“ช้างไม้คู่” ได้ถูกนำกลับมาตั้งอยู่ที่กระทรวงการคลังอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะมีพิธีบวงสรวง เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2563 เวลาประมาณ 11.15 น. หลังจากเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2558 ในยุคของ “สมหมาย ภาษี” เป็น รมว.การคลัง ได้มีการนำช้างไม้คู่ดังกล่าวส่งให้สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร อ.ศาลายา จ.นครปฐม ซ่อมแซม หลังมีปัญหาชำรุด ผุพัง เนื่องจากถูกปลวกแทะกัดกิน โดยรวมๆ แล้วใช้เวลาซ่อมแซมนานกว่า 5 ปี จากกำหนดเดิมที่ 18 เดือน
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า “ช้างไม้คู่” ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการคลังที่ต้องมาสักการะ โดยเฉพาะคนที่จะเข้ามารับตำแหน่งเป็น รมว.การคลัง, รมช.การคลัง ไปจนถึงข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง เพราะมีความเชื่อกันว่าในการคล้องพวงมาลัยช้างไม้คู่นั้นต้องห้ามไม่ให้พวงมาลัยขาด หรือห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายตำแหน่งของช้างไม้คู่เด็ดขาด เพราะจะส่งผลกับ “ตำแหน่ง”
ซึ่งย้อนไปในอดีตที่ผ่านมา ในยุคของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ในช่วงที่ต้องมีการคล้องพวงมาลัย ปรากฏว่า “พวงมาลัยขาด” หลังจากนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรก็ดำรงตำแหน่ง รมว.การคลังได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น ในยุคของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนจะลาออกไป หรือแม้แต่ในยุคของ “สมหมาย ภาษี” เป็น รมว.การคลัง ที่ได้มีการย้ายช้างไม้คู่เพื่อไปซ่อมแซมเนื่องจากความชำรุด แต่ท้ายที่สุดก็มีเหตุให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งผลให้ “สมหมาย” ต้องพ้นจากตำแหน่ง รมว.การคลังในที่สุด หรือล่าสุด “ปรีดี ดาวฉาย” ที่ลาออกจากตำแหน่งเพียงไม่กี่วันก่อนที่ช้างไม้คู่จะถูกส่งกลับมาที่กระทรวงการคลัง
สำหรับประวัติช้างไม้คู่กระทรวงการคลัง เล่าต่อกันมาว่า เมื่อประมาณกลางปี 2530 มีชาวสิงคโปร์ซึ่งเลื่อมใสศรัทธาท้าวมหาพรหมเป็นอย่างยิ่งนำมาถวายสักการะ โดยที่ว่าเป็นช้างขนาดใหญ่ และได้จารึกชื่อไว้หลังช้างด้วย ว่าใครเป็นผู้บูชาสักการะ และบังเอิญว่าในปีนั้นกำลังจะแปรรูปโรงแรมเอราวัณ ต้องก่อสร้างใหม่ แต่สถานที่ก่อสร้างจำกัด คับแคบ จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายของออกไปหมด เฉพาะช้างเชือกใหญ่ขนาดนี้ทำได้ยาก และต้องเป็นช่างที่มีฝีมือดี ใช้ไม้ท่อนใหญ่มาก เลยคิดว่าจะสงวนไว้ โดยช่วงนั้นเห็นว่าที่กระทรวงการคลังเหมาะสม ได้ดำเนินการขอปลัดกระทรวงการคลังว่าจะขอช้างมาไว้ในที่แห่งนี้
โดยช้างไม้คู่กระทรวงการคลังดังกล่าว นับเป็นช้างรุ่นเดียวกับช้างคู่ ตั้งอยู่หน้ากรมสรรพสามิต ต่อมาในช่วงนายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่ง รมว.การคลัง สั่งให้ย้ายไปยังวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ต่อมาในสมัยนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ดำรงตำแหน่งเป็น รมว.การคลัง ได้มีคำสั่งให้นำช้างไม้คู่กลับเข้ามาในปี 2538 นับว่าช้างคู่ถูกย้ายไป-มาจากกระทรวงการคลังหลายรอบ ก่อนจะมีการส่งซ่อมแซม และซึ่งกินเวลานานกว่า 5 ปี จึงจะนำกลับมาไว้ที่กระทรวงการคลังเช่นเดิม
สำหรับช้างคู่ที่นำกลับมา ในส่วนช้างตัวผู้ เป็นตัวเดิม ทำมาจากไม้ก้ามปู โดยได้มีการนำไปบูรณะใหม่ หลังจากถูกปลวกกัดกิน และเสื่อมไปตามสภาพอากาศ ส่วนช้างตัวเมีย เป็นการแกะสลักใหม่ทั้งหมด ด้วยไม้สักทองขึ้นองค์ใหม่ทั้งหมด มีขนาดและรูปร่างเท่าเดิม เนื่องจากองค์เดิมถูกปลวกกินภายในจนไม่สามารถซ่อมแซมได้
โดยความน่าสนใจของพิธีบวงสรวงช้างไม้คู่กระทรวงการคลังคือ ตลอดพิธีบวงสรวงช้างคู่ แดดสว่างสดใส แต่พอเสร็จพิธีไม่นานก็มีฝนตกหนักที่กระทรวงการคลัง โดยข้าราชการกระทรวงการคลังพูดกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของช้างไม้คู่ที่ทำให้ฝนไม่ตกระหว่างประกอบพิธี
อย่างไรก็ตาม ข้าราชการประจำกระทรวงการคลังและประชาชนในละแวกใกล้เคียงที่ให้ความนับถือสักการะ จะนำกล้วย อ้อย พวงมาลัยมาสักการะช้างไม้คู่กระทรวงการคลังอยู่เป็นประจำ เมื่อใครได้มาเยือนกระทรวงการคลังครั้งใดก็จะได้พบช้างไม้คู่นี้ตั้งตระหง่าน ถือเป็นขวัญกำลังใจอยู่คู่กับกระทรวงการคลัง
“ประสงค์ พูนธเนศ” ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า ช้างไม้คู่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บุญกระทรวงการคลังมานาน ซึ่งข้าราชการกระทรวงการคลังเชื่อว่า การมีช้างคู่จะทำให้มีพลังในการทำงาน เห็นช้างแล้วก็มีกำลังใจ มีความแข็งแกร่ง พร้อมรับมือสู้กับสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยดูแลเงินคงคลังให้แข็งแกร่ง เพราะหน้าที่ของกระทรวงการคลังไม่ใช่แค่ดูแลเรื่องการจัดเก็บรายได้ แต่ยังมีหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศด้วย
“เชื่อว่าช้างไม้คู่จะทำให้เกิดเรื่องดี มีแต่สิ่งดีๆ ส่วนอะไรที่ไม่ดีก็อยู่ที่ใจคน ถ้าเราทำด้วยความรักแผ่นดิน ทำด้วยความดี ก็จะเกิดเรื่องดี ถ้าทำอะไรไม่ดี ช้างก็ไล่ออกไปเอง”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |