“ศบค.” เผยพบผู้ป่วยใหม่ 3 ราย มาจากบราซิลและเยเมน ยอดเสียชีวิตสะสม 59 ราย รวมมีผู้เดินทางจาก 63 ประเทศ เข้ารับการกักตัวแล้ว 94,970 คน พบผู้ติดเชื้อ 562 คน อาจารย์หมอเตือนการชุมนุมในช่วงที่มีโรคระบาดคือการเพิ่มความเสี่ยง หากระบาดรุนแรงรอบ 2 เราอาจไม่เหลือทรัพยากรมากพอที่จะเยียวยาและฟื้นฟู
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เผยแพร่สถานการณ์ในประเทศไทยว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,500 ราย หายป่วยสะสม 3,338 ราย ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเสียชีวิต 59 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 103 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่มาจากบราซิล 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 48 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางมาถึงไทยวันที่ 7 ก.ย. เข้าพักในสถานที่กักตัวแบบทางเลือกในกรุงเทพฯ และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 วันที่ 10 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อไม่มีอาการ, รายที่ 2-3 มาจากเยเมน ทั้งหมดเป็นชายไทยอายุ 22 ปี และ 27 ปี เดินทางมาถึงไทยวันที่ 11 ก.ย. เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 4 ราย เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ กรุงเทพฯ และตรวจหาเชื้อวันที่ 16 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ทั้งหมดไม่มีอาการ
สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 30,691,801 ราย อาการรุนแรง 61,405 ราย รักษาหายแล้ว 22,334,506 ราย เสียชีวิต 956,421 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 6,925,941 ราย 2. อินเดีย จำนวน 5,305,475 ราย 3.บราซิล จำนวน 4,497,434 ราย 4.รัสเซีย จำนวน 1,091,186 ราย และ 5.เปรู จำนวน 756,412 ราย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 131 จำนวน 3,500 ราย ส่วนเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศ วันที่ 19 ก.ย. จำนวน 373 คน จากสหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทยขณะนี้ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ภายหลังที่รัฐบาลได้ผ่อนปรนมาตรการอนุญาตให้คนไทยจากต่างประเทศและชาวต่างชาติในกลุ่มที่ได้รับสิทธิให้สามารถเดินทางเข้าประเทศไทย อาทิ คู่สมรสต่างชาติและบุตรของผู้ที่มีสัญชาติไทย, กลุ่มนักธุรกิจ, นักลงทุน, คณะทูต, คณะกงสุล, องค์กรระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งทุกรายต้องได้รับการกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (State Quarantine), สถานกักตัวที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) หรือสถานพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) และรับการตรวจหาเชื้อตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด
เขากล่าวว่า ตั้งแต่เปิดให้สามารถเดินทางเข้าประเทศได้จนถึงขณะนี้ มีผู้ที่เดินทางจาก 63 ประเทศ เข้ารับการกักตัวแล้ว 94,970 คน พบผู้ติดเชื้อ 562 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.59 ของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศทั้งหมด โดยประเทศที่เดินทางเข้ามามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซียผ่านด่านพรมแดน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น และอินเดีย สำหรับสถานกักตัว ประเภทสถานกักตัวที่รัฐกำหนด (Alternative State Quarantine) หรือสถานพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) ผู้ที่เดินทางจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง หากติดเชื้อจะคิดค่าใช้จ่ายการรักษาจากประกันโควิด-19 ที่ทำไว้ก่อนการเดินทางเข้าประเทศ
นพ.โสภณกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงในสุขภาพของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 19-20 กันยายน 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่บาดของเชื้อโควิด 19 ของประเทศไทยยังถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ อาจเกิดการแพร่และสัมผัสเชื้อระหว่างกันได้ ขอให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกคนสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา และเปลี่ยนบ่อยๆ หรือเมื่อหน้ากากเกิดความชื้น ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ หลีกเลี่ยงการนำมือสัมผัสบริเวณใบหน้า ตา จมูก ปาก เลี่ยงการตะโกน เนื่องจากอาจเกิดฝอยละอองน้ำลาย น้ำมูกกระจายและสัมผัสสู่ผู้อื่นได้ หากเป็นไปได้ขอให้ไม่ปะปนกันในกลุ่มขนาดใหญ่ ให้รวมกลุ่มขนาดเล็กและตั้งกลุ่มไลน์ระหว่างกัน หากพบการติดเชื้อจะสามารถติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมโรคได้ง่ายขึ้น ซึ่งถ้ามีสมาชิกกลุ่มคนใดคนหนึ่งป่วย มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ขอให้ไปรับการตรวจวินิจฉัยทันที หากป่วยขอให้งดการร่วมชุมนุมป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น อย่างไรตาม กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งจุดคัดกรองอุณหภูมิผู้เข้าร่วมชุมนุมกระจายอยู่รอบบริเวณ เพื่อลดความเสี่ยงอีกทางหนึ่ง
ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เตือนการชุมนุมในช่วงที่มีโรคระบาดคือการเพิ่มความเสี่ยง หากระบาดรุนแรงรอบ 2 เราอาจไม่เหลือทรัพยากรมากพอที่จะเยียวยาและฟื้นฟู
โดยระบุว่า "การชุมนุมในภาวะที่มีการระบาดของโรคนั้นถือเป็นการเสี่ยงทั้งต่อผู้ชุมนุม และประชาชนในสังคมโดยรวม หากรักประเทศชาติ รักตัวเอง และรักครอบครัว ควรป้องกันตัวอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้รับหรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่น และเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
รักจะชุมนุม รักจะแสดงความเห็นหรือเรียกร้อง ก็ควรมีสติและใช้ปัญญาในการประกอบกิจกรรม ไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่ควรทำลายข้าวของ ไม่รุกล้ำก้าวล่วง คนเราทุกคนในสังคมนั้นมีหลากหลายความคิด เห็นต่างได้ แต่ต้องอยู่ร่วมกันอย่างสงบ
"ไม่เห็นด้วยกับการก่อความรุนแรง หรือปั่นป่วนนอกขอบเขตของกฎหมายครับ เตือนอีกครั้งด้วยความปรารถนาดี...ขอให้แต่ละคนป้องกันตัวให้ดี เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะระบาดหลังจากนี้ภายใน 2-4 สัปดาห์ ถ้าระบาดซ้ำ จะเร็ว แรง คุมลำบาก ใช้เวลานาน และเกิดผลกระทบวงกว้าง จากเดิมที่เราต้องกู้เงินมาประคับประคองเศรษฐกิจ หากเจอระลอกสอง เราอาจไม่เหลือทรัพยากรพอที่จะเยียวยา และยากที่จะฟื้นฟู"
รศ.นพ.ธีระระบุว่า หลักประชาธิปไตยนั้นเอื้อต่อการแสดงความเห็น และแสดงออกภายใต้กรอบกติกาสังคมและตัวบทกฎหมาย สำคัญที่สุดคือต้องไม่ละเมิดผู้อื่น และไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสังคมโดยรวม นี่คือความเห็นที่ไม่อิงการเมืองฝ่ายใดทั้งสิ้น...แต่เน้นเรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนทุกคนในสังคม และความมั่นคงของประเทศ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |