'ไทย'ติดเชื้อทะลุ3.5พัน ไปสนามหลวงแนะกักตัว


เพิ่มเพื่อน    


     ศบค.แจงยอดผู้ติดเชื้อสะสมไทยทะลุ 3,500 ราย  พบเพิ่ม 6 ราย อยู่ในสถานกักกันของรัฐอีกแล้ว “หมอโสภณ” ห่วงผู้ชุมนุม แนะสังเกตอาการ 14 วัน หากเกิดอาการไข้ ไอ รีบเข้าโรงพยาบาลทันที
     เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่าพบผู้ป่วยรายใหม่ 6 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมที่ 3,506 ราย มียอดสะสมผู้รักษาหายแล้ว 3,340 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตสะสม 59 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 107 ราย 
     สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ รายที่ 1-2 มาจากประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นนักเรียนชายไทยอายุ 8 ขวบ และหญิงไทยอายุ 35 ปี อาชีพแม่บ้าน เดินทางมาถึงไทยวันที่ 5 ก.ย. เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 12 ราย เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ  กรุงเทพฯ และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ, รายที่ 3 มาจากคูเวต เป็นชายไทยอายุ 38 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางมาถึงไทยวันที่ 13 ก.ย. โดยเดินทางจากคูเวตและต่อเครื่องที่กาตาร์ เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 2 ราย เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ จ.ชลบุรี และรายที่ 4-6 มาจากโมร็อกโก ทั้งหมดเป็นนักศึกษาหญิงไทย อายุ 21 ปี 2 ราย และอายุ 22 ปี เดินทางมาถึงไทยวันที่ 18 ก.ย. โดยผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค พบว่า 2 รายแรกมีอาการไข้ ปวดศีรษะ และไอ ส่วนอีกรายมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ไอ และการได้รับสัมผัสรส กลิ่น ลดลง ทุกรายตรวจหาเชื้อในวันที่ 18 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ 
     ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขห่วงใยสุขภาพของผู้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากพักผ่อนน้อย บางรายไม่ได้นอน ร่วมกับสภาพอากาศที่ชื้น มีฝน ทำให้มีโอกาสป่วยเป็นไข้หวัดหรือโรคระบบทางเดินหายใจได้ รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยยังถือว่ามีความเสี่ยงอาจมีผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการปะปนอยู่ในสังคม ที่สำคัญกลุ่มชุมนุมมีการรวมตัวของคนจำนวนมาก อาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 หรือไข้หวัดได้ง่าย ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้อาการป่วยจะใกล้เคียงกันมาก
     “ขอความร่วมมือทุกคน หลังกลับจากการเข้าร่วมชุมนุม ให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเองจนครบ 14 วัน วัดไข้ ใส่หน้ากาก แยกสำรับอาหารและของใช้ส่วนตัว ป้องกันการแพร่เชื้อให้คนในครอบครัว หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เนื่องจากกลุ่มนี้หากป่วยจะมีอาการรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้ หากมีอาการ ไข้ ไอเจ็บคอ น้ำมูก การรับรส กลิ่นลดลง ให้ไปรับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที”
     ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า โควิด-19 กับการตรวจวินิจฉัยด้วยพีซีอาร์กับการติดเชื้อหรือความรุนแรงของโรคหรือไม่ ซึ่งทุกวันนี้เราตรวจวินิจฉัยหาผู้ติดเชื้อด้วยวิธีเรียลไทม์พีซีอาร์ เป็นวิธีการตรวจที่มีความละเอียดและความไวสูงมาก เป็นการตรวจหาอาร์เอ็นเอส่วนหนึ่งของไวรัสเท่านั้น ไม่ได้ตรวจไวรัสทั้งตัว การตรวจพบจึงแยกไม่ได้ว่าไวรัสนั้นยังมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต สามารถแพร่กระจายโรคได้หรือไม่ได้ และไม่ได้บอกความรุนแรงของโรค ซึ่งโดยทั่วไปการจะบอกว่าไวรัสมีชีวิต จะทำได้โดยเพาะเชื้อ culture ดูว่าไวรัสแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้หรือไม่ ส่วนใหญ่ไวรัสจะยังมีชีวิตอยู่ในช่วงก่อนมีอาการ และหลังมีอาการแล้วระยะหนึ่งอาจจะเป็น 7-10 วัน หลังจากนั้นโอกาสที่จะแพร่กระจายโรคก็จะเริ่มลดลง แต่จะยังตรวจพบอาร์เอ็นเอของไวรัสอยู่ได้อีกระยะหนึ่ง ในบางรายอาจอยู่นานเป็นเดือน หลายคนเรียกว่า ซากไวรัส
     “ในการตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบันยังใช้พีซีอาร์ เพราะถือเป็นวิธีที่ไวที่สุดและง่ายกว่าการเพาะเชื้อเลี้ยงไวรัส การตรวจด้วยพีซีอาร์สามารถบอกเชิงปริมาณ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่อยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐจะมีปริมาณไวรัสค่อนข้างน้อย และไม่ค่อยมีอาการของโรค แต่ก็ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่มีอาการแต่มีปริมาณไวรัสมาก บุคคลเหล่านี้จะมีโอกาสแพร่เชื้อได้สูงดังที่เราเห็นใน super spreader” ศ.นพ.ยงกล่าว และว่า การตรวจด้วยพีซีอาร์เมื่อมีความไวสูงก็มีโอกาสที่จะเกิดผลบวกปลอมได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีค่า Ct ใกล้ 40 หรือมากกว่า 35 เช่น ผู้ป่วยรายหนึ่ง การตรวจ 3 ห้องปฏิบัติการ 4 วิธีให้ผลลบ แต่อีกห้องปฏิบัติการ 1 ให้ผลบวก จะแปลผลอย่างไร ในทางปฏิบัติจะเอาแอนติบอดีมาช่วย และวิธีติดตามคนไข้ มากกว่ายึดถือกระดาษแผ่นเดียว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"