สสส.เปิดเวทีโชว์ความสำเร็จโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่โรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 21,754 คน หรือ 60 คน/วัน เป็นเด็กและเยาวชน 1 ใน 4 เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ พบเด็กอายุ 0-9 ปี เสียชีวิตจากภัยบนท้องถนนเฉลี่ย 675 คน/ปี เดินหน้าผนึกภาคีปลูกฝัง Mind Set สร้างวินัยจราจรในการขับขี่ให้ปลอดภัยตั้งแต่เยาว์วัย เชื่อมถึงผู้ปกครอง ครอบครัว ปรับพฤติกรรม ปลื้มผลจากโครงการ ครู นักเรียนใส่หมวกกันน็อกเพิ่มขึ้นร้อยละ 70-100 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ 30 แห่ง ใน 4 ภูมิภาค 8 จังหวัด 16 อปท.
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่โรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เพื่อนำเสนอผลการทำงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน นำไปสู่การยกระดับความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนให้กับภาคีเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุน สสส.คนที่ 2 กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างความปลอดภัยทางถนนในสถานศึกษา เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยได้สนับสนุนให้เกิดโครงการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบในการจัดการความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชุมชนตั้งแต่ปี 2559 และขยายผลต่อมายัง ‘โครงการขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบสู่โรงเรียนเพื่อความปลอดภัยทางถนน’ โดยการมีส่วนร่วมของ อปท.และชุมชนตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน พร้อมกันนี้ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายได้ศึกษารูปแบบความสำเร็จของการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนภายในสถานศึกษา และนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ตนเอง
“ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจัดเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย แต่ปัญหาหลักที่พบคือการสร้างวินัยการขับขี่ปลอดภัยยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ในฐานะที่ผมเป็นคนขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนนและได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้การดำเนินงานของคุณครู ผู้บริหารและทีมงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ผมเห็นแนวทางตัวอย่าง ต้นแบบของการสร้างสถานศึกษาปลอดภัยทางถนนที่จะเป็นแหล่งบ่มเพาะให้เด็กและคนในชุมชนได้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกัน ในการสร้างความปลอดภัยทางถนน การจัดการจุดเสี่ยง จุดอันตราย และการสร้างวินัยจราจรให้เกิดขึ้น อีกทั้งเห็นความสำคัญของการปลูกฝังวินัยจราจรที่ รมช.ว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีนโยบายตำบล (ท้องถิ่น) ขับขี่ปลอดภัย กำหนดให้มีการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กและ รร.เพื่อความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่”
รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สำนัก 10) สสส. กล่าวว่า ข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน (มรณบัตร, ตำรวจ, บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจำกัด) ในปี 2556-2560 พบเด็กอายุ 0-9 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวม 3,373 คน หรือเฉลี่ยปีละ 675 คน ขณะที่เด็กอายุ 10-24 ปี เสียชีวิตรวมมากถึง 14,261 คน หรือเฉลี่ยปีละ 2,853 คน ปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 21,754 คน เฉลี่ย 60 คน/วัน เป็นเด็กและเยาวชน 1 ใน 4 จากรถจักรยานยนต์ สำหรับตัวเลขทั้งประเทศ จ.ระยอง มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนสูงสุด
ขณะที่ผลการสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ปี 2553-2562 พบว่าเด็กไทยนั่งรถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น จากความกังวลต่อสถานการณ์ข้างต้น สสส.จึงร่วมกับภาคีฯ พัฒนาการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะและพฤติกรรมส่งเสริมด้านความปลอดภัยทางถนน ตลอดจนผลักดันให้ครู ผู้ปกครอง ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันจัดการจุดเสี่ยง และยกระดับศูนย์เด็กเล็กต้นแบบและโรงเรียนต้นแบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู และทีมงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายผลต่อไป
ข้อมูลวิชาการต่างประเทศ การลงทุนในเด็กปลูกฝังจิตสำนึก จัดการความปลอดภัยบนถนนได้ดี 7-12 เท่า จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการลงทุนในเด็ก ลดจำนวนการเสียชีวิตบนท้องถนนได้เป็นอย่างดี การติดตั้ง Mindset สร้างวินัย บ่มเพาะจิตสำนึกเชื่อมถึงผู้ปกครอง ครอบครัว ชุมชนปรับพฤติกรรมเปลี่ยน Mindset ให้เป็นชุมชนปลอดอุบัติเหตุ มีพี่เลี้ยงและทีมนักวิจัยหนุนเสริมให้เครื่องมือกับครูและ อปท.เกิดการจัดการ 3 ด้าน การจัดการจุดเสี่ยง การจัดการพฤติกรรมเสี่ยง การจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็ก การฝึกทักษะควบคู่ไปกับการเรียนการสอน ครูสอนในศูนย์เด็กเล็กดูพัฒนาการควบคู่กันขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 55 แห่ง ขยายต่อไปยัง รร.ระดับประถมให้เป็นต้นแบบพัฒนาควบคู่ไปกับท้องถิ่น
พรทิพภา สุริยะ ผู้จัดการโครงการขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่โรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน สสส. กล่าวว่า ผลจากการดำเนินโครงการ ทำให้เกิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน 17 แห่ง สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้เพียง 8 แห่ง ได้ผลเกินคาด เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลสันกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเป้า ต.เหล่าเสือโก้ก อ.เหล่าเสือโก้ก จ.อุบลราชธานี และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลขุนทะเล (บ้านนิคม) ต.ขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ขณะเดียวกันเกิดโรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน 8 แห่ง เช่น โรงเรียนบ้านหนองห้าง อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี และโรงเรียนบ้านกำพวน ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง เป็นต้น
ผลการดำเนินงานโครงการนี้ นอกจากได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ยังเกิดรูปแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนนใน 3 ด้าน คือ 1.ด้านการจัดการจุดเสี่ยง โดยการมีส่วนร่วมจากชุมชน 2.ด้านการจัดการพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งพบว่าครู เด็กเล็ก และนักเรียน เกิดพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเดิมที่มีการสวมหมวกนิรภัยเฉลี่ยร้อยละ 1-10 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70-100 ขณะที่กลุ่มผู้ปกครองสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 3.ด้านการจัดการเรียนการสอน ที่เหมาะสมกับช่วงวัย ซึ่งมีการบูรณาการการสอน และผลิตสื่อการสอนที่สร้างการเรียนรู้วินัยจราจร อาทิ นิทาน เกม เพลง สื่อท้องถิ่น ทำให้เด็กเรียนรู้จดจำและสื่อสารให้ผู้ปกครองได้เป็นอย่างดี กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี จิตอาสาครอบคลุมทุกพื้นที่เป้าหมาย
การขยายผลต่อยอดในช่วงปี 2561-2563 เกิดเป็นโครงการขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบสู่โรงเรียนเพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน เพื่อ 1.ยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนนทั้ง 16 อปท.ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นพี่เลี้ยงในการขยายผลการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ครอบคลุมใน 8 จังหวัด 2.ร่วมพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและทีมงาน อปท.นำความรู้มาเพาะบ่มวินัยจราจร ปลูกจิตสำนึกให้เด็กเล็กและเป็นกลไกร่วมกันขับเคลื่อนงานสร้างความปลอดภัยทางถนนต่อไป 3.ยกระดับการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบสู่โรงเรียนเพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน
How To สู่ความสำเร็จ ด้วยการสกัดความรู้จากประสบการณ์ทำงานใน 8 พื้นที่เป็นความรู้ในการสร้างความปลอดภัยทางถนน ทำอย่างไรให้เด็กและผู้ปกครองสวมหมวกนิรภัย 100% การจัดการเรียนการสอนด้านความปลอดภัยทางถนน การจัดการจุดเสี่ยงและจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย นับตั้งแต่การให้ข้อมูล สร้างความตระหนัก สนับสนุนสิ่งที่ขาด รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนด้านความปลอดภัยทางถนนและประเมินผล ด้วยการยึดหลัก ชุมชนร่วมมือ ท้องถิ่นหนุนเสริม คุณครูหนุนนำ เด็กเล็กจดจำ ทำเป็นนิสัย ให้ทุกชีวิตปลอดภัย...
ความสำเร็จจะก่อร่างสร้างรากฐานสถานศึกษาความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคที่มีครู ผู้บริหารสถานศึกษา อปท. ผู้ปกครอง คนในพื้นที่ พี่เลี้ยงเป็นแกนหลักกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน ส่งผลให้เด็กเล็ก นักเรียนกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความปลอดภัยทางถนนที่กำลังหยั่งรากฝังลึกเข้าไปในพื้นที่ก่อเกิดวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืนในอนาคต
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |