ถ้าเผื่อว่า ส.ว.ซึ่งถูกตั้งคำถามอยู่แล้ว ไม่ว่าการตั้งคำถามนั้นจะถูกหรือผิด เกิดเป็นสาเหตุที่ทำให้ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ต้องตกไปตั้งแต่วาระแรก ผมว่า ส.ว.ชุดนี้จะถูกตั้งคำถามหนักหน่วงยิ่งขึ้น เราต้องตอบคำถามตัวเราเองให้ได้ เราต้องอยู่กับการตัดสินใจนี้ไปอีกยาวนาน
ผลลงมติ ส.ว.ต้องไม่ใช่
การเอาฟืนเพิ่มเข้าไปในกองไฟ
ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะประชุมเพื่อพิจารณาญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ ซึ่งผลการลงมติของสมาชิกรัฐสภาถูกมองว่าจะมีผลต่อการเมืองอย่างมากตามมา โดยเฉพาะการเมืองนอกรัฐสภา โดยมีการวิเคราะห์ว่าหากการแก้ไข รธน.ไม่เกิดขึ้น อาจทำให้มีการนัดชุมนุมใหญ่ทางการเมืองเกิดขึ้นและร้อนแรงกว่าการชุมนุมช่วง 19-20 ก.ย. โดยผลการลงมติที่จะออกมา ตัวแปรสำคัญก็คือ คะแนนเสียงเห็นชอบของ ส.ว.ที่ต้องมีคะแนนเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด ที่ก็คือต้องได้ไม่ต่ำกว่า 84 เสียง
คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาที่อยู่ในแวดวงการเมือง และการเคลื่อนไหวการเมืองมายาวนาน โดยเป็นหนึ่งในบุคคลที่สนใจติดตามเรื่องรัฐธรรมนูญมาต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่สมัยเป็นสื่อมวลชน วิเคราะห์ทิศทางการเมืองไทยกับการแก้ไข รธน.ที่จะเกิดขึ้นในกลางสัปดาห์นี้ หลังก่อนหน้านี้ ส.ว.คำนูณแสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่า พร้อมจะลงมติเห็นชอบการแก้ไข รธน.เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงการยกเลิกอำนาจของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ตาม รธน.มาตรา 272
-ถ้าช่วง 19-20 ก.ย.มีประชาชนมาร่วมชุมนุมกันหลายหมื่น จะเป็นการกดดันการตัดสินใจของ ส.ว.ในการลงมติเรื่องรัฐธรรมนูญหรือไม่?
จะบอกว่าไม่มีผลเลยก็คงเป็นไปไม่ได้ มันก็ต้องมีผลบ้าง มีผลในแง่ที่ว่าเมื่อมันเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง เป็นความขัดแย้งทางการเมือง แล้วสิ่งที่เขาเรียกร้องข้อหนึ่งก็คือ การแก้ไข รธน.ให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งหากถามว่าจะไม่นำมาพิจารณาด้วยหรือไม่ ก็คงเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย ในขณะเดียวกัน ประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร. เช่น กลุ่มไทยภักดีของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่มีการรวบรวมรายชื่อประชาชนกันอยู่ เราก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย แต่สุดท้ายการตัดสินใจชั่งน้ำหนักอย่างไร เป็นวิจารณญาณของ ส.ว.แต่ละคน ว่าถ้าลงมติไปแบบหนึ่งแล้วจะคลี่คลาย ผ่อนคลายสถานการณ์ทางการเมืองให้ขยับจากบนท้องถนนให้เข้ามาสู่เวทีรัฐสภาได้มากน้อยแค่ไหน อย่างน้อยที่สุด การยอมรับให้มีการแก้ไข รธน.ให้มีการตั้ง ส.ส.ร. กระบวนการมันไม่ได้จบแค่วันเดียว เพราะวันที่ 24 ก.ย.ยังแค่โหวตวาระแรก ยังมีโหวตวาระสาม และยังจะมีประชามติอีก รวมแล้วกระบวนการต่างๆ ก็ใช้เวลาหนึ่งปีครึ่งเป็นอย่างต่ำ ซึ่งอย่างน้อยการใช้เวทีรัฐสภาจะเป็นเวทีประนอมอำนาจได้หรือไม่อย่างไร ก็ต้องตัดสินใจกัน หรือจะคิดแต่เพียงว่าถึงจะลงมติผ่านไปอย่างไร ก็จะยังเกิดความขัดแย้งใหญ่โตอีกอยู่ดี จากเหตุผลต่างๆ ที่อาจคิดกันไปได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องตัดสินใจอีกอย่างก็ได้ ก็สุดแท้แต่สมาชิกแต่ละคนจะใช้วิจารณญาณ
-หากจะมีการนัดชุมนุมกันหน้ารัฐสภาในช่วงประชุมร่วม 23-24 ก.ย.?
ก็เป็นเรื่องปกติ ผมเป็น ส.ว.มาตั้งแต่ปี 2551 ก็ผ่านเหตุการณ์มีมวลชนมาล้อมหน้ารัฐสภาจากทุกฝ่ายมาแล้ว ถ้าครั้งนี้จะมีมาอีกก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ว่าการตัดสินใจของ ส.ว. เราต้องรับฟังความคิดเห็นของเขา แต่การตัดสินใจ เราก็ต้องนำมาชั่งน้ำหนัก และมีเหตุผลที่จะบอกถึงการตัดสินใจของเราได้ คือต้องรับฟังแน่นอน แต่ไม่ใช่ตัดสินใจไปเพราะความกลัว ภยาคติ และอย่าลืมว่าการรับฟังไม่ใช่แปลว่าต้องเชื่อฟัง
ทัศนะ-เหตุผล หนุนแก้ รธน.
สำหรับความเห็นของ คำนูณ-ส.ว. ที่เคยบอกก่อนหน้านี้ว่าจะลงมติเห็นชอบด้วยกับการแก้ไข รธน.รอบนี้ มีเหตุผลอย่างไร เขาอธิบายพอสังเขป โดยเรียงลำดับเหตุผลเชื่อมโยงกับบริบททางการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ
คำนูณ-ส.ว. กล่าวว่า รธน.ทุกฉบับที่เกิดขึ้นมาหลังมีการยึดอำนาจ-รัฐประหาร ก็จะถูกตั้งคำถามมาตลอดในเรื่องความชอบธรรมที่มีมาตลอด อย่างเหตุการณ์พฤษภาปี 2535 ก็มีสาเหตุมาจากเรื่อง รธน. เพราะว่า รธน.ปี 2534 ก็ยกร่างในสมัย รสช. จนเกิดความไม่พอใจกันอยู่แล้ว แต่สำหรับ รธน.ปี 2560 ต้องยอมรับว่ามีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจาก รธน.ฉบับอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดความไม่พอใจเพิ่มมากขึ้นก็คือการบัญญัติให้ ส.ว.ชุดแรกตาม รธน.ตามบทเฉพาะกาลมาจากการถูกเสนอชื่อโดย คสช.ทั้งหมดแล้วก็มีการบัญญัติให้สามารถร่วมโหวตเห็นชอบนายกฯ ได้ที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ รธน.ปี 2560 ถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกมาโจมตีตลอดก็คือ ส.ว. 250 คนชุดแรก
ที่สำคัญกว่านั้น รธน.ปี 2560 ออกแบบมาให้แก้ไขยาก โดยกำหนดเงื่อนไขสำคัญให้การแก้ไข รธน. นอกจากเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาแล้ว ยังเขียนให้ต้องมี ส.ว .1 ใน 3 คือ 84 เสียงเห็นชอบด้วย จึงทำให้สถานการณ์ก่อนจะมาถึงวันนี้ รธน.ฉบับปัจจุบันจึงถูกตั้งคำถามในเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองมาตลอดอยู่ก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตาม รธน.ปี 2560 ที่บัญญัติไว้เช่นนั้น ก็มีที่มาที่ไปคือต้องการให้บ้านเมืองสงบสุข ต้องการให้บ้านเมืองดำเนินการปฏิรูปประเทศไปได้ จึงเห็นได้ว่า รธน.ฉบับปัจจุบัน มีการบัญญัติหมวดว่าด้วยเรื่อง "การปฏิรูปประเทศ" ไว้เป็นหมวดหนึ่งขึ้นมาเฉพาะ และออกแบบให้วุฒิสภามาทำหน้าที่ติดตามเสนอแนะเร่งรัด
และบทบัญญัติที่สำคัญใน รธน.คือการให้ ส.ว.มาร่วมโหวตเห็นชอบเลือกนายกฯ คนก็มองว่า ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา แต่ว่าเป็นระบอบในช่วงเปลี่ยนผ่าน คือจากระบอบการใช้อำนาจของคณะ คสช.ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยปกติ ที่เขาเห็นว่าตอนช่วงนั้นมันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจึงกำหนดไว้ห้าปี แต่ถึงกระนั้นก็ตามแต่ ยังเห็นว่ามันเป็นบทบัญญัติที่ผิดปกติไปจากระบอบประชาธิปไตย จึงให้มีการทำเป็นคำถามพ่วง ประชามติ ตอนประชามติร่าง รธน.เมื่อ 7 สิงหาคม 2559 โดยเขียนเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นไว้ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ จึงถามว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้การเลือกนายกรัฐมนตรีทำในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ก็แปลว่า เขาออกแบบ รธน.มาให้ คสช.ตั้ง ส.ว. แล้วก็ให้ ส.ว.มีอำนาจในการพิทักษ์ รธน.ไม่ให้แก้ไขง่ายๆ แล้วก็ให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีผมก็ขอตีความว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศมันเดินหน้า ให้มันสัมฤทธิผลในปี 2565 เขาจึงมองว่าหากมีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ แล้ว ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 มันจะคลี่คลายลง จึงเป็นประเด็นที่ว่าทำไม รธน.ปี 2560 ถึงเขียนออกมาแบบนี้
คำนูณ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ผมอยากพูดก็คือ สุดท้ายแล้วมันเป็นแบบนั้นหรือไม่ ก็ต้องยอมรับความจริงว่า การปฏิรูปประเทศเดินหน้าไปค่อนข้างช้าและมีแนวโน้มไม่ทันตามที่ รธน.กำหนดไว้ว่าต้องเห็นสัมฤทธิผลในปี 2565 ซึ่งตอนนี้ก็ 2563 ปลายๆ ปีแล้ว และที่สำคัญ ผลงานของรัฐบาล นอกจากเรื่องปฏิรูปประเทศแล้ว เรื่องอื่นๆ ที่ประดังเข้ามา ก็ถูกตั้งคำถามเยอะ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ทำให้เกิดการต่อต้าน เกิดการเรียกร้องว่า สุดท้ายแล้วก็ไม่เป็นไปตามนั้น โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศที่สำคัญๆ เช่น ปฏิรูปตำรวจ ที่อยู่ใน รธน.มาตรา 258 ง (4) ที่ รธน.บัญญัติให้เสร็จภายใน 1 ปี หลัง รธน.ประกาศใช้ คือ 6 เม.ย.2561 ก็ปรากฏว่าไม่เสร็จและไม่ใกล้เคียงความเป็นจริงเลย จนตอนนี้เลยกำหนดมาแล้วสองปีครึ่ง ซึ่งแม้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติจะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ 15 ก.ย. แต่ก็ยังต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ที่ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร
...นอกจากไม่เสร็จแล้ว รธน.ยังมีบทเร่งรัดกึ่งลงโทษที่อยู่ในมาตรา 260 วรรคสาม ที่บัญญัติว่าหากกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานของตำรวจหากไม่แล้วเสร็จ ก็ให้การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปตามระบบอาวุโสอย่างเดียว แต่ปรากฏว่า ครม.ไปเห็นชอบการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นข้อกำหนดเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายออกมา โดยไม่ได้เป็นตามอาวุโสอย่างเดียว แต่ให้ใช้หลักอาวุโสแค่ 33% ของสัดส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายเท่านั้น โดยมีการออกประกาศดังกล่าวในช่วงปลายปี 2561 จากนั้นอีก 2-3 เดือนต่อมา ก็มีประกาศหัวหน้า คสช.ออกมาฉบับหนึ่ง เพื่อรับรองความถูกต้องของประกาศฉบับดังกล่าว จนทำให้ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจก็เป็นไปตามประกาศสำนักนายกฯ ฉบับดังกล่าว คือให้ใช้หลักอาวุโส 33% ที่ก็ไม่เป็นไปตาม รธน.มาตรา 260 วรรคสาม
...ผมเคยอภิปรายเรื่องนี้ในที่ประชุมวุฒิสภาว่า เสมือนหนึ่งว่า รธน.มาตรา 260 วรรคสาม ถูกแก้ไขไปแล้วในทางปฏิบัติ โดยคำสั่งของหัวหน้า คสช. ก็แล้วทำไมในเมื่อตอนนี้มีการเสนอแก้ไข รธน. แล้วเหตุใดจึงเสนอไม่ได้ แล้วทำไมผมจะต้องไปคัดค้าน ผมก็คิดในตรรกะของผมแบบนี้ ในฐานะที่ผมติดตามเรื่องการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจมา
"เพราะฉะนั้นผมจึงเห็นว่า หากเราจะบอกว่า รธน.ฉบับปี 2560 มาจากการประชามติ 16.8 ล้านเสียง คำถามพ่วงที่ให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ มาจาก 15.1 ล้านเสียง สิ่งที่ผมเห็นด้วยก็คือ มันก็ถึงเวลาที่ควรต้องแก้ไข เพราะว่าฐานแห่งความชอบธรรมของการออกแบบ รธน.ให้มีลักษณะเฉพาะกิจ เฉพาะกาล ให้อยู่ในช่วงรอยต่อ เพื่อรับใช้สองอย่างคือ ความสงบสุขของบ้านเมือง ไม่ให้มีความขัดแย้ง กับเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ทั้งสองฐานดังกล่าวมันไม่เกิดเป็นจริงขึ้นมาแล้ว ณ นาทีนี้"
...เพราะว่าความขัดแย้งในบ้านเมืองก็เกิดขึ้น ซึ่งเราจะไม่พูดว่าใครถูกใครผิด เพราะต่างก็มีฐานอ้างอิงความชอบธรรมของตัวเอง แต่มันเกิดความขัดแย้งขึ้นมาแล้ว ความสงบไม่ใช่จุดที่ขายได้ของ รธน.ในช่วงบทเฉพาะกาลนี้ได้อีกต่อไปแล้ว ส่วนเรื่องการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ มันยังไม่เกิดขึ้นจริง เพราะฉะนั้นการให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ มันก็ไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว เพราะเวลาผมโหวตให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็ตอบคำถามสื่อว่าผมโหวตเพราะในฐานะที่ท่านรู้เรื่องการปฏิรูปประเทศ เพราะอยู่มาตั้งแต่ต้น ก็น่าจะผลักดัน ขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปประเทศให้เดินหน้าโดยเร็วที่สุด มันก็ไม่เป็นจริงขึ้นมา ฐานตรงนี้ก็ไม่เกิดขึ้นแล้ว
ที่สำคัญเราต้องยอมรับความเป็นจริงด้วยว่า ต่อให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ แต่นายกฯ หากไม่ได้เสียงข้างมากในสภาฯ นายกฯ ก็อยู่ไม่ได้ อย่างในระยะหลัง ตัวนายกฯ ก็บอกว่า ไม่ได้มาจาก ส.ว. แต่มาจากเสียงข้างมากในสภาฯ ก่อนที่ ส.ว.จะโหวตเลือก ซึ่งจะเป็นจริงหรือไม่จริงไม่รู้ ผมจึงเห็นด้วยตั้งแต่ประเด็นแรกคือที่แก้ไข รธน.รายมาตราในประเด็น ตัดอำนาจของ ส.ว.ในการร่วมโหวตนายกฯ ซึ่งผมเชื่อว่า หากแก้เฉพาะมาตรานี้มาตราเดียว จะลดความขัดแย้งในบ้านเมืองลงไปได้ครึ่งหนึ่ง หรือเกินครึ่งด้วยซ้ำไป เบื้องต้นผมจึงเห็นด้วยกับประเด็นนี้เป็นหลัก
ส.ว.คำนูณ ให้ทัศนะต่อไปว่า สำหรับการตั้งสภาร่าง รธน. ถ้าถามว่าผมเห็นด้วยทันทีหรือไม่ ก็ตอบได้ว่ายังไม่เห็นด้วยทันที เพราะผมคิดว่ามาตรการดีๆ ใน รธน.ฉบับปี 2560 ยังมีอยู่ การเขียน รธน.ฉบับใหม่โดยไม่มีกรอบกำกับเลย ยกเว้นที่ห้ามแก้หมวด 1 และหมวด 2 ผมว่ายังไม่เพียงพอ เพราะเหตุผลคือ 1.พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ปรากฏอยู่ในหมวดอื่นๆ นอกเหนือจากหมวด 1 และหมวด 2 และในสภาวะที่บ้านเมืองกำลังมีความขัดแย้งล่อแหลมอยู่ในขณะนี้ ก็สมควรให้ฝ่ายที่เขาเป็นห่วงใยเรื่องนี้เขาจะห่วงใย 2.มาตราต่างๆ ใน รธน.ที่เขาประกาศว่า รธน.ฉบับปราบโกง ก็มีหลายมาตราที่ผูกพันอยู่กับองค์กรอิสระ ผูกพันกับบทลงโทษในการกระทำความผิดตาม รธน. เช่นตัดสิทธิเลือกตั้ง 3.พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ฉบับต่างๆ ที่ออกตาม รธน.และจะต้องหมดสภาพไปหาก รธน.ถูกยกเลิก อย่างเช่น พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของนักการเมือง มีบทบัญญัติที่เข้มข้น
...เลยทำให้คนเกรงกันว่า หากมีการร่าง รธน.ฉบับใหม่แล้วมาตรการเหล่านี้หายไป แต่ว่าหลังจากผมพิจารณาไตร่ตรองใคร่ครวญดูแล้ว ผมเห็นว่าผมก็ไม่อาจที่จะไปโหวตคัดค้านการแก้ 256 เพื่อให้ตั้ง ส.ส.ร.ได้ เพราะว่าเสียงของผมหรือเสียงของสมาชิกรัฐสภาไม่ใช่เสียงเด็ดขาด เพราะว่าเขากำหนดไว้ว่าการแก้ 256 นอกจากต้องผ่านจากรัฐสภา 3 วาระแล้ว ยังต้องนำไปทำประชามติจากประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั่วประเทศ เรื่องจึงไม่ได้จบที่รัฐสภา ต้องไปทำประชามติอีกหนึ่งครั้ง
"ดังนั้นถ้าผมไปโหวตไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.หรืองดออกเสียง หรืออะไรก็ตามที่ทำให้การแก้ไข รธน.ไม่สำเร็จ ต้องตกไปตั้งแต่วาระแรก ก็เท่ากับว่าเราไปด่วนตัดหนทางการตอบคำถามโดยตรงของประชาชนจากการทำประชามติ แล้วผมจะไปเอาเหตุผลอะไรมาตอบ ผมตอบตัวเองไม่ได้ว่าผมเป็นใคร ผมเป็น ส.ว.คนหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามในเรื่องความชอบธรรมตั้งแต่ต้น ไม่ว่าการตั้งคำถามนั้นจะจริงหรือไม่จริง แม้ว่าผมจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดตามที่ รธน.บัญญัติไว้ แต่ว่าถ้าผมทำหน้าที่ครั้งนี้แล้วทำให้การตั้ง ส.ส.ร.ตกไปตั้งแต่ต้น ผมไปเอาสิทธิ์ตรงไหนมา"
...เพราะไม่ได้หมายถึงว่า หากผ่านรัฐสภาแล้วจะต้องผ่านประชามติร้อยเปอร์เซ็นต์เสียเมื่อไหร่ ดังนั้นที่มีประชาชนส่วนหนึ่งถามว่าจะแก้ รธน. ถามประชาชนที่ลงประชามติ 16 ล้านเสียงหรือยัง ผมจึงพยายามตอบว่าถามแน่ เพราะต่อให้ผ่านรัฐสภาก็ต้องไปทำประชามติอยู่ดี
...อย่างคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไข รธน.ชุดนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน ที่มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง ทำงานกันมาแปดเดือน ก็สรุปออกมาว่าหากจะแก้ รธน.รายประเด็นต้องแก้หลายมาตรา เพราะฉะนั้นก็น่าจะมีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา ในเมื่อ ส.ส.ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้านเห็นตรงกันอย่างนี้ และมีประชาชนข้างนอกจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้เกิด ส.ส.ร.ขึ้นมา ผมในฐานะ ส.ว.คนหนึ่ง ผมตอบคำถามไม่ได้ว่าผมใช้สิทธิ์อะไรไปทำให้มันตกไป เพราะในเมื่อไม่ได้จบที่รัฐสภา แต่ไปจบที่ประชาชน แล้วก็ไม่ได้จบที่ประชาชนครั้งเดียว เพราะหากสมมุติประชาชนออกเสียงประชามติให้ผ่านมาตรา 256 ให้การตั้ง ส.ส.ร.เกิดขึ้นได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ กระบวนการที่ใช้ประชามติของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ก็คือการเลือกตั้ง ส.ส.ร. จะ 150 คนตามร่างของพรรคร่วมรัฐบาล หรือ 200 คนตามร่างของฝ่ายค้าน แต่ประชาชนก็ต้องมาเลือกตั้งโดยตรงอีกครั้ง แล้วหาก ส.ส.ร.ได้ร่าง รธน.เสร็จ กรณีหากเป็นไปตามร่างของฝ่ายค้าน ต้องไปทำประชามติอีกทีหนึ่งถึงจะประกาศใช้ได้ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลให้มาผ่านรัฐสภา ซึ่งหากรัฐสภาให้ความเห็นชอบด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่หากรัฐสภาเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็ต้องไปทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง
"โดยรวมแล้วมีโอกาสที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเขาจะได้ตัดสินใจ ด้วยการลงคะแนนลับในคูหาเลือกตั้งทั่วประเทศ 2-3 ครั้ง แต่หากผมโหวตให้ตกไปตั้งแต่วาระแรก ผมก็คิดว่าผมไม่อาจไปตอบคำถามได้ว่า ผมใช้สิทธิ์อะไรไปขวางทางการตัดสินใจโดยตรงของประชาชน ส่วนประชาชนที่เขาไม่ต้องการให้แก้ รธน.จนมีการล่าชื่อกันมาเป็นแสนชื่อ เขาก็มีสิทธิ์ตอนออกเสียงประชามติที่จะไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.ได้"
ไม่ควรเพิ่มฟืนเข้าไปในกองไฟ
-หากหลังการโหวตเสียงของที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้วทำให้การเมืองเกิดเดดล็อก เกิดวิกฤติการเมือง การเมืองบนท้องถนนแรงขึ้น จะทำให้วุฒิสภาถูกมองว่าคือผู้จุดชนวน กลายเป็นแพะรับบาปทางการเมืองหรือไม่?
เบื้องต้นเราถูกตั้งคำถามอยู่แล้ว ไม่ว่าการตั้งคำถามนั้นจะถูกหรือจะผิด และหากว่าการไม่ผ่านร่าง รธน.เกิดเหตุเพราะพวกเราที่ถูกตั้งคำถามอยู่แล้ว ไม่ว่ามันจะถูกหรือจะผิด พวกเราก็จะยิ่งถูกตั้งคำถามหนักหน่วงยิ่งขึ้น แต่สุดท้ายแล้วพวกเราต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เราตัดสินใจไปเพราะอะไร
ผมคิดแบบนี้ว่า ก่อนจะไปพูดเรื่องอะไรทั้งหมด เสื้อต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกก่อน ก่อนจะถามกันว่าควรแก้ไข รธน.หรือไม่อย่างไร เราควรตั้งคำถามว่าระบอบการปกครองแบบ รธน.2560 ที่มีบทเฉพาะกาล จะอยู่ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน มันถึงเวลาที่ควรเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง ซึ่งหากไม่ทำอะไรเลย หลังจากนี้มันก็จะหมดไปอยู่แล้วตามวาระของ ส.ว.ชุดปัจจุบัน ก็อีกร่วมสี่ปี ถามว่ามันจะอยู่ได้ถึงวันนั้นหรือ ผมก็ว่ามันไม่ถึง ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง
"สำหรับผมเห็นว่า โดยส่วนตัวเองผมคิดว่าการตัดสินใจลงมติเห็นชอบกับการแก้ไข รธน. จะเป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟบ้างหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่อย่างน้อยไม่ใช่การเอาฟืนเพิ่มเข้าไปในกองไฟอีก เพราะไม่ใช่ว่าการแก้ไข รธน.จะตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ความขัดแย้งในประเทศไทยขณะนี้มันร้าวลึกและมีรากฐานมายาวนาน เรื่องใดเรื่องหนึ่งมันไม่สามารถจะตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่จะทำอย่างไรให้เราสามารถดึงเอาโจทย์ความขัดแย้งนั้น แทนที่จะเป็นการให้มวลชนให้มาอยู่ในระบบรัฐสภาให้ได้มากที่สุดแล้วก็ค่อยๆ แก้กันไปทีละเปลาะ"
ผมมองว่าการที่ ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทยเห็นตรงกันในการแก้ 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. เป็นมิติที่ไม่ค่อยเห็นเกิดขึ้นบ่อย เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นเพื่อไทยพูดอะไร ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องพูดตรงข้าม ฝ่ายรัฐบาลพูดอะไร เพื่อไทยก็ต้องพูดตรงกันข้าม ในเมื่อ ส.ส.ทั้งสภามีคำตอบตรงกันอย่างนี้ ส.ว.ควรต้องนำมาพิจารณาด้วย และที่สำคัญรัฐบาลเองก็บรรจุเรื่องแก้ รธน.ไว้ในนโยบายเร่งด่วน ซึ่งแม้จะไม่มีร่างแก้ไข รธน.ของ ครม.เสนอเข้ามา แต่เราจะไปตีความแยกพลเอกประยุทธ์ออกจากพรรครัฐบาลไม่ได้ เมื่อเขาเห็นพ้องต้องกันแบบนี้ แล้ว ส.ว.ที่เลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ จะตัดสินใจยังไง ในมุมหนึ่งถ้าเผื่อการตัดสินใจเป็นไปในลักษณะที่ทำให้ญัตติเสนอร่างแก้ไข รธน.ตกไป ฝ่ายที่เขาคิดตั้งคำถามอยู่ข้างนอก เขาอาจคิดได้ว่ารัฐบาลเล่นสองหน้า มันมีโจทย์การเมืองที่ ส.ว.แต่ละคนต้องตัดสินใจด้วยวิจารณญาณ ที่ต้องยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ
-ประเมินแล้วหลังประชุมร่วมรัฐสภาโหวตแก้ไข รธน. 24 กันยายน จะมีเหตุที่เป็นการจุดชนวนนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองอะไรหรือไม่?
ไม่อยากให้เกิด เพราะเกิดแต่ละครั้งบ้านเมืองก็เสียหาย แล้วเที่ยวนี้กลุ่มผู้ชุมนุมแกนนำหลักก็เป็นคนรุ่นลูกรุ่นหลานเรา เป็นนิสิตนักศึกษา ที่ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้นมา มันก็ไม่เป็นผลดีทั้งนั้น สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือ ในขณะนี้เรายังมีรัฐสภา แม้ว่าจะมี รธน.ในช่วงบทเฉพาะกาล แต่ก็ยังมีกลไกที่สามารถหาทางออกได้ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามแต่ที่สมาชิกรัฐสภาจะลงมติ จะตัดสินใจ ที่ผมไม่คิดว่าจะไปดับกองไฟแห่งความขัดแย้งได้ แต่อย่างน้อยที่สุดดึงฟืนออกมาสักดุ้นหนึ่ง หรืออย่างน้อยที่สุดจริงๆ ไม่เพิ่มสุมฟืนเข้าไปอีก ผมก็ถือว่าเป็นการช่วยชาติบ้านเมืองได้ตามหน้าที่ของเราแล้ว
ส่วนเรื่องการดับกองไฟแห่งความขัดแย้ง ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ว่าจะลงมติกันอย่างไร จะแก้ รธน.ได้หรือไม่ได้ ประเทศไทยก็คงอยู่ภายใต้ความขัดแย้งแบบนี้ไปอีกสักระยะเวลาหนึ่ง เพียงแต่จะทำอย่างไรให้เป็นความขัดแย้งที่มีเวที มีกรอบ มีกติกา เราลงทุนสร้างตึกรัฐสภาแห่งใหม่ลงทุนเป็นหมื่นล้าน ผมคิดว่าต้องให้เป็นเวทีแห่งการประนอมอำนาจที่แท้จริง ผมไม่อยากให้การเมืองเป็นการเมืองแห่งความเกลียดชัง แต่เป็นการเมืองที่เราเห็นต่างกันได้ แต่เราว่ากันด้วยเหตุและผล และวาจาที่มีเมตตาต่อกันตามสมควร
-หลังการโหวต 24 ก.ย.คงไม่ทัวร์ลงครั้งใหญ่ที่วุฒิสภา?
อยู่ที่ผลสุดท้ายของการลงมติ ถ้าเผื่อว่า ส.ว.ซึ่งถูกตั้งคำถามอยู่แล้ว ไม่ว่าการตั้งคำถามนั้นจะถูกหรือผิด เกิดเป็นสาเหตุที่ทำให้ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ต้องตกไปตั้งแต่วาระแรก ผมว่า ส.ว.ชุดนี้จะถูกตั้งคำถามหนักหน่วงยิ่งขึ้น เราต้องตอบคำถามตัวเราเองให้ได้ ผมคิดว่าเราต้องอยู่กับการตัดสินใจนี้ไปอีกยาวนาน อย่างผมออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องการตัดสินใจในช่วงนี้ ในลักษณะที่อาจจะเหนือความคาดหมายของผู้คนอยู่บ้าง แต่ผมก็ใคร่ครวญพอสมควรว่าผมจะมีชีวิตที่เหลืออยู่ จะอยู่ในความจดจำของประวัติศาสตร์อย่างไรต่อไป มันจึงเป็นการตัดสินใจที่สำคัญ.
ถ้าเผื่อว่า ส.ว.ซึ่งถูกตั้งคำถามอยู่แล้ว ไม่ว่าการตั้งคำถามนั้นจะถูกหรือผิด เกิดเป็นสาเหตุที่ทำให้ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ต้องตกไปตั้งแต่วาระแรก ผมว่า ส.ว.ชุดนี้จะถูกตั้งคำถามหนักหน่วงยิ่งขึ้น เราต้องตอบคำถามตัวเราเองให้ได้ เราต้องอยู่กับการตัดสินใจนี้ไปอีกยาวนาน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |