มะกันจะสกัดจีน...หรืออยู่ร่วมโลก?


เพิ่มเพื่อน    

      ถ้า "โจ ไบเดน" คว่ำ "โดนัลด์ ทรัมป์" ในการเลือกตั้งวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ เราควรจะคาดหวังทิศทางของวอชิงตันต่ออาเซียนอย่างไร?

            ประเด็นที่น่าสนใจแรกๆ คือ ความสัมพันธ์ทางด้านความร่วมมือเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคนี้

            ไบเดนจะกลับมาร่วมกับ CPTPP ที่ทรัมป์บอกลาไปหรือไม่

            สหรัฐฯ ภายใต้พรรคเดโมแครตจะใช้มาตรการเรื่องเสรีภาพ, ประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชนเข้มข้นกว่ายุคทรัมป์มากน้อยเพียงใด

            อเมริกาจะมีกิจกรรมทางทหารในทะเลจีนใต้เพิ่มมากกว่าปัจจุบันหรือไม่...และจะเผชิญหน้ากับจีนเพิ่มขึ้นหรือไม่

            สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับอาเซียนมากกว่ายุคของทรัมป์หรือไม่

            และจะแสดงออกด้วยวิธีการใดเพื่อจะสกัดอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะหลังนี้

            นายกฯ หลี่ เสียนหลงของสิงคโปร์ออกมาพูดและเขียนหลายครั้ง เตือนว่าสหรัฐฯ กับจีนไม่ควรจะกดดันให้ประเทศเล็กๆ ต้อง "เลือกข้าง"

            ผมได้พูดคุยกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และจีนประจำประเทศไทยในประเด็นนี้

            ทั้งสองท่านยืนยันว่า วอชิงตันและปักกิ่งไม่มีความประสงค์ที่จะบังคับให้ประเทศเล็กๆ รวมถึงประเทศไทยต้องเลือกข้าง

            แต่อ่านระหว่างบรรทัดของคำแถลงเช่นนี้จากสองยักษ์ใหญ่ ก็พอจะเข้าใจได้ว่าถ้อยแถลงกับวิถีปฏิบัติของสหรัฐฯ กับจีนนั้นยังมีความแตกต่างกันพอสมควร

            นายกฯ สิงคโปร์เตือนว่า การแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจไม่ควรจะทำลายโอกาสของความร่วมมือเพื่อสันติสุขและความเจริญก้าวหน้าของโลก

            หลี่ เสียนหลงเขียนว่า เป็นเวลาหลายสิบปีที่ Pax Americana ภาษาละตินที่แปลว่า "สันติภาพอันเกิดจากอำนาจของสหรัฐฯ" ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่โลก

            หลังสงครามโลกครั้งที่สองสหรัฐฯ ได้ส่งเสริมการค้าเสรี และ "ระเบียบโลก" บนพื้นฐานของการไปมาหาสู่กันอย่างมีกฎกติกาและเปิดเผยโปร่งใส

            สหรัฐฯ มีบทบาทเสมือนหนึ่งเป็น "ร่มแห่งความมั่นคง" ที่ทำให้ประเทศในเอเชียสามารถแข่งขันกันอย่างสันติ

            ธุรกิจของสหรัฐฯ ก็ใช้บรรยากาศเช่นนั้นในการขยายกิจการเข้ามาในภูมิภาคนี้

            จากนั้นจีนก็เปิดประเทศในปี 1978 และขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนในเอเชีย... ขณะที่สหรัฐฯ ก็ยังคงไว้ซึ่งบทบาทของตนในย่านนี้เช่นกัน

            แต่ผู้นำสิงคโปร์ตั้งข้อสังเกตว่าในระยะหลังนี้ (คงหมายถึงหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีเมื่อเกือบ 4 ปีก่อน) สหรัฐฯ ได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านนี้ไป

            ขณะที่จีนได้ขยายบทบาทของตนเองอย่างกว้างขวาง

            และปรับตัวเองให้เป็น "พลังอำนาจของภูมิภาค"

            เกิดคำถามว่าสหรัฐฯ ยังพร้อมที่จะ "แบกภาระ" ของการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคนี้ต่อไปหรือไม่เพียงใด

            หรือจะยึดหลัก "อเมริกามาก่อน" (America First) เพื่อปกปักรักษาผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก

            ผู้นำสิงคโปร์ตั้งคำถามที่น่าสนใจมากว่า

            "ทั้งสหรัฐฯ และจีนต้องเผชิญกับทางเลือกที่สำคัญ"

            สหรัฐฯ ต้องตัดสินใจว่าตนจะมองจีนที่กำลังขยายบทบาทของตนในระดับโลกว่าเป็น "ภัยคุกคาม" ต่อสถานภาพของอเมริกาเองและพยายามสกัดทุกวิถีทาง

            หรืออเมริกาจะยอมรับความจริงที่ว่าจีนก็มีสิทธิ์และความชอบธรรมที่จะเล่นบทบาทเป็น "ประเทศที่มีอำนาจสำคัญ" (Major power)

            แน่นอนว่าหากสหรัฐฯ เลือกอย่างหลัง ก็หมายถึงการที่วอชิงตันต้องปรับตัวในหลายๆ ด้านที่อาจจะไม่สอดคล้องกับวิธีคิดและวิถีปฏิบัติแต่ดั้งเดิม

            หลี่ เสียนหลงเสนอว่า แม้จะเป็นเรื่องที่ยากเย็นสำหรับอเมริกาในการปรับตัวให้เข้ากับระเบียบใหม่ของโลกที่มีจีนเป็นประเทศที่กำลังพุ่งขึ้นมาอย่างแรง แต่ในความเห็นของเขาแล้ว ก็เป็นเรื่องที่เหมาะควรที่วอชิงตันจะยอมรับในการหาทางอยู่ร่วมกับจีนอย่างสันติ พร้อมเข้าใจความมุ่งมั่นตั้งใจของจีนในการขยายบทบาทของตนเอง

            สิงคโปร์มองว่าการที่ "ระเบียบโลกใหม่" จะสามารถเดินหน้าได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับทุกฝ่ายนั้น ทุกประเทศต้องยอมรับว่าจะต้องมีทั้ง

            ความรับผิดชอบและความอดกลั้น...

            สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

            ร่วมกันบริหารความขัดแย้ง

            และช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและมีเสถียรภาพ

            สำหรับทั้ง "การแข่งขัน" และ "ความร่วมมือ"

            หลี่ เสียนหลงใช้คำว่า competition and cooperation

            ซึ่งผมเห็นว่าน่าจะเป็นประเด็นที่ควรแก่การนำมาถกแถลงในบ้านเราอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

            เพราะถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยเราจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์โลกและภูมิภาคอย่างรอบด้าน ลุ่มลึกเพื่อนำไปสู่การออกแบบยุทธศาสตร์ของไทยภายใต้ "ระเบียบโลกใหม่" อย่างจริงจัง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"