ฝ่ายค้านล็อกคอสภาสูง ยอมโหวตผ่านแก้ รธน. อ้างประชาชนมาสนามหลวงเพียบ เป็นตัวกดดันให้ ส.ว.ไม่กล้าหือ 23 ก.ย.นี้รู้ผลเลย สภาร่าง รธน.ผ่านฉลุยหรือแท้ง โดนตีตก รัฐสภา พร้อมรับมือม็อบมาเยือน
กลางสัปดาห์นี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ขณะนี้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา 23-24 ก.ย.นี้แล้ว รวมด้วยกัน 6 ญัตติ
ประกอบด้วย 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย 2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าอาจจะมีการนัดรวมตัวกันหน้ารัฐสภาในช่วงวันที่ 23-24 ก.ย. ของประชาชนบางกลุ่ม เพื่อรอฟังผลการลงมติว่าการแก้ไข รธน.จะเกิดขึ้นหรือไม่
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมนักศึกษา ประกาศว่าวันที่ 24 ก.ย. จะบุกรัฐสภาเพื่อกดดันในการแก้รัฐธรรมนูญว่า ถ้าใครจะไปรัฐสภา ก็เป็นสิทธิ์ของประชาชนอยู่แล้วที่จะไปเยี่ยม ไปดูการทำงานของสภา แต่ต้องปฏิบัติมาตรการ social distancing การเว้นระยะห่างกัน และช่วงนี้ก็ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ รวมทั้งระเบียบของสภาในช่วงนี้ ใครจะมาสภา เช่นยื่นเรื่องความเดือดร้อนต่างๆ ก็มีระเบียบว่าสามารถเข้าไปได้จำนวนกี่คน ถ้ามาเป็นพันคนหมื่นคน แล้วจะเข้าทั้งหมดก็คงไม่ได้ ทั้งนี้เชื่อว่าประชาชนที่เข้ามาในสภาก็คงไม่ประสงค์ร้าย ส่วนการจะมากดดันก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ต้องไม่ทำผิดกฎหมายก็ยินดีต้อนรับ
นายสมบูรณ์กล่าวต่อว่า ส่วนบริเวณโดยรอบรัฐสภา เป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงอยู่แล้วที่ต้องดูแลในกรณีที่มีผู้มาชุมนุมมาอยู่หน้ารัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และในสภาเองก็มีฝ่ายรักษาความปลอดภัยดูแลอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีปัญหา
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งภาคประชาชนจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยมองว่าเป็นสิทธิ์ หากจะเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็สามารถทำได้เต็มที่ หากการชุมนุมครั้งนี้เน้นย้ำเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ก็ควรเรียกร้องเรื่องนี้เป็นหลัก จึงอยากให้ผู้ชุมนุมเรียกร้องในสิ่งที่ควรเรียกร้อง ซึ่งขณะนี้มีภาคประชาชนกำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างฉบับประชาชน แต่หากจะยื่นเสนอร่างวันที่ 22 กันยายนนี้ คงไม่ทันเข้าสู่การพิจารณาวันที่ 23 ถึง 24 กันยายนนี้แน่นอน เพราะต้องใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงรูปแบบการประชุมรัฐสภาวันที่ 23-24 ก.ย. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 ญัตติ ว่าขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติอย่างไรในการกำหนดวิธีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ซึ่งในวันที่ 22 ก.ย. จะมีการหารือวิปสามฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว. กำหนดรูปแบบการพิจารณาอย่างเป็นทางการ
นพ.ชลน่านเปิดเผยว่า เบื้องต้นจะเสนอให้พิจารณาอภิปรายแสดงความเห็นรวมกันได้ทุกญัตติ แต่ในการลงมติจะให้แยกพิจารณาลงมติเป็นรายมาตรา โดยในวันที่ 23 ก.ย. จะให้อภิปรายญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เมื่ออภิปรายครบแล้ว ก็ให้ลงมติจะรับหลักการวาระแรกหรือไม่ ใช้วิธีการขานชื่อรายบุคคล จะให้สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนตอบในครั้งเดียวเลยว่าจะรับญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล และรับญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ เพื่อประหยัดเวลา ไม่ต้องขานชื่อลงมติ 2 ครั้ง เพราะการขานชื่อรายคนแต่ละครั้ง ใช้เวลา 3 ชั่วโมง เพราะมีสมาชิกรัฐสภาถึง 750 คน ส่วนการพิจารณาวันที่ 24 ก.ย. จะพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราที่เหลืออีก 4 ญัตติ รูปแบบเหมือนกับการอภิปรายวันที่ 23 ก.ย.
"ส่วนกรณีเสียง ส.ว.ที่ยังไม่ชัดเจน จะช่วยลงมติแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เราคงไม่สามารถบังคับให้ ส.ว. 84 เสียงมาร่วมลงมติได้ แต่เชื่อว่าจำนวนมวลชนที่มาร่วมชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. จะเป็นตัวกดดันให้ ส.ว.ลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความต้องการของประชาชน ดูแล้วน่าจะได้เสียง ส.ว.พอ 84 เสียง ในการลงมติรับหลักการวาระแรกได้ เพราะถือว่าเป็นการปลดทุกข์ช่วย ส.ว. เพราะ ส.ว.เองก็คงไม่สบายใจในอำนาจมาตรา 272 ที่ต้องลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่จำเป็นต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นการยกภูเขาออกจากอก ส.ว." นพ.ชลน่านระบุ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดชุมนุมอีกครั้งที่รัฐสภาในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น แต่ไม่มีผลอะไรต่อการใช้ดุลยพินิจของสมาชิกรัฐสภาที่จะพิจารณาในเรื่องดังกล่าว เพราะไม่มีกฎหมายเขียนว่าการจะไปชุมนุมเรียกร้องอยู่หน้าสภาแล้วสภาจะต้องแก้ไขตามที่เรียกร้อง ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวเช่นนั้นอาจจะส่งผลเสียกลับไปที่ผู้ชุมนุม ซึ่งจะถูกมองว่าไม่เข้าใจกฎหมายและขั้นตอนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการจะไปชุมนุมที่รัฐสภาซึ่งเป็นสถานที่ราชการจะต้องขออนุญาตการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จึงกังวลว่าจะเกิดปัญหาขึ้นได้ หากแกนนำและมวลชนที่จะมาในวันดังกล่าวไม่ขออนุญาต การชุมนุมจะไม่ชอบด้วยกฎหมายมากกว่าที่จะมากดดันการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ
นายไพบูลย์กล่าวว่า การให้เหตุผลนัดชุมนุมโดยอ้างว่าจะมาติดตามเรื่องของการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพราะกังวลว่าสภาจะพิจารณาแบบพวกมากลากไป คิดว่าเป็นความกลัวของเขามากกว่า โดยการเรียกร้องเป็นการตามใจตัวเอง ไม่ได้อยู่ในความจริง สิ่งที่ทำไม่อยู่ในฐานะนักประชาธิปไตย เพราะการเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องคำนึงถึงกฎหมาย ไม่ใช่ความคิดเห็นของตัวเอง ลุแก่อำนาจของตัวเอง หรือทำตามใจที่ตัวเองต้องการเพียงอย่างเดียว เพราะอย่างนั้นเรียกว่านักประชาธิปไตยจอมปลอม
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะให้ความมั่นใจกับประชาชนที่ติดตามแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างไรว่าจะไม่มีการซุกหรือหมกเม็ดในการตั้งส.ส.ร.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์กล่าวว่า ในสภามี ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลกว่า 408 คน มี ส.ว. 250 คนที่จะเข้ามาพิจารณาและตรวจสอบเรื่องนี้ร่วมกัน ดังนั้นข้อสังเกตว่าจะไปทำอะไรหมกเม็ดหรือไม่ถูกต้องคงไม่ได้ แต่ที่ควรจะกังวลคือการลงลายมือชื่อในร่างญัตติแก้ไขที่ฝ่ายค้านเสนอ เพราะอาจจะมีปัญหาที่จะต้องตรวจสอบต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |