ทำเนียบฯ ประชุมซักซ้อมแผนรับมือม็อบ 19 ก.ย.“วิษณุ” กาง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ห้ามเฉียดเข้าใกล้ทำเนียบฯ 50 เมตร ตำรวจใช้แผนกรกฎ 52 คุมม็อบ เตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน ส.ส.ก้าวไกลพร้อมลงพื้นที่สังเกตการณ์ "จตุพร" ห่วงม็อบเดินออกนอกเส้นทางจะกลายเป็นจุดเปลี่ยน "กลุ่มประชาชนคนไทย" ยื่นหนังสือผ่านสถานทูตสหรัฐถึง “โดนัลด์ ทรัมป์” ขอคำยืนยันไม่แทรกแซงการเมืองไทย "ศรีสุวรรณ" ร้อง ปปง.สอบรายชื่อ 11 ท่อน้ำเลี้ยง "ส.ว.สมชาย" เปิดข้อมูลหน่วยข่าวกรอง 10 เครือข่ายขนคนร่วมม็อบจับตาเคลื่อนไปลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อ
ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. วันที่ 16 กันยายน นางวิสุนี บุนนาค รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร เป็นประธานการประชุมหารือข้อราชการเพื่อซักซ้อมแผนรับมือการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 19-20 ก.ย. โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุม พล.ต.ต.สุรชาติ มณีจักร ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 เปิดเผยว่า เป็นการประชุมซักซ้อมแผนรักษาความปลอดภัย และให้ผู้เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน เพื่อจะได้รู้บทบาทหน้าที่ แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียด เพราะถือว่ายังอยู่ในชั้นความลับ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยังไม่มีสิ่งบ่งบอกว่าจะเกิดความรุนแรง จึงยังไม่มีอะไรน่าห่วงใย เราทำเพียงแค่คาดการณ์และเตรียมการไว้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 19-20 ก.ย. ที่ประกาศจะเคลื่อนขบวนมาปิดทำเนียบรัฐบาลว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีมาตรการกำหนดไว้ว่า ห้ามผู้ชุมนุมเข้ามาชุมนุมปักหลักในสถานที่ หรืออาคารสำคัญ โดยเฉพาะทำเนียบรัฐบาล ที่ถือเป็นศูนย์กลางบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ โดยกฎหมายระบุไว้ว่า ห้ามเข้าใกล้ในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรรอบสถานที่ หากฝ่าฝืนถือว่าผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะทันที
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. เปิดเผยถึงการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ว่า ตำรวจจะจัดกำลังตำรวจให้สอดคล้องกับจำนวนของผู้ที่มาชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการคาดการณ์ว่าจะชุมนุมใน 3 พื้นที่คือ ภายในม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งล่าสุดมีการประกาศห้ามใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย, สนามหลวง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ว่าตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินจำนวนผู้ชุมนุมหรือสถานที่ได้ และยังเป็นห่วงในเรื่องของการเส้นทางจราจรที่ประชาชนอาจจะได้รับผลกระทบ จึงจะมีการประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยงต่างๆ ในการสัญจร ส่วนรอบพื้นที่การชุมนุมจะมีการจัดจุดคัดกรองตรวจโรคและจุดคัดกรองตรวจอาวุธ จำนวน 4 จุด โดยรอบพื้นที่การชุมนุม ขอให้ผู้ชุมนุมและผู้จัดการชุมนุมให้ความร่วมมือด้วย
พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางตำรวจได้มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรมตรวจค้นจุดต้องสงสัยต่างๆ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ความไม่สงบหรือมือที่ 3 เบื้องต้นจากการข่าวยังไม่พบความน่าเป็นห่วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้กำชับให้ดูแลความสงบเรียบร้อย ห้ามใช้กำลัง ให้ดูแลผู้ชุมนุมเหมือนลูกเหมือนหลาน ซึ่งตำรวจจะใช้แผนการดูแลการชุมนุมตามแผนกรกฎ 52 ส่วนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลวันที่ 20 ก.ย.นั้น ทางตำรวจจะคอยดูในเรื่องของเส้นทางจราจรและข้อกำหนดของ พ.ร.บ.การชุมนุมที่ห้ามมีการใกล้ทำเนียบรัฐบาลในระยะ 50 เมตร ซึ่งตำรวจจะคอยดูแลและหากพบว่ามีการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุม ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย
เตรียมรับมือเหตุฉุกเฉิน
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลจะเข้าประจำการในทำเนียบรัฐบาลจำนวน 3 กองร้อย ขณะนี้มีการติดตั้งกล้องซีซีทีวีเพิ่มตามจุดสูงข่มภายในทำเนียบรัฐบาลทุกตึก รวมทั้งได้นำรถเครื่องปั่นไฟสำรองจำนวน 3 คัน มาประจำการในทำเนียบรัฐบาลกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังมีการจัดการทำงานของกลุ่มศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) หรือพีมอกใหม่ โดยมอบหมายให้ พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ดูแลทั้งหมด โดยจะมีการมอนิเตอร์สถานการณ์และบรรยากาศโดยเฉพาะการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมตัวของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในการลงพื้นที่สังเกตการณ์ชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.นี้ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่าพรรคก้าวไกลจะลงพื้นที่การชุมนุมเพื่อสังเกตการณ์การชุมนุมเป็นหลักว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีการทำให้การใช้เสรีภาพในการแสดงออกของคนที่มาชุมนุมตามรัฐธรรมนูญไม่ได้หรือไม่ พรรคก้าวไกลไม่ได้ตั้งคณะทำงาน หากตั้งคงต้องตั้งทั้งพรรค เพราะทุกคนให้ความสำคัญเรื่องของสิทธิมนุษยชน เราสามารถลงพื้นที่แล้วใช้กลไกของกรรมาธิการในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของพี่น้องประชาชนได้ในกรณีที่มีการละเมิด สำคัญที่เราลงไปเพื่อให้เห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หมายความว่าทำได้ตามรัฐธรรมนูญ คาดว่าคงไปกันหลายคน
นางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. กล่าวถึงการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ 19 ก.ย.นี้ว่า ปัญหาคือจากการที่เรามีสภาพการเมืองการปกครองที่ไม่ปกติมาหลายปี การที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป และการปกครองที่ไม่ใช่ระบอบปกติอันเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร จึงทำให้เป็นแรงกดต่อสังคม และด้วยการทะเลาะเบาะแว้งของคนรุ่นเก่าซึ่งเป็นผู้ใหญ่ การที่มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งเขาไม่ได้สัมพันธ์อะไรเลยกับความขัดแย้งเดิม แต่เขาต้องการเปลี่ยนอนาคตตามความเข้าใจของเขา มองว่าเป็นเรื่องที่ดี และมันมีเหตุมีผลว่าทำไมเขาจึงต้องทำอย่างนั้น โลกมันเปลี่ยนเร็ว ผู้คนก็เปลี่ยนเร็ว ดังนั้นผู้ที่เป็นผู้สูงอายุหรือเป็นผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องปรับตัวและปรับความคิด ก็คือเข้าใจเยาวชน เท่าที่ดูเด็กพวกนี้หลายคนเป็นคนที่อ่านหนังสือ อ่านประวัติศาสตร์ แล้วเรียนเก่ง ถ้าเป็นเด็กมัธยมอย่างโรงเรียนเตรียมฯ ก็เป็นหัวกะทิทั้งนั้นเลย ต้องพูดจากับคนเหล่านี้ด้วยเหตุด้วยผล จะใช้อำนาจไม่ได้ ขอให้เข้าใจมีอย่างเดียวก็คือคนรุ่นก่อนต้องปรับตัวให้ทันโลก คุณถึงจะพูดกับเขารู้เรื่อง
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า คนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. เป็นเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง เพราะจุดยืนคนเสื้อแดงไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ เชื่อว่าคนมาชุมนุมมากกว่า 50,000 คน ตามที่ฝ่ายมั่นคงของรัฐคาดเอาไว้ การชุมนุมจะอยู่ในพื้นที่ธรรมศาสตร์หรือสนามหลวงก็ตาม ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สร้างแรงปะทะให้เกิดการกระทบกระทั่งกันแล้วคงไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงใดๆ แต่ถ้าถูกบีบไม่ให้เข้าที่ธรรมศาสตร์ และยังมาบีบไม่ให้เข้าที่สนามหลวงอีก ผู้ชุมนุมต้องเดินทางไปทำเนียบฯ เมื่อเจ้าหน้าที่ตั้งด่านที่สะพานมัฆวานรังสรรค์จะเป็นจุดปะทะที่สำคัญ สิ่งที่น่ากังวลคือเส้นทางที่อยู่นอกประกาศการเคลื่อนไหว เนื่องจากการชุมนุมแต่ละครั้งนั้นไม่รู้ว่าใครเป็นใครและอาจถูกพวกไม่หวังดีสร้างสถานการณ์แทรกซ้อนขึ้นมาได้
หวั่นม็อบออกนอกเส้นทาง
"การเคลื่อนไหวไปทำเนียบฯ ต้องประกาศเส้นทางให้ชัดเจนเพราะบ่งบอกว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นอกเหนือจากเส้นทางที่ประกาศแล้วผู้กระทำการนั้นๆ ต้องรับผิดชอบ เชื่อว่าการประสานงานที่ชัดเจนของทุกฝ่ายนั้น จะสกัดการแทรกแซงเหมือนกรณี 6 ตุลา 2519 ไม่ให้กระทำการใดๆ ได้ ผู้ผ่านการชุมนุมมาแล้วย่อมรู้ว่าเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดนั้นจะเป็นจุดเปลี่ยนของการชุมนุมทุกครั้งไม่ว่า 14 ตุลา, พฤษภา 2535 หรือเมษา-พฤษภา 2553 เพราะเหตุการณ์ที่ไม่ได้อยู่ในแผน ซึ่งไม่รู้ว่าใครออกแบบจัดการอะไรให้กันนั้น ท้ายที่สุดคือจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ทั้งสิ้น" นายจตุพร กล่าว
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ให้สัมภาษณ์ภายหลังได้รับการปล่อยตัวจากคดีล้มการประชุมอาเซียนเมื่อปี 2552 ว่าการจับคนเข้าคุกด้วยคดีความมั่นคง ไม่ได้ส่งผลดีต่อใคร และจากการที่ตนอยู่ในเรือนจำทราบว่าขณะนี้มีนักโทษรวมกันทั้งหมดเกือบ 4 แสนคน ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าสังคมเลวร้ายลงทุกวัน ผลต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ คนไม่มีงานทำ ค นตกงานเยอะ เลยต้องมาค้ายา ชิงทรัพย์ คือผลพวงที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารปี 57 ที่มีรัฐธรรมนูญ 60 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้สืบทอดอำนาจแต่งตั้ง ส.ว.มาเลือกตัวเองเป็นนายกฯ นักเรียนนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมเขาทนไม่ไหว ต้องออกมาสู้เพื่อวันนี้และอนาคตของเขา ดังนั้นรัฐบาลและผู้มีอำนาจต้องรับฟังด้วยเหตุด้วย
ที่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำ ประเทศไทย กรุงเทพฯ นายพิชิต ไชยมงคล พร้อมด้วยนายธวัชชัย จรูญชาติ ตัวแทนกลุ่มประชาชนคนไทย (ปค.) ไปยื่นหนังสือถึงนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยมีนายเควิน เอ็ม แมคคาวน์ เลขานุการฝ่ายการเมืองของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เป็นตัวแทนมารับหนังสือ
สำหรับหนังสือมีใจความว่า ตามที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯออกแถลงการณ์ยืนยันไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย กลุ่มประชาชนคนไทยขอขอบคุณในความปรารถนาดีต่อประเทศไทย ที่ประกาศยืนยันว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยเพื่อให้การดำเนินการของสถานทูตสหรัฐฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง ข้าพเจ้าฯ มีความปรารถนาขอคำยืนยันจากท่านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดให้เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาฯ ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามคำแถลงอันจะมีผลทำให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ถนนพญาไท นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อเลขาธิการ ปปง. เพื่อขอให้ไต่สวน สอบสวนบุคคลที่เป็นท่อน้ำเลี้ยง หรือเป็นผู้สนับสนุนให้กับการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา การขับเคลื่อนโดยการจัดชุมนุมในพื้นที่จังหวัดต่างๆ และการประกาศว่าจะมีการจัดการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลัง หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ท่อน้ำเลี้ยง” เพราะการจัดชุมนุมสาธารณะแต่ละครั้งจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอย่างมากมาย ทั้งค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าเวที ค่าเครื่องเสียง ค่ารถสุขา ค่าวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งค่าแรงคนงานจิปาถะมากมาย ฯลฯ ลำพังนักเรียน นักศึกษานำเงินมากมายมาใช้จ่ายเพื่อการจัดชุมนุมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
จี้ปปง.ฟันท่อน้ำเลี้ยง
ทั้งนี้ การจัดชุมนุมที่ผ่านมาปรากฏว่ามีบุคคลต่างๆ ที่แสดงตนเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับการชุมนุมดังกล่าวหลายคน อาทิ ศิลปิน ดารา นักธุรกิจ ผู้กำกับภาพยนตร์ รวมทั้งกลุ่มต่างๆ ก็ยังได้เปิดบัญชีธนาคารรับบริจาคเผยแพร่ในสื่อออนไลน์มากมาย ซึ่งการชุมนุมสาธารณะที่ผ่านมาเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมากมาย จึงเข้าองค์ประกอบในความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542 ถือได้ว่าเป็น “ตัวการร่วม” ตามประมวลกฎหมาย อาญา ม.83 และ ม.86 จึงจะนำรายชื่อ ท่อน้ำเลี้ยง 11 คน มาร้องเรียนต่อ ปปง. เพื่อให้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการสั่งให้ธนาคารต่างๆ ที่บุคคล หรือกลุ่มต่างๆ รายงานให้กับ ปปง.ทราบว่ามีใครบ้างที่บริจาคเข้าบัญชีเหล่านั้นบ้าง เพื่อที่จะได้เรียกมาดำเนินการไต่สวนสอบสวนเอาผิดต่อไป
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า ฝากเป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาด้วยความหวังดีต่อผู้ที่เตรียมจะเข้าร่วมการชุมนุมด้วยใจบริสุทธิ์และรักประชาธิปไตยในวันที่ 19-20 กันยายน ดังนี้ (1) รายงานลับที่ประมวลจากหลายหน่วยข่าวกรองถึงการเตรียมการเข้าร่วมของมวลชนกลุ่มต่างๆ ดังนี้ 1.การจัดหาของ ส.ส.พรรคก...และพรรคพ... ประมาณ 5,000 คน โดย ส.ส.ที่เข้าร่วมโครงการนี้จากพรรคก...60 คน หาผู้ชุมนุมมาคนละ 50 คน รวม 3,000 คน และเครือข่าย ส.ส.พรรคพ...ในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประมาณ 2,000 คน 2.คนงานในเครือข่ายสหพันธ์แรงงานเกี่ยวกับรถยนต์... และสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมด้านสิ่งทอ...จะเข้ามาร่วมได้ในตอนเย็นวันที่ 19 ก.ย. ประมาณ 1,000 คน (มีค่าใช้จ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงและรถรับส่ง) 3.การจัดหาผู้ชุมนุมของเครือข่ายพันธมิตรของพรรคก.... และคณะก...(นายธ......) ประกอบด้วย สมัชชาคนจน กลุ่มหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กลุ่มหาเสียงเลือกตั้งสมุทรปราการ
4.กลุ่มนิสิตนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาที่มีหอพักของ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ม.มหิดล จุฬาลงกรณ์ฯ ม.เกษตรศาสตร์ ฯลฯ ประมาณ 1,000 คน 5.กลุ่มนักเรียนประมาณ 500 คน ผ่านการชักชวนของนิสิตนัก ศึกษารุ่นพี่ ปัจจุบันมีการตอบรับเท่าที่มีรายงานให้ทราบตอนต้นประมาณ 500 คน แต่ทางคณะก....คาดว่าจะมีจำนวนมากขึ้นตามลำดับไม่ต่ำกว่า 1,000 คน 6.กลุ่มนักเรียนเลว นำโดย น.ส.เบญจมาภรณ์ …หรือ “พลอย” เป็นแกนนำประมาณ 1,000 คน 7.เครือข่ายคนเสื้อแดงรอบกรุงเทพมหานคร นายส.... กลุ่มแดงล้มเจ้าเป็นแกนนำ ประมาณ 500 คน 8.ผู้ผ่านการอบรมของพรรคก้าวไกล 4 รุ่น ประมาณ 500 คน 9.เครือข่ายนักศึกษามุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 200 คน (นาย ว…เป็นผู้สนับสนุน) 10.ประชาชนที่ชื่นชอบพรรคก....และพรรคพ…ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เข้าร่วมประมาณ 10,000 คน
(2) กำหนดการชุมนุมจะปักหลักพักค้างคืนใน ม.ธรรมศาสตร์ หรือสนามหลวง หากมหาวิทยาลัยไม่ให้เข้าจัดงาน จะหาทางกดดันบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยและจะปิดประตูมหาวิทยาลัยตั้งแต่ 21.00 น. (3) วันที่ 20 กันยายน มวลชนจะปิดถนนราชดำเนินเพื่อจัดแสดงโปสเตอร์ต่างๆ ที่เคยใช้มาแล้ว รวมถึงภาพที่เขียนขึ้นมาใหม่ตามแนวเสาไฟฟ้าบนนถนนราชดำเนินกลางมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยจะมีภาพนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ติดตามจุดต่างๆ ไว้ให้มวลชนทำความเคารพ (4) ถ้ามวลชนรวมได้ 20,000 คน จะเคลื่อนขบวนบนถนน ราชดำเนินไปทำเนียบรัฐบาล (เป้าหมายลวง) และกองบัญชาการกองทัพบก (เป้าหมายลวง) เพื่อโจมตีผู้บัญชาการทหารบก โดยจะมีการเชิญตัวแทนทูตต่างประเทศบางประเทศเป็นสักขีพยานและถ่ายทอดสดทาง facebooklive และเพจในเครือข่าย (เป้าหมายลวง) จากนั้นจะนำมวลชนเคลื่อนไปลานพระบรมรูปทรงม้า (เป้าหมายจริง) เพื่อกระทำการ 1... 2... 3...
วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารถึงสื่อมวลชนกรณีพิจารณาคำร้องของนายณฐพร โตประยูร ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยอ้างว่าผู้ถูกร้อง ประกอบด้วยคณะบุคคลกลุ่มต่างๆ จัดชุมนุมปราศรัย เมื่อวันที่ 3 ส.ค., 9 ส.ค., 10 ส.ค., 20 ส.ค., 21 ส.ค. และ 30 ส.ค. ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ส.ค. นายณฐพรยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสองแล้ว จึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีคำสั่งให้คณะบุคคลเลิกการกระทำดัง กล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49
ทั้งนี้ ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องแล้ว จึงมีคำสั่งรับคำร้องเฉพาะการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามที่ชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ พร้อมส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องทั้งสามคือ นายอานนท์ นำ ภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เพื่อยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องและเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา มีคำสั่งให้อัยการสูงสุดแจ้งผลการดำเนินการและส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามที่ผู้ร้องยื่น เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |