มีชัย:เปลี่ยนอำนาจตั้งตร. ถ่ายโอนจราจรให้ท้องถิ่น


เพิ่มเพื่อน    

   "มีชัย" ลั่นปฏิรูปตำรวจต้องกระจายงานไม่เกี่ยวข้องให้หน่วยงานอื่น เตรียมโยก "จราจร" ให้ท้องถิ่นดูแล ย้ำงานสอบสวนคู่ปราบปรามอยู่กับ สตช. แค่แยกเป็นอิสระชัดเจนคล้ายอัยการกับผู้พิพากษา เล็งเปลี่ยนอำนาจคนแต่งตั้งสีกากีแก้ปัญหาผลประโยชน์  เผยใช้เวลาไม่นานยกร่าง กม.เสร็จ "รอง ผบ.ตร." ชี้ต้องนำผลศึกษาทุกคณะมาเปรียบเทียบด้วย  
    เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายดิสทัต โหตระกิตย์   เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจว่า คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ..... ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้มีการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา  โดยที่ประชุมมีการพิจารณาถึงภาพรวมตำรวจในปัจจุบันทั้งหมดว่ามีภารกิจมากเกินไปหรือไม่ ควรจะลดลงเหลือแค่ไหน จะมีการปรับลดภารกิจของตำรวจลงเฉพาะเท่าที่ควรจะมี 
    นายดิสทัตกล่าวว่า ในเรื่องอำนาจสอบสวนยังคงอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เหมือนเดิม เพราะที่ประชุมมองว่าตำรวจมีความเชี่ยวชาญงานสอบสวน ส่วนที่มีข้อเสนอให้แยกงานสอบสวนเฉพาะเรื่องให้กับหน่วยงานต้นสังกัดที่เป็นเจ้าของกฎหมายฉบับนั้นๆ ตรงนี้จะเป็นเรื่องพิเศษที่จะพิจารณาในรายละเอียดภายหลัง เพราะตอนนี้คณะกรรมการฯ จะพิจารณาภารกิจหลักของตำรวจคือ การบังคับใช้กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย และการมีโทษทางอาญาก่อน
    ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพยายามกระจายงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจโดยตรงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ เช่น งานทะเบียนที่ไม่เกี่ยวกับการปราบปราม งานจราจรที่จะส่งมอบให้ท้องถิ่น โดยพิจารณาว่าท้องถิ่นใดพอมีกำลัง เป็นต้น อีกทั้งกำลังพิจารณาว่าถ้าแยกภารกิจอื่นๆ จะเสียหายและไม่เสียหายอะไรบ้าง
    "งานสืบสวน สอบสวน เป็นหน้าที่คู่กับการป้องกันและปราบปราม แต่จะต้องแยกให้มากขึ้น โดยจัดทำเป็นคุณลักษณะให้มีความเป็นอิสระใกล้เคียงกับอัยการและผู้พิพากษา ส่วนปัญหาเรื่องผลประโยชน์ในการแต่งตั้งโยกย้ายนั้น จะต้องแก้ไขโดยมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน และอาจต้องเปลี่ยนคนตั้ง ซึ่งขอคิดวิธีให้เรียบร้อยแล้วจะนำบอกกล่าวต่อไป" นายมีชัยกล่าว
    ถามว่า การปฏิรูปตำรวจจะจบที่คณะกรรมการดังกล่าวหรือไม่ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ กล่าวว่า ไม่จบ เพราะเราทำเป็นร่างกฎหมาย ดังนั้นจึงไปจบที่อื่น ไม่จบที่คณะกรรมการฯ  และต้องติดตามว่าจะจบอย่างไร คาดว่าจะใช้เวลาไม่กี่เดือนในการดำเนินการ เพราะนายกรัฐมนตรีก็เร่งเช้าเร่งเย็น
    นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. มีข้อสรุปพื้นฐานว่า จะเน้นการถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานของตำรวจโดยแท้เป็นหลัก เพราะเห็นว่าแก่นแท้ของงานตำรวจคือการรักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การนำบุคคลที่กระทำความผิดทางอาญามาสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นงานหลักที่ต้องรักษาไว้
    นายคำนูณกล่าวว่า งานที่นอกเหนือไปจากนี้ ที่มีลักษณะเป็นงานบริการประชาชน งานทะเบียน งานจัดระเบียบอื่นๆ อาทิ งานจราจร ถือเป็นงานรอง สมควรถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานอื่นได้กระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อมเพื่อให้องค์กรตำรวจกระชับตัวลง และกำลังพลที่มีอยู่สามารถรองรับงานหลักได้เต็มที่ ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ 1.ต้องไม่สร้างความกระทบกระเทือนให้แก่ประชาชน และ 2.ต้องไม่สร้างภาระแก่งบประมาณแผ่นดินมากเกินไป
    "การถ่ายโอนภารกิจในความหมายนี้ จึงไม่ใช่การถ่ายโอนงานสอบสวนคดีอาญาบางประเภท ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางไปให้หน่วยงานอื่นที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนั้น และปัจจุบันทำงานทางด้านสืบสวนและมีอำนาจจับกุมอยู่แล้วทำแทนทั้งหมด เพราะจะทำให้เกิดหน่วยงานสอบสวนขึ้นใหม่อีกเป็นจำนวนมากอยู่ต่างสังกัดกัน จะเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก หากทำเช่นนั้นอาจเป็นการสร้างนรกให้กับประชาชน หรือทำให้ประชาชนประสบสภาวะหนีเสือปะจระเข้ เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างสูง" นายคำนูณกล่าว
    กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ กล่าวว่า  งานสอบสวนคดีอาญาที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาจยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นได้โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละด้านนั้นมาเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ช่วยของพนักงานสอบสวน
    "การลดจำนวนของความผิดที่มีโทษทางอาญาที่มีอยู่ในกฎหมายฉบับต่างๆ ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 และบรรจุอยู่ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายอยู่แล้ว โดยจะมีการยกเลิกโทษทางอาญาสำหรับความผิดที่ไม่ร้ายแรง หรือให้มีการเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาเป็นโทษปรับทางปกครองแทน ซึ่งเมื่อกระทำสำเร็จ ก็จะเป็นการลดภารกิจที่ไม่จำเป็นของตำรวจไปด้วยอีกทางหนึ่ง เมื่อรู้ภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณากำหนดโครงสร้างองค์กร" กรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ กล่าว
    ขณะที่ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ กล่าวว่า การกระจายงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแยกงานสอบสวนให้มีความอิสระชัดเจนคล้ายกับอัยการและผู้พิพากษา กำลังอยู่ระหว่างการพิจาณาในรายละเอียดเท่านั้น แต่ในที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไรยังไม่ทราบ
    "โดยมารยาทแล้วผมไม่สามารถให้ความเห็นอะไรได้ ต้องเป็นหน้าที่ของนายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายเป็นคนชี้แจง ทุกอย่างยังอยู่ในการพิจารณาในที่ประชุม และเพิ่งประชุมไปแค่ 2 ครั้ง ยังไม่สามารถสรุปอะไรได้" พล.ต.อ.รุ่งโรจน์กล่าว
    รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า ทางคณะกรรมการฯ ต้องดูทุกเรื่องที่มีการศึกษาไว้ทั้งหมด รวมทั้งผลการสรุปรายงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ได้ศึกษารายงานของ สนช.  สปท. และอีกหลายๆ กรณีที่มีการศึกษาไว้ก่อนหน้านั้น มาศึกษาเปรียบเทียบดู ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ต้องคงดูภาพรวมๆ ด้วยในหลายๆ กรณี การพิจารณาต้องพิจารณาทั้งหมด ในที่สุดหลักการจะออกมาตรงกันทั้งหมดหรือไม่ตร งก็เป็นเรื่องของรายละเอียดในวันข้างหน้า
    "แม้ในคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ จะมีตำรวจ 2 ราย คือผมและ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีต บช.ภ.1 ก็ไม่มีอะไร เพราะในที่ประชุมเป็นการระดมความคิดเห็น ทุกคนที่มาก็เพื่อทำให้ดีเป็นการพิจารณาและเหตุผล ผมคิดว่าหลายๆ อย่างคงตรงกันส่วนใหญ่ เพราะข้อเท็จจริงในประเด็นสภาพที่มีปัญหาเราก็มองไม่ได้ต่างกัน แต่เป็นธรรมดาเรื่องหลักคิดในรายละเอียดนิดหน่อยอาจไม่ตรงกัน แต่ในที่สุดแล้วการร่วมกันอภิปรายก็จะเห็นแนวทางที่ถูกต้องตรงกันมากที่สุด เหมือนคณะของ พล.อ.บุญสร้าง แต่ละเรื่องมี 5-6 ทางเลือก อภิปรายร่วมกันในประเด็นต่างๆ ตกลงกันได้ตรงไหน อะไรน่าจะเหมาะและปฏิบัติได้จริงก็ดำเนินการกันไป ไม่มีอะไร ไม่ได้เกี่ยวว่ามีตำรวจกี่คนในคณะกรรมการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เป็นเรื่องของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง เพราะเรากำลังแก้ปัญหาที่มีอยู่จริง" รอง ผบ.ตร.กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"