การชุมนุมของนิสิต นักศึกษา กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 19 กันยายน ตรงกับวันครบรอบ 14 ปีการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แล้วแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี
การรัฐประหาร 19 ก.ย. ถือเป็นจุดเปลี่ยสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยระหว่างที่ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ คนเสื้อเหลือง ชุมนุมต่อต้าน ระบอบทักษิณ ที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ เกิดทุจริตคอร์รัปชันมโหฬาร กองทัพได้เข้ามายุติปัญหาด้วยการรัฐประหาร
ในขณะที่ ระบอบทักษิณ ได้หว่านนโยบายประชานิยมเป็นที่ประทับใจแก่มวลชนคนรากหญ้าทุกหย่อมหญ้า เมื่อรัฐบาลที่ตัวเองชื่นชอบถูกล้มด้วยวิธีนอกระบบได้สร้างความคับแค้น คุกรุ่น จึงได้ก่อเกิด กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ต่อมาเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ในปี 2553 ก็ถูกกองทัพกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุม สร้างความคับแค้นแก่มวลชนทักษิณอีก ต่อมารัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอนิมินีทักษิณ ผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย เพื่อช่วยให้ทักษิณพ้นผิด ได้เกิดกลุ่ม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ออกมาต่อต้าน
กระทั่ง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 กองทัพ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็เข้ามายึดอำนาจ ล้มรัฐบาลนอมินีทักษิณอีกครั้ง
หากนับจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมในช่วง 10 ปี มีประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก โดยการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 737 ราย, กลุ่ม นปช.เสียชีวิต 94 ราย บาดเจ็บ 1,500 ราย, กลุ่ม กปปส.เสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บ 782 ราย
เป็นความสูญเสียที่เกิดความแตกแยกทางความคิดของคนไทยอย่างน่าหดหู่เป็นอย่างยิ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม การรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ล้มรัฐบาลทักษิณ นำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทย ตั้ง คตส.ยึดทรัพย์ครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดระบอบทักษิณลงได้
ขณะที่ คสช.แม้จะยุติความขัดแย้งที่เรื้อรังมานับสิบปี บ้านเมืองเกิดความสงบ โดย คสช.ได้ให้คำมั่นว่าจะทำให้ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี ปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทุกด้าน แต่ดูเหมือนจะเป็นความสงบชั่วคราว ความขัดแย้งก็ปะทุขึ้นมาอีก จนถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ เพราะมูลเหตุความขัดแย้งทางการเมืองที่แท้จริงยังไม่ได้รับการสะสางแก้ปัญหาให้ลุล่วง
กลุ่มคนเสื้อเหลือง-กปปส.เรียกร้องรัฐบาลที่โปร่งใสไม่ทุจริตคอร์รัปชัน และการปฏิรูปประเทศ 5 ด้าน แต่ก็ยังมีกรณี นาฬิกายืมเพื่อน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ซึ่งประธาน ป.ป.ช.เคยเป็นลูกน้องเก่าแกนนำรัฐบาลที่ถูกกล่าวหา จึงไม่สามารถเอาผิดใครได้ และก็ยังมีการทุจริตคอร์รัปชันภายในหน่วยงานภาครัฐเหมือนเดิม และก็ยังไม่มีการปฏิรูปตามเสียงเรียกร้อง แกนนำเสื้อเหลืองก็ได้แต่ กลืนเลือด
ส่วนกลุ่มคนเสื้อแดงเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในเมื่อรัฐบาลยังไม่ปฏิรูปประเทศเป็นรูปธรรม ความเหลื่อมล้ำแทบทุกด้านก็ยังห่างขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม คนมีเงิน อำนาจ ยังอยู่เหนือกฎหมาย ประชาชนคนยากไร้ ผู้บริสุทธิ์ ยังถูกยัดข้อหากลายเป็นแพะได้ง่าย การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพก็ถูกตั้งข้อหาแบบหว่านแห จับกุมคุมขังมากมาย และยังถูกมองว่าเป็น กระบวนการยุติธรรมเลือกข้าง 2 มาตรฐาน
ทั้งนี้ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายเฝ้ารอ แต่รัฐบาลก็ซื้อเวลาไปเรื่อย ทั้งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่ล่วงเลยมาถึงบัดนี้รัฐบาลก็ยังไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปตำรวจแห่งชาติ ฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะที่สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ออกแถลงการณ์ชี้ว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 258, 260 และขอให้นำฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เสนอต่อสภาเพื่อการปฏิรูปแทน
ส่วนการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็น 1 ใน 2 เรื่องเร่งด่วนของการปฏิรูปที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 60 ก็ไม่รู้ว่ามีความคืบหน้าไปแค่ไหน แต่ที่เห็นคือ นักเรียนขาสั้นชู 3 นิ้วกันเต็มโรงเรียน และยังบุกมาประท้วงถึงหน้ากระทรวงศึกษาธิการ สะท้อนถึงความล้มเหลวของการศึกษาไทยที่ถูกครอบงำด้วยระบบอำนาจนิยม ระบบอุปถัมภ์ และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นเงื่อนไขให้นักเรียนกล้าลุกขึ้นมาขบถต่อระบบเก่าอย่างไม่หวั่นกลัว
ขณะที่ นิสิต นักศึกษา ก็เคลื่อนไหวอย่างท้าทาย โดยเฉพาะการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กับ ข้อเสนอ 10 ข้อ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ถือเป็นการขยับเพดานการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
แม้บางฝ่ายจะมองว่าการเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งเรียกว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ จะมีกระบวนการจัดตั้งจากฝ่ายการเมืองก็ตาม แต่ก็สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และปล่อยให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรงลุกลามขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับสังคมไทยแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจคนไทยมายาวนาน การวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ ทำให้ประชาชนที่จงรักภักดีไม่สามารถรับได้ จึงเกิด ศูนย์กลางประสานงาน นักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศอปส.) , กลุ่มไทยภักดี ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องสถาบัน และต่อต้านการเคลื่อนไหวกลุ่มคนที่จาบจ้วงสถาบัน
แม้ฝ่ายที่เสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์จะปฏิเสธว่าไม่ใช่การล้มสถาบัน แต่พฤติกรรมการแสดงออกในหลายเวลา หลายเวที ก็น่าเคลือบแคลง ทำให้ฝ่ายจงรักภักดีไม่ไว้วางใจกับพฤติการณ์ดังกล่าว
จึงกลายเป็นการเผชิญหน้าทางความคิดของประชาชนคนไทย 2 กลุ่มอีกครั้งที่คล้ายกับเหตุการณ์ช่วง 6 ตุลาฯ 19 ทำให้มีความกังวลว่าจะนำไปสู่ความรุนแรง ซ้ำรอยเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกหรือไม่
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศ เรื่อง การแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ในโลก เตือนกลุ่มที่จะออกมาชุมนุมประท้วงจะเพิ่มความเสี่ยงการแพร่ระบาดระลอกใหม่และทำลายการทำมาหากินของคนไทย ทำให้การฟื้นเศรษฐกิจจะล่าช้า ทำลายความเชื่อมั่นนักธุรกิจ และหายนะจะตามมาจากการล็อกดาวน์อีกครั้ง และขอให้วางการเมืองไว้ก่อน แล้วจับมือร่วมแรงร่วมใจกันผ่านพ้นความยากลำบากไปให้ได้ก่อน
ท่าทีของนายกฯ ถูกมองว่าใช้การแพร่ระบาดไวรัสโควิดมาขู่ผู้ชุมนุม เพราะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ละเลยปัญหาทางการเมืองที่เป็นปมขัดแย้งมา 14 ปี แม้จะไฟเขียวแก้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะตอบโจทย์ความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่
ทางด้านแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่ม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า การชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการชุมนุม มีแต่รัฐบาลสร้างเรื่อง หรือทำให้มีคนติดโควิด-19 เข้ามาในประเทศ ตั้งแต่ทหารสหรัฐอเมริกาแล้ว สำหรับมาตรการควบคุมป้องกันโรคโควิดจะดำเนินการแบบเดิมเหมือนที่เคยทำ
วันถัดมานายกฯ กล่าวย้ำว่า “ที่ผมพูดไปเมื่อวานห่วงใยจริงๆ ผมไม่ต้องการจะไปข่มขู่ใครทั้งสิ้น แต่มันเป็นเรื่องจริง ฉะนั้น ผู้ใหญ่ทุกคนจะต้องเข้าใจตรงนี้ ต้องห่วงใยลูกหลานของท่าน ถ้ามันเป็นอะไรกันขึ้นมาจะรับมือกันไหวหรือเปล่า"
ส่วน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ได้สั่งการให้ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. จัดทำแผนการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ชุมนุมตามข้อห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยได้จัดเตรียมหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ไปแจกให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกคนด้วย
แม้แกนนำผู้ชุมนุมและรัฐบาลจะมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด แต่การรวมกลุ่มของผู้คนจำนวนมาก ก็เสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ได้ และหากต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง หายนะทางเศรษฐกิจจะตามมาอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ แม้ฝ่ายผู้ชุมนุมจะยืนยันแนวทางสันติวิธี ฝ่ายรัฐจะบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช้ความรุนแรง แต่หลายฝ่ายก็ยังเกรงว่าจะมีมือที่สามสร้างสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความแตกแยกรุนแรง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ที่สำคัญหากยังไม่แก้ปมเหตุความขัดแย้งทางการเมืองก็ไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้เกิดความสงบอย่างแท้จริงได้
จึงน่าจับตาว่าการเคลื่อนไหวที่ชูธง ให้มันจบที่รุ่นเรา จะจบลงอย่างไร?.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |