"นนทบุรี-บุรีรัมย์"โมเดลกำจัดซากขยะอิเล็กทรอนิกส์  บทจำลองผลักดันร่าง กม.จัดการฯฉบับแรกของไทย


เพิ่มเพื่อน    

ซากขยะโทรศัพท์มือถือ  หนึ่งในขยะอันตราย


             ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากกว่า 400,000 ตัน ต่อปี  กำลังสร้างปัญหาสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศไทย เพราะสถานที่รับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์มีจำกัด ชาวบ้านทิ้งปะปนกับขยะทั่วไปหรือขายให้ซาเล้ง รถเร่ กลุ่มซาเล้งขายต่อให้ร้านรับซื้อถอดแยกชิ้นส่วนขยะ ทั้งที่เศษซากเหล่านี้จัดเป็นของเสียอันตราย ต้องกำจัดแบบปลอดภัย    ชิ้นส่วนที่รีไซเคิลได้ จะถูกนำไปขาย ส่วนเศษซากที่เหลือกลับถูกกำจัดโดยการเผากลางแจ้ง  รวมถึงทิ้งในบ่อขยะชุมชน  สารอันตรายรั่วไหลต่อสิ่งแวดล้อม


            ความพยายามผลักดันการจัดการซากขยะพิษ ล่าสุด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สนับสนุนโครงการ “ศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งมุ่งจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญ 5 ประเภทอย่างถูกวิธี ได้แก่ คอมพิวเตอร์ ,เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย,เครื่องปรับอากาศ ,เครื่องรับโทรทัศน์ และตู้เย็น กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการ 15 เดือน คิกออฟเดือนกันยายน 2563 – พฤศจิกายน 2564 เริ่มรับคืนซากราวเดือนมกราคม –มีนาคม ปีหน้า จะนำร่องใน 2 พื้นที่ตัวอย่าง ได้แก่ จ.นนทบุรี ตัวแทนขยะพิษของกลุ่มคนเมือง และ จ.บุรีรัมย์ ตัวแทนเศษซากของกลุ่มชุมชนชนบท   โดยผลศึกษาวิจัยใช้สนับสนุนให้เกิด ร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  พ.ศ. … เพื่อให้มีกฎหมายสำหรับจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ


                โครงการวิจัยไม่ขึ้นหิ้งนี้  กฟผ. ผนึกกำลังสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) และกรมควบคุมมลพิษ  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดบุรีรัมย์  รวมถึงพันธมิตรสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างต้นแบบจัดการเศษซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ คุมมลพิษ

      ประลอง ดำรงค์ไทย



                ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นในประเทศ มีข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการประกอบกิจการถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์  กรณี ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ มี 287 หลังคาเรือน บริเวณบ้านถอดคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีเศษซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรเกลื่อนไปหมด ผู้ถอดคัดแยก นอกจากพ่อบ้าน แม่บ้าน ยังมีคนสูงอายุทำด้วย  ทั้งยังมีเด็กใช้ชีวิตบริเวณบ้าน ในบ่อขยะมีการทิ้งและเผาเศษซากที่เหลือ มีกลิ่นเหม็นรบกวน ก๊าซพิษ และพบการปนเปื้อนโลหะหนักของทองแดง ตะกั่ว นิกเกิล สารหนูเกินค่ามาตรฐาน  แหล่งน้ำที่ผลิตประปา แหล่งน้ำธรรมชาติ พบสารหนู ทองแดง ตะกั่ว เกินมาตรฐาน  ในดินก็เกินค่ามาตรฐาน ด้านสุขภาพพบตะกั่วในเลือดเด็กต่ำกว่า 5 ปี เกินมาตรฐาน บริเวณรอบบ้านฆ้องชัยเป็นพื้นที่ปลูกข้าว เสี่ยงการปนเปื้อน  นอกจากนี้ คพ.ได้ตรวจพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ,จ.อุบลราชธานี รวมถึงซอยเสือใหญ่อุทิศ กรุงเทพฯ ที่มีการแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่ละพื้นที่จัดการต่างกัน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ต่างกัน  เพราะบ้านเราไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์  นำมาสู่การผลักดันร่างกฎหมายจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ   ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนค้างการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วาระที่ 2 วันนี้ ยังพบจุดอ่อนร่าง พ.ร.บ. คาดว่า ร่างกม…จะแล้วเสร็จเดือน ก.ย. ปี 2564

           อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า  การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ต้องเป็นรูปธรรม และลดปริมาณขยะพิษเหล่านี้ ปัจจุบันไทยออกประกาศห้ามนำเข้าจากต่างประเทศ 428 รายการ แต่ประเทศไทยยังมีซากผลิตภัณฑ์ฯ กว่า 4 แสนตันต่อปี ที่เป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า 5 ประเภท คือ ทีวี ตู้เย็น มือถือ แอร์ และโน็ตบุ๊ค การทิ้งในบ่อขยะผิด พ.ร.บ.สาธารณสุข  พ.ศ. 2535 บ่อขยะ 2,000 แห่งทั่วประเทศ ไม่มีที่ทิ้ง ส่วนท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กรมกำหนด  บ้างก็บอกรองบโรงไฟฟ้าจากขยะ  ปล่อยให้ปริมาณขยะพิษเพิ่มขึ้น หน้าฝนชะล้างปนเปื้อน หน้าร้อนกองขยะลุกไหม้ สร้างมลพิษ โครงการศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากขยะอิเล็กทรอนิก เป็นการสร้างโมเดล ให้ร่างกฎหมายใหม่ครบถ้วนด้านการรับคืนซากตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง  ครอบคลุมถึงการจัดตั้งองค์กรกลางขึ้นมาบริหารจัดการ และตั้งกองทุนฯ ขึ้นมาดูแล แหล่งที่มาของรายได้จะอยู่ในราคาผลิตภัณฑ์ เช่น ตู้เย็นราคา 10,000 บาท จะจัดเก็บเข้ากองทุนฯ 500 บาท เป็นต้น  

 

.โทรทัศน์รุ่นเก่า ขยะอันตรายรอการจัดการอย่างถูกต้อง

                อธิบดี คพ. กล่าวด้วยว่า ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ภาครัฐต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้น ออกคู่มือแนวทางจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งฝากความหวังไว้ที่การทำงานของคณะทำงาน 3 ชุด ประกอบด้วยด้านการพัฒนากลไกการจัดการพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยกรมควบคุมมลพิษ ด้านการส่งเสริมและรณรงค์ประชาสัมพันธ์การจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติก โดยสภาอุตสาหกรรรมแห่งประเทศไทย การจัดการต้องอาศัยความร่วมมือทั้งกลุ่มผู้ผลิต ผู้รวบรวม ผู้ขนส่งและโรงงานถอดแยกชิ้นส่วน จึงจะแก้ปัญหายั่งยืน  

 ยงยุทธ ศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.สนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยฯ ครั้งนี้ 5 ล้านบาท โดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 15 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 – พฤศจิกายน 2564 ทั้งนี้ โครงการฯ จะเริ่มดำเนินกิจกรรมรับคืนซากประมาณการไว้ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2564 และดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ผ่านระบบฐานข้อมูล Digital WEEE Manifest ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาเพื่อเป็นเครื่องมือติดตามซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และจะนำร่องใน 2 พื้นที่ตัวอย่าง ได้แก่ จ.นนทบุรีประชากรมีกำลังซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบชุมชนเมือง และ จ.บุรีรัมย์ ประชากรมีศักยภาพซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างกัน ทั้งสองโมเดลที่เกิดจากการศึกษาจะบูรณาการ พัฒนาต่อยอดสู่การจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เพราะซากผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบที่มีมูลค่า  

“ โครงการศึกษานี้ กฟผ.ดำเนินการให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  ตลอดจนสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เกิดการปรับปรุง พัฒนากระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถอดแยกได้ง่ายขึ้น และลดการใช้สารอันตรายในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ รีไซเคิล อย่างเป็นรูปธรรม ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึง กฟผ.ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพผ่านมาตรการติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งเป็นกลไกสำคัญเสริมสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงานของไทย  “ ยงยุทธ ย้ำผลวิจัยนี้จะสู่การปฏิบัติแน่นอน  


กฟผ.ผนึกพันธมิตรวิจัยจำลองการจัดการซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ใน 2 พื้นที่นำร่อง


ในฐานะที่เป็นจังหวัดนนทบุรี เป็นพื้นที่นำร่องวิจัยจำลองจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทิพย์อาภา ยลธรรม์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรี ให้ข้อมูลว่า นนทบุรี เป็นเมืองที่ขยายตัวรวดเร็วมาก ประชากรอยู่อาศัยจำนวนมาก เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ที่หมดอายุใช้งานแล้ว ปัจจุบันไม่ได้นิ่งนอนใจ  อปท. เก็บขนและรวบรวมซากขยะนี้ ไปส่งที่ศูนย์รวบรวมของเสียอันตรายของชุมชนของ อบจ.นนทบุรี ตั้งอยู่ อ.ไทรน้อย เพื่อส่งให้บริษัทเอกชนนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง  

“ แม้จะมีศูนย์ แต่อุปสรรคปัญหาตอนนี้ประชาชนนิยมนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปขายต่อให้ร้านรับซื้อของเก่า หรือนำไปบริจาค  อีกทั้งยังมี อปท. ที่ยังไม่มีรูปแบบแยกจัดเก็บ รวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ จำนวนขยะของเสียอันตรายที่ส่งไปศูนย์รวบรวมฯ จึงมีจำนวนไม่มาก จากข้อมูลปี 62 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์เทศบาลนครนนทบุรีเก็บรวบรวมมีถึง 11.3 ตัน ส่วนปีนี้ตั้งแต่มกราคมถึงกรกฎาคม เก็บได้ 5 ตัน เราห่วงเก็บรวบรวมได้น้อย ปลายทางขยะไปที่ไหน ไม่ใช่ลักลอบทิ้ง เกิดอันตรายจากสารพิษในขยะ  สำหรับโครงการศึกษาจำลองจัดเก็บซากทั้งระบบ คงไม่รอถึง 15 เดือน ให้สมบูรณ์แบบ แต่ค่อยๆ จัดทำระบบ เก็บข้อมูลต้นทาง ปลายทาง  คิดว่า  ตอบโจทย์ปัญหา และจะได้รับคำแนะนำ สร้างเครือข่าย ต่อยอดกับหน่วยราชการ ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เกิดโมเดลที่ดี “ ทิพย์อาภา กล่าว

 

ยงยุทธ ศรีชัย ผอ.ฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการสังคม กฟผ.


อีกพื้นที่จำลองจัดการซากขยะพิษอยู่บุรีรัมย์ อนุพงศ์ สุขสมนิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์ อบต.แดงใหญ่ มี 103 ครัวเรือน ถอดคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการจัดการขยะอันตราย ซึ่งจำเป็นต้องให้ความรู้กับประชาชน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง  ด้านผู้ประกอบการถอดแยกขยะชิ้นส่วนต้องจัดการอย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด  รวมถึงไม่เกิดมลพิษต่อชุมชนโดยรอบ การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ต้องศึกษาวิจัยให้ครบทุกมิติ ช่วยในพื้นที่บุรีรัมย์ อีกทั้งส่งเสริมการผลักดันกฎหมายใหม่ด้วย

“ บุรีรัมย์ตั้งเป้าหมายการพัฒนา จะเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวอารยธรรมขอม ศูนย์กลางผลิตอาหารปลอดภัย  และด้านสิ่งแวดล้อมจะพัฒนาโดยไม่มีขยะล้นเมือง ไม่มีน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ โครงการวิจัยนี้เป็นกลไกหนึ่งขับเคลื่อน ทางจังหวัด   และอบต.แดงใหญ่ พร้อมร่วมงานจัดการขยะอิเล้กทรอนิกส์ตลอด 15 เดือน เพื่ออยากให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น    “ อนุพงษ์ ยืนยันพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่  



 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"