เด็กติดกับดักพนันออนไลน์ ปัญหารอแก้ไขเอาจริงสักที!!


เพิ่มเพื่อน    

      ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ต้องหยุดอยู่กับบ้านเพื่อร่วมป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมานั้น เป็นปัจจัยแวดล้อมกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนไทยอายุระหว่าง 15-19 ปี ตกอยู่ในอิทธิพลของการเล่นพนันออนไลน์ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่กับโซเชียลมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน

      ทั้งนี้จากผลวิจัยพบว่า เด็กที่เล่นการพนัน ร้อยละ 80 จะต้องสูญเสียเงินทองสูงสุดประมาณ 1 แสนบาทต่อราย โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มเด็กและเยาวชนไทยเข้าสู่แวดวงการพนัน มีแต่ตั้งการที่เด็กอยู่กับโซเชียลเป็นเวลานานต่อวัน รวมถึงสื่อโฆษณาเล่นการพนันออนไลน์ที่เด็กและเยาวชนสามารถพบเห็นได้อย่างง่ายดาย จึงกระตุ้นให้เด็กเข้าสู่วังวนอบายมุขดังกล่าวได้สะดวกยิ่งขึ้น หรือการที่เด็กบางคนต้องหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวตั้งแต่วัยเยาว์ อีกทั้งการหาเงินด้วยช่องทางดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายในช่วงที่เด็กต้องกักตัวอยู่กับบ้าน เพียงแค่มีมือถือเท่านั้น ท่ามกลางโรคโควิด-19 ร้าย มีแนวโน้มว่าจะประทุขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญทุกเมื่อ บรรดาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนได้ให้มุมมองเด็กติดการพนันในช่วงของหยุดเชื้อเพื่อชาติไว้ เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครองช่วยกันระแวดระวังและป้องกันไว้ก่อนที่จะสายเกินไป

      ครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก บอกว่า “อันที่จริงแล้วปัญหาเด็กและเยาวชนติดการพนันนั้นเป็นเรื่องเดิมที่มีมาอย่างต่อเนื่องและเป็นระยะๆ เพียงแต่ว่าสมัยก่อนนั้นเครื่องมือสื่อสารอาจจะยังไม่ทันสมัยเหมือนในปัจจุบัน ประกอบกับการเล่นพนันออนไลน์ในเด็กก็มีอยู่หลายประเภท หากจะป้องกันปัญหาเด็กติดเกมออนไลน์และการพนันออนไลน์นั้น ประกอบด้วย

     1.เครื่องมือ เจ้าหน้าที่ตำรวจควรจะจับปรับอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวง DE ที่ดูแลเกี่ยวกับการควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ ควรจะเข้ามาจัดการเกี่ยวกับโฆษณาการพนันฟุตบอลออนไลน์ตามกฎหมาย ที่สำคัญต้องมีการจับปรับผู้ที่โฆษณาพนันออนไลน์อย่างจริงจัง ไม่ใช่การทำตามกระแส และต้องปรับจับอย่างต่อเนื่อง เมื่อตรวจจับผู้กระทำผิดเหล่านี้ได้จะต้องนำมาประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้คนรู้ในวงกว้าง

     2.องค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม ควรต้องเอากรณีนี้มาเป็นข้อศึกษา เช่น นำเคสของผู้ที่ติดการพนันและหมดตัวมาพูดให้ความรู้กับคนทั่วไปได้รับทราบ รวมถึงกลุ่มเด็กเยาวชนด้วย อีกทั้งต้องเร่งให้ความรู้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อยู่ในกลุ่มกลาง คือกลุ่มที่อยากลองเล่น เพราะในปัจจุบันจะมีเด็ก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เล่นออนไลน์ และกลุ่มที่ไม่เล่นออนไลน์ ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มที่อยากลองได้รับข้อมูลของผลกระทบจากการเล่นพนัน

     3.หากิจกรรมพิเศษในช่วงที่ต้องปิดเทอมยาวๆ เช่น การแข่งขันกีฬาเขต หรือกิจกรรมพิเศษที่เกี่ยวกับการเล่นกีฬา กระทั่งการที่เรานำเด็กในระดับประถมและมัธยมมาฝึกอาชีพกับช่างอาชีวะในช่วงปิดเทอม เพื่อให้ช่างอาชีวะนั้นมีรายได้จากการที่เข้ามาสอนและให้ความรู้กับน้องๆ กลุ่มนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ห่างไกลการเล่นพนันฟุตบอลออนไลน์

     4.จำกัดเวลาการเล่นออนไลน์ในเด็ก เมื่อเด็กอยู่ในโรงเรียน แม้ว่าปัจจุบันจะมีกฎหมายได้ออกมาระบุว่า เด็กสามารถเล่นออนไลน์ได้ไม่เกินวันละกี่ชั่วโมง แต่ในทางปฏิบัติกับเด็กและเยาวชนอาจจะทำไม่ได้จริง แต่สิ่งที่ทำได้นั้นคือการที่เด็กอยู่ในระบบโรงเรียน ซึ่งเวลาที่เด็กมาเรียน ครูจะเก็บโทรศัพท์มือถือ ก็จะสามารถจำกัดการเล่นมือถือได้ หรือการเข้าสู่การพนันออนไลน์ได้เช่นกัน และเมื่อเด็กกลับบ้านก็เป็นเวลาที่ผู้ปกครองควรจะต้องคอยหมั่นสอดส่องดูแลการใช้งานออนไลน์ของบุตรหลาน เพื่อไม่ให้เด็กเล่นเกินเวลาเช่นเดียวกัน ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันทั้งครู พ่อแม่

     ครูหยุย ทิ้งท้ายว่า ภาพรวมของเด็กติดการพนันในช่วงปิดเทอมยาวนั้น หากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและออนไลน์ทำงานอย่างจริงจัง จับปรับจริง แน่นอนว่าจำนวนของเด็กติดพนันออนไลน์ก็จะลดน้อยลง แต่ถ้าหากดำเนินการแบบชั่วครั้งชั่วคราว หรือพอมีปัญหาจริงก็จับปรับแค่ในช่วงนั้น เมื่อเวลาผ่านไปก็ปล่อยปละละเลย แน่นอนว่าปัญหาเพิ่มขึ้นแน่นอนครับ

(ร่มเกล้า ช้างน้อย)

     ด้าน อ.ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์รุ่นใหม่จาก ร.ร.มัธยมวัดดุสิตาราม สะท้อนปัญหาเด็กติดการพนันออนไลน์ในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม

     กลุ่มที่ 1 เด็กไม่มีเงินใช้จ่ายเหมือนตอนเปิดเทอม ที่ผู้ปกครองจะให้เงินเด็กมาใช้จ่ายทุกวันเมื่อเด็กๆ ต้องมาโรงเรียน ดังนั้นในช่วงปิดเทอมยาวที่เด็กไม่ได้ค่าขนมจากพ่อแม่ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว เด็กคิดว่าจะนำไปซื้อของอย่างอื่น ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เด็กติดการพนันออนไลน์ เพราะเด็กคิดว่าเป็นช่องทางที่เขาสามารถหาเงินได้ง่าย 2.เด็กเห็นสื่อโฆษณาการพนันออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย โดยอาจจะเห็นจากการใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเอง

      ทั้งนี้หากจะถามแนวทางแก้ไขปัญหาเด็กติดพนันออนไลน์อย่างไร ในมุมของคนที่เป็นอาจารย์มองว่า ถ้าเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เด็กติดอบายมุขซึ่งพบเห็นผ่านทางโซเชียลนั้น ตรงนี้ควรจะหาวิธีอย่างไรเพื่อให้เด็กสามารถหารายได้ด้วยตัวเองในแบบที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับทักษะและช่วงวัยที่เด็กจะสามารถทำงานนั้นๆ ได้ เช่น การที่เด็กรับพิมพ์งานในช่วงปิดเทอม หรือรับรีวิวยอดวิวในเว็บไซต์ยูทูบ ที่สำคัญจะต้องเป็นงานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก หรือทำงานฟรีแลนซ์ต่างๆ โดยเปิดรับสมัครผ่านกลุ่มออนไลน์จากคนหรือหน่วยงานที่เชื่อถือได้ โดยให้เด็กมารับงานกลับไปทำที่บ้าน เช่น งานกราฟฟิกดีไซน์ที่ไม่ได้ยากจนเกินไป เพื่อหาค่าขนม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะดึงเด็กออกมาให้ห่างไกลอบายมุขในโลกออนไลน์ได้ และทำให้เด็กรู้จักหารายได้ เป็นต้น

     ประการสำคัญ การที่ผมเป็นอาจารย์และได้พูดคุยกับเด็กๆ นั้น ทำให้ได้รู้ว่าบางครั้งเวลาที่ปิดเทอมก็ดี หรือมีช่วงเวลาว่างในวันหยุดก็ดี เด็กบางคนไม่อยากเรียน หรือไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่พวกเขาก็อยากได้ความรู้เสริมในเรื่องต่างๆ ที่ไม่ใช่ความรู้เกี่ยวกับวิชาเรียนหลักๆ ในห้องเรียน อย่างวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ฯลฯ ดังนั้นการหากิจกรรมให้เด็กทำในช่วงที่ปิดเทอมยาวในกรณีที่โรคโควิด-19 อาจจะกลับมาระบาดอีกรอบได้นั้น เช่น กิจกรรมเสริมที่ช่วยพัฒนาอารมณ์และจิตใจให้เด็กๆ เช่น เรียนดนตรี เรียนร้องเพลง เรียนแต่งเพลง กระทั่งเด็กรวมกลุ่มกับเพื่อนเพื่อเล่นดนตรี รวมกลุ่มเต้นคัฟเวอร์เพลง เต้นซุมบ้า ฯลฯ ทั้งนี้เมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมดังกล่าวในช่วงปิดเทอมยาวๆ แล้ว ผู้ใหญ่ก็ควรมีการจัดทำวุฒิบัตรหรือใบประกาศเกียรติคุณต่างๆ ให้กับเด็กๆ เพื่อนำไปใช้ในการสอบเรียนต่อในอนาคต ตรงนี้ก็จะทำมีแรงจูงใจในการทำกิจกรรมยามว่าง ให้ห่างไกลจากการเล่นพนันออนไลน์ได้เช่นเดียวกันครับ

(ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ)

     ปิดท้ายกันที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ บอกว่า “ปัจจุบันการใช้โซเชียลมีเดียของเด็กไทยนั้นมีความผิดปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่บ้านเราต้องกักตัวเองในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เริ่มจาก

     1.การที่เราจะเห็นได้ว่ามักมีการส่งเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการเล่นพนันออนไลน์ออกมาให้เห็นบ่อยๆ ในช่วงนี้ 2.การที่เด็กและเยาวชนปิดเทอมนาน ดังนั้นโอกาสที่เด็กจะเข้าถึงโซเชียลก็จะมีมากขึ้น ประกอบกับมีโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับการพนันส่งเข้ามายังโทรศัพท์มือถือของเด็กมากขึ้น ก็จะกระตุ้นให้เด็กเข้าถึงการพนันออนไลน์มากขึ้น 3.การที่เด็กใช้เวลาอยู่กับโลกออนไลน์มากขึ้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กติดพนันออนไลน์ได้ ดังนั้นการที่ผู้ปกครองหรือคุณครูหาพื้นที่ให้เด็กเล่นร่วมกัน ก็จะเป็นการดึงเด็กออกมาจากการอยู่กับโลกออนไลน์ได้

     4.เหตุผลหนึ่งที่ทั้งผู้ปกครองและภาครัฐปล่อยปละละเลยเรื่องที่เด็กเล่นโซเชียลเกินวันละ 5-7 ชั่วโมงต่อวัน ตรงนี้ก็เป็นอีกสาเหตุที่เด็กติดการพนัน และควรได้รับการพิจารณาเพื่อนำมาสู่การแก้ไขอย่างเร่งด่วน 5.แม้ว่าก่อนหน้าจะมีข่าวเด็กเล่นพนันฟุตบอล กระทั่งกลับมาพบได้บ่อยในช่วงนี้ที่โรคโควิด-19 ระบาด ที่สำคัญคนรุ่นใหม่มักจะมองว่าการเล่นพนันฟุตบอลออนไลน์เป็นทั้งสิ่งที่สร้างความเอนเตอร์เทนร่วมสมัย เนื่องจากคนรุ่นใหม่มักจะสังคมอยู่บนโลกออนไลน์ ทั้งเล่นเกมและเล่นการพนันออนไลน์ รวมถึงการเล่นกีฬาบนโลกออนไลน์

     ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการที่เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาไปกับกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งเด็กและเยาวชนยุคใหม่ควรให้ความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ว่าทุกอย่างนั้นมีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสียอยู่ในตัวเอง ดังนั้นจึงต้องใช้อย่างระมัดระวังและต้องรู้เท่าทัน

     “ไล่มาถึงบรรทัดนี้คิดว่าการแก้ปัญหาเด็กติดเกมนั้นต้องร่วมกันทุกฝ่าย เพราะอย่าลืมว่าการพนันออนไลน์ในยุคนี้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ควบคุมเรื่องนี้ก็จะจัดการโดยการบล็อกเว็บไซต์เหล่านี้ เพราะเป็นแหล่งการพนันที่มาจากต่างประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ควรจะเข้ามาช่วยจัดการในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่ในระบบครอบครัวนั้นก็จะต้องสอนทักษะให้กับบุตรหลานเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากการใช้ออนไลน์ หรือต้องหมั่นตรวจระยะเวลาในการใช้งานออนไลน์ของบุตรหลานว่ามากเกินไปหรือไม่ หรือคอยสอดส่องว่าตอนนี้ระบบการเงินของลูกหลานมีเข้ามามากน้อยเพียงใด เพื่อป้องกันเด็กติดพนันออนไลน์ครับ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"