คสช.กินรวบคลื่น! มาตรา44ระงับสรรหากสทช.-อุ้มตามคาดพักหนี้ทีวีดิจิทัล


เพิ่มเพื่อน    

    คสช.จ่อใช้มาตรา 44 อุ้มทีวีดิจิทัล วาง 3 แนวทางช่วยเหลือ ทั้งพักหนี้-โอนใบอนุญาตได้ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัลบวกยกแผง โบรกฯ คาดช่อง 3 ได้ประโยชน์สูงสุด ขณะที่ "กสทช." ชุดปัจจุบันยิ้มร่า  รักษาการต่อไป หลัง "บิ๊กตู่" งัดมาตรา 44 ระงับการสรรหาชุดใหม่
    พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ที่ประชุม คสช.ได้พิจารณาแนวทางความช่วยเหลือกิจการโทรทัศน์ดิจิทัล จากกรณีที่มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 13 บริษัท จาก 22 บริษัท ส่งหนังสือร้องเรียนมายัง คสช.และ กสทช. เพื่อขอให้ออกมาตรการความช่วยเหลือจากการประกอบกิจการ ประกอบด้วย บางกอกมีเดีย, ไทยรัฐทีวี, อัมรินทร์ ทีวี, จีเอ็มเอ็มแกรมมี่, เนชั่นทีวี, วอยซ์ทีวี, เดลินิวส์, ทีเอ็นเอ็น 24 และสปริงนิวส์ จำนวน 13 บริษัท
    ขณะที่บีบีอีซี 3 ช่อง, อสมท 2 ช่อง, อาร์เอส, โมโน, ช่อง 7 และเวิร์คพอยท์ ไม่ได้ร้องขอเข้ามา ซึ่งการชำระค่างวดที่เหลือ 5 งวด เป็นมาตรการให้ขยายเวลาชำระก่อนหน้านี้ คือปี 2561-2565 เพื่อให้มีสภาพคล่องต่อการทำธุรกิจ แต่ 2561 ผู้ประกอบการยังประสบปัญหาไม่มีงบประมาณ 
    พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ที่ประชุม คสช.ได้สรุปแนวทางเป็นมาตรการความช่วยเหลือเบื้องต้น 3 แนวทาง ประกอบด้วยดังนี้ 1.อนุญาตให้พักการชำระค่างวดได้ 3 งวด จาก 5 งวดที่เหลือ ในปี 2561-2565 แต่จะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.5 ในระหว่างพักการชำระหนี้ 2.กรณีการเช่าโครงข่ายจากระบบอนาล็อกเป็นดิจิทัลนั้น ที่ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ 3 ราย ประกอบด้วย ไทยทีพีบีเอส, อสมท และช่อง 5 โดย กสทช.จะให้การช่วยเหลือคือ จ่ายเงินให้ครึ่งหนึ่ง เป็นระยะเวลา 2 ปี และ 3.อนุญาตให้สามารถโอนใบอนุญาตต่อได้ โดยมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้จะมีการออกเป็นคำสั่ง คสช.ต่อไป
    พล.ท.สรรเสริญกล่าวด้วยว่า จากข้อร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ผ่านการสรรหาเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติไม่คัดเลือกและส่งเรื่องกลับไปยังคณะกรรมการสรรหา โดยต้องสรรหาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ สนช.มีมติ โดย คสช.เห็นว่ายังมีปัญหาและไม่แน่ใจวันข้างหน้าจะมีปัญหาอีกหรือไม่ ที่ประชุม คสช.จึงมีมติเห็นชอบอาศัยอำนาจมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 เตรียมออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ให้ยกเลิกและระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเป็น กสทช.ไว้ก่อน จนกว่าหัวหน้า คสช.มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
     โฆษกสำนักนายกฯ กล่าวต่อว่า พร้อมให้ กสทช.ชุดปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และในระหว่างนี้ หากมี กสทช.คนหนึ่งคนใดต้องพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าเหตุใดก็ตาม ให้ กสทช.ที่เหลือปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าหัวหน้า คสช.มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และหลังจากนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้ว และที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าเพื่อที่ให้จะให้กระบวนการสรรหาและคัดเลือกกลับมาอีกครั้ง เมื่อได้วิธีการแก้ปัญหาให้แจ้งคสช. โดยระหว่าง 1-2 วันนี้ จะมีการออกคำสั่งดังกล่าว
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐ มนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวว่า ที่ประชุม คสช.ได้มีการหารือพูดคุยกันว่าจะมีมาตรการที่เหมาะสมออกมาในเรื่องทีวีดิจิทัล และต้องแยกออกจากปัญหาคลื่นความถี่ ซึ่งต้องดูบริบทที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเดือดร้อน ความพร้อม-ไม่พร้อมของระบบ ต้องหาวิธีการแก้ไข รัฐบาลยืนยันอยู่แล้วว่าประเทศชาติต้องไม่เสียผลประโยชน์ แต่ทุกอย่างมีหนทางแก้ไข ถ้าสังคมพยายามจะเข้าใจว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้ไปเอื้อประโยชน์ให้ใคร แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยมันจะเสียหายหรือเปล่า มันก็มีเหตุผลหลักการด้วยกันทั้งหมด
    พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า จะหาทางออกให้ดีที่สุด ตอนนี้ยังไม่ออก ม.44 จะมีความชัดเจนเร็วที่สุด ปัญหาที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ผ่านมาเค้กมีอยู่ก้อนเดียว คนกินเค้กมี 10 คน แต่ตอนนี้มี 20-30 คน แล้วจะพอกินไหม ในเมื่อแหล่งสปอนเซอร์มีอยู่จำนวนเท่าเดิม ภาคธุรกิจก็เห็นใจ แต่ก็คิดอยู่เรื่องคือทุกอย่างเป็นความสมัครใจตั้งแต่ต้น แต่รัฐบาลต้องหามาตรการที่เหมาะสม ไว้ใจกันบ้าง ไม่เอื้ออะไรใครทั้งนั้น ต้องดูเหตุผลและความจำเป็นเสียหายอะไรตรงไหนแล้วแก้ให้ได้
    ด้านนายคณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่มีปัญหาทางด้านการเงินและเรตติ้งต่ำ ทำให้มีสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายลง โดยเฉพาะ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) คาดจะได้รับประโยชน์สูงสุด เนื่องจากมีช่องทีวีในมือ 3 ช่อง นอกจากนี้ บมจ.อสมท (MCOT) และ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ก็ได้อานิสงส์ด้วยเช่นกัน
    สำหรับราคาหุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัลปรับขึ้นยกกระดาน โดย บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) ปิดที่ 67.25 บาท เพิ่มขึ้น 5.75 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 9.35%, บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO) ปิดที่ 4.22 บาท เพิ่มขึ้น 0.12 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 2.93%,  บมจ.อาร์เอส ปิดที่ 28.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 2.73%, BEC ปิดที่ 11.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.90 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 8.41%, MCOT ปิดที่ 10.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 0.93%, GRAMMY ปิดที่ 9.15 บาท เพิ่มขึ้น 0.15 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 1.67%
    ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิป สนช.) กล่าวถึงคลิปเสียงหลุดล้มการสรรหา กสทช.ว่า จากข้อมูลเบื้องต้น คลิปดังกล่าวเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 4, 6, 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่วิป สนช. ประชุมเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ดังนั้นจึงไม่ใช่คลิปในที่ประชุมวิป สนช.แน่นอน เรารู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถเดินหน้าประชุมเรื่องดังกล่าวได้ เพราะผู้สมัครใน 7 ด้านมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและจริยธรรม ทำให้ทุกด้านเหลือผู้สมัครเพียง 1 คน ในขณะที่กฎหมายกำหนดให้สนช.เลือก 1 จาก 2 คนของทุกด้าน ดังนั้น เมื่อมีคนที่ตกคุณสมบัติ เท่ากับบังคับให้ สนช.เลือกจาก 1 คน ซึ่งเราเลือกไม่ได้ เพราะจะเป็นการทำผิดกฎหมาย จึงไม่มีความจำเป็นตามที่ระบุในคลิปว่านายกรัฐมนตรีสั่งการ
    นพ.เจตน์กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ขาดคุณสมบัติมี 6 ราย จาก 6 ด้าน ซึ่งทำงานกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม อีกทั้งลาออกไม่ถึง 1 ปี อีกทั้งบริษัทต่างๆ เหล่านี้จดบริคณห์สนธิไว้ เรื่องการทำธุรกิจเกี่ยวกับวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ซึ่งเป็นการจดเผื่อไว้ แต่ศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยไว้ว่าถ้าจดไว้ถือว่ามีคุณสมบัติ จึงเท่ากับขัดที่จะเป็นคุณสมบัติ กสทช. ขณะที่ผู้สมัครอีก 2 คน มีปัญหาเรื่องจริยธรรม อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครทุกคนที่ไม่ผ่านการสรรหาครั้งนี้ยังคงมีสิทธิ์สมัครรอบใหม่ได้
    ช่วงค่ำวันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2561 เรื่องการยกเลิกและระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 
    คำสั่งระบุว่า ตามที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รวมทั้งวิธีการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว แต่โดยที่ปรากฏว่าได้เกิดสภาพปัญหาในทางปฏิบัติเป็นอย่างมาก ทำให้การสรรหาและคัดเลือกบุคคลไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ผู้ได้รับการสรรหา และคัดเลือกเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบกับปรากฏข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ผ่านการสรรหา เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จึงเป็นการสมควรที่จะต้องระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกไว้ก่อน เพื่อให้มีการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบและเหมาะสม เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีคุณสมบัติและมีความสามารถที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การปฏิรูปการกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน
    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
    ข้อ 1 ให้ยกเลิกกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง   กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งได้ดำเนินการอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้ระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติไว้ก่อน จนกว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
    ข้อ 2 ให้กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ตามที่จำเป็นไปพลางก่อนต่อไป ตามที่กำหนดในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ในระหว่างนี้หากกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ จนกว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
    ข้อ 3 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ผู้ได้รับการสรรหาและคัดเลือกเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่และดำเนินการให้มีการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งดังกล่าวโดยเร็วต่อไป
    ข้อ 4 ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
    ข้อ 5 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"