการนัดหมายเพื่อถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน ที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ในสัปดาห์นี้ ความน่าสนใจคือผู้เฒ่าทั้งสองเคยเกิดความผิดพลาดทางเอกสาร ซึ่งเจ้าหน้าที่บันทึกว่าเกิดในดินแดนพม่า ขณะที่ทั้งสองยืนยันว่าเป็นชาวลีซอ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมและเกิดในประเทศไทย โดยตามหลักฐานบัญชีสำรวจบุคคลในบ้าน (ทร.ชข) ของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเชียงราย กรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งดำเนินการสำรวจเมื่อพ.ศ.2528-2530 ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลตามทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงพ.ศ.2534 ซึ่งระบุว่าเกิดที่ประเทศพม่า
น.ส.เพียรพร กล่าวว่า ผู้เฒ่าทั้งสองจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขรายการสถานที่เกิดและขอลงรายการสัญชาติไทยต่อนายทะเบียนอำเภอแม่จัน ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ซึ่งทางอำเภอแม่จันมีความกังวลว่าหนังสือกรมการปกครองลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 และ 1 กรกฎาคม 2545 ที่กำหนดแนวทางแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ซึ่งระบุว่า “มิให้แก้ไขสถานที่เกิดจากเกิดนอกประเทศเป็น “เกิดในประเทศ” เพราะจะทำให้เกิดสิทธิ์ในการขอมีสัญชาติไทย
อีกทั้งยังมีคำพิพากษาศาลอาญาอ้างถึงหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าว ทางอำเภอแม่จันจึงหารือมายังจังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงรายพิจารณาแล้วมีความเห็นให้อำเภอแม่จันดำเนินการออกหนังสือรับรองการเกิด (ทร20|1) ให้แก่ผู้เฒ่าทั้งสองรายเพื่อเป็นหลักฐานในการแก้ไขรายการสถานที่เกิดในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง แล้วรับคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543 (หรือ ระเบียบ43) จึงขอหารือกรมการปกครอง
เลขาธิการมูลนิธิ พชภ. กล่าวว่าต่อมาอธิบดีกรมการปกครองได้มีหนังสือลงวันที่ 3 กันยายน 2563 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียราย มีใจความสำคัญส่วนหนึ่งระบุว่า 1. ลีซอ หรือลีซู เป็นชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม ตามระเบียบ 43 ซึ่งกำหนดว่าชาวไทยภูเขาที่จะได้รับการลงรายการสัญชาติไทยโดยการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้าน จะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ กำหนดเรื่องการวินิจฉัยสัญชาติของบุคคลกลุ่มนี้โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรระหว่าง 10 เมษายน 2556 ถึง 13 ธันวาคม 2515 เป็นบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยเว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น ดังนั้นชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม 9 เผ่าสามารถขอลงรายการสัญชาติไทยโดยไม่จำเป็นต้องมีทะเบียนประวัติ เพียงแต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักในช่วงวันที่ดังกล่าว
2.การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติ ตามระเบียบ 43 ให้สันนิษฐานจากเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ออกโดยส่วนราชการ หรือพยานแวดล้อม สามารถอ้างเอกสารการจดทะเบียนราษฎรชาวเขา (ท.ร.ช.ข.) หรือเอกสารสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขา ระหว่าง พศ.2528-2531 (ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน) ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์และหน่วยงานในสังกัดให้การรับรองเพื่อเป็นหลักฐานพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ 3.สำหรับผู้สูงอายุซึ่งอาจมีปัญหาพยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิด ไม่สามารถติดตามตัวพยานมาให้การรับรองต่อนายทะเบียนได้ ให้ใช้กระบวนการประชาคมหมู่บ้าน
4.ข้อกังวลของอำเภอแม่จันเกี่ยวกับการแก้ไขรายการสถานที่เกิดในเอกสารทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง และการใช้พยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารนั้น ทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง รวมถึงทะเบียนประวัติชนกลุ่มน้อยต่างๆ เป็นเอกสารการทะเบียนราษฎร หากรายการใดที่นายทะเบียนจดบันทึกเอกสารเป็นรายการที่ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยเจตนาทุจริตย่อมสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้โดยปฏิบัติตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง
ประกอบกับการกำหนดแนวทางปฏิบัติโดยไม่ให้แก้ไขรายการสถาที่เกิดจาก “นอกประเทศ” เป็น “ในประเทศ” โดยระบุเหตุผลว่าจะทำให้เกิดสิทธิในการขอมีสัญชาติไทยนั้น มีลักษณะเป็นการละเมิดและรอนสิทธิของคนที่เกิดในราชอณาจักร แต่มีรายการทะเบียนราษฎรที่ไม่ถูกต้องทำให้ไม่สามารถขอสัญชาติไทยได้จึงไม่มีผลใช้บังคับ
ด้าน รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวว่า กรณีพ่อเฒ่าอาเหล จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่สำนักทะเบียนต่างๆทั่วประเทศ เพราะเป็นความชัดเจนของกรมการปกครอง ที่มีมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ออกออกระเบียบ 43 ว่ามีชาวเขาดั้งเดิมในประเทศไทย มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยไม่มีเงื่อนไข แต่มีความสับสนในบางอำเภอ
งานวิจัยหลายฉบับชี้ว่ามีชาวเขาดั้งเดิมถูกบันทึกผิดว่าเกิดเมียนมา บางรายถูกบันทึกผิดชาติพันธุ์ จากชาวลีซู บันทึกว่าเป็นจีนฮ่อ พบว่ามีการบันทึกผิดทั้ง ท.ร.ช.ข. เกิดจากความที่ เป็นการให้ข้อมูลผิด สมัยนั้นยังไม่มีความรู้ชาติพันธุ์มากนัก ชาวบ้านอยู่บนดอยก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร การเรียกชื่อชาติพันธุ์ เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถามว่าเกิดที่ไหนก็ไม่รู้อีก ช่วง พศ.2528-2529 จึงเกิดการบันทึกผิด
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวว่า กรณีทะเบียนประวัติของกรมการปกครอง พบว่าผู้ที่มาสำรวจไม่มีความรู้เรื่องชาติพันธุ์มากนัก เช่น ชาวบ้านพูดว่า พะหม่าม้า ก็บันทึกว่าเป็นพม่าหรือ เมียนมา ทั้งๆที่ภาษาอาข่าแปลว่า ใช่ ความผิดพลาดถูกซ้ำเติมเพราะมีหนังสือสั่งการปี 2545 ระบุว่าไม่ให้แก้ไขจากเกิดพม่าเป็นไทย ซึ่งตามหลักนั้น หนังสือสั่งการเก่าจะแก้หนังสือสั่งการใหม่ไม่ได้ จึงมีความสับสนตามมา
อย่างไรก็ตามหนังสือล่าสุดของอธิบดีกรมการปกครองนี้ มีความชัดเจนในระดับกรมการปกครอง ช่วยปลดล็อคให้ผู้เฒ่าไร้สัญชาติและผู้ประสบปัญหาอีกจำนวนมาก จะทำให้ความผิดพลาดได้รับการแก้ไขดีขึ้น ที่เห็นความสำคัญมากคือ คนที่ตกค้างจนถึงปัจจุบัน ก็คงไม่ได้มีแค่กรณีนายอาเหล น่าจะมีเยอะ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากกว่านี้ กรมการปกครองควรมีหนังสือสั่งการ กำหนดวิธีการให้อำเภอไปทำการสำรวจบ้านชาวเขา โดยขอความช่วยเหลือจากกรมประชาสงเคราะห์ ศูนย์ชาวเขา อย่างที่บ้านเฮโก ก็พบว่านายเอาเหลมีพี่ชายนอนป่วยติดเตียง เชื่อว่ามีอีกจำนวนมากที่เป็นผู้เฒ่า พิการ ลูกหลานไม่สามารถพาไปไหนได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่กรอกข้อมูลผิดพลาดเท่าที่พบมีจำนวนมากหรือไม่ รศ.พันธุ์ทิพย์กล่าวว่า น่าจะเยอะ เพราะทุกครั้งที่ลงพื้นที่ก็จะได้ยินทำบอกเล่าแบบนี้เสมอ เช่น ถูกบันทึกสถานที่เกิดผิด ถูกบันทึกผิดกลุ่มชาติพันธุ์ บางส่วนบอกว่าเขาเป็นจีนฮ่อ ทำให้ไม่ได้คุณจากระเบียบ 2543 ส่งผลถึงลูกหลาน ดังนั้นควรมีปฏิบัติการเชิงรุก จากหน่วนงานชาวเขา มีควรการสนับสนุนจากแหล่งทุน เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) หรือ สกสว.
“ตามมติคณะรัฐมนตรี 11 พฤษภาคม 2542 เราได้ไปสำรวจพื้นที่ 20 จังหวัด เห็นว่ามีประเด็นความผิดพลาดของเอกสารประมาณนี้ เมื่อได้ทำงานวิจัยก็เห็นปัญหาที่สามารถเกิดข้อสันนิษฐานเป็นคุณ ทุกวันนี้ชาวเขาไม่ได้อยู่เพียงพื้นที่สูง ชาวเขาเป็นเกษตรกรมีฝีมือ ไปอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ต้องปฏิบัติการควานหา บางคนอาจพลัดหลงไปอยู่ในทะเบียนอื่นๆ เช่นแรงงานต่างด้าว หากขยายผลต้องทำทั้งภาคราชการ วิชาการ และภาคประชาสังคมช่วยสนับสนุน”รศ.พันธุ์ทิพย์ กล่าว
นางสาวอรอุมา เยอส่อ เจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานมูลนิธิ พชภ.ซึ่งมีเชื้อสายอาข่า กล่าวว่า การลงบันทึกหรือลงข้อมูลผิดพลาดเป็นเรื่องที่พบเห็นบ่อยครั้งและได้ยินชาวบ้านเล่าให้ฟังเสมอเมื่อลงพื้นที่คือ สมัยก่อนเมื่อเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บข้อมูลในหมู่บ้านก็ไม่มีล่าม เมื่อเจ้าหน้าที่ทางการถามว่า “คุณเกิดประเทศไทยใช่มั้ย” ชาวบ้านอาข่าตอบว่า “พะหม่าม้า”ซึ่งแปลว่าใช่ แต่เจ้าหน้าที่คิดว่าชาวบ้านตอบว่าเกิดในประเทศพม่าจึงลงบันทึกผิดว่าเกิดในพม่าและไม่มีการตรวจสอบซ้ำ ทำให้ชาวบ้านเหล่านี้ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย
นางสาวอรอุมากล่าวว่า การลงบันทึกผิดยังมีอีกหลายกรณี เช่น ผู้เฒ่าที่อยู่มานานแต่ยังพูดไทยไม่ได้ เมื่อมีคนอพยพเข้ามาได้ไม่นานก็ไปยื่นของลงทะเบียนพร้อมเขา ทำให้กลายเป็นคนที่เพิ่งเข้ามาด้วย จึงทำให้ไม่ได้บัตรประชาชนสักที บางคนอยู่มานาน 30-40 ปี ไม่มีลูกหลานและไม่มีใครดำเนินการขอบัตรประชาชนให้ จึงไม่ได้รับเงินสงเคราะห์จากรัฐหรือความช่วยเหลือด้านสุขภาพต้องอยู่ลำพังในบ้านหลังเล็กๆ โดยเก็บผักต่างๆกิน
อนึ่ง ในวันที่ 23-24 กันยายน คณะของกรมการปกครองนำโดยนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง จะติดตามคณะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจราชการในจังหวัดเชียงราย โดยในช่วงเช้าวันที่ 24 คณะของอธิบดีกรมการปกครองจะเดินทางมาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพนักฝ่ายปกครองอำเภอแม่จันพร้อมทั้งติดตามผลการขับเคลื่อนโครงการสำคัญ นอกจากนี้จะมีการแจกบัตรประชาชนให้กับนายอาเหล นางอาหวู่มิและชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |