18 ก.ย.63 - นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “สถาบันการเมืองไทยในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง” ณ ค่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฐานะพลเมือง จัดโดย คณะกรรมาธิการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน
นายปิยบุตร บรรยายตอนหนึ่งว่า เมื่อมนุษย์มารวมกันเยอะๆ เข้าแล้วเริ่มคิดว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเพื่อส่วนรวม ในช่วงแรกคนที่มีอำนาจตัดสินใจทางการเมือง อาจเกิดจากคนที่มีบารมีมาก คนทื่อ้างว่าเป็นโอรสสวรรค์ คนมีอาวุธ หรือ การโหวตเลือกกัน โดยในสมัยโบราณอำนาจติดอยู่กับตัวคน เช่น ผู้ที่อยู่ในอำนาจจะเป็นคนตัดสินใจว่าต่อไปจะให้ใครมีอำนาจแทน สืบทอดกันทางสายโลหิต ต่อมาเมื่อรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้น รัฐก็เข้ามาแยกรัฐกับตัวบุคคลออกจากกัน เพราะรัฐหน้าตาเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่รัฐจะแสดงเจตนาออกมาได้ผ่านคนที่เข้าไปใช้อำนาจรัฐ บุคคลที่เข้าไปมีตำแหน่งในรัฐ เมื่อเข้าไปดำรงตำแหน่งแล้ว หากเเกษียณอายุ ลาออก ตายไป คนๆ นั้นก็พ้นจากตำแหน่ง แต่รัฐยังคงอยู่ตลอด
รัฐเองก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ จากแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนเปลี่ยนเป็นแบบประชาธิปไตย เปลี่ยนวิธีการเลือกผู้ปกครองจากสืบทอดทางสายโลหิตมาเป็นการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยในรุ่นแรกๆ ไม่ได้ให้ประชาชนทุกคนเลือกผู้ปกครอง สิทธิเลือกตั้งผู้ปกครอง ช่วงแรกเขตแดนของคนที่มีอำนาจเลือกตั้งมีเฉพาะคนที่จ่ายภาษี แถมยังให้เฉพาะผู้ชายเลือกด้วย ต่อมามีการขยายฐานสิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกกว้างขึ้นๆ
ต่อมาทั้งการเลือกผู้ปกครองและระบอบผู้ปกครองทั้งหมดนี้ มนุษย์ก็เริ่มคิดว่าจะเขียนใส่อะไรดี นวัตกรรมของมนุษย์ก็คือการเขียนใส่กระดาษ ใส่สิ่งพิมพ์ และเผยแพร่ให้ทุกคนรับรู้ร่วมกันว่าเป็นไปตามที่เขียนบันทึกไว้เท่านั้น หากไม่เขียนก็จะเป็นเพียงคำบอกเล่า เช่น คนรุ่นก่อนทำมา คนรุ่นก่อนบอกมา เหล่านี้ก็จะเป็นแค่จารีตประเพณีเท่านั้น จารีตประเพณีแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่มีอำนาจกำหนด แต่ใช้การสะสมในทางประวัติศาสตร์ มนุษย์จะขีดเขียนชะตากรรมของตนเองได้ ต้องให้คนมีอำนาจเขียนใส่กระดาษแล้วให้คนถือปฏิบัติตาม และนับว่าเป็นกฎหมาย ดังนั้นการคิดค้นการบัญญัติกฏหมายเป็นลายลักษณ์อักษร คือ การใช้อำนาจในการกำหนดว่าอะไรเป็นอะไร โดยไม่สนใจประวัติศาสตร์ที่สะสมมา
มนุษย์จะมากำหนดว่ารัฐคืออะไร ปกครองแบบใด จะเลือกผู้ปกครองอย่างไร ทั้งหมดนี้ถูกเขียนไว้ในเอกสารที่ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญ” รากศัพท์ของคำนี้หมายถึง การก่อตั้งร่วมกัน รัฐธรรมนูญจึงหมายความว่าการตกลงร่วมกันของคนทุกคนว่าจะปกครองกันอย่างไร ใครจะใช้อำนาจรัฐ ความสัมพันธ์ขององค์กรแต่ละองค์กรจะเป็นอย่างไร
นายปิยบุตร อธิบายต่อว่า การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญมีได้ 2 แบบ แบบที่หนึ่ง ผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครองเห็นว่าถึงเวลาจำเป็น จึงยอมให้ประชาชนมีอำนาจ โดยเขียนและมอบรัฐธรรมนูญให้ประชาชนใช้ เปรียบเสมือนการโยนกระดูกให้ หากจะเอาคืนเมื่อไหร่ ย่อมทำได้ทันที แบบที่สอง คือประชาชนเป็นผู้ตกลงกันว่าจะปกครองกันอย่างไร เพราะประชาชนไม่เชื่อในผู้ทรงอำนาจอีกต่อไป จึงรวมตัวกัน บอกว่าอำนาจอยู่ที่ประชาชนต่างหาก และทวงคืนอำนาจมากำหนดเองว่าข้อตกลงร่วมกันจะเป็นอย่างไร
โดยแบบที่หนึ่งเมื่อผู้ปกครองเป็นคนมอบรัฐธรรมนูญให้ ผู้ปกครองก็จะมี 2 มิติ คือมิติแรกผู้นั้นเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญด้วย เมื่อมอบให้ประชาชนแล้ว ผู้ปกครองก็จะอยู่ในมิติที่สอง คือต้องมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญด้วย แต่แบบที่สอง ผู้ปกครองจะตัวลีบ เพราะถือว่าประชาชนเป็นคนให้อำนาจแก่ผู้ปกครอง
“ผมอยากชวนให้ทุกคนคิดถึงเรื่องนี้ เพราะนี่คือ อำนาจการก่อตั้งรัฐธรรมนูญ ภาษาโบราณคืออำนาจในการก่อตั้งแผ่นดิน ที่จะบอกว่ามีสถาบันการเมืองมีอะไรบ้าง จะปกครองกันอย่างไร อำนาจนี้จึงเป็นอำนาจที่ใหญ่ที่สุด” ปิยบุตร กล่าว
ปิยบุตร เปรียบเทียบให้นักศึกษาฟังว่า ระบอบใหม่จะมาแทนระบอบเก่า สิ่งใหม่จะมาแทนสิ่งเก่า ก็เหมือนเราเปลี่ยนแฟน คือเราจะมีแฟนใหม่ไม่ได้ ถ้าเราไม่เลิกกับแฟนเก่า คือเราจะมีแฟนพร้อมกันสองคนไม่ได้ ประเด็นสำคัญที่จะทำเราเลิกกับแฟนเก่าได้ เราต้อง“เลิกรัก” หรือ“หมดรัก” ดังนั้นถ้าคุณอยากจะมีแฟนใหม่ คุณต้องคุยกับตัวเองว่า คุณเลิกรักแฟนเก่า หมดรักแฟนเก่า ให้ได้
นั่นคือ หากคุณไม่ล้มระบอบเดิม ระบอบใหม่ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากคุณจะเอาระบอบใหม่เข้ามา ก็ต้องเอาระบอบเดิมออกก่อน กติกาของระบอบเดิมเป็นอย่างไร ผู้มีอำนาจเขียนไว้แล้ว บอกให้แต่คนอยู่แถวหน้าแก้ได้เท่านั้น คนข้างหลังไม่มีสิทธิแก้ คนข้างหลังก็ไปสะกิดคนข้างหน้าว่าให้แก้ให้หน่อย เขาไม่ยอมแก้ เพราะบอกว่าข้างหลังไม่ได้ตั้งเขามา ผู้มีอำนาจต่างหากตั้งมา เขาก็ไม่ยอมทำตาม
คำถามต่อมาคือแล้วเราจะล้มระบอบเดิมได้อย่างไร การเปลี่ยนระบอบไม่ใช่มิติในทางกฏหมาย แต่เป็นมิติในทางการเมือง เมื่อความชอบธรรมของผู้มีอำนาจเร่ิมศูนย์หาย ไม่มีเหลือแล้ว แต่ยังมีกำลังทางกายภาพอยุ่ เราจะทำอย่างไรดี
รุสโซ บอกว่า สิทธิที่สำคัญที่สุดคือสิทธิในการลุกขึ้นต่อต้านผู้ปกครอง เพราะมันอธิบายว่าผู้ปกครองไม่ได้มีอำนาจด้วยตัวเอง แต่มีอำนาจได้เพราะประชาชนยอมให้ แต่ถ้าเราไม่มีสิทธิในการต่อต้านเลย ให้ทำตามกฏหมายเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนี้หมายความว่าอำนาจไม่ได้อยู่ที่ประชาชน ประชาชนใช้อำนาจครั้งเดียวตอนกากบาทเลือกตั้ง สิทธิในการลุกขึ้นมาต่อต้านการปกครองที่อยุติธรรมและกดขี่เรา เป็นการย้อนกลับไปสู่สภาวะธรรมชาติตั้งต้นตอนก่อร่างสร้างรัฐว่าอำนาจเป็นของประชาชน เรายอมให้มัรัฐเพราะรัฐทำอะไรบางอย่างให้เรา เรายอมให้รัฐเก็บภาษี เพราะหวังว่าผู้ปกครองในรัฐจะดูแลเราอย่างดี
นอกจากนี้ กรเปลี่ยนจากระบอบเดิมไปสู่ระบอบใหม่มีทั้งแบบปฏิรูป (reform) กับปฏิวัติ (revolution) การปฏิรูปหรือ reform คือมี form อยู่เดิมแล้ว re- ใหม่ ไม่ต้องโละทิ้ง แต่ค่อยๆ แก้ไปเรื่อยๆ หลายๆ ครั้ง จนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งใช้เวลานาน อีกแบบคือปฏิวัติ หรือ revolution รากศัพท์แปลว่ากลับไปสู่จุดเริ่มต้น คือเอาออกไปเลย แล้วเปลี่ยนใหม่หมดในครั้งเดียว ทั้งสองแบบผลลัพธ์คือการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น จะเร็วหรือช้า ฉับพลันทันทีหรือค่อยๆ เปลี่ยน
การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีสิ่งเร้าอะไรบางอย่าง ถ้าเราคิดถึงสังคมการเมืองคือคนที่อยู่ภายใต้การปกครองเรียกร้องว่าไม่ไหว ทีละนิดๆ ว่าอยากเปลี่ยน ผู้ปกครองอาจจะบอกว่าให้อดทนครั้งหน้าเลือกตั้งใหม่ พอถึงเวลากลับโกงเลือกตั้งอีก แต่พอมีการเรียกร้องเยอะขึ้นๆ ทุกคนอยากได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่รัฐตอบสนองความต้องการทั้งหมดนั้นไม่ได้ ประชาชนก็เริ่มรวมตัวกันเป็นหนึ่ง แล้วเห็นว่าปัญหาทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่สามารถถูกแก้โดดๆ แต่เป็นปัญหาร่วมกัน พอวิกฤตมากขึ้น กลับกลายเป็นประชาชนทุกคนประท้วงหมด แบบนี้จะถึงเวลาของการรวมประชาชนให้เป็นหนึ่ง รวมกันจนกลายเป็นยักษ์อสุรกายไปล้มผู้ปกครองที่แก้ปัญหาไม่ได้
พอเป็นอย่างนี้แล้ว หากผู้ปกครองเห็นว่าประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง แล้วผู้ปกครองยอมเปลี่ยน ก็จะเป็นการปฏิรูป แต่ถ้าผู้ปกครองไม่ยอมเลย ก็จะกลายเป็นการปฏิวัติ ดังนั้นจะปฏิวัติหรือจะปฏิรูป ไม่ได้อยู่ที่คนที่เรียกร้อง แต่อยู่ที่ผู้ปกครองด้วยว่าเอาอย่างไร มันจะมีผู้ถูกกดขี่ ผู้กดขี่ ผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครองเสมอ เป็นกฎความขัดแย้งทางชนชั้นแบบนี้มาโดยตลอด ถ้าข้างล่างเรียกร้องหนักมาก ข้างบนไม่เปลี่ย ก็นจะเป็นการปฏิวัติแน่นอน แต่ถ้าข้างบนยอม ก็จะเป็นการปฏิรุป ดังนั้นจะปฏิรูปหรือปฏิวัติผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจ ทุกสิ่งเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เมื่อสถานการณ์สุขงอม
“ผมเห็นว่าคนรุ่นนี้อยู่ในรุ่นของการเปลี่ยนแปลง อยู่ในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ เป็นรุ่นที่เติบโตมาในสังคมที่แย่มาก แล้วตกไปดิ่งที่สุด แต่เมื่อนั้นเองโอกาสเปลี่ยนแปลงจะมาถึง จงอย่าเศร้าใจน้อยใจว่าทำไมคนรุ่นที่แล้วโชคดีอย่างนี้ แต่รุ่นเราเกิดมาลำบาก ความเหลื่อมล้ำเยอะไปหมด ตรงกันข้ามวิกฤตแบบนี้คือโอกาสชั้นดีที่เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลง” ปิยบุตร ทิ้งท้าย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |