ประเทศจะเปลี่ยนอย่างไรหลังโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

 

บทความ "เขียนให้คิด" วันนี้พยายามตอบคำถามข้างต้นคือ ประเทศไทยจะเปลี่ยนอย่างไรหลังวิกฤติโควิด-19 เป็นคำถามที่มีคนมาถามผมเสมอ เป็นคำถามที่ท้าทายและตอบยาก เพราะต้องอาศัยการวิเคราะห์และมองไปข้างหน้ามากพอควร  ซึ่งไม่ง่ายเลย ส่วนหนึ่งก็เพราะหลังโควิด-19 ความไม่แน่นอนจะยิ่งมีมาก โดยเฉพาะในเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ในประเทศเองก็จะมีแรงกดดันจากหลายด้านให้มีการเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบของโควิดที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็จะลองตอบดู แม้จะไม่ชัดเจน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน

สิ่งแรกที่ต้องตระหนักคือ การอุบัติขึ้นของโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดไว้ก่อน เป็นภัยต่อมนุษยชาติที่โยงกับการเปลี่ยนแปลง หรือการขาดความสมดุลของธรรมชาติ เป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดต่ำ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วความเสียหายจะมาก  และนับตั้งแต่การระบาดเริ่มขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว ถึงขณะนี้การระบาดก็ยังไม่หยุด ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกมีมากกว่า 30 ล้านคน และยอดสะสมผู้เสียชีวิตมีกว่า 9 แสนคน ถือเป็นการระบาดที่รุนแรงกระทบทั้งเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก

ที่สำคัญ แม้โลกจะมีพัฒนาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ดีมาก แต่ถึงวันนี้เราก็ยังหายารักษาและพัฒนาวัคซีนขึ้นมาป้องกันไม่ได้ ทำให้มีความไม่แน่นอนมากว่าการระบาดของโควิด-19 จะจบได้เมื่อไร และจะจบอย่างไร แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางที่โลกมีจากความเสี่ยงที่มาจากภัยธรรมชาติ ในปีนี้นอกจากโควิด-19 เราก็เห็นเหตุการณ์ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรง เช่น กรณีไฟป่าที่ออสเตรเลีย น้ำท่วมหนักที่จีน และล่าสุดไฟป่าที่อเมริกาเหนือ ของเราเองก็มีกรณีน้ำท่วม/น้ำแล้ง และหมอกควันจากไฟไหม้ป่าในภาคเหนือที่นับวันจะยิ่งรุนแรง ปฏิเสธไม่ได้ว่าภัยธรรมชาติไม่ใช่เรื่องไกลตัว และสามารถเป็นภัยต่อความคงอยู่ของคนทั่วโลกได้ ดังนั้นการรักษาความสมดุลของธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งจากนี้ไป ทั้งต่อเศรษฐกิจและต่อความเป็นอยู่ของคนอย่างยั่งยืน

 

ในแง่เศรษฐกิจ ประเทศเราก่อนโควิด-19 ก็อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบางเช่นกัน เป็นประเทศสามต่ำ หรือสามสุดโต่งที่ประเทศไทยมี

หนึ่ง อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจต่ำที่สุดในอาเซียน ช่วงห้าปีที่ผ่านมา สอง ประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำมาก โดยเฉพาะในแง่ความมั่งคั่ง หรือ Weatlh ที่ความเหลื่อมล้ำมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก สาม ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศเรารุนแรงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในระดับการพัฒนาเดียวกัน คือเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงเหมือนกับเรา

ทั้งสามปัญหานี้เป็นผลผลิตของการพัฒนาและไม่พัฒนาประเทศที่สะสมมาตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจนปัญหารุนแรงอย่างที่เห็น นำมาสู่การขาดโอกาสอย่างน่าเสียดายของประเทศจากศักยภาพทางเศรษฐกิจของเราที่อ่อนแอลงเทียบกับประเทศอื่นๆ จากโครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบือนที่การเติบโตของเศรษฐกิจทำให้คนจนยิ่งจนลง และมีจำนวนมากขึ้น  ขณะที่คนรวยรายได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และจากปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายที่ประเทศมี คือ ระบบการลงโทษคนทำผิดไม่เข้มแข็งจนกลายเป็นแรงจูงใจให้การทุจริตคอร์รัปชันรุนแรงขึ้น แทนที่จะลดลง คนกล้าโกงและไม่กลัวกฎหมาย โกงกันอย่างเป็นระบบ นี่คือความอ่อนแอที่ประเทศเรามีก่อนเกิดโควิด-19

วิกฤติโควิด-19 ที่เป็นทั้งวิกฤติด้านสาธารณสุขและวิกฤติด้านเศรษฐกิจก็เข้ามาซ้ำเติมความอ่อนแอเหล่านี้ ทำให้เราเห็นปัญหาที่ประเทศมีอย่างชัดเจน รวมถึงตระหนักถึงศักยภาพและความสามารถของฝ่ายรัฐในการแก้ปัญหา ในบทความนี้สำหรับการมองไปข้างหน้าเพื่อตอบคำถามว่าประเทศเราจะเปลี่ยนไปอย่างไรหลังโควิด-19 ผมอยากจะพูดถึงสามเรื่องที่จะเป็นพลวัตสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศหลังโควิด นั่นคือความสามารถในการบริหารจัดการของภาครัฐ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความรู้สึกของประชาชนทั้งความกลัวและความกล้าต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เรื่องแรกนั้นเกี่ยวกับการเมืองของประเทศและระบบการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องที่สองเกี่ยวกับโครงสร้างของเศรษฐกิจ และเรื่องที่สามเกี่ยวกับความรู้สึกและทัศนคติของประชาชนต่ออนาคตของประเทศจากนี้ไป เรามาดูทีละเรื่อง

หนึ่ง หน้าที่สำคัญของฝ่ายการเมืองและระบบราชการ คือ บริหารประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาที่ประเทศมีเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน หน้าที่ดังกล่าวเป็นการทำเพื่อส่วนรวม โดยใช้ทรัพยากรของภาครัฐที่มาจากภาษีและเงินกู้ของประชาชน วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจึงเป็นบททดสอบสำคัญของการทำหน้าที่นี้ของฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะในสองเรื่องคือ ควบคุมการระบาดและแก้ไขผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

ในแง่การควบคุมการระบาด เป็นที่ยอมรับว่าประเทศเราทำได้ดีมาก ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยและความสามารถทางวิชาชีพที่มีอยู่ในระบบสาธารณสุขของเรา และประชาชนก็ให้ความไว้วางใจในความสามารถดังกล่าว นำไปสู่การตัดสินที่ดี และระบบการป้องกันการระบาดที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ

แต่ในส่วนของการแก้ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าเราทำได้ไม่ดีพอเทียบกับความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น  ที่เห็นชัดเจนก็คือ ความไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการตัดสินใจด้านนโยบายที่ดีในการแก้ปัญหา แม้ความรู้ความสามารถในภาคธุรกิจและระบบราชการจะมีมาก แต่ก็มีข้อจำกัด คือไม่สามารถแปลหรือขับเคลื่อนแนวคิดและความรู้ที่มีมาเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาที่ตรงเป้าและทันเวลา ผลคือ การแก้ไขปัญหาล่าช้า และไม่เป็นระบบ ส่วนหนึ่งเพราะมีช่องว่างมากระหว่างการบริหารจัดการของฝ่ายการเมืองที่ต้องแก้ปัญหากับปัญหาที่ประเทศมี และความเร่งด่วนของปัญหาที่ต้องแก้ไข พูดง่ายๆ ก็คือ ระบบการเมืองของประเทศดูเหมือนจะอยู่คนละโลกกับปัญหาที่ประเทศมี นี่คือช่องว่างที่ทำให้การแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ที่ประเทศมีไม่เกิดขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจที่มาจากโควิด-19 ก็เช่นกัน ทำให้นักการเมืองที่ทำหน้าที่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ และระบบการเมืองของประเทศไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน

สอง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากวิกฤติคราวนี้รุนแรงและกระทบคนทุกระดับ แต่ที่ถูกกระทบมาก คือ ผู้ใช้แรงงาน เจ้าของกิจการรายเล็ก รายกลางในภาคบริการ และคนงานรับจ้างในธุรกิจนอกระบบ เห็นได้จากจำนวนคนที่มาขอความช่วยเหลือจากภาครัฐตามมาตรการเยียวยา ช่วงสามเดือนที่มีการล็อกดาวน์ที่มีจำนวนมากกว่า 14 ล้านคน หรือประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานของประเทศ และกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้ รายได้เฉลี่ยต่อเดือนได้ลดลงไปกว่าครึ่ง

ในแง่ความเหลื่อมล้ำ วิกฤติคราวนี้ชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาที่ประเทศมี จากที่คนจนถูกกระทบมากจากวิกฤติคราวนี้ ดูได้จากตัวเลขเงินเยียวยาที่ได้พูดถึง มาตรการล็อกดาวน์ก็กระทบความเป็นอยู่ของคนจนมาก เพราะไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อเทียบกับคนมีเงิน เช่น เด็กครอบครัวยากจนไม่มีเครื่องมือที่จะเรียนหนังสือออนไลน์ และกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยก็ไม่มีระบบประกันสังคมรองรับ ไม่มีเงินออม ทำให้ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียว ทั้งหมดชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางทางสังคมที่ประเทศเรามี คนส่วนใหญ่ไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ถ้าขาดรายได้ แสดงให้เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำได้มาถึงจุดที่จะต้องแก้ไขอย่างจริงจัง

จากผลของโควิด-19 สังคมไทยขณะนี้เป็นเหมือนสังคมซ้อนสังคม คือ สังคมส่วนบนที่มีสายป่านยาว มีเงินออม มีรายได้จากการทำงาน หรือเป็นเจ้าของกิจการที่ยังทำธุรกิจอยู่ กลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกว่าสำหรับพวกเขาวิกฤติโควิดได้จบลงแล้ว สามารถกลับมาใช้ชีวิตเหมือนปกติจากที่ไม่มีการระบาดในประเทศ แต่เศรษฐกิจที่หดตัวรุนแรงมีผลต่อธุรกิจของเขาและต่อการหารายได้ และเมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีรายได้ ไม่มีกำลังซื้อ ในสายตาคนกลุ่มนี้ รัฐบาลควรแก้ปัญหาโดยการกู้เงินมากขึ้น สร้างหนี้มากขึ้น และนำเงินที่กู้มาเยียวยาหรือแจกจ่ายให้กลุ่มคนที่ไม่มีรายได้ เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้ธุรกิจของพวกเขาได้ประโยชน์

อีกกลุ่มคือ คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีรายได้ หรือรายได้ลดลงจากผลของวิกฤติ ทั้งจากธุรกิจของตนที่ต้องปิด หรือตกงาน ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ไม่มีเงินออม ไม่มีระบบประกันสังคมเข้ามารองรับ คนกลุ่มนี้ต้องการให้รัฐช่วยเหลือด้วยการสร้างงาน เพื่อให้มีรายได้ ต้องการให้รัฐดูแลในเรื่องหลักประกันพื้นฐานเพื่อให้มีความมั่นคงในชีวิตและไม่ลำบากเกินไป สำหรับคนกลุ่มนี้วิกฤติคราวนี้รุนแรงมากและยังไม่จบ ยังต้องต่อสู้อีกมาก พวกเขาต้องการโอกาสของการมีการงานทำ มีรายได้ เพื่อดูแลครอบครัวและให้การศึกษาแก่บุตรหลานเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นนี่คือโจทย์ด้านนโยบายที่รอการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองที่ต้องชั่งน้ำหนักและตัดสินใจ

สาม ความไม่แน่นอนและความไม่ปลอดภัยด้านสุขภาพที่มากับวิกฤติโควิดนานติดต่อกันกว่าแปดเดือน ทำให้คนในประเทศมีความกล้าและความกลัวเกี่ยวกับอนาคตแตกต่างกัน  ซึ่งจะมีผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจ คือ สำหรับกลุ่มผู้มีอายุ โดยเฉพาะเจ้าของกิจการ นักบริหาร นักธุรกิจที่เป็นเจ้าของทุน ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทำให้คนเหล่านี้กลัวความเสี่ยงที่มากับภัยธรรมชาติ กลัวการระบาดของโควิด-19 จะกลับมาอีก  และกลัวการระบาดของไวรัสตัวใหม่ๆ ในอนาคต ความกลัวลักษณะนี้มีในทุกระดับของผู้ที่มีอายุ ทั้งที่ทำงานอยู่และไม่ทำงาน ทำให้ไม่มีแรงจูงใจที่คนเหล่านี้จะเสี่ยงหรือจะลงทุน คือ กลัวและไม่กล้าเสี่ยง ชอบจะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร ผลคือระบบเศรษฐกิจจะขาดการลงทุน ทำให้ศักยภาพในการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวจะลดลง กระทบอนาคตของเศรษฐกิจ เพราะการเชื่อมต่อระหว่างทุนกับแรงงาน ซึ่งเป็นหัวใจของการเติบโตของเศรษฐกิจได้ถูกทำลายลง คือไม่มีการลงทุนใหม่ และจะสร้างปัญหาการว่างงานให้รุนแรงขึ้น

ขณะเดียวกัน กลุ่มคนรุ่นหนุ่มสาวที่ไม่มีรายได้ และต้องการการมีงานทำ ก็จะยิ่งถูกกระทบ เพราะไม่สามารถมีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง มีการประเมินว่าทั่วโลกกลุ่มคนวัย 7-21 ปี เป็นกลุ่มคนที่ถูกกระทบมากที่สุดในวิกฤติคราวนี้ ทั้งจากชั่วโมงการเรียนการสอนที่ต้องลดลงจากผลของวิกฤติและการไม่มีงานทำ เกิดเป็นความผิดหวังต่อระบบปัจจุบัน เพราะทุกคนอยากมีงานทำ อยากมีอนาคตที่ดี ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ความรู้สึกนี้มีทั่วโลก และคนรุ่นหนุ่มสาวพร้อมที่จะขับเคลื่อนผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพื่อให้พวกเขามีความหวังผ่านการแสดงออกทางการเมือง  เป็นความกล้าของคนรุ่นใหม่ขนานไปกับความกลัวของคนรุ่นเก่าที่จะมีผลต่ออนาคตของประเทศ ซึ่งบ้านเราก็ไม่ต่างจากที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

นี่คือพลวัตสามด้านที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจของเราหลังโควิด-19 และถ้ายิ่งการระบาดยืดเยื้อจบช้า ความไม่แน่นอนก็จะมีมากขึ้น กดดันให้พลวัตสามด้านนี้มีพลังมากขึ้น แน่นอนที่สุดคือ เศรษฐกิจโลกถูกกระทบมากจากวิกฤติคราวนี้ และเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 จะอ่อนแอกว่าเดิมมาก การฟื้นตัวจะช้า โดยคนส่วนน้อยจะได้ประโยชน์ ขณะที่คนส่วนใหญ่จะลำบาก เป็นโลกเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

ในกรณีของเรา คาดเดาได้ว่าพลวัตสามด้านจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ในระบบเศรษฐกิจเราอย่างไม่เคยมีมาก่อน คือ ระบบเศรษฐกิจภายใต้โครงสร้างเดิมจะไม่เป็นที่ยอมรับเพราะทำให้เกิดทั้งปัญหาเศรษฐกิจไม่ขยายตัว และความเหลื่อมล้ำที่สูง ประชาชนต้องการแก้ไขปัญหาความบิดเบือนที่มีอยู่ อยากให้มีมาตรการลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้เป็นเศรษฐกิจที่ให้โอกาสและเป็นธรรมต่อคนทั้งประเทศมากกว่าที่ผ่านมา  ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการรัฐบาลที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา ต้องการการเมืองที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ของส่วนรวม  สามารถตรวจสอบได้และโปร่งใส ไม่ใช่การเมืองแบบในปัจจุบัน ขณะที่คนหนุ่มสาวต้องการมีส่วนร่วมในทางการเมือง เพื่อร่วมการตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรเศรษฐกิจ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของพวกเขา ต้องการเห็นช่องว่างระหว่างการเมืองกับการแก้ไขปัญหาของประเทศมีน้อยลง

นี่คือสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นและอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็หวังเพียงว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะราบรื่นนำมาสู่เศรษฐกิจหลังโควิดที่ดีกว่าเดิม และเป็นเศรษฐกิจที่ให้ความหวังต่อคนทั้งประเทศมากกว่าปัจจุบัน

ในแง่ความเหลื่อมล้ำ วิกฤติคราวนี้ชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาที่ประเทศมี จากที่คนจนถูกกระทบมากจากวิกฤติคราวนี้ ดูได้จากตัวเลขเงินเยียวยาที่ได้พูดถึง มาตรการล็อกดาวน์ก็กระทบความเป็นอยู่ของคนจนมาก เพราะไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อเทียบกับคนมีเงิน เช่น เด็กครอบครัวยากจนไม่มีเครื่องมือที่จะเรียนหนังสือออนไลน์ และกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยก็ไม่มีระบบประกันสังคมรองรับ ไม่มีเงินออม ทำให้ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียว ทั้งหมดชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางทางสังคมที่ประเทศเรามี คนส่วนใหญ่ไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ถ้าขาดรายได้ แสดงให้เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำได้มาถึงจุดที่จะต้องแก้ไขอย่างจริงจัง

คอลัมน์เขียนให้คิด
บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"