21กซย.63-“รมว.ศธ.” ชี้ ศธจ. เปรียบเหมือน “ปลัด ศธ.” ของแต่ละจังหวัด แนะใช้ข้อมูลขับเคลื่อนทำแผนการศึกษาในพื้นที่ตัวเอง โดยเฉพาะการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก เพิ่มผู้เรียนสายอาชีพ ย้่ำมีแผนทำงานก่อนกังวลเรื่องงบประมาณ โดยต้องผนึกการทำงานรวมเป็นทีมเดียวกับสพท.ให้ได้
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการอบรมพัฒนาผู้ได้รับการคัดเลือก ให้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และรอง ศธจ. ตนได้ไปมอบนโยบาย เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายการขับเคลื่อนการศึกษา ซึ่งตนต้องการให้การทำงานของ ศธจ.ได้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการดำเนินงานด้านการศึกษาระดับจังหวัด ทำงานตามบริบทของแต่ละจังหวัด โดย ศธจ.จะต้องเข้าใจงานการศึกษาอย่างรอบด้านในพื้นที่จังหวัดของตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้รับรู้ถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของปัญหาการศึกษาในแต่ละพื้นที่ เนื่องจาก ศธจ.นั้นเปรียบเหมือนปลัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องข้อมูลการศึกษาจากทุกภาคส่วนในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะส่งผลให้เราสามารถขับเคลื่อนวางแนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะความจำเป็นในการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพที่จะทำอย่างไรให้เด็กที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มาเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น
“ผมอยากให้ ศธจ.ได้ช่วยบริหารจัดการในเรื่องนี้ด้วย รวมถึงการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งไม่อยากให้การขับเคลื่อนการศึกษาระดับจังหวัด จะต้องมานั่งกังวลกับงบประมาณ ว่า จะนำมาใช้เพียงพอหรือไม่ แต่ผมอยากให้คิดแผนการทำงานออกมาไม่ว่าจะเป็นแผนงานศึกษาเดิมที่เคยมีการดำเนินการไว้อยู่แล้ว หรือหากจะมีการคิดแผนการทำงานขึ้นมาใหม่ก็ได้ เพื่อที่ผมจะได้นำแผนงานเหล่านั้นมาเตรียมจัดงบทำขอประมาณปี 65 ได้ "นายณัฏฐพลกล่าวและว่า ทั้งนี้ขอให้ ศธจ.เชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ และอยากให้มีการพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพราะหากยังแบ่งแยกกันทำงาน เราจะมองไม่เห็นภาพสำเร็จของการศึกษา ดังนั้นจึงขอให้ทั้ง ศธจ.และเขตพื้นที่เป็นทีมเดียวกันในระดับจังหวัดด้วย