กรมอุตุฯ เผยพายุโนอึลเข้า จ.อำนาจเจริญแล้ว กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดจะอ่อนตัวเป็นดีเปรสชันระดับ 2 เตือน 63 จังหวัดทั่ว ปท.รับมือฝนตกหนักตั้งแต่ 19-20 ก.ย. "บิ๊กตู่" สั่งทุกหน่วยดูแล ปชช. พร้อมเก็บน้ำไว้ใช้ฤดูแล้ง "จักรทิพย์" กำชับสายตรวจป้องกันทรัพย์สินชาวบ้าน "อำนาจเจริญ" น้ำท่วมปิดถนนหลายสาย "ขอนแก่น-อุบลฯ" อ่วม
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 12 พายุระดับ 3 (โซนร้อน) โนอึล มีผลกระทบจนถึงวันที่ 20 ก.ย.2563 ระบุว่า เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 18 ก.ย. พายุระดับ 3 (โซนร้อน) โนอึล ได้เคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญแล้ว หรือที่ละติจูด 15.9 องศาเหนือ ลองจิจูด 104.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) ในระยะต่อไป
กรมอุตุฯ ระบุว่า พายุดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ และระวังอันตรายจากลมแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย
โดยคาดว่าพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบมีดังนี้ ในช่วงวันที่ 18-19 ก.ย.2563 บริเวณที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ส่วนวันที่ 20 ก.ย. บริเวณที่มีฝนตกหนัก ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย และกำแพงเพชร, ภาคกลาง จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี และชัยนาท, ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จ.มุกดาหารเป็นพื้นที่แรกที่พายุจะสัมผัส ก่อนเคลื่อนตัวไปจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานตอนล่างทั้งหมดที่จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ลักษณะของพายุเมื่อเคลื่อนเข้าสู่ประเทศ คาดว่าช่วงแรกที่เข้าไทยในพื้นที่ จ.มุกดาหาร จะยังคงเป็นพายุโซนร้อน เมื่อพายุตัวนี้ค่อยๆ เคลื่อนไปพื้นที่ต่อไปยัง จ.กาฬสินธุ์ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ก็จะค่อยอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน ในบริเวณอีสานตอนล่าง อย่าง จ.ขอนแก่น หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ก่อนจะเคลื่อนขึ้นไปสู่จังหวัดเลย ไปต่อที่ จ.เพชรบูรณ์ และจะค่อยกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ เมื่อเคลื่อนต่อเข้า จ.พิษณุโลก และจะทำให้เกิดการกระจายตัวของฝนในภาคเหนือต่อไป
สั่งทุกหน่วยดูแล ปชช.
"เมื่อดูลักษณะการเคลื่อนตัวของพายุ คาดว่าจะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับพายุโพดุลเมื่อปีที่แล้ว เพราะโพดุลเมื่อเข้ามาไทยแล้วนิ่ง ทำให้เกิดฝนตกสะสมกระจุกตัว จึงสร้างความเสียหายค่อนข้างมาก แต่เมื่อดูโนอึลมีการแตกตัวกระจายตัวไปยังพื้นที่อื่น ก่อนที่จะค่อยๆ อ่อนกำลังลงต่อเนื่อง แต่ในช่วงแรกยังต้องย้ำให้พี่น้องในพื้นที่อีสานตอนล่างระวังฝนตกหนักถึงหนักมาก บวกกับมีลมแรง โดยปริมาณฝนที่คาดการณ์น่าจะไม่ต่ำกว่า 80-90 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง
ขณะที่นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์และวางมาตรการเชิงป้องกันไว้แล้ว ทั้งบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ที่คาดว่าพายุจะเคลื่อนผ่าน ซึ่งนอกจากการป้องกันเชิงผลกระทบที่อาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังแล้ว ยังมีการวิเคราะห์ ประเมินปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนต่างๆ
"ในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ไม่มีแหล่งน้ำใดที่น่าเป็นห่วงสามารถรองรับปริมาณฝนได้อีกมาก เนื่องจากโดยเฉลี่ยมีปริมาณน้ำประมาณ 50% จึงเน้นย้ำทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำเพื่อให้ลำน้ำ และระบบชลประทานสามารถรองรับน้ำหลากได้เต็มศักยภาพ ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% จะต้องบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ให้เหมาะสมกับปริมาณฝนคาดการณ์เช่นเดียวกัน" นายสำเริงกล่าว
เลขาฯ กอนช.กล่าวว่า จะมีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ณ ห้องปฏิบัติการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ชั้น 4 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถ.วิภาวดีรังสิต เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการประสานงานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการรายงานข้อมูลทุกๆ 3 ชั่วโมงกรณีที่เกิดวิกฤติในพื้นที่ โดยเชื่อมต่อข้อมูลในจังหวัดที่ประสบเหตุอย่างทันท่วงที
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ได้ให้ทุกหน่วยงานเตรียมการมาตามลำดับ ซึ่งเราต้องการเอาน้ำเหล่านี้เก็บไว้ โดยทราบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าน้ำในเขื่อนของเรา 36 แห่งมีจำนวนน้อย ใช้การได้ไม่ถึง 30% และปีหน้าฝนจะทิ้งช่วงอีกหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ อากาศก็เปลี่ยนแปลง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ดังนั้นต้องเตรียมการให้พร้อม
"ขอเตือนเส้นทางที่พายุจะพัดผ่าน โดยเฉพาะพื้นที่อีสานที่จะเกิดลมแรง ฝนตก จะต้องมีการเตรียมการขนย้ายข้าวของที่มีค่าหาที่ปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บสูญเสียชีวิตอีกต่อไป และรัฐบาลจะดูแลหลังจากนั้น แต่ขอให้เก็บน้ำให้ได้มากที่สุดจากพายุลูกนี้ ถือเป็นช่วงท้ายที่เราจะได้น้ำ ต้องไปปรับแหล่งน้ำในพื้นที่ วันนี้นายกฯ เป็นห่วงทุกอย่าง รัฐบาลเป็นห่วงประชาชนทุกคน ในการบริหารจัดการน้ำรัฐบาลได้มีศูนย์ดูแลอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องตั้งศูนย์ขึ้นมาใหม่ ที่ผ่านมาศูนย์ที่รัฐบาลตั้งขึ้นได้บริหารมาโดยตลอด" นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราได้เตรียมรับมือแล้ว และได้สั่งให้ทหารช่วยดูแลด้วย
ส่วน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. สั่งให้บช.ภ.1-9, บช.ตชด., กองบินตำรวจ, โรงพยาบาลตำรวจ และหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องในทุกพื้นที่ เฝ้าระวังและเตรียมแผนรับมือ เพื่อสนับสนุนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย พร้อมทั้งสนับสนุนด้านอากาศยาน การลำเลียงส่งต่อผู้ประสบภัยหรือผู้ป่วยไปทำการรักษาเมื่อได้รับการร้องขอ โดยประสานการปฏิบัติภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทหาร ฝ่ายปกครอง กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชน
"ผู้การจังหวัดและ ผกก.สถานีตำรวจลงพื้นที่ดูแลด้วยตนเอง จัดชุดเฉพาะกิจเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน อาทิ ขนย้ายสิ่งของ ลำเลียงผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งจัดชุดช่างสนามเข้าช่วยเหลือ ซ่อมแซม ฟื้นฟู บ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าว ตลอดจนจัดตำรวจจราจรอำนวยความสะดวกเส้นทางการจราจร พร้อมทั้งการเคลื่อนย้ายสิ่งกีดที่ขวางช่องทางการจราจร ประกอบกับเพิ่มกำลังสายตรวจทั้งทางบก ทางน้ำออกป้องกันเหตุ และเพิ่มวงรอบในการตรวจตรา เพื่อป้องกันมิจฉาชีพฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ยังได้สั่งให้เฝ้าระวังตรวจสอบกรณีมีการกักตุนสินค้าเพื่อจำหน่ายในราคาที่สูง อันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค รวมทั้งหากมีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหาย ให้เปิดโรงพักบริการประชาชนเข้าพักอาศัย" โฆษก ตร.กล่าว
อำนาจเจริญฝนหนัก
ที่จังหวัดอำนาจเจริญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันที่ผ่านมา ท้องฟ้ายังคงมีเมฆดำ เมฆฝนปกคลุมไปทั่วเต็มท้องฟ้า จากนั้นฝนได้ตกลงมาต่อเนื่อง จากฝนตกหนักช่วงเวลา 23.00 น. วันที่ 17 ก.ย. ทำให้มี 4 อำเภอได้รับความเดือดร้อน โดย อ.เมืองอำนาจเจริญ มีบ้านถูกน้ำท่วมหลายหลังคาเรือน และต้นไม้ใหญ่ล้มทับถนนบ้านเชือก-โนนสมบูรณ์-นาหว้า ต.นาจิกและ ต.โนนโพธิ์ ทำให้รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านไปมาได้ ส่วน อ.ปทุมราชวงศา ถนนสายหลัก อรุณประเสริฐ อ.ทุมราชวงศา-อำนาจเจริญ-กรุงเทพมหานคร มีต้นไม้ใหญ่โค่นล้มทับเส้นทางบริเวณบ้านนาถาวร อ.ปทุมราชวงศา รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ต้องปิดถนน ขณะที่ อ.ลืออำนาจ ลำเซบก น้ำล้นตลิ่งไหลเอ่อท่วมไร่นาเกษตรเป็นบางส่วน และ อ.ชานุมาน ต้นไม้โค่นล้มทับอาคารโรงเรียนประถมศึกษาชานุมาน หลังจากโรงเรียนเลิกเรียนและเด็กกลับบ้านหมดแล้ว ซึ่งไม่มีนักเรียนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด
จ.ขอนแก่น ตั้งแต่เวลา 04.00 น. เกิดพายุฝนตกลงมาอย่างหนัก มีลมกระโชกแรง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังถนนหลายเส้นทาง โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ที่มีฝนตกลงมาอย่างหนัก โดยเฉพาะที่ถนนบ้านกอก ตั้งแต่ช่วงหน้าโรงเรียนบ้านกอก ยาวมาถึงเกือบ 4 แยกไฟแดง ถนนบ้านกอกตัดกับถนนมิตรภาพ ระยะทางประมาณกว่า 2 กม. ระดับน้ำที่ท่วมสูงอยู่ที่ระดับ 30-50 ซม. ทั้งยังคงเอ่อล้นท่วมฟุตปาธเข้าไปในบ้านเรือนและร้านค้าของประชาชน
นอกจากนี้ บริเวณสถานีดับเพลิงของเทศบาลนครขอนแก่น เจ้าหน้าที่เทศบาลและอาสาสมัครเร่งจัดทำกระสอบทรายขนาดกระสอบละ 20 กก. จำนวน 10,000 กระสอบ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน ครัวเรือนละไม่เกิน 20 กระสอบ หรือตามสภาพพื้นที่ สำหรับการทำแนวกั้นน้ำหรือการป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้ามาในบ้านเรือน โดยมีประชาชนมาติดต่อขอรับกระสอบทรายจากเทศบาลแล้วกว่า 500 กระสอบ
จ.อุบลราชธานี สถานการณ์น้ำป่าไหลหลากที่บ้านแก่งศรีโคตร ต.โนนก่อ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. และตลอดทั้งวันของวันที่ 18 ก.ย. ทำให้บริเวณสะพานไม้ข้ามลำห้วยทรายน้อยบ้านแก่งศรีโคตร ม.3 ต.โนนก่อ อ.สิรินธร ระดับน้ำป่าสูงขึ้นจนท่วมสะพานทั้งหมดแล้ว โดยระดับน้ำขึ้นเร็วมาก สำหรับ (แก่งผีหลอก) บ้านแก่งศรีโคตร ม.3 ต.โนนก่อ เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ริมลำห้วยทรายน้อย ซึ่งต้นน้ำไหลมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบุณฑริกยอดมน ในทุกปีที่ผ่านมาจะเกิดน้ำท่วมเส้นทางสัญจร และท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านที่อยู่ริมตลิ่ง ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
จ.ตราด ผลกระทบจากพายุโนอึลได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ อ.เกาะช้าง ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม 2 หมู่บ้าน ในตำบลเกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือหมู่บ้านสลักเพชร ต.เกาะช้างใต้ น้ำป่าเอ่อล้นคลองสลักเพชร ไหลเข้าท่วมวัดสลักเพชร และมีดินโคลนเข้ามาท่วมในศาลาการเปรียญจำนวนมาก และบ้านเรือนประชาชนกว่าหลายร้อยหลังคาเรือนถูกน้ำท่วม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |