หลักฐานใหม่!ฟ้องบอส โยนตร.ตามล่าขึ้น'ศาล'


เพิ่มเพื่อน    


    อัยการได้ฤกษ์สั่งฟ้อง “บอส-วรยุทธ" เสพโคเคน-ขับรถชนคนตายตามพยานหลักฐานใหม่แล้ว โยนเผือกร้อนให้ตำรวจเร่งล่าตัว เปิดไทม์ไลน์ช้าสุดห้ามเกิน 3 ก.ย.2565 ยันไม่เป็นการกลับคำสั่ง "เนตร" พร้อมเมินหลักฐานของ “วิชา” เรื่องก๊วนเป่าคดี “สป.ยธ.” ออกแถลงการณ์จี้ใช้ร่างปฏิรูปชุดมีชัยแทนมติ ครม. 15 ก.ย.
    เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ก.ย.2563 ที่ห้องประชุม 301 สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) คณะทำงานสำนักงานอัยการสูงสุด นำโดย นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา หัวหน้าคณะทำงาน, นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา, นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ในฐานะรองโฆษก อสส. พร้อมนายชัชชม อรรฆภิญญ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทตระกูลเครื่องดื่มชูกำลังขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย
    นายอิทธิพรแถลงว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 คณะทำงานได้ร่วมกันพิจารณาสำนวนและบันทึกความเห็นของคณะทำงานตามคำสั่งที่ พิเศษ/2563 ได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อสอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็น ต่อมาในวันที่ 31 ส.ค. และวันที่ 9 ก.ย. พนักงานสอบสวนได้ส่งผลสอบสวนเพิ่มเติมจนครบถ้วนแล้ว คณะทำงานจึงได้ร่วมกันพิจารณาสำนวนและมีความเห็นโดยเอกฉันท์ ดังนี้ 1.คดีปรากฏพยานหลักฐานใหม่และเป็นพยานสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ จึงสั่งฟ้องนายวรยุทธในข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 291 โดยแจ้งให้พนักงานสอบสวนนำตัวนายวรยุทธมาเพื่อฟ้องต่อไป
    2.คดีมีพยานหลักฐานทั้งปรากฏในสำนวนเดิมและจากการสอบสวนเพิ่มเติมแน่นแฟ้นมั่นคงว่า ขณะเกิดเหตุผู้ต้องหาเสพโคเคน อันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 จึงเห็นควรสั่งฟ้องนายวรยุทธในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 2 (โคเคนหรือโคคาอีน) โดยผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 58 และ 91
    นายอิทธิพรอธิบายถึงการกระทำของนายวรยุทธว่า กรณีโคเคน คดีเดิมไม่เคยดำเนินมาก่อนในความผิดฐานนี้ ตรวจเลือดพบสารแปลกปลอม 2 ชนิด สรุปได้ว่าเกิดจากเสพโคเคนเท่านั้น ส่วนความผิดฐานขับรถโดยประมาท มีการสอบ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ และ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ เป็นพยานทั้งสองท่านให้การตรงกัน วัดความเร็วรถเฟอร์รารีขณะเกิดเหตุ รับฟังได้ว่านายวรยุทธขับรถเร็วเกิน ถือว่าพยาน 2 ท่านเป็นพยานใหม่และเป็นพยานสำคัญ และโคเคนทำให้เกิดการหลอนประสาท คึกคะนอง คณะทำงานเห็นว่าเป็นความประมาทของนายวรยุทธ ฟังได้ว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ส่วนที่พนักงานสอบสวนสอบคำให้การ พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่นนั้น ได้กลับไปยืนยันผลการตรวจความเร็วเดิมที่ 177 กม./ชม. คณะทำงานเห็นว่าคำให้การกลับไปกลับมา ไม่อาจนำคำให้การมาเป็นเหตุผลในการพิจารณาสำนวน
    ผู้สื่อข่าวถามถึงคณะทำงานอัยการมีผลการตรวจสอบกรณีสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมเรื่อง ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ขาดต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า นายกสภาวิศวกรมาให้ความเห็นว่า ดร.สายประสิทธิ์ขาดต่อใบอนุญาต แต่ที่เราสอบถามเพิ่มเติม ท่านไม่ได้ระบุว่าที่ ดร.สายประสิทธิ์ให้ความเห็นนั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร ซึ่งท่านไม่เห็นรายงานการคำนวณ ไม่สามารถให้ความเห็นประเด็นนี้ได้ เราจึงไม่ได้นำพยานส่วนนี้มาพิจารณาด้วย
    ขณะที่นายประยุทธกล่าวเพิ่มเติมถึงอายุความข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีอายุความ 15 ปี จะขาดอายุความในวันที่ 3 ก.ย.2570 ส่วนข้อหาเสพโคเคนอายุความ 10 ปี ขาดอายุความในวันที่ 3 ก.ย.2565
ต้องล่าบอสก่อน3ก.ย.65
    ผู้สื่อข่าวถามว่า คดีนี้ที่คณะทำงานมีคำสั่งฟ้องคดีใหม่ 2 ข้อหาจะถือเป็นการกลับคำสั่งของนายเนตร นาคสุข รอง อสส. ซึ่งมีระดับสูงกว่าหรือไม่ นายประยุทธกล่าวว่า คำสั่งของคณะทำงานชุดนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำสั่งของนายเนตร แต่เป็นการสั่งคดีโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 ของ พ.ร.บ.องค์กรอัยการ เป็นการเริ่มสั่งคดีใหม่ตามพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งการสั่งคดีของนายเนตรจบไปแล้ว จึงไม่ใช่คณะทำงานไปกลับความเห็นและคำสั่งของนายเนตร โดยขั้นตอนต่อไปหลังจากที่คณะทำงานมีคำสั่งฟ้องแล้ว จะแจ้งให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามาเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล
    ด้านนายชัชชมกล่าวถึงขั้นตอนการนำตัวนายวรยุทธมาฟ้องว่า เมื่อมีคำสั่งฟ้องแล้ว ตามระบบกฎหมายของไทยเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องไปนำตัวมา หรือจัดการตามหมายจับ โดยที่ผ่านมานายวรยุทธอาศัยอยู่ต่างประเทศ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะทำเรื่องเข้ามาใหม่ ซึ่งเมื่อปี 2560 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยทำเรื่องเข้ามาแล้ว โดยให้นายวรยุทธเป็นผู้ร้ายข้ามแดน แต่เมื่อปรากฏว่ามีข้อหาใหม่ เดิมมีข้อหาขับรถโดยประมาท และปัจจุบันเรามีข้อหาเสพยาเสพติดที่เป็นข้อหาใหม่ เพราะฉะนั้นคำร้องขอเดิมตั้งแต่ปี 2560 ใช้ไม่ได้แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องทำใหม่และพิสูจน์ชัดเรื่องที่อยู่
    “การส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ตำรวจต้องแสดงหลักฐานที่ชัดเจนว่านายวรยุทธหลบหนีอยู่ที่ไหน เพื่อให้ตำรวจในประเทศนั้นๆ ไปขอศาลออกหมายจับได้ เมื่อจับตัวได้ก็จะนำตัวเข้าสู่กระบวนการ และก็ต้องรอคำสั่งของศาลระบุว่าตัวบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ถึงจะส่งตัวมาไทยได้” นายชัชชมกล่าว
นายประยุทธกล่าวเสริมถึงการติดตามตัวนายวรยุทธว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งสิ่งที่อัยการอยากจะแจ้งคือ เราได้สั่งฟ้องนายวรยุทธแล้ว แต่กระบวนการที่จะได้ตัวมาส่งฟ้องนั้น อย่างช้าควรได้ตัวมาฟ้องภายใน 3 ก.ย.2565 เพราะว่าข้อหาเสพสารเสพติดจะหมดอายุความ เพราะฉะนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็คงไม่นิ่งนอนใจ แล้วถ้าจะขอผ่านสื่อมวลชนได้ ก็อยากให้นายวรยุทธเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะได้ข้อยุติ ถูกผิดค่อยว่ากันในศาล รวมทั้งคนที่เกี่ยวข้องควรเดินเข้าสู่กระบวนยุติธรรม
    เมื่อถามถึงการพิจารณาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการตรวจสอบคดีนายวรยุทธ ชุดนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ตรวจสอบพบ เช่นกรณีคลิปเสียงเจรจาคดี นายชาญชัยกล่าวว่า คณะทำงานอัยการใช้อำนาจตามกฎหมายปกติสั่งคดี ต่างจากความเห็นของคณะกรรมการชุดนายวิชา ซึ่งตั้งจากฝ่ายบริหารที่ทำความเห็นเสนอหน่วยงานต่างๆ มากมาย จึงไม่ได้นำมาพิจารณา และคลิปเสียงก็ไม่ได้อยู่ในสำนวน ถูก-ไม่ถูกอย่างไรผู้เกี่ยวข้องต้องไปจัดการ ส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงนอกสำนวน เราไม่นำมาทำให้ดุลพินิจกระทบกระเทือน
    นายประยุทธกล่าวเสริมว่า ประเด็นนี้ 1.มีคลิปเสียงจริงหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีใครยืนยันชี้ชัด 2.ถ้ามีอยู่จริงเป็นเสียงของใครก็ยังไม่มีการยืนยันชี้ชัด และยิ่งไปกว่านั้นคณะทำงานอัยการได้ตรวจสำนวนคดีนี้แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีอัยการชื่อย่อ ช. เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีทั้งสิ้น แต่ถ้าจะไปเกี่ยวข้องในฐานะส่วนตัวของนาย ช. ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของอัยการใดๆ ทั้งสิ้น ต้องรับผิดชอบส่วนตัว และไม่มีผลใดๆ กับสำนวนคดีนี้ ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับสำนักงานอัยการสูงสุดด้วย
    วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ตำรวจที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการยุบกองบัญชาการ ว่ากองบัญชาการทุกอย่างมีครบ เพียงแต่ไปเพิ่มความสำคัญในส่วนของสถานีตำรวจ จากที่ พ.ร.บ.เดิมไม่เคยมีการระบุ นอกจากนี้ยังให้มีกรรมการพิทักษ์คุณธรรมตำรวจ (กพค.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจเสร็จสิ้น ใครรู้สึกไม่เป็นธรรมให้ส่งเรื่องมาที่ กพค.ตรวจสอบ ถ้าพบว่าไม่เป็นธรรมก็สามารถส่งเรื่องต่อไปยังศาลปกครองได้ แทนวิธีการเดิมที่ให้ส่งศาลปกครองทางเดียว ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น รวมถึงอยากให้มีคณะกรรมการระดับชาติคือ คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับตำรวจ (กร.ตร.) ที่จะรับเรื่องจากประชาชนที่รู้สึกว่าการทำงานของตำรวจไม่เป็นธรรม เช่น ล้มคดีขาดอายุความ และสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง 
ชงใช้ฉบับมีชัยแทน
    “ยังมีการปรับปรุงกรณีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กับคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่มีหน้าที่ใกล้เคียงกันแล้วมีการเมืองเข้ามาแทรก จึงปรับปรุงให้เหลือเพียง ก.ตร. แล้วเอาการเมืองออกให้หมด เหลือเพียงนายกฯ คนเดียว รวมถึงปฏิรูปการแต่งตั้งโยกย้ายจากเดิมที่หลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายอยู่นอกกฎหมายทำให้เปลี่ยนได้ทุกปี ครั้งนี้นำมาไว้ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เช่น ระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขึ้นไปให้ยึดอาวุโส 100% ระดับผู้บัญชาการลงมาถึงผู้บังคับการอาวุโส 50% ต่ำกว่านั้นลงมาอาวุโส 33%”  
    นายวิษณุกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่ตำรวจไม่ควรต้องเสียกำลังไปดำเนินการ โดยจะให้โอนกลับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ ตำรวจสิ่งแวดล้อม และตำรวจจราจร โดยจะให้ตำรวจจราจรโอนกลับไปอยู่ในท้องถิ่นที่เป็นเทศบาลนครภายใน 5 ปี ตำรวจป่าไม้ใน 1 ปี และตำรวจสิ่งแวดล้อมใน 2 ปี รวมถึงสนับสนุนให้มีตำรวจไม่มียศมากขึ้น และต้องเสร็จภายใน 1 ปี เช่น ตำรวจที่เป็นหมอ 
    นายวิษณุกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจเป็นเรื่องขององค์กร แต่ยังมีเรื่องใหญ่คือการสอบสวน ซึ่งจะมีร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง แต่ยังรอให้ตกผลึกก่อน ยิ่งมีคดีนายวรยุทธก็ให้คณะกรรมการชุดนายวิชาทบทวนอีกครั้ง และเหตุผลหนึ่งที่ร่าง พ.ร.บ.ไปไม่ได้ เพราะยังมีความเห็นแย้งจากตำรวจ อัยการ และศาล ซึ่งมีเหตุผล 
    ขณะที่สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปตำรวจฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขอให้นำฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เสนอต่อสภาเพื่อการปฏิรูปแทน โดยมองว่ามติ ครม.เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในมาตรา 258 และ 260 และไม่ใช่การปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริง จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ ใช้ความกล้าหาญและเด็ดขาดในการปฏิรูปตำรวจให้เป็นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ โดยนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับที่คณะกรรมการชุดนายมีชัย ซึ่งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาแล้วเสนอต่อสภาเพื่อตราเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"